ชีวิตจริงของอินเทอร์น : เพื่อนร่วมทางจากศรีสะเกษ


  

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่อุทิศกับเรื่องของการจัดการความรู้จริงๆค่ะ  วันจันทร์เป็นวันที่ทาง สคส.มา จับภาพ เพื่อหากระบวนทัศน์ที่ทางโรงเรียนใช้พัฒนาความรู้ ว่าจะเติบโต ไปจากเมื่อ ๒ ปีที่แล้วที่เคยมาจับภาพอย่างไร ทำให้ดิฉันต้องนึกย้อนกลับไปทบทวนงานจัดการความรู้ของโรงเรียนตั้งแต่แรก

  

นับตั้งแต่ช่วงแรกๆที่เราทำงานกันไปบนความตั้งใจว่าอยากจะสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม จนมาถึงปัจจุบันที่ทั้งโครงสร้างการทำงาน และวิธีการทำงานเป็นไปในทิศทางที่เราเคยฝันไว้มากยิ่งขึ้น เพราะได้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และได้วิธีการจัดการความรู้แบบ สคส. มาเป็นตัวช่วยสำคัญ

  

คำว่าเพื่อนร่วมทางจึงมีความอย่างยิ่งต่อการเดินไปในเส้นทางของการจัดการความรู้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันไปตลอดทาง

  

วันนี้ (๕ ก.ย.๕๐) มีเพื่อนๆจากมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จำนวน ๑๒ คน แวะเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวเพลินพัฒนาในประเด็นเดียวกันกับที่ สคส.ได้มาจับภาพไว้เมื่อวาน  แม้ว่าบริบทของโรงเรียนกับราชภัฏจะต่างกัน แต่ด้วยความเป็นผู้รักการเรียนรู้ก็ทำให้ทุกคนมาแลกเปลี่ยนกันได้เสมอ

 

ประเด็นที่แลกเปลี่ยนกันจึงเป็นเรื่องปัจจัยความสำเร็จของการทำให้งานจัดการความรู้ ไม่หยุดอยู่เพียงแค่การทำเพื่อให้ผ่านตัวชี้วัด แต่ทำอย่างไรให้กลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน

  

คุณบัวสอน พวงสวัสดิ์ ที่มาจากส่วนงานเลขานุการ ได้ข้อคิดกลับไปทำงานต่อ ว่าตารางกี่แผ่นต่อกี่แผ่นที่ได้มาเป็นเรื่องที่ควรเก็บเอาไว้ทีหลัง แต่ทำงานจัดการความรู้ให้เกิดขึ้นจริงก่อน แล้วค่อยนำเอาผลที่ลัพธ์ที่ได้ไปใส่ลงตารางจะดีกว่า  และว่าเรื่องของงานจัดการความรู้นี้เรื่องคนสำคัญที่สุด หา เวลา เวที ไมตรี ให้คนอยากจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันให้ได้ก่อน แล้วบรรยากาศต่างๆก็จะดีขึ้นเอง

  

อีกเรื่องหนึ่งคือการแก้ปัญหาเรื่องของ KA (Knowledge assets) ว่าทำอย่างไรทุกคนจึงจะเข้าถึงได้ง่าย และแพร่หลายไปทั่วถึง อีกทั้งยังปรับปรุงข้อมูลได้ง่าย  วิธีง่ายๆที่เพลินพัฒนาใช้อยู่ก็คือ ใช้เครือข่ายภายใน คือ อินทราเน็ตที่มีระบบ CMS-Content Management System ร่วมกับการส่งผ่านข้อมูลมาสะสมไว้ในที่ส่งงานส่วนกลางที่ทุกคนสามารถจะเข้าถึงได้ โดยตั้งเป็นกระเป๋าของข้อมูลแต่ละชุดเอาไว้ แล้วให้คนที่เกี่ยวข้องนำเรื่องของตัวเองมาใส่ จากนั้นก็ใช้ระบบอีเมลเข้ามาเสริมความเข้มแข็งในการสื่อสารระหว่างกันอีกชั้นหนึ่ง

  

เมื่อใส่ข้อมูลอะไรใหม่ๆแล้วก็ใช้การอีเมลบอกกันเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนได้รับทราบว่า บัดนี้มีข้อมูลใหม่ๆใส่ลงไปแล้ว ซึ่งเป็นวิธีที่ทุกคนสามารถเพิ่มเติมเข้ามาได้ทุกเมื่อ

 

ในกรณีที่ทาง มรภ.ศรีสะเกษ ไม่มีอินทราเน็ตขององค์กร ก็สามารถใช้ประโยชน์จากระบบLAN และ WAN (ถ้ามี) ร่วมกับการใช้อีเมลเข้ามาช่วยได้เช่นกัน

   วิธีนี้น่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรที่ทุกหน่วยงานมีอยู่แล้ว ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่องานจัดการความรู้ได้อีกทางหนึ่ง โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมือใหม่ๆ และงบประมาณเพิ่มเติมอะไรเลย และเมื่อใช้ไประยะหนึ่ง ได้เห็นความต้องการที่แท้จริงแล้วจึงค่อยๆสร้างเครื่องมือใหม่ๆขึ้นมารองรับก็ยังไม่สาย... ดีกว่าที่จะมีเครื่องมือแล้วไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร หรือไม่มีใครมาใช้  
หมายเลขบันทึก: 125352เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2007 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท