ชุมชนนักปฏิบัติ : แนวคิดและกรอบการวิเคราะห์


กุญแจในการขับเคลื่อนกระบวนการจัดการความรู้

ชุมชนนักปฏิบัติ : แนวคิดและกรอบการวิเคราะห์
รศ.ดร.อนุชาติ  พวงสำลี
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


                ชุมชนนักปฏิบัติ หรือ Community of Practices –CoPs นับเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ที่ทรงพลัง เนื่องจากว่า การเกิดขึ้นของชุมชนนักปฏิบัตินั้น สะท้อนให้เห็นถึงระบบความสัมพันธ์ทางสังคมในแนวราบที่เชื่อว่าจะสามารถเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาและจัดการยกระดับองค์ความรู้ขององค์กร สถาบัน หรือสังคมได้อย่างดี แตกต่างจากความสัมพันธ์ในแนวดิ่งที่นิยมใช้การสั่งการและการบังคับบัญชาอันจะเป็นอุปสรรคต่อการคิดวิเคราะห์และสั่งสมองค์ความรู้ของผู้ปฏิบัติและองค์กร
                จากประสบการณ์การทำงานด้านประชาสังคม (Civil Society) และการพัฒนาที่ผ่านมา อาจพอกล่าวได้ว่า ภายใต้ระบบสังคมอุปถัมภ์ที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในแนวดิ่งอย่างเหนียวแน่นเช่นสังคมไทยนั้น การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของชุมชนนักปฏิบัตินั้น มิใช่เป็นเรื่องง่าย เพราะเราคุ้นชินกับระบบสั่งการและการตัดสินใจให้แทนมาเป็นเวลายาวนาน
                อย่างไรก็ตาม การค้นหาทำความเข้าใจถึงบริบทและแนวทางการวิเคราะห์เพื่อเป็นหนทางในการสร้างชุมชนนักปฏิบัติในกระบวนการจัดการความรู้ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในขณะนี้นั้น ก็มีควาสำคัญและท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะในสังคมสมัยใหม่ ที่มีความสลับซับซ้อน มีความเป็นพลวัตรสูง เราต้องอาศัยกระบวนการจัดการความรู้ที่ ก้าวข้ามระบบผู้นำเดี่ยวและสร้างองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติอย่างแท้จริง (learning through action) จากผู้นำที่หลากหลาย ซึ่งเชื่อว่าความรู้ชนิดนี้ เป็นความรู้ที่สอดคล้องกับบริบทและเงื่อนไขของชุมชนและองค์กรนั้นๆ มากกว่า ความรู้ที่นำเข้ามาจากภายนอกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
                เป็นที่น่าสังเกตว่า ในประชาคมนักวิชาการ ส่วนราชการ และผู้คุ้นชินกับระบบอำนาจในทุกๆ วงการของสังคมไทยนั้น มักละเลยที่จะทำความเข้าใจถึงแนวคิดและกรอบการวิเคราะห์ชุมชนนักปฏิบัติก่อนที่จะนำมาใช้กันอย่างลึกซึ้ง เพื่อที่จะช่วยสร้างและหนุนเสริมให้ชุมชนนักปฏิบัติสามารถพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างมีพลัง เป็นเครื่องมือและกลไกในการยกระดับความรู้ (Leverage) ได้อย่างแท้จริง
                เรามักได้ยินกันอย่างคุ้นหูในเวทีสัมมนาและอภิปรายเกี่ยวกับการจัดการความรู้ในที่ต่างๆ ว่า “เรื่องเหล่านี้ มิใช่เรื่องใหม่ เราทำมานานแล้ว เรามี CoPs เยอะมากในหน่วยงานของเรา” ชะรอยว่า คำกล่าวอ้างเหล่านี้ จะเป็นวิธีคิดที่สะท้อนถึงการขาดมุมมองเชิงวิเคราะห์หรือขาดความเอาใจใส่ในเชิงการจัดการความรู้อย่างน่าเสียดาย และในหลายกรณีก็จบลงด้วยความล้มเหลวเลิกรากันไปในที่สุด
                สิ่งที่บทความสั้นๆ นี้ มุ่งแสวงหาแนวทางในการทำความเข้าใจและการหนุนสร้างชุมชนนักปฏิบัติให้สามารถเกิดและพัฒนาขึ้นอย่างเต็มตามศักยภาพเพื่อให้การจัดการความรู้ขององค์กรเป็นไปอย่างมีทิศทาง
                แนวทางและกรอบการวิเคราะห์ชุมชนนักปฏิบัติ ในการนำเสนอนี้ วางอยู่บนสมมติฐานสำคัญ 2 ประการคือ 1) เชื่อว่าในองค์กร/สถาบันใดๆ ก็ตามย่อมมีความพยายามในการจัดความสัมพันธ์ของการทำงานในแนวราบ (ที่มิใช่เพียงแค่เรื่องของเครือญาติหรือเพื่อนพ้องเท่านั้น) มีและดำรงอยู่ในทุกๆ องค์กรอยู่แล้ว เป็นความรู้ที่แฝงเร้น ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น “หน่ออ่อนของชุมชนนักปฏิบัติ” ก็ได้ แต่ชุมชนนักปฏิบัติเหล่านี้ ไม่สามารถพัฒนาให้เติบโตและเข้มแข็งได้เพราะระบบความสัมพันธ์ในแนวดิ่งนั้น มีความเข้มแข็งมากกว่ามาโดยตลอด และ 2) ในบริบทของการจัดการความรู้ (Knowledge Management) นั้น สิ่งที่เรามุ่งหวังคือ “การล้อมสร้าง” ให้ชุมชนนักปฏิบัติที่มีอยู่แต่ยังไม่แข็งแรงหรือยังไม่มีก็ตาม ได้สามารถก่อเกิด พัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างเต็มตามศักยภาพ ซึ่ง “การล้อมสร้าง” นี้ จะต้องทำอย่างมีวิชาความรู้ มิใช่ทำแบบเป็นไปตามสัญชาตญาณ นั่นคือ ต้องมีกรอบการคิดวิเคราะห์และแนวทางการส่งเสริมพัฒนาที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทหรือวัฒนธรรมขององค์กรนั้นๆ มิใช่เพียงแค่ความปรารถนาดีเฉยๆ ประดุจการรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยต้นไม้ เราก็ต้องเรียนรู้ว่า จะใส่เท่าไร อย่างไรให้เหมาะให้ควร มิเช่นนั้นก็จะมิได้ดอกออกผลดังที่ต้องการ ความคาดหวังของการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของชุมชนนักปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน จะต้องมีการหนุนเสริมให้พัฒนาและเติบโตอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรมขององค์กรหรือสถาบันนั้นๆ เช่นเดียวกัน
กรอบแนวทางการวิเคราะห์ค้นหาชุมชนนักปฏิบัติที่สำคัญควรประกอบด้วย
   1.  พัฒนาการหรือการก่อเกิดของกลุ่ม ว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร อะไรคือสิ่งจูงใจหรือความสนใจร่วมกัน การเกิดขึ้นของกลุ่มเกิดในภาวะหรือบริบทเช่นไร เป็นการเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือเกิดจากภาวะวิกฤตร่วมกัน เหตุผลในการก่อเกิดคืออะไรในทัศนะของสมาชิกกลุ่ม ภาวะผู้นำในการเกิดและดำรงอยู่เป็นอย่างไร ในอดีตนั้นกลุ่มมีการเผชิญอุปสรรคอย่างไร และฝ่าฟันมาได้อย่างไร กลุ่มมีกระบวนการและแนวทางการจัดการความขัดแย้งอย่างไร มีขนาดและการเปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกกลุ่มอย่างไร
     2.  Core Business, Core Value และ Key Success คืออะไร ตรงนี้เป็นคำถามสำคัญที่ว่ากลุ่มเกิดขึ้นเพื่อทำอะไร เช่น กลุ่มการวิจัย มีหัวข้อที่สนใจร่วมกันคืออะไร กลุ่มมีความเชื่อพื้นฐานร่วมกันอย่างไร อาจรวมถึงวิสัยทัศน์ร่วมของกลุ่มคืออะไร อะไรคือเป้าหมายหรือธงชัยของกลุ่ม ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญของกลุ่มที่ผ่านมาคืออะไร และอะไรคือประเด็นความภาคภูมิใจของสมาชิกกลุ่มร่วมกัน
   3.   ระบบความสัมพันธ์ของสมาชิก สมาชิกของกลุ่มมีระบบความสัมพันธ์เป็นอย่างไร กลุ่มมีความผูกพันกันแบบไหน ความแนบแน่นของกลุ่มเป็นอย่างไร ภาวะผู้นำเป็นอย่างไร ระบบและเครื่องมือการสื่อสารภายในกลุ่มเป็นอย่างไร อะไรคือช่องทางการสื่อสารหลัก ความสัมพันธ์ของกลุ่มมีลักษณะของความเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้กลุ่มดำรงอยู่ได้คืออะไร อย่างไร
   4.  ความสัมพันธ์เชื่องโยงกับภายนอก ประเด็นมุ่งตรวจสอบว่า กลุ่มมีพัฒนาการและดำรงอยู่ได้นั้น มีระบบความสัมพันธ์หรือความช่วยเหลือจากภายนอกหรือไม่ อย่างไร ทั้งความช่วยเหลือในทางเทคนิค ทรัพยากร เทคโนโลยี และอื่นๆ
   5.  ความยั่งยืนของกลุ่ม ประเด็นนี้คงต้องมีการวิเคราะห์ใน 2 มิติ คือมิติของมุมมองภายใน (Emic view) ของสมาชิกกลุ่มเองที่มองความยั่งยืนของกลุ่มเป็นอย่างไร ต้องการการหนุนเสริมจากภายนอกหรือไม่ อย่างไร และมิติของมุมมองจากภายนอกหรือผู้วิจัยเอง (Ethic view) ว่าในฐานะคนภายนอกที่มองเข้าไปนั้น เห็นว่ากลุ่มมีความยั่งยืนหรือไม่ อย่างไร จุดอ่อนจุดแข็งของกลุ่มคืออะไร ปัจจัยและโอกาสที่จะเอื้อใหกลุ่มพัฒนาและยั่งยืนคืออะไร อย่างไร
   6.  ระบบการจัดการจัดการความรู้ ประเด็นสุดท้ายนี้คงมีความสำคัญและสอดคล้องกับการจัดการความรู้ว่า การดำรงอยู่ของกลุ่มเช่นนี้นั้น มีการพัฒนายกระดับความรู้อย่างไร มี feedback loop ของการจัดการความรู้อย่างไร หรืออาจวิเคราะห์ลงลึกไปถึงว่าในกระบวนการกลุ่มนั้น ใครคือคุณกิจ ใครคือคุณอำนวย และคนเหล่านี้แสดงบทบาทได้อย่างไร กระบวนการยกระดับการเรียนรู้ จาก tacit knowledge สู่ explicit knowledge เป็นอย่างไร เกิดขึ้นหรือไม่ และสุดท้าย ชุมชนนักปฏิบัติที่ศึกษาวิเคราะห็นี้ มีการปฏิบัติที่แตกต่างลักษณะการทำงานประจำ (routine work) อย่างไร
                แนวคิดและกรอบการวิเคราะห์ดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงเครื่องมือในการตรวจสอบระบบวิธีคิดและความเข้าใจ ในการสร้างหรือหนุนเสริมให้ ชุมชนนักปฏิบัติ มีความเข้มแข็งขึ้นอย่างสอดคล้องกับบริบทที่เป็นจริง เราคงอาจนึกถึงกรอบแนวทางการวิเคราะห์ได้อีกมากมายหลายประการ ในที่นี้ เราคงต้องมีการสรุปบทเรียนจากกรณีศึกษาต่างๆ เพื่อนำมาสู่การประมวลเป็นชุดองค์ความรู้ และพัฒนาสร้าง “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน” ให้ชุมชนนักปฏิบัติ ขยายและเติบโตขึ้นเต็มพื้นที่ สร้าง approach ใหม่ๆ อันเป็นการช่วยถักทอให้ระบบความสัมพันธ์ในองค์กรมีความเข้มแข็งเกิดดุลยภาพทั้งในแนวตั้งและแนวนอน
                ซึ่งยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนี้ ก็มีอีกมากมาย แต่ละองค์กรก็อาจมีวิธีการในการขับเคลื่อนที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามกลุ่ม (cross sectional learning) การสร้างขยายเครือข่าย (networking) การหนุนเสริมให้รางวัล (awarding) การสร้างระบบแรงจูงใจ (incentive system) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย (enabling environment) เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดในเรื่องนี้ คงได้มีโอกาสนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโอกาสต่อไป
                                                 ******************

Community of Practices –CoPs (Knowledge Management) (Civil Society) (learning through action)(Leverage) “CoPs ”“”(Knowledge Management) “”“”   1.       2.     3.      4.     5.  (Emic view)(Ethic view)    6.  feedback loop tacit knowledge explicit knowledge(routine work) “”approach (cross sectional learning) (networking) (awarding) (incentive system) (enabling environment)
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 11993เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2006 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 09:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณที่ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจ   และขออนุญาตนำบทความนี้ไปอธิบายให้เพื่อรู้และเข้าใจต่อไป

 

องค์กรกำลังจะจัดทำ เรื่อง Learning Ogranization ค่ะ จะใช้ COP. เป็นเป็นหนึ่งของกิจรกรรมในการจัด KM.ค่ะ  อยากได้ที่ปรึกษา  หรือ เพือน ๆ ที่มีประสบการณ์ในการจัดทำเรื่องดังกล่าวค่ะ หากมีคำแนะนำดี ๆ  รบกวนช่วย Share ความรู้ให้ด้วยค่ะ

 

 

        ดีมากเลยค่ะ  ได้ความรู้จากผู้รู้  และจะติดตามตอนต่อไปอีก  อย่าลืมนำมาเล่าเป็นวิทยาทานอีกนะคะ  จะรออ่านค่ะ

นางพนิดา อินทจันทร์

กำลังทำ KM เรื่อง การนิเทศแบบคู่สัญญา อยากทราบขั้นตอนการดำเนินการ

กราบเรียนอาจารย์รศ.อนุชาติ พวงสำลี ที่เคารพรักยิ่ง

ขอบพระคุณสำหรับบทสรุปสั้นๆสาระอ่านแล้ว get ค่ะ

พิมกำลังทำโครงการ MD.ของการบำบัดผุ้ติดยาเสพติดลักษณะของ COPs.และไม่ใช่

คือ KM.จริงๆแล้วไม่มีรูปแบบตายตัว

อาจารย์คะ ต้องการความช่วยเหลือด่วนมากถึงมากที่สุดค่ะ

พิมอยากได้ข้อมูลการวิเคาระห์การจัดการความรู้เพื่อพัฒนารูแบบการบำบัด

แต่หา fram work ม่ายเจอที่ถูกใจ

บางทีอาจเป็นอาจารย์ที่อ่านใจ Silly Pim. ได้นะคะ

จะรอข่าวและข้อมูล

ได้ให้ email add. ไว้แล้วนะคะ

My best regard.

Pim

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท