นวัตกรรมกิจกรรมบำบัดมหิดล - copyright 2007


ตื้นเต้นกับความสำเร็จของน้องๆ กิจกรรมบำบัดมหิดลที่ช่วยพัฒนาตนเองให้เกิดแนวคิดใหม่สู่สังคมไทย อยากเผยแพร่สู่สังคม แต่ ไม่มีสื่อมวลชนสนใจ!

เกือบเก้าเดือนที่ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ "ค้นหา" และ "พัฒนา" ศักยภาพของน้องๆ อาจารย์และนักกิจกรรมบำบัด สาขาวิชากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัดและวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวประยุกต์ ม.มหิดล

ยอมรับว่า เหนื่อยมาก ใช้ความอดทนมาก และไม่คาดหวังกับความคิดแต่ละบุคคลมากจนเกินไป

พื้นฐานชีวิต จิตใจ ความรู้ บุคลิกภาพ ของแต่ละบุคคล รับรู้แนวคิดใหม่ๆที่ผมสะสมมาพัฒนางานกิจกรรมบำบัดหลายๆด้าน หลังจากได้ดอกเตอร์ทางนี้และยังอ่อนประสบการณ์ แต่อาศัยความดี ความกล้า ความรู้แห่งตน ความมีเหตุผล ความฉลาดทางอารมณ์ ความสามารถทางจิตสังคม และประสบการณ์เรียนรู้ในชีวิตถึงในศาสตร์ของกิจกรรมบำบัด

ณ บัดนี้ ผมมีความยินดีที่จะแนะนำ "นวัตกรรมกิจกรรมบำบัด" ด้วยแนวคิดใหม่ของทีมงานรุ่นใหม่ของมหิดล และขอให้รายละเอียดสั้นๆ เนื่องจากขอสงวนสิทธิ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาครับ

ผลงานที่ 1 คือ โมเดลระบบคัดกรองและพัฒนาทักษะการมีส่วนร่วมทำกิจกรรมบำบัด (ร่วมกับแบบคัดกรองและแบบประเมินความก้าวหน้าของการรักษา) ใช้เวลานาน 6 เดือน ในการสร้างและทดสอบประสิทธิผลของโมเดลในการจัดระดับทักษะความสามารถในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตของผู้ใหญ่และเด็กที่มารับบริการทางคลินิกกิจกรรมบำบัดมหิดล รวมทั้งจัดระดับสื่อการรักษาและการจัดการเรียนรู้กิจกรรมบำบัดจนถึงกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ขณะนี้อยู่ในระหว่างการปรับปรุงและเตรียมนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนแก่นักศึกษากิจกรรมบำบัดรุ่นแรกของมหิดล ที่กำลังเปิดรับสมัครผ่านการสอบโควตาในขณะนี้

ผลงานที่ 2 คือ สมุดภาพกิจกรรม (Activity Catalogue) ประกอบด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย มีการวิเคราะห์และสร้างจากงานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายจากอัมพาต ใช้เวลานาน 6 เดือนในการคิดค้นและรวบรวมข้อมูลวิจัย ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเขียนบทความวิจัย

ผลงานที่ 3 คือ การจัดโปรแกรมการจัดการความเหนื่อยล้าในผู้ป่วยอัมพาต เป็นโครงการนำร่อง ที่เพิ่งเริ่มทำมาได้ 4 สัปดาห์แล้ว และอยู่ในระหว่างการเก็บข้อมูลถึงประสิทธิภาพของโปรแกรมในรูปแบบ Health Promotion ที่ให้บริการร่วมกับการรักษาทางกิจกรรมบำบัดโดยปกติ

ผลงานที่ 4 คือ การจัดโปรแกรมการให้ความรู้ทางกิจกรรมบำบัดแก่ผู้ที่ดูแลเด็กหรือผู้ใหญ่ (ร่วมกับบอร์ด แผ่นพับงานกิจกรรมบำบัด และงานเสวนาเฉลิมพระเกียรติ) เป็นโครงการนำร่องพัฒนาบทบาทนักกิจกรรมบำบัดให้ฝึกคิดและบริหารงานทางคลินิกด้วยการประชาสัมพันธ์และสร้างกระบวนการจัดการความรู้ทางกิจกรรมบำบัดแก่ผู้ดูแลเด็กหรือผู้ใหญ่ ให้นำหลักการทางกิจกรรมบำบัดไปดัดแปรกิจกรรมการดำเนินชีวิตที่บ้านอย่างเหมาะสม ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการติดตามผล

ผลงานที่ 5 คือ การจัดโปรแกรมกลุ่มบำบัดด้วยกิจกรรมยามว่าง เน้นพัฒนาสัมพันธภาพทางสังคมระหว่างผู้ใหญ่หรือเด็กที่รับบริการทางกิจกรรมบำบัด มีการเชื่อมโยงกิจกรรมที่มีคุณค่าและพัฒนาทักษะการทำกิจกรรมการเล่นหรือการใช้เวลาว่าง ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการติดตามผล

ผลงานที่ 6 คือ สร้างเต้นท์การรับความรู้สึก (Mobile Snozelen) เป็นการคิดค้นจากอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญการประสมประสานการรับความรู้สึก (sensory integration) มีการใช้วัตถุที่มีคุณภาพและราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ มีการสาธิตต้นแบบแรกแล้วที่คลินิกกิจกรรมบำบัดมหิดล หากผู้ปกครองที่มีลูกๆหลานๆ มีความผิดปกติทางพัฒนาการและจิตสังคม เช่น ออทิสติก ภาวะไม่อยู่นิ่ง พัฒนาการช้า สามารถนำมาประเมินทางกิจกรรมบำบัดและความเหมาะสมของการนำอุปกรณ์นี้ไปจัดซื้อและฝึกกิจกรรมบำบัดที่บ้าน

ผลงานที่ 7 คือ โปรแกรมพัฒนานักกิจกรรมบำบัดเฉพาะทาง ร่วมกับสมาคมนักกิจกรรมบำบัด/อาชีวบำบัดแห่งประเทศไทย ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจผู้สนใจทั่วประเทศ และเตรียมเนื้อหาเกี่ยวกับการให้เหตุผลทางคลินิกกิจกรรมบำบัด การประเมินพัฒนาโปรแกรมทางกิจกรรมบำบัด กิจกรรมบำบัดวิจัย และสร้างแนวคิดวิจัยระดับเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากงานบริการปกติ มีรูปแบบเรียนทางไกลผ่านอีเมล์และการประเมินผลในช่วง 3-6 เดือน จากคณะกรรมการสมาคมฯ เพื่ออนุมัติใบประกาศนียบัตรเฉพาะทางต่อไป โปรแกรมนี้มีแนวคิดที่พัฒนาคุณภาพของนักกิจกรรมบำบัดทั่วประเทศ เพื่อส่งผลให้บริการตามหลักการทางกิจกรรมบำบัดแก่สังคมไทยอย่างมีประสิทธิผล

จะเห็นว่ากลุ่มงานเล็กๆของพวกเราพยายามพัฒนาความคิดของตนเองอยู่เสมอ ก่อนที่จะเปิดสอนนักศึกษากิจกรรมบำบัดมหิดลรุ่นแรก ในปีการศึกษาหน้า ผมในฐานะหัวหน้างานมีความภาคภูมิใจในผลงานเหล่านี้ บันทึกนี้เป็นประสบการณ์ของการระดมพลังความคิดที่มีการพัฒนา "คนทำงาน" อย่างมีระบบนานถึง 9 เดือนและยังคงต้องพัฒนาต่อไปอย่างช้าๆ และยั่งยืนครับ

หลายๆผลงาน ผมพยายามให้น้องๆ ติดต่อ "สื่อมวลชนไทย" ทั้งหลาย เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลแก่คนไทย และให้กลุ่มคนไทยที่ต้องการการรักษาทางกิจกรรมบำบัด ที่มีอยู่จำนวนมาก เช่น กลุ่มผู้ป่วยอัมพาต กลุ่มผู้ป่วยออทิสติก กลุ่มผู้ป่วยอื่นๆ ที่มีความบกพร่องทางการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต (กิจวัตรประจำวัน การทำงาน การเรียน การใช้เวลาว่าง การพักผ่อน และการนอน)  แต่ปัจจุบันนี้ ไม่มีสื่อมวลชนไทยใดที่ต้องการเผยแพร่ผลงานเพื่อสังคมเหล่านี้ครับ ผมรู้สึกน้อยใจแต่ยังคงพยายามเผยแพร่งานกิจกรรมบำบัดอยู่ตลอดเวลา มิฉะนั้นผมจะรู้สึกแย่มากที่เคยเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไทยไปเรียนต่างประเทศ ในสาขาที่ไม่มีใครสนใจ และกลับมาพัฒนางานดังกล่าว ในสภาพแวดล้อมที่หาคนสนใจน้อยมากครับ

 

หมายเลขบันทึก: 126449เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2007 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะดร.ป๊อป อย่าเพิ่งรู้สึกน้อยใจ การที่สื่อมวลชนไทยเขา"ยัง"ไม่สนใจก็อาจด้วยหลายสาเหตุ และการคิดหรือมองแต่ช่องทางการใช้สื่อมวลชนก็เป็นการมองที่ยังไม่ครอบคลุมวิธีการเผยแพร่หรือการสร้างความตระหนักในเรื่องนี้เท่าใดนัก ยังมีแนวทางอื่นๆอีกมากมาย

พี่นึกถึงที่เราพบกันครั้งแรกและได้คุยกันเล็กน้อยถึงเรื่องของการ "สื่อสารวิทยาศาสตร์" อยากบอกว่าศาสตร์นี้น่าจะเป็นประโยชน์กับอาจารย์นะคะ อยากให้ช่วยอะไรพี่ยินดีนะคะ

การประชาสัมพันธ์กับการใช้ช่องทางที่แรกเริ่มไปมุ่งแต่สื่อมวลชนเป็นวิธีคิดที่ค่อนข้างเก่าแล้วค่ะ แต่หน่วยงานราชการ ก็จะติดในรูปแบบเดิมๆนี้ หากมีงบประมาณก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนใหญ่จะงบจำกัด

ผลงานที่อาจารย์เขียนเล่ามานั้นยอดเยี่ยม สะท้อนถึงความตั้งใจและมุ่งมั่นมาก เชื่อว่าอาจารย์จะมีพลังต่อไปอีกยาวไกล และสิ่งดีๆนี้จะดึงดูดผู้คนให้เข้ามาช่วยเสริมแรงให้ค่ะ

 

 

ขอบพระคุณอาจารย์ยุวนุชมากครับ ที่คอยให้กำลังใจในการทำงานเพื่อสังคมเสมอมา

ผมได้ลองเข้าไปพูดคุยกับสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง และตั้งใจว่าจะเขียน pocket book ของตนเอง เพื่อประชาสัมพันธ์งานกิจกรรมบำบัดในระยะแรกก่อนครับ

รู้สึกมีกำลังใจและสู้ต่อไปเพื่อนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ครับ

 

กิจกรรมบำบัด เป็นเรื่องน่าสนใจมากคะ ต้องใช้ศาสตร์หลายๆด้านเลยนะคะ แต่การบำบัด ต้องเป็นทีมด้วยใช่มั้ยคะ เหมือนว่า ตัวคนไข้ ญาติ หมอ พยาบาล นักจิตวิทยา....

   และที่สุด ต้องทำให้คนไข้รู้สึกรักตัวเอง จะได้ดูแลตัวเอง 

    เรื่องของคน ก็ยาก นะคะ

ขอบคุณครับคุณดอกแก้ว ที่สนใจการรักษาแบบทีมและนักกิจกรรมบำบัดก็เป็นหนึ่งในทีมการแพทย์ครับ

 

ดีใจที่มีอาจารยืดร.ป๊อบห่วงใยงานกิจกรรมบำบัดมีความมุ่งมั่นในการพัฒนางานนี้จริงๆ ซึ่งจะส่งผลถึงคนไข้ และ นักกิจกรรมบำบัด อยากให้ท่านช่วยลุ้นการจัดตั้งสถานพยาบาลกิจกรรมบำบัดที่ถูกต้อง เพราะน้องๆนักกิจกรรมบำบัดจะได้มีงานทำกันทั่วหน้า เพราะเห็นว่าสาขานี้เรียนก็ยากและขาดความสนใจจากหน่วยงานทางการแพทย์ทั้งๆที่เป็นงานที่สำคัญในชีวิตประจำวัน น่าเห็นใจนักกิจกรรมบำบัดจริงๆเงินเดือนก็น้อย แถมไม่มีการบรรจุเป็นข้าราชการเลย ขอฝากอาจารย์ด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท