สารสนเทศ ข่าวสารสนเทศ ข่าว ข่าวประชาสัมพันธ์


หมอประเวศ ชี้ ไทยควรมีดัชนี "ความยุติธรรม" เพื่อความเป็นปึกแผ่นของ "ความสุข" ในสังคม

ท่ามกลางสถานการณ์โลก ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ รวมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรมใหม่ๆ กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างมากด้วยกัน ทั้งจากการกระทำความผิดในรูปแบบใหม่ ที่มีความรุนแรง โหดร้าย และซับซ้อนมากขึ้น การพัฒนากระบวนการยุติธรรมของประเทศให้สอดคล้อง เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบันจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

ในการประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 5 หัวข้อ “การพัฒนากระบวนการยุติธรรมในสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก” ที่อาคารคอนเวนชั่น ฮอลล์ เมืองทองธานี ที่ผ่านมา ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้กล่าวปกฐกถาพิเศษ เรื่อง “หลักนิติธรรมกับสังคมไทย” โดยได้กล่าวถึงความสำคัญ และความจำเป็นของการพัฒนาระบบความยุติธรรมในสังคมไทย เพื่อให้ลดปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพื่อความเป็นปึกแผ่นของ “ความสุข” ในสังคม เอาไว้อย่างน่าสนใจ

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า ความยุติธรรม เป็นเรื่องสูงสุดของความเป็นมนุษย์ เพราะเกี่ยวกับศักดิ์ศรีของความเป็นคนและการอยู่ร่วมกันด้วยความสุข ความสามัคคี ก่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่นความสุขของสังคม ฉะนั้นประเทศไทยควรต้องมีดัชนีวัดความยุติธรรม หรือ JI (Justice index ) ด้วย เพราะความยุติรรม เป็นเครื่องวัดการพัฒนา วุฒิภาวะ ความเจริญ และความสุขร่วมกันของสังคมที่แท้จริง ด้วยเหตุนี้ ความยุติธรรมจะต้องเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาทุกด้าน ทั้งการพัฒนาคน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ความยุติธรรมนั้นเริ่มตั้งแต่ครอบครัว ครอบครัวใดขาดความยุติธรรมครอบครัวนั้นจะแตก อยู่กันอย่างไม่มีความสุข ในระดับชุมชน วิถีชีวิตวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันมีความสมดุลมานับพันปี แต่ปัจจุบันสังคมไทยถูกแรงกระแทก 3 ประการ คือ อำนาจรัฐ อำนาจเงิน อำนาจระบบการศึกษาที่อยู่นอกระบบวัฒนธรรม ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม และก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรงในหลายส่วน อาทิ ด้านการใช้ทรัพยากร เดิมเป็นเรื่องที่ชุมชนจัดการ ต่อมารัฐเข้าไปจัดการ แต่ไม่สามารถจัดการให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนได้ จึงนำไปสู่ความขัดแย้ง ความรุนแรงต่างๆ ดังที่เห็นอยู่ การใช้ทรัพยากร ถ้าไม่มีความยุติธรรมจะนำไปสู่ความขัดแย้ง และอาจนำไปสู่การนองเลือดได้

ด้านการเมืองการปกครองก็เช่นเดียวกัน สังคมไทยมีความขัดแย้ง ความรุนแรงในสังคมหลายครั้ง นับแต่ 14 ตุลาฯ ,6 ตุลาฯ จนถึงพฤษภาคม เรื่อยมาจนถึงการมีรัฐประหาร ความขัดแย้งก็ยังไม่หมดไป จนกระทั่งหลายคนหวั่นว่า จะนำไปสู่ความรุนแรง ทั้งนี้เพราะการเมืองการปกครองไทยขาดความเป็นธรรมปัญหาด้านการเมืองที่แก้ไม่ตกอยู่ในขณะนี้ เพราะตัวอำนาจของคนแตกต่างกันมาก และตัวเงินแตกต่างกันมาก

ในขณะเดียวกัน ด้านเศรษฐกิจ การเงิน โลกได้เข้าสู่อารยธรรมใหม่ ที่เป็นบริโภคนิยม วัตถุนิยม และทุนนิยม การพัฒนาที่ถือเอาเงินเป็นตัวตั้ง ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เกิดช่องว่างระหว่างคนจน คนรวย มากขึ้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และมีประเด็นเรื่องความยุติธรรมขึ้นมากมาย ความก้าวหน้าด้านโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับมนุษย์ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่อง ดีเอ็นเอ สเต็มเซล โคลนนิ่ง เจเนติกเอนจิเนียริ่ง มีประเด็นทางจริยธรรม ทางกฎหมาย และผลกระทบทางสังคมที่ซับซ้อน ยากต่อการเข้าใจมาก

ศ.นพ.ประเวศ ชี้ให้เห็นว่า ความซับซ้อนของสังคม ประกอบกับระบบยุติธรรมของไทยในปัจจุบันที่ซับซ้อน และยาก เป็นช่องทางทำให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะในหลายกรณี ความถูกต้องกับความถูกกฎหมาย ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน อีกทั้งให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความรุนแรงแรงกำลังเป็นเรื่องใหญ่ของสังคมโลก และยังไม่มีทางออกสำหรับเรื่องนี้ ด้านหนึ่งความรุนแรงที่เกิดจากสงคราม แต่ความรุนแรงที่คร่าชีวิตมนุษย์มากกว่าสงครามหลายเท่า คือ ความรุนแรงอย่างเงียบ Silent violence อันมีสาเหตุมาจากความยากจน และความอยุติธรรมทางสังคม ฉะนั้น สังคมไทยต้องช่วยกันเคลื่อนไหวให้คนหันมาให้ความสำคัญเรื่องระบบความยุติธรรมมากขึ้น โดยมองเชิงระบบ มิใช่มองเฉพาะด้านเทคนิคของกฎหมาย

“จากสิ่งที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า กฎหมายไม่ได้อยู่เดี่ยวๆ หรือ อยู่กับเทคนิคทางกฎหมายเท่านั้น แต่อยู่ในบริบทของสังคมที่ซับซ้อน แล้วกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ตรงนี้เองทำให้ความยากเกิดขึ้น เพราะตัวระบบสังคม สมัยปัจจุบัน มีหลายมิติ ซับซ้อน และเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงโดยรวดเร็ว ตัวระบบกฎหมายเองก็ซับซ้อนและยากขึ้น เรื่องการพัฒนาระบบความยุติธรรม เป็นเหมือนก้อนอะไรที่ดำมืดและซับซ้อน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเราอ่อนแอทางวิชาการ จึงเกิดความขัดแย้ง เกิดพยาธิสภาพทางสังคม หรือ เป็นวิกฤตการณ์ต่างๆ” ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงสภาพปัญหาของสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับความยุติธรรม

ท้ายที่สุด ราษฎรอาวุโส ได้นำเสนอแนวทางในการพัฒนาระบบยุติธรรมในสังคมไทยไว้ 8 ประการ ดังนี้ 1.แก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี มาใช้ควบคู่กับแนวคิดยุติธรรมสมานฉันท์ 2.ตั้งคลินิกความยุติธรรมในทุกจังหวัด เพื่อให้บริการกับประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม 3.ส่งเสริมระบบยุติธรรมชุมชน เพื่อแบ่งเบาภาระของกระบวนการยุติธรรมของรัฐ 4.ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดดุลยภาพ และความมั่นคงในสังคม 5.ปฏิรูประบบงานตำรวน ด้วยความเห็นใจ และด้วยความเคารพ 6.สร้างจิตสำนึก และวิจารณญาณความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับประชาชน 7.ปฏิรูปกฏหมาย 8.ตั้งสถาบันวิจัย และพัฒนาระบบความยุติธรรม ในลักษณะองค์กรอิสระ

โดยการปฏิรูประบบความยุติธรรมในครั้งนี้ เป็นเรื่องสำคัญซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายอย่างมาก

คำสำคัญ (Tags): #ส่งสาร
หมายเลขบันทึก: 126464เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2007 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท