BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

นวกัมม์ นวกรรม นวัตกรรม


นวกัมม์ นวกรรม นวัตกรรม

สิ่งคิดค้นใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้สอยเรียกกันว่า INNOVATION ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าใครบัญญัติศัพท์ใช้ในภาษาไทยว่า นวัตกรรม ... แรกที่เห็นคำนี้ ผู้เขียนก็คิดว่าผู้บัญญัติคงจะให้แปลกไปจากคำว่า นวกรรม (หนังสือเก่าๆ มักจะเขียนว่า นวกัมม์ ) ซึ่งมีใช้อยู่แล้วในภาษาไทย แต่อาจไม่แพร่หลายนักเท่านั้น...

นวกัมม์ นวกรรม นวัตกรรม ๓ คำนี้แปลเหมือนกันเพราะมีรากศัพท์เหมือนกัน แต่การนำมาใช้ในภาษาไทยแตกต่างกัน...

นวะ เป็นภาษาบาลี (สันสกฤตเดิมเขียนว่า นวัน ) ถ้าหมายเอาจำนวนนับก็แปลว่า เก้า ( 9 หรือ ๙) ... ตามไวยากรณ์บาลีเรียกคำศัพท์ที่ใช้แทนจำนวน นับว่า สังขยา ... เช่น นวโลหะ (โลหะ ๙ ชนิด) ปัญจนที (แม่น้ำ ๕ สาย) เป็นต้น .... แต่ นวะ ในที่นี้มิได้เป็นสังขยาตามนัยนี้

....... 

อีกอย่างหนึ่ง นวะ แปลว่า ใหม่ .... ค้นดูตามคัมภีร์ท่านว่ามาจากรากศัพท์ว่า นุ ในความหมายว่า ชื่นชม ชมเชย ... แปลงสระ อุ ที่ นุ เป็น ว.แหวน จึงกลายเป็น นวะ .... ขยายความว่า ของใหม่ ก็ของที่ใครๆ ชื่นชม ชมเชย หรือเชิดชู.... ประมาณนั้น

กัมม์ (กัมมะ) เขียนตามบาลี... ถ้าจะเขียนเป็นสันสกฤตแท้จะได้ว่า กรมะ แต่เมื่อแปลงสัญชาติเป็นคำไทยแล้ว เรามักจะเขียนว่า กรรม .... และรู้สึกว่าปัจจุบันนี้ มักจะใช้เฉพาะ กรรม เท่านั้น ขณะที่ กัมม์ ไม่ค่อยจะเห็นในหนังสือใหม่ๆ .... ส่วน กรมะ ก็มีใช้อยู่บ้างเมื่อมีอุปสัคนำหน้าเช่น วิกรม (วิ + กรมะ) ...

กัมม์ (กัมมะ) กรรม (กรมะ) มาจากรากศัพท์ว่า กระ แปลว่า กระทำ ... รากศัพท์นี้มีใช้ดาษดื่นในคำไทย เช่น กิจ (สิ่งที่พึงกระทำ) การก (ผู้กระทำ) กร (เครื่องกระทำ) ....

นว + กรรม ถ้าจะแปลว่า กระทำใหม่ ห้วนๆ ทำนองนี้ ก็จะไม่ได้ใจความชัดเจน จึงต้องผ่านการวิเคราะห์ศัพท์อีกครั้ง ซึ่งในตอนนี้เห็นว่า สิ่งที่ถูกกระทำขึ้นใหม่ หรือถ้าแปลออกความหมายรากศัพท์ให้หมดก็อาจได้ว่า สิ่งที่ถูกกระทำอันควรแก่การชื่นชม ... น่าจะเหมาะสมที่สุด

.........

นวกรรม (นวกัมม์) ตามวรรณคดีบาลี หมายถึง สิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ทั้งหลาย เช่น กุฏี วิหาร รั้ว สถานที่ ... สำนวนในวัดมักจะใช้ทับศัพท์เช่น พระเถระเจอกันก็ถามว่า พระเดชพระคุณมีนวกรรมอะไรบ้างตอนนี้ ?  พระเถระอีกรูปก็อาจตอบว่า ตอนนี้เกล้ากำลังสร้างโบสถ์อยู่ขอรับ ... ประมาณนี้

หรือท่านอุปัชฌาย์อาจเตือนศิษย์ของท่านว่า คุณก็บวชมาหลายพรรษาแล้ว หนังสือสวดมนต์ก็ไม่ค่อยจำ นักธรรมก็ยังไม่ได้เรียน ผมว่าคุณหยุดเรื่องนวกรรมได้แล้ว มาเรียนหนังสือก่อน... (มีคำสอนอย่างหนึ่งว่า นวกรรม จัดเป็นเครื่องเนิ่นช้า กล่าวคือเป็นเครื่องขัดขวางการบรรลุธรรม)

อีกอย่างหนึ่ง ตามอนุพุทธประวัติ พระโมคคัลลาน์ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ชำนาญด้านนวกรรม ซึ่งมีประวัติตอนหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าทรงตั้งให้พระโมคคัลาน์เป็น นวกัมมาธิฎฐายี คือเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างวัดบุพพารามในกรุงเชตวัน... เป็นต้น

..........

ส่วน นวัตกรรม ตามความหมายที่ใช้ก็น่าจะหมายถึงสิ่งประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ ซึ่งทั่วๆ ไป ก็คงจะเข้าใจกันดีแล้ว... เช่นรูปแบบทางการศึกษาสมัยใหม่ก็อาจใช้ว่า นวัตกรรมทางการศึกษา (Educational Innovation).... เป็นต้น

ประเด็นที่ติดใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต.เต่า ในคำว่า นวัตกรรม ซึ่งเพิ่มมาจากคำเก่าว่า นวกรรม ... ผู้เขียนก็คาดเดาออกเป็น ๒ นัย กล่าวคือ

นัยแรก นุ + ต = นวตะ (ต.เต่า เป็นปัจจัย) ถ้าถือตามนัยนี้ก็จะเป็นคำบาลี แปลว่า อันใครๆ ชื่นชมแล้ว เป็นต้น

นัยหลัง นวัน + กรรม = นวัตกรรม (แปลง น.หนู เป็น ต.เต่า) ตามนัยนี้ เป็นการต่อสนธิตามหลักไวยากรณ์สันสกฤต 

ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่าผู้บัญญัติศัพท์นี้ จะถือเอาตามนัยใดกันแน่ ผู้สงสัยก็ต้องไปถามผู้แรกบัญญัติเอาเอง (แต่คิดว่าไม่สำคัญ พอจะรู้คำแปลและที่มาก็ใช้ได้แล้ว)

.....

สรุปว่า นวกัมม์ นวกรรม นวัตกรรม อาจแปลได้ง่าย ๒ นัย ตามที่อ้างมาแล้ว กล่าวคือ

  • สิ่งที่ถูกกระทำขึ้นใหม่
  • สิ่งที่ถูกกระทำขึ้นอันใครๆ ชื่นชมแล้ว
 และนอกประเด็นอีกนิด ข้อสังเกตส่วนตัว นวะ ในบาลี แปลว่่า เก้า หรือ ใหม่ ก็ได้ ... ส่วนคำไทยก็คล้ายกัน คือ ก้าวหน้า (ใหม่, เจริญ)  และ เก้า ( ๙) ออกเสียงคล้ายกัน ... ประเด็นนี้ ผู้เขียนสงสัยมานานแล้ว..... 
หมายเลขบันทึก: 131550เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2007 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • นมัสการคะท่าน
  • สังคมไทยชอบของใหม่ๆคะ
  • อะไรใหม่ๆจึงขายดี...และเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่กำจัดยาก
  • คำว่า นวัตกรรม เป็นคำที่ค่อนข้างจะใหม่ในวงการศึกษาของไทย คำนี้ เป็นศัพท์บัญญัติของคณะกรรมการพิจารณาศัพท์วิชาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ทราบใครคิดคะ
  • มีข้อมูลเพิ่มเติมคะจากเว็บปรัชญาดุษฎีบัณฑิต เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา (ปร.ด.) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • http://www.msuetc.net/view.php?article_id=25
P

naree suwan

คิดว่าหลายคนก็อาจไม่ชอบของใหม่ แต่จำเป็นต้องก้าวไปข้างหน้า ทำนอง ตกกระไดพลอยโจน ประมาณนั้น

จะเข้าไปดูที่คุณโยมแนะนำมา....

เจริญพร 

ขอบคุณพระอาจารย์สำหรับบันทึกนี้ครับ อย่างนี้ผมนำไปใช้อ้างอิงได้อย่างสบายใจ (โดยไม่ต้องเขียน)

มีอีกสองประเด็นครับ

  1. มีความคิดใหม่แต่ไม่ทำอะไร จัดเป็นนวัตกรรมหรือไม่ครับ หรือควรจะเรียกว่า นวัตคิด ดี; บริษัทโฆษณาและพวกที่ทำงานประชาสัมพันธ์ที่ชอบใช้คำว่านวัตกรรม เข้าใจความหมายของคำนี้หรือไม่
  2. มีคำว่า นวตกรรม ซึ่งเป็นการสะกดผิดและไม่ตรงกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อันนี้ซิครับ เป็นนวัตกรรม เพราะเป็นของใหม่ (สะกดแบบใหม่) และมีการกระทำอันสำเร็จด้วย คือเขียนผิดอย่างสม่ำเสมอเป็นจริงเป็นจัง
P

Conductor

นวัตคิด คำนี้ไปได้ ถ้าใช้บ่อยๆ และมีคนนำไปใช้ตามเยอะๆ ต่อไปราชบัณฑิตย์ อาจเก็บเข้าพจนานุกรม...

ความเห็นส่วนตัว... ความคิดความเห็นใหม่ๆ ซึ่งแปลกไปจากเดิม ถ้ามีผู้นิยมคิดตาม เอามาขยายผลต่อ ก็อาจเข้าข่ายเป็นนวัตกรรมได้ เรียกว่า นวัตกรรมทางความคิด เรียกว่า Thinking Innovation หรือ Innovation of Thinking  ( ค้นดูใน google แล้ว ศัพท์นี้มีใช้ด้วย ) 

ส่วนการสะกดอย่างไรนั้น ผิดถูกขึ้นอยู่กับผู้ชี้ขาด (ราชบัณฑิตย์?) .... บางครั้งคนใช้ผิดมากเกินไป ราชบัณฑิตย์ก็ออกมากำหนดใหม่ว่า ถูก  อย่างนี้ก็มี ....

ตามนัยตรรกศาตร์ ภาษาจัดเป็น นิมิตตามสัญนิยม  (Conventional Sign) ซึ่งเป็นเพียงข้อตกลงของชนทั่วไป เพื่อหมายรู้บางสิ่งบางอย่างเท่านั้น (ดู นิมิต (Sign) ) ...

ทำท่า บ่น นอกเรื่องอีกแล้ว...

เจริญพร 

 

นมัสการพระอาจารย์ กระจ่างชัดเจนครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แก้ข้อสงสัยที่กระผมสงสัยมานาน (แม้ว่าอาจเพียงเป็นความเห็นของพระอาจารย์) ก็คือ "นว" ที่บางครั้งก็แปลว่า ๙ บางครั้งก็แปลว่าใหม่ เก้า กับ ก้าว น่าจะดป็นไปได้จริงๆ
P

Boonchai Theerakarn

ืเป็นความบังเอิญที่น่าสนใจ จริงๆ อาจารย์หมอ...

อีกอย่างภาษาปะกิต ก็ทำนองเดียวกัน neo หรือ new ก็มีการเขียนและการออกเสียงคล้ายๆ กับ nine ... (ทำท่ามั่วไปเรื่อย)

เจริญพร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท