AAR การเข้าร่วมงานมหกรรมตลาดนัด KM ๔ ภูมิภาค ของ โครงการ EdKM


          จากการที่ได้เข้าร่วมงานมหกรรมตลาดนัดการจัดการความรู้  ๔  ภูมิภาค  ซึ่งจัดโดย  โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษาด้วยการจัดการความรู้  หรือ  EdKM  ครบทั้ง  ๔  ภูมิภาคแล้ว  ผู้เขียนมีข้อสังเกต  และขอ  AAR  กิจกรรมดังกล่าว  ดังนี้

          ๑. วัตถุประสงค์หรือความคาดหวังของการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้  คือ 
- เข้าร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมต่างๆ
- ร่วมชื่นชมความก้าวหน้า ความสำเร็จเล็กๆ  ของโรงเรียนและ สพท. ที่เข้าร่วมโครงการ
- เป็นกำลังใจให้กับทีมนักวิจัยผู้ทุ่มเทแรงใจอย่างมาก
- ติดตามผลของการนำ KM  ไปใช้ หลังจากที่ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้เครื่องมือ  KM  จาก สคส. และทีมนักวิจัย  เพื่อนำมาปรับกระบวนการในการเป็นวิทยากร KM ของตนเอง

          ๒. สิ่งที่ได้เกินความคาดหวัง  คือ     
 - ได้รับฟังองค์ปาฐกของแต่ละภาค  คือ  คุณเดชา  ศิริภัทร  มูลนิธิข้าวขวัญ   นพ.พิเชฐ  บัญญัติ  อดีตผู้อำนวยการ โรงพยาบาลบ้านตาก  คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  ผู้อำนวยการ สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข  (สรส.)  และผู้ว่าฯ  วิชม  ทองสงค์  จังหวัดนครศรีธรรมราช  ซึ่งองค์ปาฐกทั้ง   ๔  ท่าน  ได้พูดถึง  Concept  KM  และยกตัวอย่างประสบการณ์จริงได้ชัดเจนและเข้าใจง่าย  เป็นการเร้าพลังและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าร่วมงานได้ดีทีเดียว
 - เห็นความตั้งใจและกระตือรือร้นของคนในแวดวงการศึกษา  ทั้งที่อยู่ในโครงการ  EdKM  และที่ไม่ได้อยู่ในโครงการ EdKM  ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเนืองแน่น  (ภาคอีสาน คนเข้าร่วมประมาณ ๑,๐๐๐  คน  ภาคเหนือ คนเข้าร่วมประมาณ  ๘๐๐  คน  ภาคกลาง  คนเข้าร่วมประมาณ  ๖๐๐  คน  และภาคใต้  คนเข้าร่วมประมาณ  ๑,๐๐๐  กว่าคน)  โดยเฉพาะภาคใต้  คนเข้าร่วมหนาแน่นมาก  ห้องประชุมใหญ่ของโรงแรมพาวีเลี่ยน  จังหวัดสงขลา  ต้องเสริมเก้าอี้จนเต็มห้อง  แล้วยังมีคนที่ไม่มีที่นั่ง  ยืนอยู่นอกห้องอีกมากมาย  นั่นแสดงว่า  ให้ความสนใจเข้าร่วมจริงๆ  ซึ่งวันที่จัดก็เป็นวันเสาร์-อาทิตย์  ด้วย  แต่ทีมนักวิจัยบอกว่า  ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะ สพท. ที่รับเป็นเจ้าภาพแต่ละแห่งนั้น  ได้ทำการประชาสัมพันธ์กระจายข่าวสารเชิญชวนคนเข้าร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ  อีกทั้ง  สพท.  ที่เป็นเจ้าภาพ ยังเกิดความเป็น  Ownership  งานด้วย 
 - เสวนาห้องย่อย  ในห้อง Blog   ของครั้งที่จัดภาคกลาง  นอกจากมีวิทยากรที่เป็นทีมนักวิจัยแล้ว  ยังได้เชิญ Blogger  ภาคการศึกษาร่วมเป็นวิทยากรด้วย  เช่น  พี่ปวีณา  สพท.  สุพรรณบุรี  ๒   ครูอ้อยและครอบครัว  ฯลฯ  ทำให้บรรยากาศสนุกสนาน  และมีการซักถามประสบการณ์ของ  Blogger  ตัวจริงด้วย  ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างกระแสให้บุคลากรทางการศึกษาหรือกลุ่มเป้าหมายได้ตื่นตัวกับการใช้  Gotoknow  ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกด้วย และยังมีตัวแทนจาก สพฐ.  ที่ดูแลงานด้าน  ICT  หรือเครือข่ายใยแมงมุมเข้าร่วมด้วย  ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่าง  Gotoknow  กับ เครือข่ายใยแมงมุมเข้าด้วยกัน 
 - การใช้  KM  ของโรงเรียนและ  สพท.  ที่เข้าร่วมโครงการ  EdKM  มีการนำ  KM  ไปใช้ใน  ๒  รูปแบบใหญ่ๆ  คือ  กลุ่มที่ใช้เครื่องมือตามที่  สคส.  หรือทีมนักวิจัยอบรมให้แบบไม่ผิดเพี้ยน  กลุ่มที่ปรับประยุกต์ใช้ตามบริบทของตนเอง  กลุ่มนี้จะไม่ใช้เครื่องมือ KM  ที่ สคส.  หรือทีมนักวิจัยอบรมให้ทุกเครื่องมือ   โดยเลือกเพียงบางเครื่องมือที่มีประโยชน์และเหมาะสมกับองค์กรตนเองเท่านั้น   อย่างไรก็ตาม  ทั้ง  ๒  กลุ่ม  จะใช้เครื่องมือ  “เรื่องเล่าเร้าพลัง”  กันทั้งหมด  และยังมีบางแห่งที่นำ  KM  ไปใช้กับนักเรียนโดยตรงก็มี  โรงเรียนหลายแห่งใช้เครื่องมือ  KM  แล้วมีความสุข  เกิดความสร้างสรรค์งานมากขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนที่มีความอิสระและคล่องตัวมากกว่า

          ๓. สิ่งที่ได้น้อยกว่าที่คาดหวังไว้  คือ     
 - การนำเสนอยังไม่ค่อยเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากนัก  (อ.เลขา  ปิยะอัจริยะ  ใช้คำว่า  Show & Tell  มากกว่าการ  Share & Learn)
- เป็นงานเรียนรู้  KM  มากกว่า  เพราะมีผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่จะมาเรียนรู้ว่า  KM  คืออะไร  ใช้อย่างไร  หัวปลาคืออะไร  ปลาทูคืออะไร  ทำไมต้องปลาทู  เป็นต้น
          อย่างไรก็ตาม  มหกรรมฯ ครั้งนี้  เป็นการจัดกิจกรรมที่เน้นรูปแบบการจัดการความรู้  ซึ่งเป็นเวทีแรกๆ  ของภาคการศึกษา  และเป็นเวทีเรียนรู้สำหรับการจัดงานมหกรรมการจัดการความรู้ระดับชาติ  ของภาคการศึกษาต่อไป  ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี  เนื่องจากคณะทำงาน  คือ  ทีมนักวิจัย  สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  และ สพท. ที่รับเป็นเจ้าภาพของทั้ง  ๔  แห่ง  มีการดำเนินงานร่วมกัน  

          ๔. สิ่งที่ควรต้องปรับปรุง  หากจะต้องจัดกิจกรรมเช่นนี้อีก  คือ
 - การให้น้ำหนักและความสำคัญกับทุกๆ  กิจกรรมของงานอย่างเท่าเทียมกัน  ตัวอย่างเช่น  จากทั้ง  ๔  เวทีนี้  ทางทีมนักวิจัยพบว่า  เน้นไปให้น้ำหนักที่เวทีใหญ่และห้องห้องย่อยมาก ทั้งๆ  ที่ส่วนของนิทรรศการก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน  เพราะนิทรรศการยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดี  เพราะคำถามหลายๆ  อย่าง  หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงลึก  มักจะเกิดที่นิทรรศการมากกว่าห้องย่อย หรือเวทีใหญ่   เป็นต้น
 - การ  Focus  ประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแต่ละห้องย่อยให้ชัดเจน  แล้วเลือก  case  ที่เหมาะสมและตรงกับประเด็นนั้นจริงๆ  (มีระดับความเข้มข้นในการคัดเลือก case  ที่จะมานำเสนอบนเวทีห้องย่อย  โดยเลือก case  ที่มี  success  story  หรือเป็น  best  practice   ในประเด็นนั้นอย่างเห็นเป็นรูปธรรม)  จะช่วยทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีพลังมากยิ่งขึ้น

          ๕. สิ่งที่จะทำต่อไป  คือ
 - ทางทีมนักวิจัยจะปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมใหม่  โดยเพิ่มกิจกรรม  “KM  Cognitive  Coaching”   เพื่อทบทวน เน้นย้ำ  Concept  KM  ให้ลึกซึ้ง  และแนะนำเครื่องมือ  KM  อื่นๆ   ที่เหมาะสมกับแต่ละแห่ง  รวมทั้งทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ  อย่างใกล้ชิดมากขึ้นด้วย 

หมายเลขบันทึก: 121804เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2007 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ดีใจและขอชื่นชมที่มีเรื่องดีๆเกี่ยวกับการศึกษามาเล่าให้ฟัง
  • อยากให้ ทั้ง สกศ และ สคส ทำงานเชิงรุกมากกว่านี้
  • เพราะงานจบไปนานมากๆๆเพิ่งได้อ่าน AAR
  • อยากเห็นงานดีๆแบบนี้มีความต่อเนื่อง ยั่งยืนและเป็น KM ตามธรรมชาติ เพราะแต่ละพื้นที่แต่ละภาคมีความแตกต่างกันมาก
  • ท่านอาจารย์ ผศ ดร เลขา น่าจะทราบดี
  • ทำไมเขาจะมี Model ใหม่ๆที่ไม่ใช่ Model ปลาทูอย่างเดียว เพราะปลาทูถูกฆ่าตายเกือบหมดที่เชียงใหม่และภาคอีสาน
  • ขอบคุณมากครับที่นำเรื่องดีๆๆมาเล่าให้ฟัง
  • ขอให้กำลังใจครับผม

    ...ติดตามรายงาน ตลาดนัด KM  ของอาจารย์มาตลอดค่ะ...

     ...ขอบคุณนะค่ะ สำหรับคำแนะนำดี ๆ ...

     ...ตลาดนัด KM 4 ภูมิภาค ครั้งที่ 4 นี้ เค้ามีแจกรางวัลอะไรกันบ้างค่ะ..

    ...หากอาจารย์มีข้อมูล รบกวนนำมา ชี้แจงแถลงไขให้ทราบด้วยนะค่ะ

     ...ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ...

                              "JasmiN"

 

ได้อ่านบทความของอาจารย์ อดปลื้มใจในความเป็นคนใต้ และอาจารย์ได้ชื่นชมการจัดตลาดนัดที่ภาคใต้ ผมเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสไปแสดงผลงานที่นั่นด้วย

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท