ประกาศการรับสมัครทุนของฝ่ายวิชาการ สกว. ประจำปี 2550


รับสมัครแล้ว

หลักการและเหตุผล
การวิจัยเป็นกลไกที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่ผ่านมาประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการวิจัยไม่มากนัก โดยหากพิจารณาสัดส่วนของงบประมาณที่ใช้ในการวิจัยเทียบกับผลิตภัณฑ์ประชาชาติจะพบว่าประเทศไทยลงทุนด้านการวิจัยน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี และสิงคโปร์ เป็นต้น

จากข้อมูลของสำนักงาน กพ. และ โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สกว. คาดว่าจะมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในปี 2549 จำนวนประมาณ 750 คน แต่ในปัจจุบันมีทุนสนับสนุนสำหรับนักวิจัยกลุ่มนี้เพียงปีละประมาณ 200 ทุน ซึ่งหากผู้ที่สำเร็จการศึกษาเหล่านี้ไม่มีทุนวิจัยรองรับอย่างเพียงพอ บุคคลเหล่านี้ก็อาจจะไม่ได้เข้าสู่ระบบการวิจัย นอกจากนี้ระบบวิจัยของประเทศยังขาดแคลนกำลังคนระดับสูงที่มีคุณภาพอีกจำนวนมาก ดังนั้นการส่งเสริมและพัฒนาด้านการสร้างกำลังคนให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยการเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้เข้ามารับทุนประเภทต่างๆ มากขึ้น ตลอดจนการสร้างเส้นทางความก้าวหน้าในนักวิจัยอาชีพ (career path) ที่ชัดเจนในสัดส่วนที่เหมาะสม จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้ระบบการวิจัยของประเทศเข้มแข็งมากขึ้น

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างกำลังคนระดับสูงที่มีคุณภาพและปริมาณมากเพียงพอในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ตลอดจนมีบทบาทสำคัญต่อกิจกรรมการวิจัย จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยพื้นฐานเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่โดยความคิดริเริ่มของนักวิจัยและไม่จำกัดสาขาวิชา และนอกจากนี้ยังตระหนักถึงการวิจัยพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์ (strategic basic research) จึงได้มีนโยบายที่จะสนับสนุนทุนวิจัยแบบมีทิศทางให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ โดยผลลัพธ์ของโครงการคือการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการนานาชาติที่มี impact factor สูง หรือการจดสิทธิบัตร หรือการนำไปใช้ประโยชน์ในระยะกลางหรือระยะยาวที่สามารถประเมินได้

เป้าหมาย
1. สร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาประเทศ โดยเน้นการสร้างผลงานวิจัยแบบมุ่งเป้า
2. สร้างนักวิจัยอาชีพที่เป็นผู้นำทางวิชาการระดับนานาชาติ ตลอดจนสร้างเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพนักวิจัย (career path) ที่ชัดเจนในสัดส่วนที่เหมาะสม
3. มีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติหรือ การจดทะเบียนสิทธิบัตร
4. มีผลงานวิจัยที่สามารถนำไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะหรือเชิงนโยบายในระยะกลางหรือระยะยาวที่สามารถประเมินได้
5. เกิดการเชื่อมโยงหรือความร่วมมือระหว่างนักวิจัยทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ


ทุนวิจัยที่จะสนับสนุนในปีงบประมาณ 2550 แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้
ประเภทที่ 1 ทุนวิจัยพื้นฐานจากความคิดริเริ่มของนักวิจัย

เป็นทุนวิจัยพื้นฐานเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่โดยการเสนอความคิดริเริ่มจากนักวิจัยและไม่จำกัดสาขาวิชาการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการสร้างนักวิจัยอาชีพมีทุน 5 ประเภท ดังนี้
1.1 ทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่
(สกว. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา)

เป็นทุนที่ สกว. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนอาจารย์รุ่นใหม่ให้ทำวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง เปิดรับสมัครปีละครั้ง ผู้อยู่ในข่ายรับทุนคืออาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งได้รับปริญญาระดับสูงสุดที่มีการเปิดสอนในสาขาวิชาดังกล่าวมาแล้วไม่เกิน 5 ปี และไม่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารตั้งแต่ระดับหัวหน้าภาควิชาขึ้นไป ทุนประเภทนี้ให้ทุนปีละ 240,000 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี โดยแบ่งเป็นเงินค่าใช้จ่ายในการวิจัยปีละ 120,000 บาท และเป็นเงินสนับสนุนค่าครองชีพเดือนละ 10,000 บาท
http://researchers.in.th/file/chorchat/mrg.doc

1.2 ทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่
เป็นทุนที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเปิดโอกาสให้ ผู้ที่ไม่ได้เป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาสมัคร ขอรับทุนได้โดยมีหลักเกณฑ์ในการให้ทุน วงเงินทุนวิจัยรวมทั้งระยะเวลาดำเนินการเช่นเดียวกับทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่
http://researchers.in.th/file/chorchat/trg.doc

1.3 ทุนเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยของอาจารย์รุ่นกลางในสถาบันอุดมศึกษา
(สกว. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา)

เป็นทุนที่ สกว. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยของอาจารย์รุ่นกลางในสถาบันอุดมศึกษาให้มีโอกาสทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องและพัฒนางานวิจัยในระดับที่สูงขึ้น เปิดรับสมัครปีละครั้ง ผู้อยู่ในข่ายรับทุนคืออาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาที่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่เป็นเจ้าของบทความชื่อแรกหรือเป็น corresponding author ไม่น้อยกว่า 1 เรื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยต้องเป็นงานวิจัยที่ทำในประเทศไทย และไม่ใช่ผลงานจากการทำวิทยานิพนธ์ มีการวิจัยอยู่ในเกณฑ์ดีเด่น และไม่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารตั้งแต่ระดับหัวหน้าภาควิชาขึ้นไป ทุนประเภทนี้ให้ทุนปีละ 400,000 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี โดยแบ่งเป็นเงินค่าใช้จ่ายในการวิจัยปีละ 220,000 บาท และเป็นเงินสนับสนุนค่าครองชีพเดือนละ 15,000 บาท ผู้ที่ได้รับทุนนี้อาจได้รับการสนับสนุนจากสถาบันต้นสังกัดของนักวิจัยอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อสิ้นสุดสัญญาแล้ว นักวิจัยที่มีคุณภาพสามารถสมัครทุนประเภทนี้หรือทุนประเภทอื่นได้อีก
http://researchers.in.th/file/chorchat/rmu.doc

1.4 ทุนพัฒนานักวิจัย
เป็นทุนที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเปิดโอกาสให้ ผู้ที่ไม่ได้เป็นอาจารย์ ในสถาบันอุดมศึกษาสมัครขอรับทุนได้โดยมีหลักเกณฑ์ในการให้ทุน วงเงินทุนวิจัยรวมทั้งระยะเวลาดำเนินการเช่นเดียวกับทุนเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยของอาจารย์รุ่นกลางในสถาบันอุดมศึกษา ผู้ได้รับทุนจะได้รับชื่อ “เมธีวิจัย สกว.” (TRF Research Scholar)
http://researchers.in.th/file/chorchat/rsa.doc 

1.5 ทุนวิจัยองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนา
เป็นทุนวิจัยระดับกลางสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ในการวิจัยพอสมควร ทุนนี้เปิดรับสมัครปีละครั้ง ผู้อยู่ในข่ายได้รับทุนต้องเคยมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่เป็นงานวิจัยที่ทำในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เรื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาโดยต้องเป็นเจ้าของบทความชื่อแรกหรือเป็น corresponding author โดยไม่นับรวมผลงานวิจัยที่เกิดจากวิทยานิพนธ์ และมีผลรวมของ impact factor อยู่ในเกณฑ์ดีทั้งนี้ขึ้นกับสาขาวิชา เช่น มีค่าไม่น้อยกว่า 5.0 สำหรับวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ ไม่น้อยกว่า 2.0 สำหรับวิทยาศาสตร์กายภาพและวิศวกรรมศาสตร์ ส่วนสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จะไม่นำเกณฑ์ของ impact factor มาพิจารณา ผู้ได้รับทุนจะได้รับชื่อ “วุฒิเมธีวิจัย สกว.” (TRF Advanced Research Scholar)
ทุนประเภทนี้มีวงเงินไม่เกิน 2,000,000 บาท ระยะเวลาของทุนไม่เกิน 3 ปี โดยเป็นค่าตอบแทนของหัวหน้าโครงการเดือนละ 15,000-25,000 บาท ตามคุณภาพผลงานและประสบการณ์ของผู้ขอรับทุน
http://researchers.in.th/file/chorchat/brg.doc

ประเภทที่ 2 ทุนวิจัยพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Basic Research) เป็นการให้ทุนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศ สนับสนุนให้เกิดการทำงานวิจัยและสร้างเครือข่ายของนักวิจัยจากหลากหลายสาขาร่วมกันค้นหาองค์ความรู้ใหม่ภายใต้หัวข้อใหญ่ ๆ เรื่องเดียวกันเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ โดยผลลัพท์ของการวิจัยยังเน้นการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติที่มี impact สูง การจดสิทธิบัตรหรือผลงานที่สามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในระยะกลางหรือระยะยาวที่สามารถประเมินได้
2.1 ชุดโครงการวิจัยพื้นฐานแบบมุ่งเป้า
2.1.1 สมุนไพร ยารักษาโรค สารเสริมสุขภาพและสารสำหรับการผลิตอาหารปลอดภัย
http://researchers.in.th/file/chorchat/medicinal+chemistry.doc

2.1.2 การพัฒนาเกษตรยั่งยืน
http://researchers.in.th/file/chorchat/sustainable+agriculture.doc

2.1.3 การผลิตสัตว์น้ำเศรษฐกิจ
http://researchers.in.th/file/chorchat/aquatic+animal.doc 

2.1.4 ชีววิทยาเซลล์ต้นกำเนิดและเวชศาสตร์การฟื้นฟูสภาวะเสื่อม
http://researchers.in.th/file/chorchat/stem+cell.doc 

2.2 หัวข้อโครงการวิจัยพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นปัญหาของประเทศ ตัวอย่างเช่น
- โรคติดเชื้อ เช่น ไข้หวัดนก
- โรคเขตร้อน เช่น ไข้เลือดออก
- โรคไม่ติดเชื้อ เช่น โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย, โรคกระดูกพรุน, มะเร็งท่อน้ำดี, มะเร็งโพรงหลังจมูก
- องค์ความรู้ในการผลิตสัตว์บกให้มีประสิทธิภาพ เช่น โคเนื้อ, ไก่พื้นเมือง
- ยางและโพลีเมอร์
- Nanomedicine เช่น การวินิจฉัย การพัฒนาวัคซีนและการพัฒนาวิธีการนำส่งยาสำหรับโรคที่เป็นปัญหาหลักของประเทศ
- พลังงานทดแทน เช่น พลังงานจากชีวมวล
- การผลิตอาหารที่ปลอดภัย เช่น การวิเคราะห์สารตกค้าง เทคโนโลยีการอบแห้ง
- ภัยพิบัติ เช่น การคาดการณ์และผลกระทบของแผ่นดินไหว
- ปรากฏการณ์ในสังคมไทย เช่น บทบาทชุมชนกับการจัดการทรัพยากร การเรียกร้องและการรับรู้ในการมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ ปรัชญาความพอเพียงในกระแสบริโภคนิยม
- วิกฤตสังคมไทย เช่น คุณค่ากับมูลค่าในการดำรงชีวิตในยุคบริโภคนิยม วิกฤติศรัทธาและความเชื่อมั่นในพลังของศาสนา ปริมาณกับคุณภาพในระบบการศึกษาไทย

สำหรับรายละเอียดเอกสารเชิงหลักการและเกณฑ์การให้ทุนเหมือนกับชุดโครงการวิจัยพื้นฐานแบบมุ่งเป้า ข้อ 2.1
ทุนประเภทที่ 1 (ทุนวิจัยพื้นฐานจากความคิดริเริ่มของนักวิจัย) เปิดรับข้อเสนอโครงการฉบับเต็มตั้ง แต่บัดนี้จนถึงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2550 แต่สำหรับทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ และทุนเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยของอาจารย์รุ่นกลางในสถาบันอุดมศึกษาเปิดรับข้อเสนอโครงการฉบับเต็มตั้งแต่บัดนี้จนถึงวัน 30 ธันวาคม พ.ศ. 2549
(รายละเอียดตามประกาศทุนหมายเลข 1-5)
ทุนประเภทที่ 2 (ทุนวิจัยพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์) เปิดรับเอกสารเชิงหลักการ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2550 (รายละเอียดตามประกาศทุนหมายเลข 6-9)

คณะกรรมการคัดสรรจะให้ความสำคัญกับทุนวิจัยพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์ (ทุนประเภทที่ 2) ก่อนทุนวิจัยพื้นฐานจากความคิดริเริ่มของนักวิจัย (ทุนประเภทที่ 1) ผลการพิจารณาตัดสินจากคณะกรรมการคัดสรรที่แต่งตั้งโดย สกว. ถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ยื่นขอทุนจะอุทธรณ์มิได้

ติดต่อสอบถามและยื่นเอกสารเชิงหลักการ
ฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ ชั้น 14 เลขที่ 979 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ 0-2278-8251-59 โทรสาร 0-2278-8248

คำสำคัญ (Tags): #รับสมัครแล้ว
หมายเลขบันทึก: 122302เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2007 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท