BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๗


เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๗

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงจำแนกให้เห็นความแตกต่างระหว่างปุถุชนกับอริยสาวก เนื่องจากการกระทำบาปกรรมเพราะอคติ ๔ แล้ว... พระองค์ก็ตรัสแสดงคุณสมบัติของอริยสาวกต่อไป ซึ่งมีพระดำรัสดังต่อไปนี้

อริยสาวกย่อมไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ เป็นไฉน ? ดูกรลูกนายบ้าน...

  1. การประกอบเนื่องๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ
  2. การประกอบเนื่องๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในกลางคืน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ
  3. การเที่ยวดูมหรสพเป็ทางเสื่อมแห่งโภคะ
  4. การประกอบเนื่องๆ ซึ่งการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ
  5. การประกอบเนื่องๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ
  6. การประกอบเนื่องๆ ซึ่งความเกียจคร้าน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ

......

โภคานํ อปายมุขํ แปลว่า ทางเสื่อมแห่งโภคะทั้งหลาย (อปายมุขํ ทางเสื่อม โภคานํ แห่งโภคทั้งหลาย ) ...ซึ่งภาษาไทยมักจะนำมาใช้ทับศัพท์สั้นๆว่า อบายมุข .... จึงอาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า อบายมุขก็คือทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ก็คืออบายมุข ... เพราะีความหมายของอบายมุขในภาษาไทยมาจากนี้ .....

เมื่อพิจารณา อบายมุข ๖ ข้อ เหล่านี้ จะเห็นความแตกต่างซ่อนอยู่ ๒ ประการ กล่าวคือ

  • ข้อ 1 (การดื่มสุรา) และข้อ 4 (การเล่นพนัน) จะมีคำว่า เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท กำกับอยู่ด้วย... ส่วนข้ออื่นๆ ไม่มี
  • ทุกข้อจะมีคำว่า การประกอบเนื่องๆ กำกับอยู่ด้วย...แต่ข้อ 3 (ดูมหรสพ) ไม่มี 

ประเด็นเหล่านี้เป็นความลุ่มลึกของพระธรรมเทศนา ซึ่งผู้เขียนจะวิจารณ์ต่อไปเมื่อถึงรายละเอียดของหัวข้อนั้นๆ...

.......

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพิจารณาพระพุทธดำรัสว่า อริยสาวกย่อมไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ.... ก็จะเห็นชัดเจนว่า อริยสาวก ในที่นี้หมายถึงคฤหัสถ์หรือชาวบ้านเท่านั้น เพราะสิงคาลกสูตรนี้ พระองค์ตรัสสอนลูกนายบ้านเป็นเบื้องต้น และเรื่องอบายมุขเหล่านี้ก็เป็นเรื่องของชาวบ้าน มิใช่เรื่องของนักบวชหรือพระ-เณร (ส่วนที่พระ-เณรประพฤติเหลวไหลทำนองชาวบ้าน นั่นเป็นประเด็นที่ต่างออกไป)....

ดังนั้น เมื่อกำหนดความหมายอริยสาวกให้แคบลง โดยหมายเอาว่า อริยสาวก ก็คือ คนดีตามหลักพระพุทธศาสนา เท่านั้น... คนดีตามหลักพระพุทธศาสนานอกจาก ละกรรมกิเลส ๔ ประการข้างต้น ซึ่งจะกระทำไปด้วยอำนาจอคติ ๔ แล้ว... ก็จะต้องไม่ข้องแวะอบายมุข ๖ เหล่านี้อีกประการหนึ่ง....

และเมื่อนำอบายมุขเข้ามาโยงกับกรรมกิเลส ก็อาจกล่าวได้ว่า ผู้ที่ข้องแวะกับอบายมุขจะเป็นเหตุใกล้ที่จะเกิดอคติทางใจเพื่อกระทำกรรมกิเลสหรือบาปกรรม...  ประมาณนี้

แต่ ประเด็นเหล่านี้ เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น ผู้อ่านไม่ควรถือเป็นประมาณมากนัก... ส่วนรายละเอียดของอบายมุข ๖ เหล่านี้ จะนำมาเล่าในตอนต่อไป 

หมายเลขบันทึก: 133428เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2007 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
กราบนมัสการพระคุณเจ้า ซึมซับอะไรก็ไม่เท่าซึมซับธรรมะ หายหน้าไปหลายวันคิดถึงพระอาจารย์ครับ ธรรมะก็มีประเด็นให้พิจารณา ส่วนความรู้(ทางโลก)ก็มีประเด็นให้คิด ทั้งสองอย่างนี้ต่างก็มีประเด็น มันแตกต่างกันไหมครับ นานๆมาทีก็มีแต่เรื่องให้พระอาจารย์ป่วดหัว กราบนมัสการพระคุณเจ้า
P

เม็กดำ กลุ่ม 9 นาดูน

 "ก็ประเด็นให้คิด"  เป็นเพียงเครื่องเล่นของจิตเท่านั้น จะเป็นทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม ไม่มีอะไรมาก...

ในโสฬสปัญหา ...  มาณพหนึ่งทูลถามพระพุทธเจ้าว่า...

  • โลกมีอะไรผูกพันอยู่ อะไรเป็นเครื่องสัญจรของโลก

พระพุทธเจ้า ตรัสตอบว่า....

  • โลกมีความเพลิดเพลินผูกพันอยู่ ความตรึกเป็นเครื่องสัญจรของโลก

ดังนั้น ไม่ว่าทางธรรมหรือทางโลก ประเด็นที่นำมาขบคิดเป็นเพียงเครื่องเล่นของจิตเท่านั้น ถ้าเราขบคิดเรื่องนั้นแล้วเพลิดเพลิน แสดงว่าเราถูกเรื่องนั้นผูกพันไว้ ... และการที่เราขบคิดไปเรื่อยๆ ก็คล้ายๆ กับการที่เราท่่องเที่ยงไปในโลกนั่นเอง....

เจริญพร 

นมัสการพระอาจารย์ครับ การหลงประเด็นในทางธรรมนี้ มีความเสียหายมากไหมครับ เช่น กระผมเห็นบุคคลหรือปัญญาชนบางท่านกล่าวโทษภิกษุดื่มสุรา รู้สึกว่าจะเห็นเป็นโทษเป็นอย่างมาก ทั้งที่พระวินัยก็ไม่กล่าวโทษหนัก และก็ยังให้ภิกษุดื่มสุราได้แต่ก็ไม่มากพอประมาณไม่เกินครึ่งฝาบาตร อะไรทำนองนั้น ประเด็นเช่นนี้ทำให้บุคคลหลงหรือไม่เข้าใจในประเด็นทางธรรมหรือเปล่าครับ จึงกลายเป็นว่าโทษแต่พระภิกษุและพระพุทธศาสนา อะไรทำนองนั้น ป่วดหัวอีกแล้วครับ นมัสการพระอาจารย์ครับ  

P

เม็กดำ กลุ่ม 9 นาดูน

คำถามนี้ ไม่ตอบ เพราะเป็นความเห็นส่วนตัว ใครๆ ก็สามารถมีความเห็นได้...

อีกอย่าง ถ้าตอบไป ก็อาจมีความเห็นเพิ่มเติมขึ้นมาอีก ก็จะไม่จบ...

เบื่อคนบ่นนะ.....  

เจริญพร 

 

นมัสการพระอาจารย์ คนบ่นแสดงว่ายังไม่เข้าใจประเด็น คนเข้าใจประเด็นเขาไม่บ่น กระผมเป็นคนรักวัดรักพระพุทธศาสนา ถ้ามีใครมาพูดในทางลบ มันขัดหูขึ้นมาทันที่จริงๆ กระผมอยากให้คนที่ชอมบ่นนะ ลองเขามาศึกษาพระธรรมจริงๆ จะอยู่ได้สักกี่วัน เบื่อคนบ่น...อย่างที่พระอาจารย์กล่าว นมัสการพระอาจารย์

กราบนมัสการพระอาจารย์...

กระผมนึกถึงเรื่องที่เล่าต่อกันมาให้คุณเม็กดำ กลุ่ม 9 นาดูน อ่านเล่น...

 

มีพระหนุ่มกับพระแก่พรรษากำลังจะข้ามน้ำลึกเท่าเข่า...บังเอิญเห็นหญิงสาวสวยทำเก้ ๆ กัง ๆ ที่ริมคลอง...

พระอาวุโสจึ่งถาม...สีกาจะข้ามน้ำหรืออย่างไร...

 

สีกา...เจ้าค่ะ...แต่เกรงว่าชุดสวยจะเปียกปอนค่ะพระคุณเจ้า...

 

งั้นขี่โก่งอาตมาไปละกัน...ว่าแล้วก็ให้หญิงสาวขึ้นขี่หลังโดยมิได้สนใจสายตาพระหนุ่มที่ขมวดคิ้วจนย่นแบบไม่น่าดึงออกจากกันได้...อิอิ

 

พอข้ามคลองเสร็จพระคุณเจ้าก็วางหญิงสาวแล้วเดินนำหน้าพระหนุ่มซึ่งยางไม่สามารถดึงคิ้วออกจากกันจนถึงวัด...

 

หลวงพ่อครับ...ท่านทำอย่างนั้นได้ด้วยหรือขอรับ...พระหนุ่มถามด้วยสีหน้าจริงจังแบบเอาเป็นเอาตาย...ก็อาบัติชัด ๆ นี่นา...

 

ทำอะไรรึ...พระอาวุโสถาม

 

ก็ท่านเอาสีกาขึ้นหลังแบบนั้น...พระหนุ่มสุดทน

 

เราวางสีกานั่นลงตั้งแต่ริมคลอง...ท่านไฉนยังแบกเธออยู่จนถึงวัดล่ะ...หลวงพ่อแจงด้วยใบหน้ายิ้มสดใส...

 

พระหนุ่ม...?????

 

 

กราบ 3 ครั้ง...พระอาจารย์ครับ

P

นายขำ

ว่าแล้ว ท่านเลขาฯ ต้องแวะมาแน่นอน...

เจริญพร 

กราบนมัสการพระอาจารย์ และสวัสดีคุณ  นายขำ ที่เอามุกตลกมาขัดบรรยากาศ กระผมเป็นคนพูดโพล่งโพล่ง คือ พูดอย่างไม่ยับยั้ง ใจคิดยังไงปากก็พูดออกไปยังงั้น เหตุมันมีอยู่ว่าทำไมต้องเอาพระภิกษุดื่มสุราขึ้นข่าวหน้าหนึ่งและใช้กฎหมายบ้านเมืองเข้ามาตัดสิน กระผมไม่เห็นด้วย ตำรวจก็มีกฎระเบียบของตำรวจ ทหารก็มีกฎระเบียบของทหาร พระคุณเจ้าก็มีพรธรรมวินัยของพระคุณเจ้า ต่างคนก็ต่างมีกฎระเบียบและวินัย ถ้าทำผิดก็ใช้กฎระเบียบหรือวินัยนั้นๆ มาตัดสิน เช่น พระภิกษุดื่มสุรา ผิดศลีข้อที่๕๑สุราเมรยปาเน ปาจิตติยํ (เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะดื่มสุราและเมรัย) ก็ต้องใช้พระธรรมวินัยตัดสิน ไม่ใช่เอากฎหมายมาตัดสิน ถ้าทำกันแบบนี้มันจะเหลืออะไร "พระพุทธศาสนา" คงอยู่ลำบากนี้แหละครับคือประเด็นที่กระผมอยากจะพูด สวัสดีคุณ  นายขำ คิดเห็นอย่างไร ยังไงก็ปรามๆ กันไว้ด้วยนะคนมันอดใจไม่อยู่จริงๆ กราบนมัสการพระอาจารย์  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท