BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

สามคำถามในอภิปรัชญา ๒


สามคำถามในอภิปรัชญา ๒

ความสงสัยในโลกและชีวิตล้วนมีอยู่ด้วยกันทุกคน เพียงแต่ว่าคนส่วนใหญ่สนใจเพียงประเดี่ียวประด่าวแล้วก็นำความคิดความรู้สึกไปผูกพันหรือสนใจกับสิ่งอื่น... ส่วนผู้ที่สงสัยแล้วให้ความสนใจอย่างจริงจังอาจเรียกได้ว่า นักปรัชญา ตามความหมายเดิม...

ตัวอย่างของผู้ที่สนใจโลกและชีวิตอย่างจริงจังก็เช่น ฟ้าชายสิทธัตถะ ทรงปรารภว่า คนเราเกิดมาแล้วต้องแก่ เจ็บ และตายไป ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารของชีวิต ควรออกบวชแสวงหาสัจธรรมความจริงแห่งชีวิต ทำให้การเกิดมาครั้งหนึ่งไม่สูญเปล่า ... ประมาณนี้

ตามปกติคนเรามักจะสงสัยบางสิ่งบางอย่างก่อน แล้วก็สงสัยอีกบางสิ่งบางอย่างเชื่อมโยงกันออกไป... กลายเป็นว่า สงสัยทุกสิ่งทุกอย่าง หรืออาจประมวลกลับมาว่า สงสัยเฉพาะความคิดความรู้สึกของตัวเองเท่านั้น...

ความสงสัยนี้ก็จะมาถึงคำถามแรกว่า

  • ตัวเราเอง โลกและชีวิต หรือทุกสิ่งทุกอย่างมาจากไหน ?

ประเด็นนี้ เชื่อกันมานานแล้วว่าจะต้องมี ผู้สร้าง ขึ้นมา ซึ่งผู้สร้างขึ้นมานี้ อาจเรียกว่า เทพเจ้า พระเป็นเจ้า หรือ God หรือชื่ออะไรก็ตามที่สมมติขึ้นมาว่าเป็น พระผู้สร้าง

ดังนั้น ตัวเราเอง โลกและชีวิต หรือทุกสิ่งทุกอย่าง จึงเป็นเพียง ผู้ถูกสร้าง คู่กับ พระผู้สร้าง ... แนวคิดทางเทววิทยาจะเริ่มต้นที่ประเด็นนี้ เพียงแต่รายละเอียดอาจแตกต่างกันออกไปเท่านั้น....

............

สมัยผู้เขียนเป็นวัยรุ่น เคยไปเรียนภาษาอังกฤษควบคู่กับศาสนาคริสต์ที่โบสถ์คริสต์ใกล้บ้าน.... ผู้เขียนเคยถามฝรั่งผู้สอนว่า เมื่อพระเจ้าสร้างทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ใครสร้างพระเจ้า ? (ในขณะนั้น ผู้เขียนคิดว่าเป็นคำถามที่สุดยอด) อาจารย์ฝรั่งบอกว่า พระเจ้า เป็นคำสมมติขึ้นมาเพื่อใช้เรียกสิ่งที่สูงสุดในภาษาไทย ตามภาษาเดิมเรียกว่า พระยะโฮวา ซึ่งแปลว่า เราเป็นซึ่งเราเป็น นั่นคือ ไม่มีใครสร้าง ... คำถามก็เลยจบแค่นั้น แต่ผู้เขียนก็ยังคงสงสัยต่อไป

เมื่อมาเรียนปรัชญา ได้อ่านหนังสือแนวนี้เพิ่มขึ้น จึงได้คำตอบเพิ่มขึ้นว่า พระเจ้า จริงๆ นั้น จะไม่มีใครสร้าง... พระเจ้าที่ถูกสร้าง มิใช่พระเจ้าที่แท้จริง...

ประเด็นนี้ เป็นความจำเป็นเชิงตรรกะ กล่าวคือ ถ้าว่า 1 ถูก 2 สร้างมา ..2 ถูก 3 สร้างมา ... 3 ถูก 4 สร้างมา ... ฯลฯ เมื่อถอยหลังกลับไปแล้ว จะต้องมีที่สุด ซึ่งพระผู้สร้างอันดับแรกและเป็นที่สุดนี้เองได้แก่ พระเจ้า นั่นคือ พระเจ้าไม่มีใครสร้าง เป็นความจำเป็นจะต้องมีในฐานะ ปฐมเหตุ คือสาเหตุแรกของทุกสิ่งทุกอย่าง .... ประมาณนี้

ใครเคยเรียนคณิตศาสตร์มาบ้าง คงจะรู้จัก จำนวนนับ ซึ่งเริ่มต้นที่ 1 แล้วก็ขยายต่อไปเป็น 2, 3, 4, 5, . . . ฯลฯ ซึ่งมีนักคณิตศาสตร์คนหนึ่งชื่อ เปอาโน (Peono, Giuseppe) ได้กำหนดว่าจำนวนนับทุกตัว จะต้องมีตัวตามและเป็นตัวตามของจำนวนอื่นๆ... ยกเว้น 1 ไม่เป็นตัวตามของจำนวนใดๆ... ซึ่งเป็น ความจำเป็นเชิงตรรกะ นั่นเอง นั่นคือ ถ้าไม่มี 1 จำนวนอื่นๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ (เรียกกันว่า ทฤษฎีอนิยามของเปอาโน   แต่ผู้เขียนก็ไม่ค่อยเข้าใจนักเพราะไม่ใช่นักคณิตศาสตร์ )

ความมีอยู่ของพระเจ้าในฐานะสาเหตุแรกของทุกสิ่งทุกอย่างก็คล้ายๆ ความจำเป็นที่จะต้องมีเลข 1 ในจำนวนนับนั่นเอง

ความจำเป็นที่จะต้องมีพระเจ้าในฐานะจุดเริ่มต้นคล้ายๆ กับเลข 1 ในจำนวนนับ อาจเข้าใจได้ง่าย และหลายคนคงจะไม่สงสัย... แต่ถ้าจะถามต่อไปว่า...

  • พระเจ้าเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าไม่มีใครสร้าง ? 

ก็จะมีอีกคำคือ ความบังเอิญ นั่นคือ พระเจ้าเกิดขึ้นมาจากความบังเอิญ ไม่มีสาเหตุ ไม่สามารถตอบได้ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เป็นเพียงความบังเอิญ... ประมาณนี้

ความจำเป็น และ ความบังเอิญ เป็นสองคำสุดท้ายในแง่นี้ ส่วนการพิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้า เป็นอีกแง่หนึ่งซึ่งขยายความออกไป โดยผู้เขียนค่อยนำมาเล่าในตอนต่อไป...  

หมายเลขบันทึก: 129140เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2007 01:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ผมคิดว่า  ๒ คำตอบนั้น - ความจำเป็น  กับ  ความบังเอิญ - นั้น คือ "ข้อตกลงเบื้องต้น"  เหมือนที่นิยมใช้กันในการสร้างทฤษฎีประเภท "แบบแผน" หรือ Formal Theories ในทางคณิตศาสตร์

และเป็นที่น่าสังเกตว่า  ข้อตกลงเบื้องต้นโดยทั่วไป "แม้ว่าจะผิด" แต่เมื่อ "นิรนัย"ไปแล้ว  "ผลสรุป"  ถูก ในแง่ของ Valid เชิง ตรรกะ ก็มี 

ไม่มีรูป

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

 

อาจารย์เข้าใจประเด็นนี้ชัดเจนอยู่แล้ว...

เฉพาะ ความจำเป็น ก็คือ แบบแผน หรือ นิรนัย

อีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเป็นไปได้ นั่นก็คือ ความไร้แบบแผน หรือ อุปนัย

ข้อสรุปที่ได้มาจากอุปนัย ซึ่งเรียกว่า ความเป็นไปได้ นี้... ต่อมาก็ถูกเชื่อว่า เป็นจริง จึงกลายมาเป็น ความจำเป็น ซึ่งเป็น บทตั้งตามรูปแบบนิรนัย...

ซึ่งประเด็นทำนองนี้ เคยมีผู้ศึกษา เช่น ฮูม (Hume) เคยศึกษาว่า ought to แปลงมาเป็น is อย่างไร ในการนำเสนอความคิด...

  • ought to ก็คือ ความเป็นไปได้ หรือ อุปนัย นั่นเอง
  • is ก็คือ ความจำเป็น หรือ นิรนัย นั่นเอง

ตามความเห็นส่วนตัว อาตมาคิดว่า ประเทศไทยก็มีผู้รู้และสนใจประเด็นเหล่านี้พอสมควร แต่เนื่องจากเป็นประเด็นที่แห้งแล้งและจืดชืดเกินไป... ต่อมาผู้รู้หรือผู้สนใจทั้งหลายก็ค่อยๆ ปล่อยวาง สาเหตุสำคัญเพราะงานวิจัยทำนองนี้ คนไทยเราไม่ค่อยยอมรับ (อาจเป็นเพราะ โง่่ แต่มักอ้างว่า ไม่มีประโยชน์)

อันที่จริง ความรู้ทำนองนี้ เป็นเครื่องมือของการสร้างระบบการคิดของคน แต่เราชอบที่จะรับสิ่งที่เขาสร้างมาแล้วมากกว่าที่จะสร้างของเราขึ้นเอง 

ทำท่าจะบ่นอีกแล้ว....

เจริญพร 

P

นาย สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์

 

เกรงใจอาจารย์ ไม่จำเป็นต้องบอกก็ได้...

แต่พออาจารย์บอกมา อาตมาเปิดเข้ามาจึงอ่านเล่นอีกรอบหนึ่ง เพราะบันทึกนี้เขียนตั้งแต่เดือนกันยายนปีแล้ว... อ่านๆ ไปรู้สึกหลงตัวเอง (เออ... เราก็เขียนใช้ได้นิ 5 5 5)

เจริญพร

ปรัชญา เป็นเพียงพื้นฐานในการพัฒนาการด้านจิดใจของมนุษย์ตามที่ผมมีแนวคิดแบบนี้เพราะผมเรียนปรัชญาและพระพุทธศาสนา เนื่องจากการพัฒนาด้านปรัชญานั้นเป็นการเปลียนระบบจากแนวคิดเป็นกฎระเบียบ

ไม่มีรูป

วายุปักย์....

 

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท