ซากาต 2


ซากาต 2 (ต่อ)

ความสำคัญ และประโยชน์ของการจ่ายซะกาต

 1.ซากาตนั้นเป็นหนึ่งในหลักการอิสลาม 5 ประการ 2.อัลลออฮฺ ได้ใช้คำว่าซะกาตในอัลกรุอานทั้งหมด 58 ครั้ง โดยที่32 ครั้ง กล่าวถึงซะกาตเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ อีก 26 ครั้ง กล่าวรวมกับการละหมาด  3.ในกีตาบซอเฮียะห์บุคอรีย์ มีปรากฏหะดีษเกี่ยวกับซะกาตถึง 172 หะดีษ ในขณะที่ซอเฮียะห์มุสลิมมีปรากฏถึง17 ะดีษ 4.การจ่ายซะกาตเป็นภารกิจเหนือมุสลิมทุกๆคนที่จำเป็นจะต้องจ่ายซะกาต 5.การจ่ายซะกาตเป็นการดูแล และเป็นการให้สวัสดิการแก่สังคม 6.ซะกาตเป็นสิทธิของคนจนในสังคมที่พึงได้รับจากคนรวย 7.ซะกาตเป็นระบบการช่วยเหลือซึ่งกัน และกันในสังคม 8.ซะกาตเป็นแหล่งรายได้แรกของอิสลามที่จะมาแก้ปัญหาความยากจน และปัญหาต่างๆในสังคม 9.ซะกาตยังทำหน้าที่กระจายความร่ำรวยของประชาชา ติให้ทุกคนมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งด้วยแม้ในหมู่คนยากจน

10.ซะกาตจะเป็นตัวชำระล้างความโลภ และขจัดความร่ำรวยจนเกินไป

11.ซะกาตเป็นระบบการกระจายรายได้ในสังคม

12.ทำให้ทรัพย์สินมีความอุดมสมบูรณ์ และมีบะรอกัต (ความจำเริญ) มากขึ้นอัลลอฮฺ ตรัสความว่าอัลลอฮฺ ทรงทำให้ดอกเบี้ยหร่อยหรอลง (ขาดบะรอกัต) และทรงทำให้ทานบริจากเพิ่มพูนขึ้น (มีบะรอกัต)

13.การจ่ายซะกาตจะช่วยบรรเทาภัยพิบัติต่างๆ

14.การจ่ายซะกาตจะขัดเกลาจิตใจของบุคคลไม่ให้มีความตระหนี่ และไม่ให้มีความละโมบให้รู้จักค่ำวา พอและมีจิตเมตตา

15.ทรัพย์ซะกาตจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และความอดอยากของผู้ที่ขัดสนผู้ประสบภัยพิบัติ และช่วยเสริมสร้างฐานะ ศักดิ์ศรี และความมั่นคงให้แก่ศาสนาอิสลาม และมุสลิม

16.ซะกาต คือ หลักประกันสังคมซึ่งมีรากฐานมาจากความเห็นอกเห็นใจ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่การมีเมตตาของผู้ที่ร่ำรวยต่อผู้ที่ยากจน

17.ระบบซะกาตเป็นหนทางหนึ่งที่ป้องกันไม่ให้ทรัพย์สินหมุนเวียนอยู่เฉพาะผู้ที่มีความร่ำรวย พ่อค้า และนายทุนทั้งหลาย โดยไม่กระจายไปสู่ผู้ที่ยากจน 

ซากาตแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1.ซากาตที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน 2.ซากาตที่เกี่ยวกับร่างกาย ซากาตที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน หมายถึง ซากาตที่จำเป็นจะต้องจ่ายสำหรับคนที่มีทรัพย์สินครบตามพิกัดที่ต้องจ่ายซากาต ซากาตที่เกี่ยวกับร่างกาย หมายถึง ซากาตฟิเราะฮฺ ซากาตที่จำเป็นจะต้องจ่าย หลังจากถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน(วายิบ)ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ เพศชาย หรือเพศหญิง เป็นคนมีอิสระ หรือเป็นทาส 

 ประเภทของทรัพย์สินที่ต้องจ่ายซะกาต 

 ทรัพย์สินทุกประเภทที่มีการเจริญเติบโตโดยธรรมชาติ หรือโดยการกระทำของมนุษย์จะต้องจ่ายซะกาตทั้งสิ้นทรัพย์สินที่นักกฎหมายอิสลามมีทัศนะเห็นพ้องกันว่าต้องจ่ายซะกาตได้แก่ 1. ประเภทแร่ธาตุ ได้แก่ ทองคำและเงิน 2. ประเภทผลไม้ ได้แก่ อินทผาลัม 3. ประเภทพืชชนิดเมล็ด ได้แก่ ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ 4. ประเภทปศุสัตว์ ได้แก่ อูฐ วัว ควาย แพะ แกะ ที่ถูกปล่อยให้หากินเองและไม่นำมาใช้งาน ทรัพย์สินที่นักกฎหมายมีทัศนะแตกต่างกันว่าจำเป็นต้องจ่ายซะกาต ได้แก่ 1.  ทองคำและเงินที่ใช้เป็น เครื่องประดับของสตรี มีไว้เพื่อประดับกาย นักปราชญ์บางท่านมีความเห็นว่า จะต้องจ่ายซะกาต มีหะดีษที่ได้รายงานว่า ท่านรอสูล  เห็นท่านหญิงอาอิชะฮฺสวมกำไลข้อมือทั้งสองข้างซึ่งทำด้วยเงิน ท่านจึงถามนางอาอิชะฮฺว่าเธอจ่ายซะกาตมันแล้วหรือ นางอาอิชะฮฺกล่าวว่า ยังไม่ได้จ่าย ท่านรอสูล  จึงกล่าวความว่ามันเป็นการเพียงพอแล้วที่จะทำให้เธอถูกลงโทษในนรก ” (บันทึกโดย อัล ฮากิม) 2.  แร่ธาตุชนิดอื่นๆ นอกจากทองคำและเงิน 3.  ทรัพย์สินที่ได้มาจากทะเล 4.  สินค้าเพื่อการพาณิชย์ 5.  ปศุสัตว์ได้แก่ อูฐ วัว ควาย แพะ แกะ แต่ได้รับอาหารจากเจ้าของและถูกใช้งาน 6.  ทาส ม้า ลา ล่อ เป็ด ไก่ ฯลฯ เพราะไม่ปรากฏว่าท่านรอสูล ได้เรียกเก็บซะกาต จากสิ่งเหล่านี้ 7.  น้ำผึ้ง 8.  ผลไม้ที่เก็บสะสมไม่ได้ และผักต่างๆ เพราะไม่ปรากกว่า ท่านรอสูล เรียกเก็บจากสิ่งเหล่านี้ แต่ท่านรอสูล ชอบทำศอดาเกาะฮฺสิ่งเหล่านี้แก่คนยากจน และเพื่อนบ้าน 9.  พืชผลอื่นนอกจาก อินทผาลัม ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ 10. องุ่นสดหรือลูกเกด 11.  เครื่องมือในการประกอบอาชีพ ซึ่งมิได้ใช้เป็นสินค้า เช่น เครื่องจักร เรือ รถยนต์ เป็นต้น เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวข้างต้นซึ่งอัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานซูเราะฮฺ อัซซาริยาต อายะฮฺ 19[1] ความว่าและในทรัพย์สินของพวกเขานั้นเป็นสิทธิสำหรับผู้ขอ ( ที่ยากจน ) และผู้อดอยาก ( ที่มิได้ขอ )จากอัลกุรอานดังกล่าวถือว่า ซะกาตนั้นเป็นภาระหน้าที่ของทรัพย์สินทุกประเภท โดยไม่มีการแบ่งแยกว่าทรัพย์สินประเภทใดต้องจ่าย และประเภทใดที่ไม่ต้องจ่าย ทั้งนี้หากมีเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้อย่างสมบูรณ์ อัลมาวารดีย์อธิบายประเภทของทรัพย์สินที่ต้องจ่ายซะกาต ว่าทรัพย์สินที่ต้องจ่าย ซะกาต แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ 1. ทรัพย์สินที่ประจักษ์ได้แก่ ทรัพย์สินต่างๆ ที่ไม่สามาร ถซ่อนเร้นได้ เช่นพืชผล ปศุสัตว์ เป็นต้น 2. ทรัพย์สินที่ไม่ปรากฏชัดเจน ได้แก่ ทรัพย์สินที่สามารถนำไปซุกซ่อนในที่ลับตาคนได้ เช่น ทองคำ เงินและทรัพย์สินเพื่อการพาณิชย์ ในทรัพย์สินซะกาตนั้นอัลลอฮฺ  ทรงกำหนดผู้มีสิทธิ์รับอย่างชัดเจน 8 ประเภท ดังที่อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัตเตาวบะฮฺ อายะฮฺ 60[2] ความว่า แท้จริงบรรดาศอดาเกาะฮ์ (ซะกาต) นั้นเป็นสิทธิของบรรดาผู้ที่ฟากีร (ยากจน) ผู้ที่มิสกีน (ขัดสน) ผู้ทำหน้าที่จัดเก็บซะกาต ผู้ที่หัวใจของพวกเขาต้องการความอบอุ่น (มุอัลลัฟ) ทาสที่ต้องการไถ่ตัวเองให้เป็นอิสระ ผู้ที่มีหนี้สิน ในหนทางของอัลลอฮฺ (สบีลิลละฮฺ) และผู้ที่เดินทาง นั้นเป็นบัญญัติจากอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺ นั้นทรงรอบรู้ทรงปรีชาญาณยิ่ง จากอายะฮฺดังกล่าวสรุปได้ดังนี้   1. ฟากีรฺ ( ผู้ยากจน ) ตามทัศนะของนักวิชาการชะฟีอีย์ ฮัมบาลีย์และมาลีกีย์ หมายถึง ผู้ที่ไม่มีทรัพย์ครอบครอง และไม่มีงานทำที่เหมาะสมในการสนองความต้องการในด้านอาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและปัจจัยจำเป็นพื้นฐานอื่นๆ สำหรับตัวเขาเองหรือผู้ที่เขาต้องรับผิดชอบดูแล ซึ่งปัจจัยที่จะนำมาสนองความต้องการดังกล่าวคิดตามมาตรฐานปกติไม่ฟุ่มเฟือย   2. มิสกีน ( ผู้ขัดสน ) ตามทัศนะของนักวิชาการดังกล่าวหมายถึง ผู้ที่มีทรัพย์ครอบครองอยู่บ้าง และมีงานทำที่เหมาะสมในระดับหนึ่ง ซึ่งสามารถสนองความต้องการพื้นฐานของเขาเอง และสมาชิกในครอบครัวได้แต่ไม่เพียงพอเท่าที่ควรเช่น ความต้องการของเขา และครอบครัวอยู่ในระดับ 10 แต่เขาสามารถหามาได้เพียง 7 หรือ 8 เท่านั้น แม้นว่าเขาจะมีทรัพย์สินครบจำนวนนิศอบก็ตาม แต่ก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มผู้ขัดสนถ้าไม่เพียงพอในการสนองความ ต้องการพื้นฐานของตนเอง สมาชิกในครอบครัวที่เขาต้องรับผิดชอบ ความเป็นคนยากจน และขัดสน นั้นยังไม่หมดไปถึงแม้เขาจะมีที่อยู่อาศัย และมีเสื้อผ้าสวมใส่อยู่บ้าง เช่น สำหรับสตรีที่มีชุดแต่งกายที่ใช้ ในบางโอกาส หรือนักศึกษาที่ครอบครองตำราที่จำเป็น หรือคนงานที่มีเครื่องมือที่จำเป็นในการทำมาหากิน   3. ผู้ทำหน้าที่จัดเก็บซะกาต หมายถึง ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการรวบรวมซะกาต จัดเก็บซะกาตไว้ในโกดัง ดูแลรักษาทรัพย์สินซะกาต จัดทำบัญชีซะกาต คำนวณซะกาต และจัดสรรซะกาต   4 . ผู้ที่หัวใจของเขาต้องการความอบอุ่น ( มุอัลลัฟ ) หมายถึง บรรดาผู้ที่จิตใจของเขาโน้มเอียงสู่อิสลามรวมถึงผู้ที่ต้องการความมั่นคงทางจิตใจในการเป็นมุสลิมหรือผู้ที่มุสลิมต้องการป้องกันความชั่วที่เกิดจากการกระทำของเขาหรือผู้ที่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่มุสลิมในการต่อสู้กับศัตรูทั้งที่เป็นมุสลิมและมิใช่มุสลิม แต่ตามทัศนะของอิหม่ามชะฟิอีย์ถือ มุอัลลัฟ ( ผู้ที่จิตใจต้องการความอบอุ่น ) นั้นคือ ผู้ที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามแล้ว   5. ทาสที่ต้องการไถ่ตัวเองเป็นอิสระ (อัรริกอบ) หมายถึง บรรดาทาส หรือทาสที่ต้อง การไถ่ตนเองจากเจ้าของเพื่อจะได้เป็นอิสระการให้ซะกาตแก่พวกเขาสามารถทำได้ 2 ลักษณะได้แก่ 5.1 นำเงินซะกาตไปไถ่ตัวของเขาจากเจ้าของ 5.2 นำเงินซะกาตไปซื้อตัวเขาจากเจ้าของแล้วปล่อยให้เป็นไท ซึ่งวิธีนี้คอลีฟะฮฺอุมัรบินอับดุลอาซิสได้ปฏิบัติในยุคของเขา เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันไม่มีระบบทาสอีกแล้ว ดังนั้นนักวิชาการอิสลามจึงใช้ วิธีการเปรียบเทียบปรากฏการณ์ที่มีลักษณะคล้ายทาสอันได้แก่ เชลยศึกมุสลิมที่ถูกจับในสงครามหรือ การที่มุสลิมอ่อนแอถูกกดขี่   6. ผู้ที่มีหนี้สิน ( อัลฆอริมีน ) หมายถึง บรรดาผู้มีหนี้สิน ซึ่งตามทัศนะของอิหม่ามมาลิกีย์ และอิหม่ามชะฟิอีย์ถือว่าผู้มีหนี้สินมี 2 ประเภทคือ 6.1 ผู้มีหนี้สินที่นำมาใช้ประโยชน์ต่อตนเอง เช่น ผู้ที่กู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายในการสนองความจำเป็นของการดำรงชีพ ซื้อเสื้อผ้า หรือผู้ที่กู้ยืมมาเพื่อใช้ในการแต่งงานหรือเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บหรือเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ซื้อเครื่องใช้ในครัวเรือน หรือเพื่อใช้จ่ายในการจัดการแต่งงานลูกหรือกู้ยืมเพื่อนำมาชดใช้ให้ผู้อื่น เนื่องจากได้ทำให้ของผู้อื่นเสียหาย ด้วยความผิดพลาด หลงลืมหรือเพราะเหตุอื่นๆ 6.2 ผู้มีหนี้สินที่นำมาใช้ประโยชน์ต่อสังคม เช่น ผู้ที่กู้ยืมมาเพื่อใช้จ่ายในการประนีประนอมระหว่างคู่อริให้คืนดีกัน กู้ยืมมาเพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลสำหรับผู้ยากจน เพื่อสร้างมัสยิดให้สามารถรองรับชาวบ้านในการละหมาดร่วมกัน เพื่อสร้างโรงเรียนสอนศาสนาและกู้ยืมเพื่อการอื่นๆ ที่นำใช้ประโยชน์ต่อสังคม   7. ในหนทางของอัลลอฮฺ I นักวิชาการได้อธิบายความหมายของคำ สะบีลิลละฮฺหมายถึง หนทางของอัลลอฮฺ นั้นมี 2 ลั กษณะคือ 1. ลักษณะเฉพาะ หมายถึง การต่อสู้กับศัตรูในหนทางของอัลลอฮฺ อันหมายถึงการญิฮาดต่อสู้เพื่ออัลลอฮฺ ซึ่งอุลามาอฺทั้ง 4 มัซฮับได้มีทัศนะตรงกันว่าผู้ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ มีสิทธิรับซะกาต คือ 1.1 การต่อสู้ ( ญิฮาด ) นั้นจัดอยู่ในความหมายในหนทางของอัลลอฮฺ 1.2 การให้ซะกาตส่วนนี้จะต้องมอบให้แก่ตัวบุคคลที่ทำหน้าที่ต่อสู้โดยตรง 1.3 ไม่สามารถเอาซะกาตส่วนนี้ไปใช้ในสาธารณะประโยชน์อื่นๆ เช่นสร้างสะพาน มัสยิด โรงพยาบาล เป็นต้น 2. ลักษณะกว้างและครอบคลุม หมายถึง กิจการที่ดีและเป็นผลประโยชน์ของสาธารณะในด้านต่างๆ เช่น ก่อสร้างมัสยิด สร้างป้อมปราการใช้จ่ายในการฝังศพ เป็นต้น   8. ผู้ที่เดินทาง (อิบนุสะบีล) ตามทัศนะของนักวิชาการฟิกฮ์ส่วนใหญ่ถือว่าอิบนุสะบีล หมายถึง ผู้เดินทางไกลที่ ขาดเสบียง เขาสมควรได้รับซะกาตเพื่อที่จะสามารถเดินทางถึงที่หมายได้ แม้นว่าเขาเป็นผู้มีฐานะดีก็ตาม การแจกจ่ายซะกาตแก่ผู้มีสิทธิรับซะกาตนั้น มีรูปแบบที่หลาก หลายซึ่งผู้มีหน้าที่ต้องจ่ายซะกาตสามารถนำรูปแบบต่างๆ ไปปฏิบัติตามความสามารถของตนในฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ต้องจ่ายซะกาต แต่ถ้ามองระบบซะกาต เป็นสถาบันทางเศรษฐกิจประเภทหนึ่งของสังคม ที่มีบทบาทในการให้สวัสดิการแก่สังคมแล้วการจัดการซะกาตจึงเป็นหน้าที่ของรัฐประการหนึ่งโดยรัฐต้องแต่งตั้งผู้รับผิดชอบให้จัดการซะกาตโดยทำหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวกับซะกาต ซึ่งหน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือ การแจกจ่ายซะกาตโดยใช้รูปแบบต่างๆ ดังนี้ 1. จ่ายให้ผู้มีสิทธิทุกประเภทหรือจ่ายให้เพียงบางประเภทก็ได้ กรณีที่มีผู้มีสิทธิทุกประเภท อิหม่ามชะฟิอีย์ให้เฉลี่ยจ่ายแก่ทุกประเภท 2. จ่ายให้ผู้มีสิทธิรับซะกาตโดยตรงหรือจ่ายผ่านสถาบันใดสถาบันหนึ่งก็ได้ ในการจ่ายให้ผู้มีสิทธิรับโดยตรงนั้นสามารถจ่ายในรูปแบบต่างๆ เช่น อาหาร ค่าเล่าเรียนหรือเงินสด เป็นต้น ส่วนการจ่ายโดยผ่านสถาบันนั้นสามารถจ่ายซะกาตในรูปของการทำโครงการอบรมเสริมทักษะการประกอบอาชีพ สร้างที่อยู่อาศัย สร้างห้องสมุดสำหรับนักศึกษายากจนก็ได้ โดยเฉพาะการจ่ายซะกาตแก่ผู้มีสิทธิ 4 ประเภทหลังได้แก่ ทาสผู้มีสัญญากับเจ้านายของเขาว่าจะไถ่ถอนตัวเอง ผู้มีหนี้สิน ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหนทางของอัลลอฮฺ I และผู้เดินทาง ซึ่งสำหรับพวกเขา เป็นสิ่งที่นำมาใช้ประโยชน์มากกว่าที่จะเป็นกรรมสิทธิ์ดังได้กล่าวมาแล้ว 3. กรณีซะกาตมีจำนวนจำกัด ผู้มีหน้าที่จัดการจะต้องจัดลำดับความสำคัญในการแจกจ่ายเพื่อมิให้เกิดผลเสียและให้เกิดผลลัพธ์ได้ดีที่สุดเช่น กรณีจ่ายให้คนยากจนที่กำลังศึกษาในสาขาที่เป็นความต้องการของสังคมมากที่สุดดีกว่าจ่ายให้คนจนทั่วๆไป ซึ่งการให้ความสำคัญนั้นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับแก่ประชาชาติมุสลิมทั้งระยะสั้นและระยะยาวด้วย 4. กรณีมีซะกาตเพียงพอ จะต้องจ่ายให้ผู้มีสิทธิในจำนวนที่ส่งผลให้เขา สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยนักวิชาการมีความเห็นว่าจำนวนที่เหมาะสมที่สุดคือ จำนวนที่พอเพียงสำหรับใช้จ่ายเป็นเวลา 1 ปี อย่างไรก็ต่างถ้าสามารถจัดการแจกจ่ายตามความเหมาะสมกับสภาพข้อเท็จจริงของผู้มีสิทธิถือว่าควรปฏิบัติอย่างยิ่ง เช่น 4.1 จ่ายซะกาตแก่คนยากจนที่พิการหรือเป็นโรคที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ควรจ่ายให้เขาในจำนวนที่เขาสามารถมีปัจจัยยังชีพตลอดไป 4.2 จ่ายซะกาตแก่คนยากจนที่กำลังศึกษาเล่าเรียน ควรจ่ายให้เขาในจำนวนที่เขาสามารถนำไปใช้จ่ายตลอดปี 4.3 จ่ายซะกาตให้คนยากจนที่สามารถประกอบอาชีพได้ ควรจ่ายให้ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับเขานำไปเป็นทุนในการทำงานได้ 5. จะต้องจ่ายซะกาตแก่ผู้มีสิทธิ์ในบริเวณที่ทรัพย์สินซะกาตนั้น ได้รับการรวบรวม ก่อนเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตามกรณีมีซะกาตเหลือจ่ายก็สามารถจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิ์ในหมู่บ้านถัดไป 6. การจ่ายซะกาตจะต้องจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิ์เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ควรเก็บซะกาตไว้โดยปล่อยให้เวลาผ่านไป แล้วจึงจะพิจารณา ดังนั้นการที่จะนำซะกาตไปลงทุนสามารถทำได้โดยมีเงื่อนไขต่อไปนี้ 6.1 ต้องเป็นซะกาตที่เหลือจ่าย 6.2 เป็นการลงทุนในกิจการที่ไม่มีความเสี่ยง 6.3 ไม่มีผู้มีสิทธิ์ประเภทใดมีสิทธิ์รับซะกาตอีกแล้ว 6.4 เป็นการลงทุนเพื่อนำกำไรให้เกิดประโยชน์ต่อผู้มีสิทธิ์ 7. กรณีเฉลี่ยจ่ายแก่ผู้มีสิทธิรับซะกาตทุกประเภทนั้น ไม่จำเป็นที่ผู้จ่ายต้องเฉลี่ยจ่ายเท่าๆ กัน แต่ต้องพิจารณาถึงความจำเป็นของผู้รับเป็นหลัก ทั้งนี้ต้องอาศัยการวินิจฉัยอันชาญฉลาดของผู้จัดการแจกจ่ายซะกาตด้วย 8. การแจกจ่ายซะกาตแก่ผู้มีสิทธินั้น ควรใช้วิธีการที่สามารถ แก้ปัญหาความยากจน ปกป้องคนอ่อนแอ ไร้ความสามารถหรือถูกกดขี่ ในขณะเดียวกันก็เป็นวิธีการที่สามารถพัฒนาผู้มีสิทธิให้พึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นคงให้สังคม ดังนั้นการแจกจ่ายซะกาต ตามรูปแบบนี้สามารถทำได้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น จ่ายซะกาตโดยตรงด้วยการ 8.1 จ่ายเป็นเงินทุน 8.2 จ่ายเป็นเครื่องมือทำงาน 8.3 จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล 8.4 จ่ายเพื่อแก้ปัญหาฉุกเฉินกรณีเกิดภัยพิบัติต่างๆ น้ำท่วม ลมพายุ และไฟไหม้ 8.5 จ่ายเป็นอาหารหรือเครื่องยังชีพและที่พักอาศัย ส่วนการจ่ายซะกาตโดยอ้อมนั้นสามารถทำได้ในรูปต่างๆ เช่น 8.6 จ่ายโดยจัดโครงการอบรมเสริมทักษะในการประกอบอาชีพ 8.7 จ่ายโดยจัดโครงการให้คำปรึกษาในลักษณะต่างๆ 8.8 จ่ายโดยการจัดโครงการซื้อที่ดินเพื่อเพาะปลูก หรือการเกษตรให้ผู้มีสิทธิ 8.9 .จ่ายโดยการสร้างร้านขายอาหารและเครื่องดื่มในลักษณะแผงลอย พร้อมทั้งเครื่องมือต่างๆ 8.10 .จ่ายเป็นโครงการอบรมการช่างฝีมือประกอบอาชีพแก่ผู้มีสิทธิ จากรูปแบบการแจกจ่ายที่กล่าวมาข้างต้นนั้นบรรดานักวิชาการอิสลามมีความเห็นพ้องกันว่ากลุ่มผู้มีสิทธิที่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ คนยากจน คนขัดสน และเจ้าหน้าที่จัดเก็บซะกาต ดังนั้น การเลือกรูปแบบใดก็ตามขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่จะได้แก่พวกเขาบวกกับนโยบายอันชาญฉลาด ของฝ่ายจัดการซะกาต ซึ่งน่าจะเป็นองค์กรที่มีศักยภาพในการจัดการ ซะกา ต มากกว่าที่เป็นส่วนบุคคลดังที่เป็นอยู่ในสังคมมุสลิมของเราปัจจุบัน และในการย้าย ซะกาตไปจัดสรรให้กับผู้มีสิทธิในประเทศอื่นนั้นจะกระทำมิได้ เว้นแต่ในพื้นที่ซะกาตถูกจัดเก็บนั้นไม่มีผู้มีสิทธิเหลืออยู่อีกต่อไปผู้ที่ห้ามรับซากาติ1. คนกาฟิร: ผู้ปฏิเสธศาสนาอิสลาม 2. ตระกูลฮาชิม: จุดมุ่งหมายคือ ตระกูลอาลี ตระกูลอะกีล ตระกูลญะอฟัร ตระรูลอัลอับบาส และตระกูลอัลฮาริษ ท่านรอสูล ได้กล่าวว่า แท้จริงซะกาตนั้นไม่สมควรให้แก่วงศ์ญาติของมุฮัมหมัด เพราะมันเป็นเหงื่อไครของมนุษย์” (บันทึกโดยมุสลิม) 3. บ่าวหรือทาส เนื่องจากเขารวยเพราะความรวยของผู้เป็นนาย 4. ผู้ที่อยู่ภายใต้การคุ้มครอง และการดูแลของผู้ออกซะกาต ตามบัญญัติศาสนา เช่น พ่อ แม่ ลูกๆ หรือ ภรรยา เป็นต้น 5. คนรวย ได้แก่รวยทรัพย์ รวยกำลังในกรณีที่รวยกำลัง แต่ได้มาไม่พอหรือหาทางทำมาหากินไม่ได้ก็ให้ซะกาตได้ 6. ผู้ใช้จ่ายในทางมัวะซิยัตผลของการจัดการซะกาตอัลมาวัรดี ได้อธิบายว่า เมื่อมีการบริการจัดการซะกาตอย่างดีแล้ว ผลของการจัดสรร ซะกาตจะแบ่งผู้มีสิทธิรับซะกาตออกเป็น 5 ประเภท คือ 1. ผู้มีสิทธิรับซะกาตที่ได้รับการจัดสรรซะกาตให้แล้ว จะกลายเป็นผู้ไม่มีสิทธิรับซะกาต เนื่องเขาได้รับอย่างเพียงพอกับความต้องการของเขาแล้ว จึงถือว่าเป็นที่ต้องห้ามสำหรับเขาในการที่จะรับซะกาตอีก 2. ผู้มีสิทธิรับซะกาตที่ได้รับซะกาตแล้ว ยังคงมีสิทธิรับซะกาตอีกต่อไปเนื่องจากจำนวน ที่เขาได้รับไม่เพียงพอต่อความต้องการ 3. ผู้มีสิทธิรับซะกาตที่ได้รับซะกาตแล้วจะได้รับอย่างเพียงพอ แต่ยังคงมีผู้มีสิทธิอีกบางส่วนยังไม่เพียงพอ จึงทำให้ผู้ที่ยังไม่เพียงพอนั้นมีสิทธิรับซะกาตอีกต่อไป 4. กรณีมีซะกาตเหลือจ่ายก็ต้องจ่ายแก่ผู้มีสิทธิที่ยังได้รับไม่เพียงพอที่เหลืออยู่ 5. ผู้มีสิทธิได้รับซะกาตอย่างเพียงพอและทั่วถึง จึงต้องนำซะกาตที่เหลือไปให้แก่ผู้มีสิทธิรับซะกาตในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป          นอกจากนี้อัลมาวัรดี ยังมีทัศนะว่าในการบริหารการจัดสรร ซะกาตนั้นสามารถจัดสรรให้เฉพาะผู้มีสิทธิที่มีอยู่ในพื้นที่เท่านั้น ไม่จำเป็น ต้องจัดสรรให้ผู้มีสิทธิครบถ้วนถึง 8 ประเภท  



[1] ซูเราะฮฺ อัซซาริยาต

[2] ซูเราะฮฺอัตเตาวบะฮฺ อายะฮฺ 60

คำสำคัญ (Tags): #ซากาต
หมายเลขบันทึก: 129850เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2007 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อัสลามูอาลัยกุม

อยากทราบว่า มูอัลลัฟ วาญิบที่ตัวเขาเองต้องจ่ายซากาตฟิตเราะหรือไม่

ซากาต วาญิบจ่ายสำหรับผู้ที่บาเลฆ ซากาตฟิตเราะห์มีความต่างกับซากาตทรัพย์สินทั่วไป เกณฑ์ที่ว่าใครต้องจ่าย/ไม่ต้องจ่ายนั้น เงื่อนไขดูที่ว่าคนๆ นั้น เคยมีชีวิตในเดือนรอมฎอนปีนั้นๆ หรือปล่าว หากเคยมีชีวิตแม้วันเดียวก็ตาม หากเราแบ่งระยะเวลาในการจ่ายซากาตจะมีระยะเวลาที่ สุนัต ญาอิซ และ วาญิบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท