ผู้แสวงหาประโยชน์


เจริญธรรม เจริญสุข ท่านผู้แสวงหาประโยชน์ทุกท่าน เป็นประโยคแรกที่หลวงปู่ทักทายลูกหลานและสาธุชนทั้งหลายซึ่งมีจำนวนมากมาฟังธรรมที่ รพ. ทหารเรือ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 กย. 2550 เวลา 13.00 น.  แม้ อากาศค่อนข้างจะร้อนนิดหน่อย แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นอุปสรรคในการฟังธรรม เพราะการมาของแต่ละท่านแต่ละครั้ง คือความปรารถนาที่จะมาดื่มด่ำรสพระธรรมจากองค์หลวงปู่ฯ  อยู่แล้ว ผู้แสดงหาประโยชน์ คำว่าผู้แสดงหาประโยชน์นั้นมีด้วยกัน ๓ ประการ คือ๑)       ประโยชน์ในภพนี้  เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ซึ่งหลวงปู่ท่านไม่ได้เน้นในข้อนี้มากนักเนื่องจากเห็นว่าลูกหลานทั้งหลายรู้จักการหากินหาอยู่แล้ว แต่จะนำมาเขียนขยายความออกไปว่า ประโยชน์ในภพนี้นั้นประกอบด้วย 4 ประการ คือ         ๑.๑) อุฏฐานสัมปทา คือ ขยันหาหมั่นประกอบกิจการ          ๑.๒) อารักขสัมปทา คือ เมื่อหามาได้แล้วก็รู้จักรักษาทรัพย์ไม่ให้เสื่อมไป         ๑.๓) กัลยาณมิตตา คือ คบคนดี คบกัลยาณมิตร อย่าคบคนพาล         ๑.๔) มชีวิตา คือ เลี้ยงชีพตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่มีที่หาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองและไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก ข้อนี้ บางคนอาจจะเคยได้ยิน ได้สวดกันมาว่า อุ อา กะ สะ หรือ หัวใจเศรษฐี นั่นเอง หลักเกี่ยวกับการใช้จ่ายเลี้ยงชีพ เป็น สมชีวิตานั้นคือ ให้แบ่งทรัพย์ที่หามาได้เป็น ๕ ส่วน ดังนี้
ทิ้งเหว ใส่ปากงู ให้เขากู้ ฝังดินไว้ ใช้หนี้เก่า
     ๑. ใช้หนี้เก่า ๑ ส่วน ให้บำรุงเลี้ยงดูบุพพการี บิดามารดา ญาติ พี่น้องและมิตรสหาย
     ๒. ทิ้งลงเหว ๑ ส่วน สำหรับใช้จ่ายบริโภค
     ๓. ใส่ปากงู ๑ ส่วน ให้ภรรยาเก็บไว้ยามขาดแคลนและป่วยไข้ ได้รักษา
     ๔. ให้เขากู้ ๑ ส่วน ให้เลี้ยงดูบุตรธิดาศึกษาเล่าเรียน
     ๕. ฝังดินไว้ ๑ ส่วน ให้ทำบุญให้ทานฝากไว้ในพระพุทธศาสนา ทำลายมัจฉริยะตระหนี่
 ๒)   ประโยชน์ในภพหน้า เรียกว่า  สัมปรายิกัตถะประโยชน์  หมายถึงข้อปฏิบัติ 4 ประการ เพื่อผลมุ่งหมายหรือ ประโยชน์ภายหน้าอันได้แก่ ความมีจิตใจเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมความดี ทำให้ชีวิตนี้มีค่า และเป็นหลักประกันชีวิตในภพหน้าเป็นประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไปจากทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์         ๒.๑)  ศรัทธาสัมปทา  คือการมีความเชื่อมั่นในความดี เชื่อมั่นในกฎแห่งกรรม กระทำสิ่งใดย่อมได้รับสิ่งนั้นและเชื่อมั่นในคุณของพระรัตนตรัย เชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธองค์ว่าเป็นสัจธรรม ความจริง      ที่เป็นอมตะ ความศรัทธาเชื่อมั่นดังกล่าวย่อมปิดกั้นตนไม่ให้ก้าวล่วงไปในที่ชั่ว          ๒.๒) ศีลสัมปทา คือการประพฤติตนให้อยู่ในกรอบของศีลพื้นฐานของมนุษย์ได้แก่ ไม่ทำร้ายรังแกใครทั้งทางกาย วาจาและใจ ไม่คอรัปชั่นหลอกลวงใครให้เสียทรัพย์ ไม่เจ้าชู้ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระยุยงให้แตกความสามัคคี ซึ่งรวมเรียกว่ากรรมกิเลส 4 และ อคติ 4 ไม่เสพสุรา ยาเมา บุหรี่ ยาบ้า ยาอี ของมึนเมาสิ่งเสพติดทุกชนิดอันจะนำพาให้เสียสติ ไม่เล่นการพนัน ไม่เที่ยวกลางคืนไม่ติดดูมหรสพ ไม่คบคนชั่วเป็นมิตร ไม่เกียจคร้าน ซึ่งรวมเรียกว่าอบายมุข 6 การประพฤติตนให้อยู่ในกรอบของศีลย่อมนำพาผู้ประพฤติไปสู่สุคติ คือไปดีมีคนยกย่องนับถือ เป็นที่อบอุ่นใจของผู้พบเห็น มีทรัพย์ คือผู้รักษาศีลย่อมรักษาทรัพย์ไว้ได้ไม่ใช้จ่ายไปในทางแห่งอบาย และ พ้นทุกข์ เพราะศีลเป็นความประพฤติเบื้องต้นก่อนสู่สมาธิและปัญญา        ๒.๓) จาคสัมปทา คือการถึงพร้อมด้วยการบริจาคอันหมายถึงการเสียสละทรัพย์เสียสละเวลา เสียสละแรงกายตลอดจนความคิดของตนเพื่อประโยชน์ผู้อื่น หรือเพื่อกิจการอันเป็นส่วนรวมเป็นสาธารณะประโยชน์โดยไม่หวังสิ่งใดเป็นการตอบแทน การรู้จักการบริจาคย่อมเป็นเครื่องทำลายความตระหนี่ความเห็นแก่ตัวและสามารถยึดเหนี่ยวจิตใจให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ         ๒.๔) ปัญญาสัมปทา ผู้มีปัญญาหมายถึงผู้ที่สามารถรู้อะไรๆได้ด้วยเหตุผล ผู้มีปัญญาย่อมได้รับประโยชน์อย่างมากในการดำเนินชีวิต เพราะปัญญาจะเป็นตัวชี้นำทางให้รู้จักการแก้ปัญหาและการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดังพุทธสุภาษิตว่า ปญฺญา นรานํ รตนํ (ปัญญาเป็นแก้วอันมีค่าของนรชน) มนุษย์จะเกิดปัญญาได้ต้องเริ่มจาก  การฟัง การอ่าน   การสัมผัสด้วยประสาทสัมผัสทางกายได้แก่ตา หูจมูก ลิ้น อวัยวะทางกายเช่นผิวหนัง มือ เป็นต้น เมื่อมีการฟัง การอ่าน การสัมผัสทางใดทางหนึ่ง หรือ การศึกษาเล่าเรียน การมีประสบการณ์  มนุษย์ก็จะเกิดปัญญาคือความรู้ เป็นปัญญาประเภท"สุตมยปัญญา" เมื่อได้นำความรู้นั้นมาคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผลเกิดความเข้าใจในสิ่งที่รู้นั้นก็จะเกิดปัญญาเพิ่มขึ้นเป็น "จินตมยปัญญา" และหากจะให้เกิดปัญญาสูงสุดตามหลักของพุทธศาสนาคือ "ภาวนามยปัญญา" ก็ต้องพิจารณาสิ่งที่รู้นั้นตามหลักไตรลักษณ์ ได้แก่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  ๓)  ประโยชน์อย่างยิ่งหรือ ประโยชน์สูงสุด เรียกว่า ปรมัตถะประโยชน์  ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน การหลุดพ้นจากกิเลส ตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลง อันเป็นต้นเหตุของความทุกข์ทั้งปวง การที่จะทำให้หลุดพ้นได้ก็คือการ "ภาวนามยปัญญา" ซึ่งวิธีการภาวนา มี 2 วิธีได้แก่๓.๑)  วิธีสมถะกรรมฐาน คือการทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในความสงบโดยการเจริญอานาปานสติกำหนดจิตอยู่ที่ลมหายใจเข้า -ออก หรือ ภาวนาพุทโธ อย่างที่สำนักต่างๆเขาสอนกัน หรืออย่างสามัญธรรมดาไม่ต้องอาศัยการบริกรรมใดๆ ก็ให้ตั้งใจมั่นอยู่กับการงานอย่างใดอย่างใดอย่างหนึ่งที่ปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวันเช่น  กวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้า ทำอาหาร เล่นเกมส์ ทำงานในหน้าที่ หรือทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันไปพร้อมกับภาวนาพุทโธ ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนโดยให้จิตอยู่กับสิ่งที่ทำไม่ให้ไปหลงอยู่กับกิเลส คือความความโลภ ความโกรธ และความหลง การทำให้จิตสงบระงับเป็นอาการที่เรียกว่า สมาธิ ซึ่งสมาธินี้ต้องเป็นสัมมาสมาธิ จิตจดจ่ออยู่กับเรื่องดีๆ การกระทำดีๆ มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น  เมื่อจิตสงบตั้งมั่นดีแล้ว ไม่มีอาการของความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้ว จึงปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐาน ต่อไป๓.๒) วิปัสสนากรรมฐาน เป็นการใช้ปัญญาพิจารณากิเลส และตัณหา อุปาทานที่เกิดขึ้นหลังจากจิตตั้งมั่นอยู่ในอาการสงบเป็นสมาธิ ปราศจากกิเลสเข้าครอบงำ โดยพิจารณาเข้าสู่ความเป็นไตรลักษณ์ พิจารณากายในกาย (กายานุปัสสนา) เพื่อให้เห็นความจริงแท้ของชีวิตที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มนุษย์ทุกรูปทุกนามล้วนประกอบด้วยขันธ์ 5 คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ไม่ว่าจะเชื้อชาติ เพศ วรรณใด ย่อมไม่มีความแตกต่าง ทุกอย่างว่างเปล่าเป็นสุญญตา จะโกรธกันทำไม จะโลภ-หลงไปถึงไหน เมื่อมนุษย์เกิดมามีชีวิตและสามารถสร้างปัญญานี้ให้เกิดขึ้น ความสุข สงบและสันติภาพย่อมเกิดขึ้นในโลก เกิดเป็นปัญญาที่เรียกว่า "ภาวนามยปัญญา" หรือ ใช้ปัญญาพิจารณา เรื่องที่ทำให้เกิดความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ว่ามีสาเหตุมาจากสิ่งใด ใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุ และผล เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้หมดไป                คำว่า นิพพาน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวจนไม่สามารถจะปฏิบัติได้ ขึ้นอยู่กับปัญญาของแต่ละคนว่าจะสามารถสงบระงับ กิเลส ตัณหา อุปาทานได้มากน้อยเพียงใด หากสามารถสงบระงับจนแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยเหตุ ด้วยผล บุคคลนั้นก็นิพพานได้ การนิพพานจึงเกิดๆดับๆ ได้ตามปัญญาของแต่ละคนหากนิพพานได้อย่างถาวร ประโยชน์อย่างยิ่งก็จะบังเกิดต่อตนเองที่ไม่ต้องเดือดร้อนใจไปทำร้ายรังแกใคร ไม่ว่าด้วยกาย ด้วยวาจา และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้อื่นที่ไม่ถูกทำร้ายรังแกให้เกิดความทุกข์กายหรือทุกข์ใจ  สำหรับข้อ ๒ และข้อ ๓ คือ สัมปรายิกัตถะประโยชน์ และ ปรมัตถะประโยชน์ เป็นข้อที่องค์หลวงปู่ฯ เน้นสอนอยู่ตลอดเวลาและสอนมาเป็นเวลานานแล้ว สำหรับพวกเราเองก็คงเรียนกันมาหลายภพหลายชาติแล้วเช่นกัน เพียงแต่รอวันให้พระธรรมเต็มเปี่ยมเมื่อไรเท่านั้นเอง  

คำสำคัญ (Tags): #ธรรมะ
หมายเลขบันทึก: 131813เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2007 09:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท