การบริหารความเสี่ยง


ความเสี่ยง เหตุการณ์เสี่ยง การบริหารความเสี่ยง องค์ประกอบ

ความเสี่ยง  ตามระบบควบคุมภายใน หมายถึง โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด ความเสียหาย การรั่วไหล ความสูญเปล่า หรือเหตุการณ์ซึ่งไม่พึงประสงค์ ที่จะทำให้งานไม่ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ซึ่งความหมายสอดคล้องกับความเสี่ยงตามที่สำนักงาน กพร. กำหนด

เหตุการณ์เสี่ยง  หมายถึง สถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นและมีผลต่อความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ตามประเภทความเสี่ยง ดังนี้ (1) ความเสียหายจากการควบคุมไม่เพียงพอหรือการขาดการควบคุม  (2) การสูญเสียความน่าเชื่อถือหรือชื่อเสียงของกรมฯ  (3) ภัยธรรมชาติ ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจของกรมฯ หรือประเทศชาติ  (4) ไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายที่วางไว้ได้ เช่น งานวิจัยที่ไม่มี  Model ใหม่ ๆ                       

การบริหารความเสี่ยง   หมายถึง ขบวนการที่จัดทำขึ้นอย่างเป็นระบบ เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากความเสี่ยงต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้โดย  (1) ผู้บริหารเป็นผู้กำหนดนโยบาย  (2) บุคลากรภายในองค์กรทุกคนต้องช่วยกันดำเนินงานให้บรรลุตามนโยบาย

องค์ประกอบของการบริหารความเสี่ยง  (1) ด้านกลยุทธ์ สนับสนุนวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร คือ ต้องให้ทุกคนภายในองค์กรช่วยกันปฏิบัติงานจนทำให้เป็นวัฒนธรรมขององค์กร    (2) ด้านโครงสร้าง ต้องมีการกำหนดภารกิจ ความรับผิดชอบที่ชัดเจน (3) ด้านระบบงาน ต้องมีกระบวนงานในการวัดผลและติดตามการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม  (4) มีปัจจัยพื้นฐาน เพื่อประกอบการวางแผนและตัดสินใจในการดำเนินงานและการรายงานผลการปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ

การประเมินความเสี่ยง  คือ กระบวนการที่ใช้ในการระบุและวิเคราะห์ความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร โดยพิจารณาจาก   (1) ผลกระทบที่เกิดขึ้นว่ามีมาก-น้อยเพียงใด  (2)โอกาสที่จะเกิดขึ้นมาก-น้อยเพียงใด โดยมองถึงความถี่ที่เกิดขึ้นหรือนำเหตุการณ์ในอดีตมาประเมินเหตุการณ์ในอนาคตก็ได้

การจัดการความเสี่ยง  (1) หลีกเลี่ยงความเสี่ยง   (2) ลดความเสี่ยงให้ลดลงจนเป็นที่ยอมรับได้   (3) การถ่ายโอนความเสี่ยงให้ผู้อื่น เช่น การประกันภัย เป็นต้น

ผู้รับผิดชอบในการบริหารความเสี่ยง  (1) คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงเป็นผู้กำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยง  (2) ผู้บริหารระดับสูง มีบทบาทในการสอบทานความเสี่ยงขององค์กร ประเมินความเสี่ยง และควบคุมให้หน่วยงานต่าง ๆ ภายในองค์กรมีการบริหารความเสี่ยง (3) ผู้บริหารระดับกลาง (ผู้อำนวยการ) ต้องให้หน่วยงานระบุความเสี่ยงของแต่ละงาน และดำเนินการจัดการความเสี่ยงที่มีอยู่ให้ลดลงหรือให้หมดไป  (4) ผู้บริหารระดับต้น (ฝ่าย,กลุ่ม) ต้องให้บุคลากรทุกคนระบุความเสี่ยงและจัดการความเสี่ยงที่มีอยู่ให้ลดลงหรือหมดไป

บุคลากรภายในองค์กรมีหน้าที่  (1) ระบุความเสี่ยงในสายงานที่รับผิดชอบ  (2) สื่อสารให้ผู้บริหารรับรู้ความเสี่ยงที่เกิดขึ้น  (3) จัดการความเสี่ยงที่มีอยู่ให้หมดหรือยอมรับได้  (4) ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานการบริหารความเสี่ยง

ปัจจัยที่ทำให้ระบบบริหารความเสี่ยงสำเร็จ  (1) ผู้บริหารต้องจัดทำระบบบริหารความเสี่ยงอย่างจริงจังและให้การสนับสนุนในทุก ๆ ด้าน  (2) สื่อสารให้บุคลากรในองค์กรมีความรู้ความเข้าใจในระบบบริหารความเสี่ยงและตระหนักถึงความสำคัญในการจัดทำระบบ  (3) ทำต่อเนื่อง  (4) เข้าใจในการบริหารความเปลี่ยนแปลง  (5) การสื่อสารขององค์กรต้องมีประสิทธิภาพ  (6) การวัดผลการบริหารความเสี่ยงต้องมีประสิทธิภาพ  (7) การประเมินบุคคลให้สิ่งตอบแทนเพื่อเป็นแรงจูงใจ  (8) มีระบบการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน

 

 

หมายเลขบันทึก: 132308เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2007 14:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท