กระเป๋า กับ เด็กไทย


ผมคุยกับพ่อแม่มือใหม่หลายคน ฟังคำบ่นเรื่องลูก  เรื่องการส่งโรงเรียน เรื่องรถราแออัดหน้าโรงเรียน เรื่องเวลาเรียน

ผมนึกขึ้นได้ ถามไปว่า เดี๋ยวนี้ เด็กเล็กยังแบกกระเป๋าหนักกันอีกไหม เพราะเคยฟังคำโม้ว่าระบบการศึกษามีพัฒนาการไปมาก

เอ๊ะ ยังแบกหนักอึ้งแฮะ ไม่เปลี่ยนไปเลยตลอดหลายปีมานี้

ผมเคยเห็นกับตา ว่าเด็กแบกกระเป๋า ที่คงหนักประมาณครึ่งหนึ่งของน้ำหนักตัว

ดูเผิน ๆ นี่คงเป็นการส่งเสริมนักกีฬายกน้ำหนัก

ปากจัดหน่อย คงบอกว่า ฝึกไว้ประกอบอาชีพที่ต่างชาติชอบเข้ามาแย่งทำ

แต่คิดให้ดี ผมว่านี่เป็นเรื่องน่าห่วง มาก ๆ

ผมไม่รู้ว่ากระดูกเด็กเล็ก จะมีความแข็งแรงมากขนาดไหน และไม่รู้ว่า น้ำหนักแบบนี้ จะมีผลกระทบต่อโครงสร้างสรีระในระยะยาวมากขนาดไหน

คนสมัยก่อน ตายเร็ว ตายก่อนแก่ ตายก่อนหลังค่อม

แต่เด็กรุ่นนี้ ควรจะอายุยืน หลัก 70-80 ปีขึ้น มีโอกาสสูงมาก ที่จะถึงวัยหลังค่อม หง่อมคู้

ลองคำนวณดูนะครับ มีข่าว ในบางกอกโพสท์ว่า อายุเฉลี่ยประชากรตอนนี้อยู่ที่ 72 นี่ควรเป็นของคนอายุ 36 ปี เด็กเพิ่งเกิด ต้องมีอายุยืนขึ้นกว่าอายุเฉลี่ยนี้อีกราว 9 ปี  (มีสถิติจาก Science 2002 Vol 296 p 1029 ว่า อายุเฉลี่ยคน จะเพิ่ม 3 เดือนต่อหนึ่งปีที่ผ่านไป) หรือนั่นคือ เด็กเล็ก ๆ ที่เราเห็น ควรมีอายุเฉลี่ยราว 80 ปี

เฉลี่ย 80 ปีนี่ คือมีถึงครึ่งหนึ่ง ที่จะอยู่เกิน 80 ปีได้ คือ สามารถเข้าวัย แก่หง่อม ถ้าสุขภาพกายมีปัญหาตั้งแต่ต้น

มีตัวเลขอีกตัว คือ คนไทยปัจจุบัน มีอายุเฉลี่ยของการแก่หง่อมที่ 60.2 ปี (จาก Lancet)

ก็คือ คนไทยควรมีช่วงเวลาเฉลี่ยที่อยู่ในภาวะแก่หง่อมที่คนละประมาณ 20 ปี

นี่ยังไม่นับว่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้ากระเป๋าเหล่านี้ ทำลายกระดูกสันหลังของชาติตั้งแต่วัยเยาว์ จะทำให้คนหง่อมหมดสภาพเร็วขึ้นหรือเปล่า  ?

เราอาจไม่เคยเห็นคนแก่หง่อม แต่ลองไปดูนะครับ ว่าแก่หง่อม เป็นอย่างไร ลองไปคุย ลองไปนั่งเป็นเพื่อน ฟังชีวิต จะได้รู้ว่า ในร่างที่หง่อม กระดูกคู้แทบรับน้ำหนักตัวเองไม่ไหวนี้ นั่นก็คือชีวิต ที่ครั้งหนึ่ง เคยยืนตรงผึ่งผาย ใช้ชีวิตวัยหนุ่มสาวเหมือนคนอื่นทุกคนนั่นแหละ เคยรัก เคยเกลียด เคยสนุก เคยเศร้าสร้อย ไม่ต่างจากเราในวัยที่ร่างกายยังแข็งแรง

สักวันหนึ่ง ในอนาคตข้างหน้าอันยาวนาน อาจมีใครพิสูจน์ด้วยการทำ meta-analysis ว่าแบกเช่นนี้มีปัญหาหรือเปล่า

 

แต่เมื่อถึงตอนนั้น รู้แล้วจะทำอะไรได้หรือครับ ?

 

"ความรู้คืออำนาจ" เป็นการใช้ความรู้ป้องกันปัญหา ไม่ใช่เพื่อก่นด่าใครย้อนหลังครับ

 

หมายเลขบันทึก: 120300เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2007 22:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

P

ผมเคยเห็นกับตา ว่าเด็กแบกกระเป๋า ที่คงหนักประมาณครึ่งหนึ่งของน้ำหนักตัว

จะเข้ามาบอกว่า ตอนนี้เด็กกรุงเทพก็ยังแบกกระเป๋าหนักอยู่ด้วยค่ะ

สวัสดีครับพี่ 
P
  • ผมเชื่อว่า นี่เป็นตัวชี้วัดปัญหาการศึกษาของประเทศ
  • แต่คนมีลูก ส่วนใหญ่เขาไม่บ่น
  • อาจเกรงใจโรงเรียน เดี๋ยวมองหน้าไม่ติด
  • โชคดี (หรือร้าย ?) ที่ผมไม่มีลูก ?
  • แต่เห็นแล้วหนาวแทนอนาคตของชาติครับ

เรื่องกระเป๋านักเรียนเมืองไทย  เป็นเรื่องน่าตระหนกมากกว่าเรื่องกระดูกเท่านั้น  ซึ่งไม่ต้องรองานวิจัยทางสุขภาพ  เนื่องจากกว่าจะถึงตอนนั้น  ความเสียหายคงประเมินค่ามิได้ไปเรียบร้อย 

เข้าใจว่า  ตอนเปลี่ยนจากกระเป๋าแบบเดิมมาเป็นเป้สะพายหลัง  ก็อ้างเรื่องสุขภาพ     ตอนนี้หลายโรงเรียนยอมให้ใช้แบบลากด้วย

ยังมีประเด็นต่างๆ  ที่ไม่ได้พูดถึงในสังคม  ที่หากจะพูดถึง   เห็นทีจะต้องระดมผู้รู้จากทุกสาขา  จึงจะแก้ตก  

เริ่มง่ายๆ  ตั้งแต่  หนังสือเรียนที่ รวมเอาการบ้านเย็บรวมเล่ม  โดยอาจอ้างว่าเพื่อความสะดวก  และเด็กจะได้ไม่ต้องลืม   ทีนี้เด็กเลยต้องแบกบทเรียน และ การบ้าน ตั้งแต่บทที่หนึ่งจนถึงบทสุดท้าย  ไปโรงเรียนทุกครั้ง  ทั้ๆงที่วันนั้นเรียนบทเดียว

ลองคิดกลับกันว่าหากมีวิธีอื่น  เช่น  สามารถแยกเป็นบทต่อบท   นำหนักจะหายไปต่อครั้งเป็น นำหนักเท่าไร   ทั้งเทอม เท่าไร

เด็กที่ต้องเดินทางเอง  ไม่มีผู้ปกครองช่วยหิ้ว  หรือ ไม่มีรถเก๋ง  แถมไม่มีสิทธิ์ ใช้ลิฟท์โรงเรียนที่มี  ต้องแบกขึ้นบันไดขึ้นตึกหลายๆชั้น  ยิ่งวันที่ต้องแบกการบ้านอื่นๆจะทุลักทุเลขนาดไหน

เด็กไม่สามารถแบกกระติกน้ำไปจากบ้าน  เลยต้องซื้อน้ำดื่ม

ทำไม  พ่อแม่ไม่สงสารลูกหรือ   เคยคุยกับทางโรงเรียนหรือไม่

ถ้าไม่คุยเพราะไม่กล้า  หรือ เพราะ ไม่มีเวลา  หรือ เพราะชิน เนื่องจากเห็นมานาน   หรือ ฯลฯ

หรือ  สังคมไทย  เป็นสังคมจำนนต่อระบบใหญ่    แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงต่อลูกหลาน   ตัวใครตัวมัน ดีกว่า

เรื่องนี้ไม่เล็ก    เด้กทั้งประเทศอีกกี่รุ่น  จึงจะพ้นวงจรร้ายนี้

 

 

 

 

  • สวัสดีครับ คุณชัยวัฒน์
  • ผมเข้าใจเอาเองว่้า ผู้ปกครอง ส่วนหนึึ่ง น้ำท่วมปาก เพราะมีการ "ผลประโยชน์ทับซ้อน"
  • แต่อีกส่วนหนึ่ง อาจเป็นความชินชา เพราะคิดว่า ตัวเองไม่มีสิทธิทำอะไรได้
  • อีกส่วนหนึ่ง อาจลืม หรือไม่เคยฉุกคิด ว่าเด็ก ไม่ใช่ผู้ใหญ่ย่อส่วน
  • ผลรวม ก็เ้ลยเป็นอย่างที่เห็น
  • เรื่องนี้ไม่เล็กครับ
  • เรื่องไม่เล็กแบบนี้แหละ สะท้อนให้เห็นว่า KPI ทางการศึกษา เป็นของจริง แค่ไหน ?

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท