ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

เฉื่อย หดหู่ เบื่อ..ต้องทำอย่างนี้


เรื่อง..อาณาเขตแห่งความคุ้นเคย..ในคอมลัมน์ Life&Soul นิตยสาร Spice

     เคยเป็นอย่างนี้มั๊ย?  
     เบื่อหน่าย   หดหู่   เฉื่อยแฉะ  …
     ความรู้สึกทำนองนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน  เมื่อได้เวลาเหมาะๆ และโอกาสอำนวย บางคนมีอาการนิดหน่อย  แค่ตะโกนใส่ต้นไม้สองสามที   ปาก้อนหินลงน้ำสักกำมือ  หรือเอาเงินไปสะพัดเล่นพอหอมปากหอมคอ    ก็รู้สึกดีขึ้น
     บางคนก็หนักหนาแต่ไม่สาหัส เพียงแค่ลุกเดินไปหยิบน้ำในตู้เย็นมาดื่ม  ก็เยื้องย่างยืดยาดเหมือนเดินเหนื่อยมาแล้วหลายกิโล  ขอนั่งหายใจทิ้งไปเฉยๆ  ไม่ขยับองคาพยพใด  และทำหน้าห่อเหี่ยวก็พอแล้ว     
     คนเหล่านี้จะมีความรู้สึกเหมือนกับว่าพลังงานชีวิตในตัวถูกใช้ไปจนหมดเกลี้ยง  ภาษาหมอมีคำเรียกอาการอย่างนี้ว่า Chronic Fatigue แต่บรรดาชาวประชาหน้าแห้งมักเรียกกันว่า  โรคเซ็งเมื่อเกิดกับใครแล้ว    คนๆนั้นจะต้องการทำอะไรสักอย่างเพื่อให้พ้นสภาพที่เป็นอยู่ แต่ไม่ถึงขนาดขอหยุดหายใจ     แค่ปรารภให้ได้ยินกันบ่อยๆ ว่า   “อยากไปให้พ้นๆ จริง(โว๊ย)” 
     อ้อ!   ต้องมีการแถมเสียงถอนหายใจยาว...ว    ประกอบหน้าตาเซ็งๆ เข้าไปด้วย

     สาเหตุของโรคเซ็งเกิดจากการใช้เวลาอยู่ใน “อาณาเขตแห่งความคุ้นเคย” นานเกินไป 
อาณาเขตที่ว่านี้ คือสถานที่ใดๆ ก็ได้ในชีวิตของคนเรา  ที่ซึ่งทำให้เรารู้สึกเป็นตัวของตัวเอง   สบายๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก  ไม่เสแสร้ง    รู้สึกเป็นธรรมชาติ และไม่มีแรงกดดันใดๆ อาจเป็นโซฟาตัวโปรดที่ใช้นั่งอ่านหนังสือ หรือสนามเทนนิสที่ไปออกกำลังเป็นประจำ ฉะนั้น  อาณาเขตแห่งความคุ้นเคยจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคน    
     วิธีรักษาโรคนี้คือ   การก้าวเท้าออกจากอาณาเขตแห่งความคุ้นเคย  เพื่อแต่งแต้มเพิ่มเติมสีสันสิ่งแปลกใหม่หรือความท้าทายให้กับชีวิต แม้ว่าจะอาณาเขตแห่งความคุ้นเคยจะเป็นแหล่งใช้ชีวิตที่ดี  แต่ก็ไม่ใช่ที่ที่สมบูรณ์แบบ  ต้องมีสักเวลาหนึ่งที่คนเรารู้สึกว่ามีบางสิ่งบางอย่างขาดหายไปจากชีวิต  เกิดความต้องการที่จะทำบางสิ่งที่แตกต่างออกไป
     จะหายจากโรคนี้ต้องอาศัยความกล้า    เริ่มด้วยการคิดถึงสิ่งที่เราอยากจะทำ อยากจะไปพบเห็น   ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาเป็นแค่ความคิดเพ้อฝัน     และสิ่งเดียวที่ทำให้ฝันนั้นไม่เป็นจริงคือความกลัวที่แอบซ่อนอยู่ลึกๆในใจ
     การออกไปผจญภัยนอกอาณาเขตของความคุ้นเคย   ไม่ใช่การทำลายอาณาเขตนั้นให้หมดไปจากชีวิต   มันยังคงอยู่และรอคอยการกลับไปของเรา    แค่ขอเวลาออกไปอยู่นอกเขตบ้างบางครั้งเท่านั้น
     การอยู่นอกอาณาเขตจะให้ประสบการณ์แก่เราได้รับรู้ถึงความตื่นเต้น  เขินอาย  อึดอัด      หวาดระแวง  เคอะเขิน  หวาดกลัว  ท้าทาย   หรือสนุกสุดเหวี่ยง 
     นั่นแหละคือสีสันที่เรากำลังเติมให้กับชีวิต   ยาแก้โรคเซ็งขนานเอก   หากคุณสนใจที่จะ
ก้าวออกจากอาณาเขตแห่งความคุ้นเคย   นี่คือทางที่คุณจะไป

     ทางความคิด
     วิธีง่ายๆ ที่อยากแนะนำ ได้แก่  ลองนึกฝันเฟื่องแบบอลังการสุดๆ เท่าที่คุณจะนึกได้เกี่ยวกับ  ตัวของคุณเอง   แล้วคิดเรื่องนั้นซ้ำๆ ทุกวัน เป็นเวลา 1 เดือน    หรืออ่านหนังสือที่กระตุ้นให้คุณคิดถึงสิ่งแปลกใหม่    หรือเขียนข้อความอย่างต่อเนื่องอย่างรวดเร็วโดยไม่หยุด    เริ่มต้นประโยคว่า  “ถ้าฉันไม่ปอดแหกจนเกินไป  สิ่งที่ฉันปรารถนาที่จะทำคือ….”  แล้วหาทางทำให้สิ่งนั้นเป็นจริง 

     ทางอารมณ์
     นี่คือตัวอย่าง   ถามตัวเองว่าชอบอย่างไหนมากกว่ากัน ระหว่างการเป็นผู้ฟังกับผู้พูด  เมื่อได้คำตอบแล้ว  ทดลองฝึกทำสิ่งที่ตรงข้าม     หรือหาเวลาอยู่คนเดียวเพื่อทำสิ่งแปลกใหม่  อย่างเช่นชมงานแสดงศิลปะ  ดูพระอาทิตย์ขึ้น   หรือจัดงานแฟนซีปาร์ตี้  แล้วแต่งตัวให้สุดเหวี่ยงไปเลย

     ทางร่างกาย
     ลองปฏิบัติทำนองคล้ายๆ อย่างนี้ เช่น  เวลาบริหารร่างกาย   ท่าไหนที่คุณถนัด   ท่าไหนที่ร่างกายมันไม่ค่อยจะยอมทำตาม  ก็ให้ฝึกท่าที่ไม่ถนัด   มากเป็นสองเท่าของท่าที่คุณชอบทำ   หรือ
ถนัดตีแต่ลูกโฟร์แฮนด์มากกว่าแบคแฮนด์   ก็ให้ทำสิ่งที่ไม่ถนัดมากกว่า   หรือร่วมกิจกรรมที่คุณเคยคิดจะทำ  แต่ไม่กล้าลอง   หรือไปใช้วันหยุดในที่ที่ไม่เคยไปเลย
 
     ตัวอย่างนิดหน่อยพอเป็นไอเดียสำหรับนำไปทดลองปฏิบัติ   ใครคิดกิจกรรมอื่นๆ ที่อยู่นอกอาณาเขตแห่งความคุ้นเคยของตัวเองได้   ก็อย่ารีรอ   ลงมือทำเลย    อย่าปล่อยให้โรคเซ็งบ่อนทำลายชีวิตคุณ        

     สิ่งดีๆ สำหรับชีวิตยังรอคุณอยู่อีกแยะ

คำสำคัญ (Tags): #ชีวิต
หมายเลขบันทึก: 13179เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2006 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2012 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

     ดีค่ะ อ่านเรื่องของอาจารย์ แล้ว มีกำลังใจขึ้นมาก

                   จะคอยติดตามข้อเขียนของอาจารย์ค่ะ

                              เสาวลักษณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท