BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

การจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๘ (สรุป)


การจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๘ (สรุป)

ตามที่นำเสนอมาตามลำดับ จะเห็นได้ว่า การกระทำเหนือหน้าที่เริ่มต้นมาจากปัญหาการจัดประเภทฯ โดยเอิร์มสันอ้างว่า การจัดฯ ตามประเพณีไม่เพียงพอต่อความจำเป็นทางศีลธรรม เพราะยังมีการกระทำแบบนักบุญและแบบวีรบุรุษซึ่งไม่สามารถสงเคราะห์เข้ากับการจัดฯ ตามประเพณีได้...

ประเด็นหนึ่งของปัญหาที่สังเกตจากการศึกษาเรื่องนี้ก็คือ ความหมายของคำที่ใช้เรียกการกระทำบางชนิด เช่น ตามนัยภาษาอังกฤษถือกันว่า obligation (ข้อผูกพัน) กับ duty (หน้าที่) เป็นคำที่ใช้แทนกันได้...แต่ไฟน์เบอร์ก ได้ชี้ให้เห็นว่า คำทั้งสองนี้มิได้มีความหมายเหมือนกันทีเดียว เพียงแต่มีความคาบเกี่ยวกันเท่านั้น... ดังนั้น ข้อผูกพันตามนัยของนักจริยปรัชญาคนหนึ่ง อาจมิใช่หน้าที่ตามที่นักจริยปรัชญาอีกคนหนึ่งสำคัญหมายก็ได้....

นั่นคือ การจัดฯ ตามประเพณีตามที่เอิร์มสันยกอ้าง... แต่เมื่อมาถึงฟิสคินซึ่งได้อ้างบทความของเอิร์มสัน แต่เรียก การกระทำที่ผิด ว่าเป็น ข้อห้าม .... เมื่อถือเอาตามนัยนี้ ฟิสคินน่าจะมีความเห็นว่า การกระทำที่ผิด กับ การกระทำที่เป็นข้อห้าม เป็นอย่างเดียวกัน...

และเมื่อมาถึง เตรียโนสกี (Trianosky, Gregory, Velazcoy) ก็อ้างถึงบทความของเอิร์มสันเช่นเดียวกัน แต่กลับเรียกว่า การกระทำที่เป็นข้อห้าม ข้อกำหนดไว้ และข้อไม่แตกต่างกัน ว่าเป็นการจัดฯ ตามประเพณีของเอิร์มสัน...  เมื่อถือเอาตามนัยนี้ การจัดฯ ตามประเพณีที่เตรียโนสกียกอ้างมาก็เหมือนกับที่เอิร์มสันระบุไว้  กล่าวคือ  การกระทำที่เป็นหน้าที่หรือข้อผูกพัน การกระทำที่ยอมรับกันได้ และการกระทำที่ผิด  ... นั่นคือ สองประการนี้มีความเหมือนกันตามความเห็นของเตรียโนสกี ... เป็นต้น

ตามนัยที่ยกมาเป็นตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าการใช้คำและการแปลความหมายของคำเป็นสาเหตุหนึ่งในการจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรม...

........

แม้ว่าการกระทำเหนือหน้าที่จะเริ่มต้นมาจากปัญหาเรื่องการจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรม... แต่เมื่อมาถึงโบฌองพ์  ก็ได้ใช้เป็นกรอบความคิดเพื่อสร้างระบบมาตรฐานศีลธรรม ๒ ระดับเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างทฤษฎีหลักการกับทฤษฎีคุณธรรม โดยจัดการกระทำตามหน้าที่สำหรับบุคลทั่วไป และการกระทำเหนือหน้าที่สำหรับบุคลพิเศษ... อาจกล่าวได้ว่าเป็นพัฒนาการทางความคิดที่แตกหน่อต่อยอดออกมาโดยมิได้มุ่งหมายถกเถียงปัญหาเดิมๆ 

ตามความเห็นของผู้เขียน การจัดฯ ของใครหรือระบบใดก็ตาม ไม่อาจกล่าวว่าถูกหรือผิดได้... แต่อาจกล่าวได้ว่า เพียงพอ หรือ เหมาะสม กับกรอบความคิดของผู้นั้นหรือระบบนั้นหรือไม่เท่านั่น... กล่าวคือ การจัดฯ ในรูปแบบหนึ่งไม่อาจจะนำอีกรูปแบบหนึ่งมาวิจารณ์และตัดสินว่าผิดถูก หรือเหมาะสมไม่เหมาะสมได้... ประมาณนั้น

แต่ ส่วนดีของการวิจารณ์และนำเสนอประเด็นใหม่ๆ ก็คือ จะเป็นหน่อแห่งความคิด เพื่อต่อยอดไปปรับปรุงระบบเก่า หรือสร้างระบบใหม่สืบต่อไป... ซึ่งนี้คือพัฒนาการแห่งปรัชญานั่นเอง

............

ในส่วนของพุทธจริยศาสตร์ ผู้เขียนมีความเห็นว่า พุทธจริยศาสตร์มีรูปแบบการจัดฯ หลากหลาย และมีความสมบูรณ์ในตัวระบบเอง... แต่ก็ยังคงท้าทายผู้สนใจจะศึกษาเชิงเปรียบเทียบต่อไป.....  

หมายเลขบันทึก: 129398เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2007 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท