สังคมและปรากฎการณ์ ตอน ความขัดแย้งและการตัดสิน : บทเรียนสังคมไทย


คนเจ้ากรรม เมื่อไม่พบสิ่งที่พึงประสงค์หรือพบในสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งภายใน การตัดสินความขัดแย้งมีอยู่ ๔ ทางหลักคือ เดินต่อ ถอยหลัง หยุดอยู่กับที่และหลบข้างทาง หรือว่าเลือกทางที่ ๕ ปล่อยให้มันผ่านชีวิตอันโปร่งแสงนี้ไป

ภาพปรากฎการณ์สังคมทางสื่อ

   บรรดาภาพข่าวทางสื่อช่วงค่ำของวันจันทร์ที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ มีภาพชุดหนึ่ง ที่กระตุ้นความรู้สึกในการตัดสินความขัดแย้งของคนอีกวิธีการหนึ่ง และดูเหมือนวิธีการนี้ คนได้ใช้กันมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ เราอาจเรียกว่า "สัญชาตญาณของสัตว์ป่า" ก็ได้ ภาพชุดนั้นมีว่า

   บุรุษหนึ่ง ลุกขึ้นจากเก้าอี้ด้วยความรวดเร็ว พร้อมกับชักปืนออกมายิงชายผู้หนึ่งซึ่งนั่งถัดไปทางซ้าย จากนั้น จึงยิงคนถัดไปอีกคนหนึ่ง ก่อนที่จะตัดสินใจยิงตนเอง เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้น ณ ห้องประชุมแห่งหนึ่ง ทราบภายหลังว่า ผู้กระทำคือ ประธานสภาเทศบาลตำบล ผู้ถูกกระทำคือ นายกเทศมนตรี และรองนายกเทศมนตรี

   ระหว่างดูภาพชุดนี้ ใจหนึ่งคิดว่า ทำไมจึงอนุญาตให้ภาพนี้ออกมาทางสื่อ จริงอยู่ภาพนี้ไม่มีเสียงให้ได้ยินเพราะนำมาจากข้อมูลบันทึกจากกล้องวงจรปิด จริงอยู่ภาพนี้ไม่ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับความชัดของสื่อโทรทัศน์อื่น แต่เราดูและรู้ชัดเจนว่าเหตุการณ์เป็นอย่างนั้น อีกความคิดหนึ่งก็ขัดแย้งขึ้นว่า ถ้าไม่มีสื่อ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเหตุการณ์จริงเป็นอย่างไร เพียงคำบอกเล่าและข่าวใส่ไข่เขียนซัดส่ายไปมาบนหนังสือพิมพ์ เราผู้บริโภคข่าวทราบดีว่า อย่าเชื่อทั้ง ๑๐๐%

ข้อคิดพินิจภาพ

   อย่างไรก็ตาม ภาพนี้ทำให้คิดว่า

   ๑. ก่อนจะมีเหตุการณ์นี้ ต้องมีเรื่องราวอื่นๆ ผ่านมาก่อนแล้ว และเรื่องราวเหล่านั้น เสมือนปมสะสมความไม่พึงพอใจอันเป็นความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอก

   ๒. การที่คนจะตัดสินใจทำอะไรที่ร้ายแรงลงไป จะมีเหตุการณ์ร้ายแรงบางอย่างเกิดขึ้นกับคนก่อน เหตุการณ์เหล่านั้นไม่ใช่เรื่องเดียว และจะมีเรื่องเดียวที่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับให้คนตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะทำบางอย่างด้วยความรุนแรง

   ๓. กฎหมายมีข้อห้ามเกี่ยวกับการละเมิดชีวิตของผู้อื่น กฎหมายไม่สามารถเข้าถึงความละเอียดอ่อนของจริยธรรมภายในได้ อย่างเช่น เรื่องบางเรื่องแม้เป็นความผิดฐานละเมิดแต่ไม่มีพยานไม่มีหลักฐาน ก็ไม่สามารถเอาผิดทางกฎหมายได้ แต่ในทางศีลธรรม แค่เพียงคิดก็ผิดได้แล้ว

   ๔. เมื่อละเมิดชีวิตผู้อื่น ทราบดีว่าเป็นความผิด ทั้งทางศีลธรรมและกฎหมาย แต่ไม่มั่นใจว่ากฎหมายจะให้ความเป็นธรรมกับความจริงเพียงใดโดยเฉพาะประเด็น "การละเมิด"

ถอดบทเรียนจากอดีตสู่อนาคต

   ภาพข่าวนั้น ไม่ใช่ภาพแรกบนสังคมไทย กับการตัดสินความขัดแย้งด้วยวิธีการหนึ่งที่มนุษย์ยุคปัจจุบันจำนวนหนึ่งเข้าใจว่า นั้นคือความป่าเถื่อน ในอดีต ความป่าเถื่อนนี้เองมนุษย์เคยมองว่าเป็นความชอบธรรม

   หลักอันหนึ่งที่ขาดหายไปขณะที่คนกำลังถูกอารมณ์ร้ายเข้าครอบงำคือ ๑) การนึกใคร่ครวญ และ ๒) ความรู้สึกตัว ในพุทธศาสนาเราอาจเรียกว่า สติและสัมปชัญญะ

   หากมองในเชิงปรากฎการณ์สังคม เราคงบอกไม่ได้ว่า ใครผิดใครถูก ได้แค่เพียงมองว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง รายละเอียดมีความเป็นมาอย่างนี้ และเป็นอย่างนี้

   เป็นเรื่องน่าเศร้าหากเราคือผู้หนึ่งที่ต้องสูญเสียสิ่งอันเป็นที่รัก หากเราคือผู้หนึ่งผู้กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นด้วยความหวังดี เราไม่สามารถปฏิเสธความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ผู้มีความคิดและความต้องการไม่รู้จักจบสิ้น ท่ามกลางสังคมศีลธรรมบริบูรณ์จะไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีพวกใครพวกมัน บทเรียนนี้ น่าจะเป็นบทเรียนหนึ่งในการสร้างความรู้คิดให้กับคนที่อยู่ใต้ปกครอง คนทำงานร่วมกัน คนผู้แสวงหาสิ่งที่ตนต้องการและผู้ปกครอง

  

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13187เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2006 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร ในข่าวเป็นเรื่องราวของช่วงกำลังจะเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะจะเปลี่ยนจากอบต. ไปเป็น อบท.หมายความว่าจะมีตำแหน่งใหญ่โตขึ้น มีอำนาจมากขึ้น รวมถึงการที่จะมีผลประโยชน์มากขึ้นด้วย

อันนี้ยังเป็นการเมืองระดับเล็กๆ แต่ระดับชาติมันน่าจะ.........กว่านี้

ทำไมคนไทยจึงเปลี่ยนไป จากเดิมเคยอยู่กันแบบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใจเย็น หรือจะเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวปลี่ยน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากเกินไปเลยมำให้ใจคนเปลี่ยน

ถ้าไม่มีกระแสทุนนิยมเข้ามาความอยากของคนคงจะไม่มากขึ้น

ถ้าแม่นำลำคลองไม่เน่าเสียหรือถูกถมไปความเย็นใจ ใจเย็นก็คงจะมากขึ้น เนอะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท