ผลงานวิจัย :โครงการ ลด ละ เลิก เหล้า จังหวัดมหาสารคาม


เหล้า ลดละ เลิก เหล้า จังหวัดมหารคาม

 

   ผมได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการประเมินโครงการ นโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม  ลด ละ เลิก เหล้า จึงได้ขอเสนอผลการประเมินโครงการ เพื่อให้ทราบข้อมูล ณปัจจุบัน ดังนี้

 

ความเป็นมาและความสำคัญ

 สุราคือสิ่งที่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน  ผู้คนต่างหลงใหลในรสชาติของสุรา  และใช้สุราเป็นเครื่องบำบัดความทุกข์  บำรุงความสุข  ซึ่งหากพิจารณาดูจะแบ่งกลุ่มคนที่ใช้สุราเป็น  2  กลุ่ม  คือ  ใช้สุราเพื่อการสังสรรค์เป็นครั้งเป็นคราว  และอีกกลุ่มหนึ่งดื่มสุราเป็นประจำ  และหากดื่มสุราเป็นประจำก็จะส่งผลเสียต่อร่างกาย  ครอบครัว  และสุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาสังคม  บุคลากรขาดประสิทธิภาพส่งผลกระทบไปถึงระดับประเทศ  จากสถิติพบว่า  คนไทยดื่มสุราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 260,000 คน  โดยใน 10 ปีที่ผ่านมา จาก พ.ศ. 2535-2545 มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จาก 992 ล้านลิตร เป็น 1,926 ล้านลิตร  โดยเฉพาะเบียร์ มีการบริโภคเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า จาก 320 ล้านลิตร เป็น 1,222 ล้านลิตร คิดเป็น 8.1 ลิตรต่อคน เพิ่มเป็น 24.8 ลิตรต่อคน  โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี  พบว่า ร้อยละ 46.9  ดื่มสุรา  ดังนั้นจึงเกิดการรณรงค์  เพื่อให้คนไทยลด  ละ  เลิกเหล้า  ภายใต้ชื่อโครงการว่า  “เลิกเหล้า  เลิกจน  เริ่มต้นชีวิตใหม่”  แต่การรณรงค์นี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร  กรมสรรพากร  จึงมีแนวคิดที่จะทำให้ประชาชนเลิกเหล้า  คือ  การขึ้นภาษีสุรา  โดยในวันที่  28  สิงหาคม  2550  กรมสรรพากรได้ขึ้นภาษีสุราทุกประเภท   คือ สุราขาว เดิมเก็บภาษีในอัตรา 25% จากอัตราตามปริมาณ 70 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ล่าสุด จะปรับเป็นอัตราภาษี 50% จากอัตราภาษีตามปริมาณ 110 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ส่งผลให้ราคาขายปลีกสุราขาว 28 - 40 ดีกรี ขนาด 0.625 ลิตร เพิ่มขึ้นประมาณ ขวดละ 9 - 12 บาท  สุราผสม จากเดิมที่จัดเก็บในอัตรา 50% จากอัตราตามปริมาณ 240 บาท ต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ล่าสุด จะคิดอัตรา 50% จากอัตราภาษีตามปริมาณ 280 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ส่งผลให้ราคาขายปลีกสุราผสม 28 - 35 ดีกรี ขนาด 0.625 ลิตร เพิ่มขึ้นประมาณ ขวดละ 9 - 12 บาท เช่นกัน สำหรับสุราพิเศษ ประเภทบรั่นดี จากเดิมที่จัดเก็บภาษี ในอัตรา 40% จากอัตราตามปริมาณ 400 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ล่าสุด จะเก็บในอัตรา 45% จากอัตราภาษีตามปริมาณ 400 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ส่งผลให้ราคาขายปลีกบรั่นดี 38 - 40 ดีกรี ขนาด 0.640 ลิตร เพิ่มขึ้นไม่เกินขวดละ 91 บาท 
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวไทยเกิดปัญหามากมายก็คือการดื่มเหล้า โดยเฉพาะสังคมไทยที่มีค่านิยมผิดๆ เกี่ยวกับความเป็นชายชาตรี โครงการครอบครัวเข้มแข็ง ได้สำรวจครอบครัวไทย 1,199 คน ในหัวข้อ 'เหล้า..ผลกระทบในครอบครัว' พบว่าในครอบครัวไทย ทั้งพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ดื่มเหล้าถึง 77% โดยพ่อแม่ดื่มเหล้า 43% ญาติพี่น้องดื่มเหล้า 24% และลูกเป็นผู้ดื่ม 10%สิ่งที่น่าสนใจคือจุดเริ่มต้นของการดื่มเหล้านั้นมาจากค่านิยมที่ว่าลูกผู้ชายจะต้องดื่มเหล้า สูงถึง 35% ทำให้มองว่าการดื่มเหล้าเป็นเรื่องธรรมดา นอกจากเรื่องค่านิยมแล้วยังมีสาเหตุอื่นๆ อีก ได้แก่ เห็นจากเพื่อนบ้านญาติพี่น้องดื่ม 27.5% การเห็นตัวอย่างจากคนในครอบครัว 18% รวมทั้งสื่อเองก็มีส่วนกระตุ้นให้รู้สึกว่าการดื่มเหล้าเป็นเรื่องเท่ 12% อย่างไรก็ตามครอบครัวไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้คนในครอบครัวดื่มเหล้า (64%) เพราะทำให้ครอบครัวเกิดปัญหา เริ่มจากสุขภาพของผู้ดื่มเอง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทะเลาะเบาะแว้งกันในครอบครัว ทำให้สุขภาพจิตของคนในบ้านเสื่อมโทรม และส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์กันในแทบทุกเรื่อง ทั้งยังส่งผลให้เกิดการใช้ความรุนแรงกับลูก ลูกขาดความนับถือพ่อแม่ กลายเป็นเด็กก้าวร้าว และอาจส่งผลให้เด็กกลายเป็นนักดื่มตามพ่อแม่ด้วย เมื่อถามถึงวิธีการที่จะทำให้คนในครอบครัวเลิกดื่มเหล้า ส่วนใหญ่เห็นว่าค่อยๆ ลดปริมาณการดื่มเหล้าลง 44% น่าจะได้ผลดีกว่าการใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดบังคับ และมีเพียง 20% เท่านั้นที่เห็นว่าการพูดคุยถึงโทษของการดื่มเหล้าจะช่วยให้เลิกได้ ที่น่าสนใจคือเสียงส่วนใหญ่ถึง 41% เชื่อว่าหากชุมชนช่วยเหลือด้วยการจัดกิจกรรมรณรงค์หรืองดเหล้าในหมู่บ้าน และตั้งกฎห้ามหรือจำกัดการดื่มในหมู่บ้าน ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาการดื่มเหล้าได้
 ปัจจุบันพบว่า อายุของผู้เริ่มดื่มสุรา มีแนวโน้มอายุลดน้อยลงเรื่อยๆ และผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะดื่มเครื่องดื่มที่แอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้น และมีโอกาสที่จะดื่มมากกว่าสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง จากการสำรวจพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ ของประชาชนในจังหวัดมหาสารคาม ในปี 2547 พบว่า ประชาชนในวันทำงานช่วงอายุ 15-39 ปี มีการดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดร้อยละ 45 และในกลุ่ม 40-50 ปี ร้อยละ 44 สำหรับค่าเฉลี่ยจำนวนวันต่อสัปดาห์ จากการสำรวจปริมาณการบริโภคสุราขาว พบว่า ปี 2547 อัตราการบริโภคสุรามีถึง 4,781,220 ลิตร แต่ในปี 2548 การบริโภคสุราขาวลดลง แต่มีการบริโภคในกลุ่มเบียร์เพิ่มมากขึ้น (ข้อมูลจากสรรพสามิตจังหวัด ในการจำหน่ายสุราของจังหวัดมหาสารคาม)
สำหรับจังหวัดมหาสารคาม ถือเป็นจังหวัดนำร่องในการรณรงค์ให้มีการลด ละ เลิกเหล้า ซึ่งได้ดำเนินการมานานและมีผลดำเนินการที่น่าพอใจ  โดยขณะนี้ทางจังหวัดมีหมู่บ้านต้นแบบในการลด ละ เลิกเหล้าแล้ว 5 หมู่บ้านและได้มีการขยายผลไปสู่ อบต. เครือข่ายนักศึกษาหรือแม้กระทั่งหอพักได้เป็นอย่างดี ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นอย่างดี   ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ชวน ศิรินันท์พร  กล่าวว่า จังหวัดมหาสารคามประกาศจะแก้ไขปัญหาสังคมควบคู่กับปัญหาเศรษฐกิจและความยากจนของประชาชนมาเกือบ 2 ปีแล้ว  และมองว่าปัญหามากมายที่เกิดขึ้นทั้งปัญหาเรื่องสุขภาพอนามัย  ความยากจน การทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว รวมทั้งปัญหาอุบัติเหตุล้วนแล้วแต่มีมูลเหตุมาจากเหล้าทั้งสิ้น  และที่น่าเป็นห่วงคือผู้คนสมัยนี้ดื่มเหล้ากันชนิดไม่เลือกเวลา ไม่เลือกเพศและสถานที่ซึ่งหากปล่อยให้สังคมดำเนินต่อไปแบบนี้มีแต่จะเกิดความเสียหายตามมา ดังนั้นความร่วมมือในวันนี้จึงเกิดขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและจากประชาชนทั้งจังหวัดเป็นอย่างดี เพราะทุกคนต่างเห็นว่าปัญหาส่วนใหญ่ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากการดื่มสุราทั้งสิ้น  ซึ่งหากสามารถลด ละ เลิก ได้ก็จะสามารถลดปัญหาต่างๆ ลงได้  อีกทั้งยังสามารถรณรงค์ให้บรรดาผู้เลิกสุราหันมาใช้ชีวิตตามวิถีพอเพียงได้อีกทาง   และเชื่อว่ามหาสารคามจะสามารถเดินไปสู่ความเป็นเมืองที่มีสุขภาวะที่ยั่งยืนได้  ซึ่งจะทำให้เมืองที่น่าอยู่  บรรดาผู้ปกครองก็จะวางใจให้ลูกหลานเข้ามาศึกษาหาความรู้ เป็นแหล่งผลิตวิชาการที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมปลอดภัย และผู้คนก็มีวิถีชีวิตที่ดีงามได้ในที่สุด

วัตถุประสงค์การประเมินผล

 1.  เพื่อประเมินประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลโครงการ ลด ละ เลิก การดื่มสุรา จังหวัดมหาสารคาม  ตามที่ระบุไว้ตามตัวแบบของโครงการ
 2.  เพื่อพิจารณาจุดแข็งและจุดอ่อนของการดำเนินงานที่ผ่านมาโดยพิจารณาการออกแบบโครงการสามารถตอบสนองต่อความจำเป็นและการแก้ไขปัญหาของกลุ่มเป้าหมายหรือไม่  และอย่างไร
 3.  ประเมินสถานภาพเพื่อรองรับการดำเนินงานของโครงการ  เพื่อการมีข้อมูลที่จำเป็นในการให้ข้อเสนอแนะต่อจังหวัดมหาสารคาม ต่อไปและวิเคราะห์ประเด็นการแก้ไขปัญหาสำคัญที่มีผลต่อโครงการในระยะต่อไป

ขอบเขตของการประเมิน

 1.  พื้นที่เป้าหมาย คือ  ข้าราชการ/พนักงาน/ลูกจ้าง  ประจำส่วนราชการในจังหวัดมหาสารคาม ประกอบด้วย 10 อำเภอ กับ 2 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอเชียงยืน
อำเภอโกสุมพิสัย  อำเภอกันทรวิชัย อำเภอบรบือ อำเภอนาเชือก อำเภอวาปีปทุม อำเภอนาดูน อำเภอพยัคฆภูมพิสัย อำเภอแกดำ กิ่งอำเภอสีสุราช และกิ่งอำเภอกุดรัง รวมทั้งสิ้น   42,139  คน
 2.  กลุ่มเป้าหมาย คือ ข้าราชการ/พนักงาน/ลูกจ้าง  ประจำส่วนราชการในจังหวัดมหาสารคาม ประกอบด้วย 10 อำเภอ กับ 2 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอเชียงยืน
อำเภอโกสุมพิสัย  อำเภอกันทรวิชัย อำเภอบรบือ อำเภอนาเชือก อำเภอวาปีปทุม อำเภอนาดูน อำเภอพยัคฆภูมพิสัย อำเภอแกดำ กิ่งอำเภอสีสุราช และกิ่งอำเภอกุดรัง รวมทั้งสิ้น   2,710  คน 
ใช้สัดส่วนการคัดเลือกร้อยละ 60 ของกลุ่มเป้าหมาย
 3.  ระยะเวลาในการประเมินโครงการประเมิน ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2550 ถึงเดือน กันยายน 2550
 4.  กรอบในการประเมินโครงการลด ละ เลิก การดื่มสุรา จังหวัดมหาสารคาม   ประกอบด้วย
  4.1 การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมา
  4.2  ความปลอดภัยในการขับขี่/โดยสารรถ
  4.3  ความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับการดื่มสุรา
  4.4  การแก้ปัญหาเรื่องการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมา

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล

 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  เป็นแบบแบบสอบถามชนิดเลือกตอบ เกี่ยวกับการดื่มสุรา  และความคิดเห็นของข้าราชการ/พนักงาน/ลูกจ้าง  ประจำส่วนราชการ  จังหวัดมหาสารคาม  วัตถุประสงค์เพื่อต้องการทราบข้อมูลการดื่มสุราของข้าราชการ/พนักงาน/ลูกจ้าง  ประจำส่วนราชการในจังหวัดมหาสารคาม  เพื่อสนองนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม
โดยแบบสอบถามแบ่งออกเป็น  5 ด้าน ดังนี้
  1. ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
  2.  การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมา
  3.  ความปลอดภัยในการขับขี่/โดยสารรถ
  4.  ความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับการดื่มสุรา
  5.  การแก้ปัญหาเรื่องการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมา
 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เมื่อสร้างแล้วก่อนนำไปเก็บรวบรวมข้อมูล ได้มีการนำไปทดลองใช้กับกลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง และนำมาหาคุณภาพเครื่องมือ พบว่า  แบบ มีความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.64 


การเก็บรวบรวมข้อมูล

 การประเมินโครงการลด ละ เลิก การดื่มสุรา จังหวัดมหาสารคาม  ผู้ประเมินได้ประชุมชี้แจงการเก็บรวบรวมข้อมูลตามกรอบประเด็นให้แก่ผู้ช่วยวิจัย แล้วนำข้อมูลที่เก็บได้มาร่วมกันสรุปวิเคราะห์ตามประเด็นเป็นรายพื้นที่เป้าหมาย  และผลการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบสอบถามและประเมินจากกลุ่มเป้าหมาย 2,710 คน  เก็บรวบรวมและข้อมูลมีความสมบูรณ์ จำนวนทั้งสิ้น 2,710 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 100

การวิเคราะห์ข้อมูล

 การวิเคราะห์ข้อมูลผู้ประเมินดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลหา  ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างต่อโครงการลด ละ เลิก การดื่มสุรา จังหวัดมหาสารคาม 
 
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ

สรุปผล

  1.  กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ สังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 26.80 รองลงมาคือ  กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาไทย และกระทรวงสาธารณสุข  และโดยรวมอยู่นอกเขตเทศบาล ร้อยละ 50.10 และเขตเทศบาล ร้อยละ 49.90  และหน่วยงานที่มีผู้ตอบแบบสอบถามน้อยที่สุดคือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และกระทรวงอุตสาหกรรม  แยกเป็นเพศชาย ร้อยละ 58.20 และเพศหญิง  ร้อยละ 41.80  มีอายุระหว่าง 26- 35 ปี  ร้อยละ  37.50   อายุระหว่าง 36-45 ปี  ร้อยละ  29.40 และอายุ46 ปีขึ้นไป  ร้อยละ 23.30  มีสถานภาพสมรส ร้อยละ 65.50 และมีสถานภาพโสด ร้อยละ 30.10ประกอบอาชีพลูกจ้าง/พนักงานของรัฐ ร้อยละ  35.70 และ ข้าราชการพลเรือน ร้อยละ 22.50  รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5,001-10,000 บาท  ร้อยละ 40.10  เงินเดือนระหว่าง 10,001-15,000 บาท  ร้อยละ 24.70 และรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน ต่ำกว่า 1,000 บาท ร้อยละ 64.00 และ1,001-5,000 บาท ร้อยละ 27.00
ตำแหน่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่  รอลงมาคือ ตำแหน่งนักวิชาการ และทุกอาชีพส่วนใหญ่มีหน้าที่เป็นฝ่ายปฏิบัติการมีส่วนน้อยที่หน้าที่เป็นผู้บริหาร
  2.  กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ปัจจุบันยังดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมาอยู่ ร้อยละ 45.70  และมีส่วนน้อยที่เคยดื่มแต่เลิกแล้ว ร้อยละ 25.30 โดยก่อนเลิกเคยดื่มเป็นประจำ และเคยดื่มนาน ๆ ครั้ง มีถึงร้อยละ 22.10 ไม่ดื่มและไม่เคยดื่ม มีการดื่มเป็นบางวัน(1-2  ครั้ง/สัปดาห์) และดื่มเดือนละ 1-2 ครั้ง มีมากถึงร้อยละ  24.60 , 16.40  มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ดื่มทุกวัน มีเพียงร้อยละ 2.50  
สาเหตุที่เลิกดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมา เพราะไม่ดี เลยตัดสินใจเลิก ร้อยละ 34.80 รองลงมาคือ ต้องการประหยัด และมีบางส่วนมีเหตุผลที่เลิกเพราะว่า สามี/ภรรยา/ลูกจ้าง  กลัวเป็นโรค  ป่วยเป็นโรค แล้วแพทย์แนะนำให้เลิกดื่มสุรา และเข้าร่วมรณรงค์ลดละเลิกสุรา มีไม่ถึงร้อยละ 10 และส่วนน้อยมากเห็นว่าสาเหตุที่เลิกดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมา เพราะมาตรการตรวจจับขับขี้เมาสุราให้ดื่มไม่สะดวก มีเพียงร้อยละ 2.10 เท่านั้น
  3.  กลุ่มตัวอย่างเริ่มดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมา  ตั้งแต่อายุต่ำกว่า 20 ปี มีมากถึงร้อยละ  63.30  และอายุระหว่าง 21-30 ปี  มีส่วนน้อยมากที่เริ่มดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมา อายุตั้งแต่ 31 ปีขึ้นไป มีเพียงไม่ถึงร้อยละ 5  เท่านั้น  ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมา เพราะเพื่อเข้าสังคม/เพื่อการสังสรรค์ มีมากถึงร้อยละ 47.60  อยากทดลองดื่ม ตามอย่างเพื่อน/เพื่อนชวนดื่ม และมีส่วนน้อยที่ดื่มเพื่อให้เจริญอาหาร  มีความเครียด/วิตกกังวล ใช้เป็นยาหรือส่วนผสมของยา  ความผิดหวังและเพื่อความโก้เก๋  มีไม่ถึงร้อยละ 10   ส่วนใหญ่ดื่มเบียร์มากที่สุด ร้อยละ 37.1 รองลงมาอันดับสอง คือ เหล้ากลั่น (วิสกี้,บรั่นดี,แม่โขง,และอื่นๆ) ร้อยละ 31.5 อันดับสาม คือ เหล้าขาว,เวียงซุน ร้อยละ 10.5 และไวน์ ร้อยละ 10.2  โดยจะซื้อเครื่องดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมีนเมา จากร้านค้าด้วยตนเอง มีมากถึงร้อยละ 64.70  รองลงมา คือ ของจากคนอื่น(วันเดียวกันที่ดื่ม) และอื่น ๆ มีน้อยคนในครอบครัวชวนดื่ม มีไม่ถึงร้อยละ 5 และค่าใช้จ่ายในการซื้อสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมา โดยเฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 1,000 บาท  มากถึงร้อยละ 80.10  รองลงมาคือ  1,001 – 5,000 บาท ร้อยละ 19.60 และ 5,001 – 1,000 บาท มีเพียงร้อยละ 0.30 เท่านั้น 
  4.  สถานที่ในการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมีนเมา ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหาร ร้านค้า  ร้อยละ 48.60 และที่พักอาศัยของตนเอง  ร้อยละ 37.90  ส่วนสถานที่อื่น   เช่น สถานที่ทำงาน  สถานศึกษา สวนสาธารณะ วัด  มีเพียงไม่ถึงร้อยละ 5  เท่านั้น ส่วนใหญ่จะดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมา หลังเลิกงาน ร้อยละ 78.70 และเวลาความเหมาะสม ร้อยละ มีส่วนน้อยเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่ดื่มสุราเวลาทำงานและเวลาพักกลางวัน   ซึ่งปัญหาที่เกิดจากสาเหตุการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมาต่อตนเอง/สมาชิกในครัวเรือน อันดับดับแรก คือ ปัญหาสุขภาพ รองลงมาคือ  มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน/ผู้บังคับบัญชา/ผู้ใต้บังคับบัญชา และมีส่วนน้อยเท่านั้นมีปัญหาเรื่อง การใช้ความรุนแรงในครอบครัว
  5.  ค่าใช้จ่ายในการซื้อสุราและเครื่องมึนเมา  โดยเฉลี่ยต่ำกว่า 1,000 บาท ต่อเดือน มีมากถึงร้อยละ 80  ซึ่งอาชีพลูกจ้าง/พนักงานของรัฐมีค่าใช้จ่ายในการซื้อสุราและเครื่องมึนเมามากที่สุด รองลงมาคือ ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการพลเรือน ส่วนข้าราชการครูและข้าราชการทหารมีค่าใช้จ่ายในการซื้อสุราและเครื่องมึนเมาเพียงร้อยละ 6.80 , ร้อยละ 9.00  เท่านั้น
  6.  กลุ่มตัวอย่างไม่เคยดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมา ก่อนขับรถยนต์/  ขี่รถจักรยานยนต์  และเคยดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมา ก่อนขับรถยนต์/  ขี่รถจักรยานยนต์  มากถึงร้อยละ 41.80  โดยเคยดื่มเป็นประจำ ร้อยละ 3.5 และเคยดื่มเป็นบางครั้งมากถึงร้อยละ 36.30  ไม่เคยได้รับบาดเจ็บ/อุบัติเหตุจากการขับรถยนต์/ขี่รถจักรยานยนต์  ซึ่งเกิดจากดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมามากร้อยละ 89.90 และมีเพียงร้อยละ 10.10 ที่ ได้รับบาดเจ็บ/อุบัติเหตุจากการขับรถยนต์/ขี่รถจักรยานยนต์ จากดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมา
  7.  กลุ่มตัวอย่างรับรู้กฎหมายที่บทลงโทษเกี่ยวกับสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มากถึงร้อยละ 80 เช่น  รับรู้ว่า ห้ามจำหน่ายสุราแก่เด็กอายุต่ำกว่า  18  ปี ผู้ฝ่าฝืนขับรถขณะเมาสุรา  มีโทษจำคุกสูงสุด  3  เดือน  ปรับ  2,000 – 10,000  บาท ผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรที่เมาสุราต้องทำงานสาธารณะงานบริการสังคม มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่รู้กฎหมายหรือบทลงโทษเกี่ยวกับสุรา/เครื่องมึนเมา และใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการเพื่อลดการบริโภคสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  คือ กำหนดให้วัด  โรงเรียน  หน่วยงานรัฐเป็นเขตปลอดสุรา ฯ  ควบคุมรูปแบบการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอิทธิพลโน้มน้าวให้เยาวชนดื่ม  ควบคุมจุดจำหน่ายสุราอย่างเข้มงวด  และห้ามโฆษณา  ส่งเสริมการขายจูงใจให้ส่งชิ้นส่วนของสุรา    (ฝาขวด  ฉลาก ฯลฯ)  มาชิงโชค และบางส่วนไม่เห็นด้วยที่ว่า กำหนดให้บ้านเป็นเขตปลอดสุราฯ  และงดการจำหน่ายสุราสัปดาห์ละ  1  วัน
  8.  กลุ่มตัวอย่างทราบการประชาสัมพันธ์  รณรงค์ให้ประชาชน  ลด  ละ  เลิก  การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมา ของผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม มากถึงร้อยละ 84.40 โดยรับทราบจากแผ่นป้ายโฆษณา ร้อยละ 22.6 จากสถานีโทรทัศน์ (โทรทัศน์ท้องถิ่น) ร้อยละ 11.5  กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยกับการประชาสัมพันธ์  รณรงค์ให้ประชาชน  ลด  ละ  เลิก  การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมา ของผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม  ร้อยละ 98.70 และไม่เห็นด้วย มีเพียงร้อยละ 1.30  ซึ่งหลังการประชาสัมพันธ์  รณรงค์ให้ประชาชน  ลด  ละ  เลิก  การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมาของผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม  ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างลดการดื่ม มากถึงร้อยละ 40.10  ไม่ดื่มเลย และไม่เคยดื่มมาก่อน และมีเพียงส่วนเท่านั้นที่ยังมีการดื่มสุราหรือเครื่องมึนเมาเท่าเดิม  และดื่มมากกว่าเดิม ร้อยละ 1.10  ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการประชาสัมพันธ์ลด  ละ  เลิก  การดื่มสุราหรือเครื่องดื่ม  มึนเมาของผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม และหลังการประชาสัมพันธ์  รณรงค์ให้ประชาชน  ลด  ละ  เลิก  การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมา  เห็นว่า พฤติกรรมการดื่มลดลงและไม่ดื่มเลย  มีถึงร้อยละ 39.9 และ 23.41  ตามลำดับ
  9.  กลุ่มตัวอย่างเห็นว่า ร้านค้า/ร้านอาหาร  ในเขตหมู่บ้านที่มีการจำหน่ายสุรา เครื่องดื่มมึนเมา  ส่งเสียงรบกวนการพักผ่อน  หรือก่อเหตุรำคาญอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 24.5  รองลงมาคือ ไม่มี  ร้อยละ 21.8 และ น้อยที่สุด ร้อยละ 13.8  และมีบางส่วนเห็นว่า อยู่ในระดับมากที่สุด ร้อยละ 13.0 และระดับมาก ร้อยละ 9.2

ข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินการโครงการ

 1.  ควรมีการส่งเสริมสนับสนุนโครงการลด ละ เลิก การดื่มสุรา จังหวัดมหาสารคาม
โดยเน้นจากหน่วยงานระดับล่าง  หน่วยงานราชการตามอำเภอ รวมทั้งมีการตั้งคณะกรรมการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง  เพื่อการดำเนินการประสบความสำเร็จ
 2.  ควรมีการดำเนินงานต่อยอดงานโครงการลดละเลิก การดื่มสุรา ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี จึงจะทำให้เกิดหมู่บ้าน อำเภอ ต้นแบบและการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นชุมชนต้นแบบในการขยายผลต่อไป
 3.  ผลการดำเนินงานโครงการลด ละ เลิก การดื่มสุรา จังหวัดมหาสารคามพบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการประชาสัมพันธ์ลด  ละ  เลิก  การดื่มสุราหรือเครื่องดื่ม  มึนเมาของผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม และหลังการประชาสัมพันธ์  รณรงค์ให้ประชาชน  ลด  ละ  เลิก  การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมา  เห็นว่า พฤติกรรมการดื่มลดลงและไม่ดื่มเลย  มีถึงร้อยละ 40  และมีเพียงส่วนเท่านั้นที่ยังมีการดื่มสุราหรือเครื่องมึนเมาเท่าเดิม  และดื่มมากกว่าเดิม ดังนั้นควรขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการ อย่างน้อย 3-5 ปี
 4.  อาชีพลูกจ้าง/พนักงานของรัฐมีค่าใช้จ่ายในการซื้อสุราและเครื่องมึนเมามากที่สุด รองลงมาคือ ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการพลเรือน  ดังนั้นการดำเนินโครงการลด ละ เลิก การดื่มสุรา ควรเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ชัดมากขึ้นเพื่อ ประสิทธิผลการโครงการที่ตรงเป้าหมาย
 5.  สำหรับการดำเนินโครงการครั้งต่อไป ควรเน้นนักศึกษาที่อยู่ตามสถานศึกษา  เพราะจากการสำรวจเพราะว่าปริมาณการดื่มสุรามีปริมาณมากขึ้นเรื่อย  ดังนั้นโครงการต้องครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด

ทองสง่า ผ่องแผ้ว 24/09/2550

หมายเลขบันทึก: 131886เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2007 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เลิกได้อีหลีบ่หล่ะอ้ายยย

ลด ละ เลิก การดื่มสุรา .......ได้ยังคะพี่

เป็นโครงการที่ดีนะคะ ...แต่จะได้ผลขึ้นอยู่กับการตั้งใจนะคะ..และก็ปัจจัยรอบข้าง รวมทั้งสิ่งแวดล้อมด้วยค่ะ ..เช่น ไม่มีการแสดงคอนเสริ์ตที่ยั่วยุ เช่น คอนเสริ์ต เบียร์ ฯ ประมาณนั้นค่ะ ซึ่งเป็นการมอมเมาเยาวชน

สาธุ...ขอให้สำเร็จไวๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท