ก่อนที่เราจะเริ่มกิจกรรมการอบรมให้ความรู้โดยบทบาทของวิทยากร จะต้องมีการประเมินผู้เข้ารับการอบรมมาก่อนล่วงหน้าเพื่อวางแผนการสอนให้เหมาะกับผู้เข้าอบรม แต่บางครั้งข้อมูลที่ได้รับก่อนหน้า กับข้อมูลที่ได้สดๆ ร้อนๆ ก่อนเริ่มบทเรียนอาจมีความแตกต่างกัน เช่นบางครั้งเราประเมินว่าผู้เรียนกลุ่มนี้น่าจะมีความเข้าใจและไปได้ด้วยดี แต่พอทำกิจกรรมแล้วก็ไปได้อย่างช้าๆ(ได้พร้าเล่มงาม) ดังนั้นสิ่งที่น่าจะทำก่อนที่จะเริ่มต้นเข้าสู่บทเรียนเราน่าจะมีการให้ผู้เข้าร่วมประชุมบอกเล่าความคาดหวัง หรือเขียนความคาดหวังต่อการอบรมให้เราได้ทราบก่อน เพื่อที่จะได้รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ก็คือวางแผนกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับผู้เรียนจะทำให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ไม่เหนื่อยล้าจากการที่พยายามทุกวิถีทางที่จะให้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการอบรม สิ่งที่ผู้เข้าอบรมเขียนมาสามารถบอกได้ถึงความเข้าใจ ความมุ่งมั่น ปัญหาอุปสรรคของเขาที่พบในการพัฒนาคุณภาพ ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญให้วิทยากรหรือที่ปรึกษาที่จะใช้ในการแก้ปัญหาต่อไปและวิธีการประเมินกลุ่มอีกวิธีหนึ่งคือบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หากการประชุมหรืออบรมเป็นไปอย่างเงียบๆ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้น้อย ไม่พูดไม่ถามก็อาจจะแปรความได้ว่ายังไม่เข้าใจดีนัก หรือบรรยากาศไม่เอื้อ ไม่เป็นกันเองแต่ถ้าเป็นการอบรมในพื้นที่แล้วโอกาสในการแลกเปลี่ยนจะมีมากกว่า เพราะผู้เข้าร่วม class เป็นคนคุ้นเคยพื้นที่เดียวกันคุยกันได้ดี และวิทยากรก็คงต้องประเมินตนเองในการสอนด้วยว่าได้พูดหรือสื่อสารให้กลุ่มเข้าใจได้อย่างเพียงพอหรือยัง และมีการสรุปทบทวนในกลุ่มวิทยากรหลังสิ้นสุดการอบรมเสมอเพื่อปรับปรุงและพัฒนาต่อไป