การบริหารการศึกษา


การบริหารการศึกษา
การปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลาเกือบ ๔ ปีเต็ม โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและการจัดระบบการประกันคุณภาพได้มีความคืบหน้าไปมาก แต่การจัดโครงสร้างการบริหารใหม่ทั้งในระดับกระทรวง ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. .... กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเร็ววันนี้

         สาระสำคัญประการหนึ่งที่เป็นเรื่องใหม่สำหรับการบริหารสถานศึกษา คือ ความเป็นนิติบุคคลของสถานศึกษา ดังในมาตรา ๓๕ ที่กำหนดให้สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานมีฐานะเป็นนิติบุคคล และเมื่อมีการยุบเลิกสถานศึกษาก็ให้ความเป็นนิติบุคคลสิ้นสุดลง ความเป็นนิติบุคคลของโรงเรียนจึงเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดกระแสความสนใจและ ความสงสัยใคร่รู้ของผู้บริหารสถานศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางว่า เป็นนิติบุคคลแล้วจะก่อให้เกิดผลดีหรือปัญหาต่อการบริหารสถานศึกษาอย่างไร และโรงเรียนจะต้องเผชิญกับอะไรบ้างเมื่อเป็นนิติบุคคล

         สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ จึงได้จัดประชุมระดมความคิดระหว่างนักบริหารการศึกษา นักกฎหมาย ผู้บริหารสถานศึกษา และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง เรื่อง "ความเป็นนิติบุคคลกับการบริหารฐานโรงเรียน" เมื่อวันพุธที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๖ ณ ห้องกำแหง พลางกูร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เพื่อสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับสภาพความเป็นนิติบุคคลของโรงเรียน ประโยชน์ที่จะได้รับ ปัญหาที่อาจตามมา และแนวทางการพัฒนาต่อไป

         และในโอกาสที่ สำนักงานฯ ได้ร่วมกับสภาผู้บริหารหลักสูตรการบริหารการศึกษาแห่งประเทศไทย จัดประชุมสัมมนาเรื่อง "โรงเรียนนิติบุคคล : มิติใหม่ของการบริหารการศึกษา" ในวันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2546 นี้ จึงได้นำข้อคิดเห็นของนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง กับโรงเรียนนิติบุคคลมานำเสนอไว้ 3 ท่านคือ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ประธานกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ดร.สงขลา วิชัยขัทคะ กรรมการร่างกฎหมายประจำ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และศาสตราจารย์ ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษามาโดยตลอด เพื่อเผยแพร่ให้ผู้ใสนใจและเกี่ยวข้องได้ร่วมกันคิดค้นหาแนวทางในการพัฒนาสถานศึกษาของไทยให้สามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลที่คุณภาพผู้เรียนตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติต่อไป

ที่มาhttp://www.onec.go.th/school_autonomy/index_school.html

หมายเลขบันทึก: 126528เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2007 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท