ประทับใจกับคณะเทคนิคการแพทย์


 

                 วันนี้(๒๘ ต.ค.๕๐)ได้มีโอกาสจัด Workshop เพื่อแนะนำการจัดการความรู้ให้กับคณาจารย์คณะเทคนิคการแพทย์ จากการติดต่อประสานงานจากท่านคณบดี ผศ.อิสยา จันทร์วิทยานุชิต และ ผศ.วัชรินทร์ ผู้ช่วยคณบดี ช่วงประสานงานก็ได้ช่วยกันคิดถึงหัวปลาที่จะนำมาใช้ในการทดลองแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ ตกลงกันได้ว่าเป็น “ประสบการณ์ในการรับบริการที่ประทับใจ” สาเหตุที่เป็นหัวข้อนี้คือ ทางคณะเทคนิคการแพทย์กำลังที่จะเปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์ผลเลือด จึงอยากได้วิธีการบริการที่ทำให้เกิดความประทับใจ

               Workshop ครั้งนี้จัดครึ่งวันเช้าครับ เวลา ๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. เพราะทางคณาจารย์มีติดสัมมนาของคณะที่วางไว้ก่อนหน้า และสำหรับผมวันนี้พิเศษคือ ไม่ได้มีการเตรียม Slides เพื่อใช้บรรยายเลย แต่เตรียมกิจกรรมที่พาอาจารย์ที่เข้าร่วมทั้งหมด จากทั้งคณะเทคนิคการแพทย์ และ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทีเข้ามาเรียนรู้กระบวนการ จำนวนประมาณ ๓๐ ท่าน เรียนรู้กระบวนการการจัดการความรู้ผ่านการให้ทดลองทำจริง และแลกเปลี่ยนตามหัวปลาที่กำหนดไว้

                เริ่มต้นโดยผมเตรียมความพร้อมของผู้เข้าร่วมโดยฝึกให้มีการรับฟัง และชื่นชมความสามารถของแต่ละท่าน โดยให้แต่ละท่านเขียนความสามารถของตนเองลงกระดาษ แล้วจับคู่เพื่อเล่าความสามารถพิเศษของตนเองให้เพื่อนฟัง หลังจากนั้นให้คู่ของตนเล่ากลับให้เพื่อนฟัง เมื่อเล่าจบก็ให้เปลี่ยนคู่ไปเรื่อยๆ จุดประสงค์อีกอันคือให้มีการสร้างความคุ้นเคยกันอีกด้วย พอได้สักพักก็ให้กลับมานั่งรวมกลุ่ม เพื่อดูว่าได้รับอะไรจากการแลกเปลี่ยนความสามารถพิเศษกับเพื่อนๆบ้าง ทำให้ทราบว่าอาจารย์บางท่านสามารถตีขิมได้ด้วย ผู้เข้าร่วมก็สนุกกับการได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ และรู้ถึงคุณค่าและความสามารถพิเศษของแต่ละท่าน

                  ต่อมาให้ผู้เข้าร่วมพลิกกระดาษด้านหลังที่มีหมายเลขเขียนอยู่ ตั้งแต่ -๒ , -๑ , ๐ , ๑, ๒, ๓, ๔ และให้จับกลุ่ม ๔ คนเพื่อให้ได้ค่ามากที่สุด ผมท้าทายกลุ่มว่าจะได้ตัวเลขมากที่สุดเท่าไร โดยให้รวมกันประมาณ ๖ รอบครับ เกมนี้ตอนที่นำมาทดลองเล่นกับนักศึกษาทำให้คนที่ได้เลขติดลบ รู้สึกด้อยค่ามาก เพราะจะรู้สึกถ่วงคนอื่น และคงไม่มีคนเอาเข้ารวมกลุ่มด้วย แต่พอนำเกมนี้มาเล่นกับคณาจารย์คณะเทคนิคการแพทย์ ปรากฏว่ามีการช่วยเหลือและสามัคคีกันภายในทีมมาก เพราะผู้ที่คะแนนติดลบมักจะไปรวมตัวกันเอง และเพื่อไม่ทำให้คะแนนกลุ่มที่มีค่าสูงติดลบลงไป แสดงถึงความเสียสละของ และเห็นเป้าหมายสุดท้ายที่ต้องไปให้ถึงเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญกว่าเป้าหมายของกลุ่มย่อยของตนเอง

                  หลังจากนั้นก็เข้าสู่กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเรื่องเล่า ถึงประสบการณ์ในการรับบริการ(หรือให้บริการ)ที่ประทับใจ เรื่องเล่าส่วนใหญ่ก็เกี่ยวกับประสบการณ์ในการให้บริการ และ การจัดการกับความกดดันของผู้ที่ต้องการผลการวิเคราะห์โดยเร็ว(มากจนถึงด่วน)

                   จากเรื่องเล่าหลายเรื่องทำให้เห็นถึงความเสียสละและความทุ่มเทของเหล่าคณาจารย์ในคณะเทคนิคการแพทย์ เช่นการทำงานหนักเพื่อตรวจเลือดที่มีลักษณะพิเศษ เนื่องจากคนไข้ต้องการเลือดด่วนเพื่อใช้ในการผ่าตัด ถึงแม้จะต้องใช้เวลาการทำงานที่นาน และนอกเวลาทำงานปกติ แต่ก็ต้องพยายามทำให้สำเร็จ หลายท่านเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับการบริการด้วยความมีน้ำใจ และความมีไมตรีจิตของผู้ให้บริการ

                    ถึงแม้เวลาจะกระชั้นและแลกเปลี่ยนได้ไม่เต็มที แต่สำหรับผมแล้วรู้สึกว่าอิ่มกับการได้ร่วมวงสนทนาครั้งนี้ และตื้นตันกับการมีจิตสำนึกของเหล่าอาจารย์คณะเทคนิคการแพทย์ที่ทุ่มเท เพื่อที่จะทำงานให้กับผู้อื่นครับ

medtech1medtech2
กิจกรรมแบ่งปันความสามารถกับเพื่อนๆ

medtech3
สบายๆ ขณะเตรียมเรื่องเล่า

medtech4
ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกครับ

หมายเลขบันทึก: 132789เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2007 20:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท