หมอบ้านนอกไปนอก(4):นักศึกษาแพทย์เชียงใหม่


การทำกิจกรรมหลายด้านในมหาวิทยาลัยกับคนในคณะและต่างคณะ ช่วยหล่อหลอมให้ผมสามารถออกไปทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆในพื้นที่หรือในอำเภอได้ง่ายขึ้น เข้ากับคนอื่นได้ง่ายขึ้น

(4):นักศึกษาแพทย์เชียงใหม่

จบชั้นมอหก ผมสอบเข้าเรียนแพทย์ได้ที่กรุงเทพฯและเชียงใหม่ ผมเลือกเรียนเชียงใหม่ด้วยความคุ้นเคยกับต่างจังหวัดและความงดงามทางธรรมชาติของเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดแห่งแรก อยู่เชิงดอยสุเทพจึงเรียกกันว่ามอเชิงดอย แบ่งออกเป็นสองส่วนเรียกว่าฝั่งสวนดอกกับฝั่งสวนสัตว์ เดิมจะเดินทางไปด้วยรถไฟเป็นส่วนใหญ่ จึงมีประเพณีที่รุ่นพี่จะคอยต้อนรับรุ่นน้องที่สถานีรถไฟเชียงใหม่เรียกว่ารับน้องขึ้นดอย แต่ผมเดินทางโดยรถตู้จึงไม่ได้เข้าร่วมกับเขา

การเรียนแพทย์สมัยผม เรียน 6 ปี เป็นแบบ Yearing คือถ้าสอบตกวิชาใดวิชาหนึ่งก็จะต้องซ้ำชั้นเลย ปี 1 เรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ปี2-3 เป็นระดับปรีคลินิก ชั้นปี 4-6 เป็นระดับคลินิก

ชั้นปีที่ 1 นักศึกษาแพทย์จะเรียนอยู่ฝั่งสวนสัตว์ เรียนร่วมกับคณะอื่นๆ ผมพักอยู่ที่หอชายห้า มีเพื่อนร่วมห้องพักอีก 2 คนคือหมูหรือนิพนธ์ กาญจนะกับก่องหรือชินวัฒน์ ธรรมพาเลิศ เทอมแรกผมเรียนดีมากได้เกรดเฉลี่ย 3.61 แต่พอเทอมสอง ผมรู้สึกว่าไม่รู้จะเอาเกรดไปทำอะไร เพราะตั้งใจจะออกไปเป็นหมอบ้านนอกอยู่แล้ว ก็เลยเอาเวลาส่วนใหญ่ไปทำกิจกรรมทั้งการออกค่ายอาสา กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมนันทนาการและกีฬา พอเกรดเฉลี่ยทั้งปีได้ประมาณ 2.75 เกรดตกไปเยอะ แต่ผมก็ไม่เครียด ตั้งใจไว้ว่าแค่สอบผ่านก็พอ ชีวิตน้องใหม่ปีหนึ่งสนุกมาก มีพี่ๆคอยเทคแคร์เยอะ เราเรียกรวมกันทุกชั้นปีว่า พี่รหัส ทั้งปี2-6 แต่จะใกล้ชิดกับพี่รหัสปีสองมากกว่า ชื่อพี่สายพิณ ปัจจุบันเป็นอาจารย์แพทย์อยู่สาขาวิชาสูตินรีเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีหนึ่งจะเป็นปีที่จะต้องเข้าแข่งขันกองเชียร์กีฬาประจำปีและแข่งขันขบวนแสดงในงานประเพณีรับน้องขึ้นดอย โดยจะมีพี่ชั้นปีสาม เป็นผู้ดูแลและจัดการเพราะชั้นปีที่สามจะรับหน้าที่เป็นประธานชมรมต่างๆของคณะ ก็ได้รู้จักกับพี่ตู่หรือเกษม ตั้งเกษมสำราญ ที่ได้ทุนไปเรียนที่เบลเยียมพร้อมกัน การรับน้องขึ้นดอย พวกเราได้แสดงพลังและสปิริตในการพาเพื่อนๆทุกคนเดินขึ้นไปสักการะพระธาตุดอยสุเทพได้ทั้งหมดและการแสดงของเราก็ถือว่าสุดยอดที่สุดในปีนั้น พี่ๆสร้างนวัตกรรมในการแสดงที่บันไดเชิงดอยสุเทพได้อย่างดีมาก ตอนแข่งกีฬาเราก็ทุ่มพลังกันเต็มที่ ซ้อมเชียร์กันเต็มที่แต่ก็ได้รางวัลที่สอง ชั้นปีที่หนึ่งผมเป็นนักกีฬารักบี้ ว่ายน้ำ โปโลน้ำและกรีฑา ออกค่ายอาสา 4 ครั้งของพอช. 2 ครั้ง คณะศึกษา 1 ครั้งและอาสากลาง 1 ครั้ง ได้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปและเข้าร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ของสโมสรโรตาแรคส์ซึ่งทำให้ผมรู้จักและสนิทกับพี่สาวต่างคณะคือพี่ต้อยหรือพี่สุดาวรรณ สุขเจริญ ซึ่งยังคงติดต่อกันอยู่ทุกวันนี้ การออกค่ายอาสาพัฒนาของโครงการพัฒนาอนามัยและชนบท (พอช) ทำให้ผมได้มีโอกาสใกล้ชิดกับอาจารย์แพทย์สองท่านที่ได้สอนวิชาชีวิตให้มากกว่าสอนวิชาแพทย์คืออาจารย์หมอเกษม วัฒนชัย (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งองคมนตรี)และอาจารย์หมอผจญ  วงษ์ตระหง่าน (อาจารย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ ปัจจุบันเกษียณราชการแล้ว อาจารย์สอนศัลยศาสตร์ผมแค่ 1 ชั่วโมง สอนผ่าตัดน้อยมากแต่สอนให้ผ่าใจคนมากกว่า สอนให้มองให้ลึกถึงใจตัวเองและใจคนอื่น เรียกว่าเห็นใจคนอื่นนั่นเอง)

คำสอนของอาจารย์หมอเกษมที่ผมไม่เคยลืมและใส่ใจอยู่ตลอดก็คือ อาจารย์สอนว่าจบออกไปทำงาน จะประสบความสำเร็จในชีวิตหือมีความสุขในการทำงานได้ต้องมี 3 ก คือเก่งงาน เก่งคนและเก่งชีวิต อาจารย์เป็นคนเสมอต้นเสมอปลายและเป็นกันเองมาก ผมพบกับอาจารย์ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2550 ในพิธีประสาทอนุปริญญาบัตรของวิทยาลัยชุมชนตาก ผมได้มีโอกาสไปต้อนรับอาจารย์และร่วมงานในฐานะอาจารย์พิเศษและรองประธานสภาวิชาการ อาจารย์ได้ฝากผมให้ช่วยงานของวิทยาลัยชุมชนตากและช่วยพัฒนาหลักสูตรที่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนด้วย ผมก็รับคำท่าน

อาจารย์หมอผจญ วงษ์ตระหง่าน ท่านเป็นคนน่ารักมาก คุยสนุก ท่านเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาค่ายอาสาพัฒนา เป็นแพทย์เชียงใหม่รุ่นที่ 5 หลังอาจารย์หมอเกษม 1 ปี อาจารย์ไปร่วมออกค่ายกับพวกเราหลายครั้ง คำสอนที่อาจารย์สอนผมแล้วผมติดตรึงใจพร้อมกับนำไปปฏิบัติคือ แท้จริงความลำบากไม่มี มีแต่ความไม่เคยชิน กับ รายรับไม่กลัว กลัวรายจ่าย ซึ่งคำสอนแรกผมกำลังนำมาใช้อย่างเต็มที่เมื่อมาถึงที่เบลเยียมนี้ ตอนผมแต่งงานอาจารย์ไปเป็นประธานและญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวคือฝ่ายผม อาจารย์อบรมสั่งสอนผมเสมือนเป็นพ่ออีกคนหนึ่งของผม ตอนที่ผมทำกิจกรรมโอดีครั้งแรกที่โรงพยาบาลบ้านตาก อาจารย์ผจญได้จัดทีมไปช่วยทำให้

ชั้นปีที่ 2 เป็นปีที่นักศึกษาแพทย์จะเรียนหนักมากเป็นการเรียนในชั้นปรีคลินิก จะไม่มีใครทำกิจกรรมกัน แต่ผมก็ยังคงเล่นกีฬาและเข้าร่วมเป็นทีมงานค่ายอาสา พอช.อยู่ เนื่องจากปีนี้ทีมงานค่ายมีน้อย ผมกับจงกิจวัตรหรือใหญ่ก็เลยเข้าไปช่วย กีฬาก็ยังคงเป็นนักกีฬารักบี้ ว่ายน้ำและโปโลน้ำ ตอนจบชั้นปีสอง ผมและเพื่อนๆก็เข้าไปทำหน้าที่ทีมงานค่าย พอช.กัน เราต้องออกสำรวจหมู่บ้านเพื่อคัดเลือกมาเป็นสถานที่ออกค่ายอาสาพัฒนา โดยแบ่งออกเป็นสองทีมในรอบแรกแล้วก็นำข้อมูลมาอภิปรายกัน จนตัดเหลือ 5 หมู่บ้าน ในรอบที่สอง แล้วก็ออกสำรวจข้อมูลพร้อมกันทั้งทีมเพื่อตัดสินใจสุดท้าย ออกไปดูสภาพหมู่บ้าน ชีวิตความเป็นอยู่ตามเกณฑ์การคัดเลือกที่กำหนดไว้ จนสุดท้ายเลือกได้ที่บ้านแม่ลายเตียนอาง อำเภอฮอด

ชั้นปีที่ 3 การเรียนเริ่มหนักน้อยลง เป็นปีที่นักศึกษาแพทย์จะออกมารับหน้าที่ประธานชมรมและทำกิจกรรมกันมาก ผมเป็นประธาน พอช. และมีทีมงานที่สนิทและเข้ากันได้ดีมากทั้งจงกิจวัตร (ใหญ่) วรพงษ์ (วอ) บุญชัย (ตี๋น้อย) สมบูรณ์ (บูน) พิพัฒ (เบิ๊ด) ศราวุฒิ (วุฒิ) ประจินต์ (เล็ก) เกรียงศักดิ์ (เอก) วิราภรณ์ (กิ๊บ) จันทรทิพย์ (ปลา) นิภา (หวาน) จำเนียร (ตุ๊ก)และวิชัย (เป็นทันตแพทย์) เราจัดออกค่ายอาสา 5 ครั้งใน 1 ปี มีน้องๆนักศึกษามาสมัครออกค่ายกันมากทุกค่าย รับสมัครเที่ยงสิบนาที ก็จะมาคอยกันตั้งแต่สิบเอ็ดโมง ในแต่ละค่ายก็จะมีทีมงานและประธานค่ายเฉพาะแต่ละค่ายบริหารจัดการไป เสร็จจากออกค่ายก็เล่นกีฬารักบี้บ้าง ว่ายน้ำบ้าง ก็เรียนผ่านมาได้แบบสบายๆเป็นคนส่วนใหญ่ของรุ่นคือได้C เป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ไม่เรียนหรือมไม่อ่านหนังสือ แต่ผมมีข้อเสียก็คือชอบอ่านหนังสือตามใจตัวเอง ตามความชอบ ตามความอยากรู้ ไม่ชอบอ่านเพราะจะสอบ เช่นพรุ่งนี้จะสอบพยาธิวิทยา แต่ผมไม่อยากอ่านผมจะอ่านภูมิคุ้มกันวิทยา เป็นต้น

ชั้นปีที่ 4 เป็นปีแรกที่ได้เรียนระดับคลินิก ถือเป็นปีที่เรียนหนักและต้องปรับตัวมากเพราะได้ขึ้นวอร์ด ได้เรียนการตรวจคนไข้ เรียนเกี่ยวกับการดูแลคนไข้ ใส่เสื้อกราวน์ไปเรียน พวกเราจะตื่นเต้นกันมาก การเรียนก็จะมีบรรยายรวมกันและแยกกันไปขึ้นวอร์ด เป็นกลุ่มๆละ 6 คน พอครบตามเวลาก็จะเปลี่ยนแผนกไปจนครบสาขาหลักคือสูติ ศัลย์ อายุรกรรมและเด็ก ปีสี่ก็จะมาตามพี่ปีห้า ปีหก แพทย์ประจำบ้านและอาจารย์ดูแลคนไข้ ปีนี้จะไม่ทำกิจกรรมกัน แต่ผมก็ได้ไปร่วมแข่งขันว่ายน้ำในกีฬามหาวิทยาลัยที่รามคำแหงเป็นเจ้าภาพ ก็สนุกดี เหนื่อยมากเพราะตื่นไปซ้อมหกโมงเช้าที่สระรุจิรวงศ์จนถึงแปดโมงเช้ามาขึ้นวอร์ด ตอนเย็นซ้อมตั้งแต่หกโมงเย็นจนถึงสองทุ่ม แต่การฝึกโดยมีโคชดูแลทำให้เราเป็นนักกีฬาที่มีวินัยในตัวเอง

ชั้นปีที่ 5 เป็นปีที่สบายขึ้น จะมีเวลาร่วมกิจกรรมต่างๆมากขึ้น ส่วนหนึ่งจะไปทำงานสโมสรนักศึกษาแพทย์เป็นนายกสโมสรและทีมงาน รุ่นผมมีศักดิ์สิทธิ์หรือหรั่ง เป็นนายกสโมฯ ปัจจุบันเป็นแพทย์กระดูกที่ปราจีนบุรี ส่วนผมไม่ได้รับตำแหน่งอะไร แต่ก็ช่วยงานเพื่อนๆโดยร่วมจัดกิจกรรมรับน้องสู่ชนบทให้กับน้องปีหนึ่ง โดยพาไปที่ที่เคยออกค่ายอาสาคือที่บ้านแม่ลายเตียนอาง เพื่อให้น้องๆได้เห็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ในชนบท ปีนี้ผมก็ยังไปแข่งว่ายน้ำอยู่ ช่วงแข่งขันผมอยู่แผนกสูติ ต้องเฝ้าคนไข้คลอด ไม่สามารถไปซ้อมว่ายน้ำได้ ผมก็เลยใช้อุปกรณ์ว่ายบกมาฝึกในห้องพักนักศึกษาแพทย์ และขอลาอาจารย์ไปแข่ง 1 สัปดาห์ พอกลับมาต้องมาเรียนชดเชยอีก 1 สัปดาห์ตอนปิดเทอม ในชั้นปีที่ห้า จะมีการสอบประมวลผลรวม ถ้าไม่ผ่านต้องสอบซ่อม ถ้าซ่อมไม่ผ่านต้องซ้ำชั้น ผมกับเพื่อนๆ พอช.ก็ผ่านกันมาได้ทุกคน ตอนปิดเทอม นักศึกษาคนไหน อยากเรียนต่อเฉพาะทางด้านใด ก็มักจะขอลงฝึกพิเศษเรียกว่า Elective นัยเพื่อให้อาจารย์ได้รู้จักและเห็นความขยัน เวลาสมัครเรียนจะได้รับการคัดเลือก ผมเองเลือกเรียนศัลยกรรมต่ออีก เพื่อนๆก็คิดว่าผมคงจะสมัครเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรม แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ ผมลงเพราะอยากได้ประสบการณ์ในการทำผ่าตัดเนื่องจากตั้งใจจะออกไปอยู่โรงพยาบาลชุมชนจะได้ทำหัตถการได้อย่างมั่นใจ ทำให้ผมได้ทำผ่าตัดคนไข้ไส้ติ่งอักเสบครั้งแรกตั้งแต่ชั้นปีห้า ภายใต้การดูแลขอพี่นรินทร์ บุญจงเจริญ ที่คอยดูแลและสอนผม

ชั้นปีที่ 6 เป็นปีสุดท้ายของนักศึกษาแพทย์ เรียกว่าเอ๊กซ์เทอร์น เป็นเสมือนแพทย์ฝึกหัด ต้องฝึกปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ การฝึกจะมีทั้งฝึกในสวนดอกกับฝึกกับโรงพยาบาลศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุข ในสาขาหลักและเวชศาสตร์ชุมชน มีแบบอยู่ข้างนอกตลอดและอยู่ข้างนอกและในสวนดอกอย่างละครึ่ง เพื่อนๆส่วนใหญ่แย่งกันออกข้างนอก ต้องจับฉลากกัน ผมได้อยู่ทั้งข้างนอกและข้างใน ฝึกศัลยกรรมที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์ เป็นปีแรกที่สวรรค์ประชารักษ์รับนักศึกษาแพทย์ฝึกงาน ผมเป็นรุ่นที่สองที่ไปฝึกศัลยกรรม อาจารย์ทุกท่านน่ารักมาก ผมอยู่สายเอกับอาจารย์แสงชัย สีมาจร อาจารย์ชูศักดิ์และอาจารย์วิสุทธ์ อาจารย์ทั้งสามท่านเป็นครูที่ผมประทับใจมาก สอนผมทำหัตถการโดยไม่หวงวิชา ต้องอยู่เวรวันเว้นวัน ดูแลคนไข้ในสายตัวเองทุกวัน ผมไปกับหมอน้อย ปัจจุบันเป็นวิสัญญีแพทย์ที่โรงพยาบาลลำปาง ผมฝึกอายุรกรรมกับสูตินรีเวชที่พิษณุโลก ฝึกกุมารเวชกรรมที่ลำปางและฝึกโรงพยาบาลชุมชนที่เชียงของ จังหวัดเชียงราย และลงท้ายก่อนจบด้วยฝึกแผนกฉุกเฉินที่สวนดอก

ชีวิตในมหาวิทยาลัยมีหลายสิ่งหลายอย่างผ่านเข้ามามาก เพราะเป็นช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ทั้งสุข สนุกสนาน เหงา เศร้า ทุกข์ สมหวังบ้าง ผิดหวังบ้าง มีเรื่องราวความรักมาปะปนไปด้วยแต่ก็จบลงด้วยผิดหวังหรืออกหักหลายครั้ง ก็ถือคติ อกหักดีกว่ารักไม่เป็น ได้พบปะผู้คนมากมาย มีเพื่อนจากหลายคณะ มีพี่น้องมากมายเช่นกัน พี่สาวที่แสนดีของผมก็มีหลายคนเช่นพี่ต้อยหรือสุดาวรรณ สุขเจริญ เป็นรุ่นพี่จากคณะมนุษยศาสตร์ ห่างกันหนึ่งปี คบกันมานานมากจนทุกวันนี้ เวลามีปัญหาอะไรก็จะปรึกษาพี่เขา ตอนที่เตรียมตัวมาเบลเยียม พี่เขาก็แนะนำเยอะมาก และให้หนังสือการฝึกภาษาอังกฤษพร้อมสอนเทคนิคที่เรียนมาจากครูเคตให้ด้วย แต่ผมก็ไม่มีเวลาฝึกมากนัก อีกคนหนึ่งชื่อพี่ดาวรรณ คุณยศยิ่ง ผมแกล้งเรียกพี่เขาว่ายาย ก็เรียนติดปากมาตลอดจนทุกวันนี้ ตอนนี้อยู่ที่ตึกศัลยกรรมชาย โรงพยาบาลสวนดอก ตอนเรียนเวลามีปัญหาอะไรก็ไปคุยกับพี่เขาตลอด ผมไปเชียงใหม่ ถ้ามีเวลาก็จะแวะไปหาหรือโทรไปหา ตอนฝึกงานที่สวรรค์ประชารักษ์ ก็ได้รู้จักกับพี่ดาว เป็นพยาบาลอยู่ห้องผ่าตัด ก็สนิทสนมกันมาก ไปเที่ยวที่บ้านพี่เขา คุณแม่และน้องชายก็น่ารักมาก ผมมีพี่สาวที่คุ้นเคยกันหลายคนพอๆกับน้องสาวที่สนิทสนมคุ้นเคยกันเยอะเช่นกันเพราะผมอยู่หลายชมรม เข้าร่วมกิจกรรมของหลายแห่งทั้งในคณะแพทย์และต่างคณะ

               ผมคิดว่า การทำกิจกรรมหลายด้านในมหาวิทยาลัยกับคนในคณะและต่างคณะ ช่วยหล่อหลอมให้ผมสามารถออกไปทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆในพื้นที่หรือในอำเภอได้ง่ายขึ้น เข้ากับคนอื่นได้ง่ายขึ้น  

                   ผมจบแพทย์ในปีการศึกษา 2535 และได้รับปริญญาในเดือนมกราคม 2536 จากพระหัตถ์ของในหลวง เป็นสิ่งที่ผมภาคภูมิใจและซาบซึ้งใจมาก เพลงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และเพลงคณะแพทย์ศาสตร์ไพเราะและให้ความหมายกินใจมาก “แพทย์ศาสตร์มาร่วมสามัคคี น้องพี่เป็นหนึ่งดังสายธาร เป้นพลังเป็นกำแพงที่แกร่งตระการ สู้โรคภัยพาลเพื่อปวงประชาสุขสันต์ ร่วมจิตร่วมใจพี่น้องปรองดองกัน ประสานสร้างสรรค์ชาติไทยให้รุ่งเรือง แพทยศาสตร์ร่วมใจ ก้าวรุดไป สร้างไทยให้วัฒนา เราร่วมใจ ไม่ผันแปรแม้เปลี่ยนเวลา ตลอดชีวาขอปฏิญญาด้วยใจ” 

พิเชฐ  บัญญัติ

 

ห้องพักที่Tel Helme

 

Oostdinkreke, Belgium

 

12 กันยายน 2550

 19.20 น. (0.20 น. เมืองไทย)

หมายเลขบันทึก: 128237เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2007 01:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2019 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • สวัสดีค่ะคุณหมอ...
  • อ่านแล้วทำให้หวลคิดถึงบรรยากาศที่ม.ช.เลยนะคะ
  • หว้าเองสมัยเรียนก็ทำกิจกรรมค่ะ  อยู่ชมรมพุทธศิลป์
  • คิดว่าคุณหมอคงรหัสก่อนหน้าหว้านิดนึง   เพราะหมอต้องเรียน 6 ปีใช่มั้ยคะ  แต่หว้าจบสามปีครึ่ง เศรษฐศาสตร์
  • แต่เราก็ได้รับปริญญาในปีเดียวกัน ปี 2536 จำได้มั้ยคะว่าปีนั้นหมอกหนามากเลย  เครื่องบินพระที่นั่งของในหลวงไม่สามารถลงจอดที่สนามบินได้    ต้องบินกลับกรุงเทพฯ
  • บัณฑิตเราต้องนั่งรออยู่ที่หอประชุมหลายชั่วโมงทีเดียว  แต่ก็เป็นความภาคภูมิใจที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระองค์ท่าน  ตอนนั้นรับเป็นคณะแรก และคนแรกๆด้วยค่ะ
  • ขอบคุณค่ะที่ทำให้ได้ย้อนระลึกถึงความประทับใจในครั้งนั้น

สวัสดีน้องหมอ

  • ตามน้องลูกหว้ามา
  • พี่เป็นรูมเมท หมอมาหลายคน คลุกคลีกันมานาน ทำกิจกรรมด้วยกันมามาก โดยเฉพาะ จาตุรนต์ ฉายแสง
  • เพื่อน หมอ น้องหมอที่เข้าป่า ไปก็มาก เดี๋ยวยาว ..ยินดีรู้จักน้องหมอครับ

สวัสดีค่ะ

 มาติดตามการหล่อหลอม และการดำเนินชีวิต ตามรูปแบบที่ทำให้คุรหมอจบออกมา แล้วทำงานกับหน่วยงานอื่น เสมือนเพื่อนกันได้ค่ะ

ณ พื้นดินถิ่นสวรรค์ ดินแดนแห่งฝัน ขวัญบุรีศรีไทย แดนดอกเอื้องสมญานะเมืองเชียงใหม่ ที่มหาวิทยาลัย สถาบันใหญ่แห่งเรา...

ด้วยความยินดีที่ได้รู้จักพี่และน้องลูกช้างครับ ชีวติในมอเชียงใหม่ มีอะไรที่น่าเขียนเยอะเลย แต่พอจะเขียนบางทีก็นึกไม่ออกขึ้นมาเฉยเลย

น้องลูกหว้าน่าจะรหัส 32 ใช่ไหมครับ เรียนเก่งมากเลย สามปีครึ่ง ส่วนพี่รหัส 30 ครับ ส่วนพี่บางทรายน่าจะเป็นรหัส 18 หรือเปล่าครับ   

การเรียนในมหาวิทยาลัย มีโกสมากมายที่จะเรียนรู้ชีวิตการทำงาน เรียนรูหนังสือและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งเรียนรู้ชีวิตชาวบ้านได้ผ่านทางกิจกรรมต่างๆ เปิดหู เปิดตา เปิดใจ จะเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ ขอให้มีความสุขและสนุกกับการทำงานตลอดไปครับคุณตันติราพันธ์

ค้นคำว่า สบันงา วงศ์โสภา ก็ไปเจอในบล็อกของ อ.ลูกหว้า เลยตามมาที่บล็อกนี้ และพออ่านไปแล้วถึงรู้ว่า พี่รหัสของคุณหมอคือคุณหมอสายพิณ ที่เราไปฝากท้องด้วยนั่นเอง โลกกลมจังเลยอ่ะ เข้ามาอ่านบล็อกของคุณหมอซึ่งห่างไกลจากสายที่เราเรียน ยังอุตสาห์เจอชื่อของคุณหมอที่รู้จักอีก

จริงๆ แล้ว รู้จักคุณหมอสายพิณตั้งหลายปีก่อนที่จะแต่งงานแล้วล่ะค่ะ ตอนนั้นกำลังเรียนโท มีเวลาว่างเลยไปเรียนภาษาอังกฤษที่ Australia Center หลัง มช ก็ได้เรียนคลาสเดียวกับพี่หมอสายพิณ ซึ่งตอนนั้นเห็นว่ามาเรียนเพื่อเตรียมจะไปต่อนอกมั้ง

และอีกหลายปีหลังจากนั้นก็แต่งงาน ตั้งท้องก็ไปฝากกับหมอสายพิณ เพราะอาจารย์หมอแกมีชื่อเสียงมากว่าทำคลอดเก่ง ทั้งคลอดธรรมชาติ และถ้าผ่าคลอดแผลก็สวยงาม หลังๆ มีน้องๆ เพื่อนๆ ท้องก็ไล่ให้ไปฝากท้องกับหมอสายพิณหมดทุกคนค่ะ

พี่สายพิณ เป็นรุ่นพี่ที่น่ารักมาก ใจดี มีความเอื้ออาทรสูงมากครับ ผมโชคดีที่มีพี่สายพิณเป็นพี่รหัส พี่สายพิณแนะนำผมหลายๆเรื่องตั้งแต่ตอนเข้าปีหนึ่ง

บังเอิญ Search เจอค่ะคุณ หมอ ....พอดีดิฉันเป็นหลานสาวแท้ๆของ หมอผจญ ค่ะ เดี๋ยวจะพรินท์ข้อความไปให้ ท่านดูตอนเช่งเม้งนี้ค่ะ ว่ามีคำชมจากคุณ หมอ

สวัสดีค่ะพี่หมอ ฟลุคเสิชเข้ามาเจอเข้า เขียนได้สนุกมากๆเลยค่ะ หนูเป็นรหัส51 ก็ หลายปีแล้ว ฮ่าๆ หลายๆอย่างก็ยังคงเหมือนเดิมนะคะ พอช สระว่ายน้ำ กิจกรรมแสนเยอะของคณะแพทย์เรา หนูเขียนเรื่องเล่าสนุกๆของหนูไว้เหมือนกันค่ะ อันนีไม่ซีเรียสนะคะ สาระไม่ค่อยมี

ตามไปดูได้ค่ะ

http://writer.dek-d.com/Writer/story/view.php?id=514264

ยินดีที่ได้เจอศิษย์เก่าค่ะ ด้วยความนับถือ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท