สามเงื่อนไขในแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


๑. เงื่อนไขหลักวิชา ทั้งนี้จะต้องอาศัย ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน (ข้อนี้ควรให้ความสำคัญกับ - การที่ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องและพอเพียง กับ การที่ต้องมีและเลือกใช้วิธีคิดที่เหมาะสมด้วย เพราะ ถ้าไม่มีข้อมูลในเรื่องนั้นๆ จะทำงานใดๆจะเป็นสิ่งเลื่อนลอยและว่างเปล่า มีข้อมูลอย่างมากมาย แต่ไม่มีวิธีคิดที่เหมาะสม ทำได้อย่างดีที่สุดแค่ การลอกเลียนแบบ เป็นได้แค่ผู้ตาม จมอยู่กับความล้าหลัง...........ผู้เขียน)


๒. เงื่อนไขคุณธรรม ขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต (ข้อนี้น่าเป็นเพราะสังคมไทยเป็นสังคมในแนวตั้ง ผู้ที่มีอำนาจมาก คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี นักวิชาการ และนักธุรกิจ พ่อค้าคนกลาง คนเหล่านี้จะหยิบฉวยเอาประโยชน์ แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ประชาชนต้องพึ่งตนเองและรวม กลุ่ม กันทำกิจกรรมทุกด้านด้วยความอดทน ความเพียร เสียสละ สร้างเครือข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยไม่ต้องไปล้มล้างหรือไปทำร้ายใคร เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วม ด้วยความรู้รักสามัคคี ซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม สังคมก็จะดีขึ้น.............ผู้เขียน)


๓. เงื่อนไขการดำเนินชีวิต ให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ (ชีวิตของคนทุกคนย่อมจะเป็นไปตามธรรมะตั้งแต่เกิดจนตาย แม้ว่าคนคนนั้นจะรู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรม หรือไม่ ก็ตาม, ไม่มีใครมีอำนาจเหนือกฎของธรรมชาติไปได้ เพียงแต่ผู้ถึงธรรมสามารถควบคุมจิตใจและใช้ปัญญาปฏิบัติให้เป็นไปตามธรรม โดยมีทุกข์แต่น้อย หรือไม่มีทุกข์เลยเท่านั้น, เงื่อนไขการดำเนินชีวิตนอกจากจะต้องถือตามพระบรมราโชวาทแล้ว และควรจะยึดเอา ความจริงตามกฎของธรรมชาติ เป็นหลัก และ ต้องควบคุมจิตใจ,ปัญญา เลือกสรรการกระทำ (ศีล) ให้เป็นไปในทางที่เป็นบุญกุศลให้ถึงพร้อมสมบูรณ์ที่สุดด้วย...............ผู้เขียน)


จะเห็นว่า......... ทางสายกลาง ค่อนไปในทางที่เน้น การประพฤติตนของบุคคล ตามหลักของ ปาริสุทธิศีล ๔ เป็นหลัก
เพื่อความเข้าใจมากขึ้น ในเรื่องของ ทางสายกลาง อันได้แก่ ศีล, สมาธิ, ปัญญา ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปอยู่แล้วนี้ ขอเน้นย้ำเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยว่า สมาธิ ก็ดี ปัญญา ก็ดี ล้วนเป็นเรื่องที่มีอยู่ในจิตใจ และอยู่ใน สมอง มองไม่เห็น หรือจะเรียกว่า เป็นกำลังภายใน ก็ได้ คงมี กำลังภายนอก อันได้แก่ ศีล อย่างเดียวที่เป็นพฤติกรรม หรือเป็นการ กระทำ ที่มองเห็น และคนจะตัดสินว่า ดี หรือ ไม่ดี จากการมี ปาริสุทธิศีล หรือ เป็นคน ทุศีล นี่เอง ฉะนั้น คำว่า การประพฤติตน ในพระบรมราโชวาท “แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ก็คือ การประพฤติตนตามศีล นั่นเอง


อย่างไรก็ตาม ศีล เป็นการกล่าวถึง “พฤติกรรมของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม” เพื่อเป็นการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่บ้านเมืองอย่างหนึ่ง และเพื่อสร้างความผาสุกอย่างยั่งยืนของแต่ละคนอย่างหนึ่ง ในทางพระพุทธศาสนา ศีล ดังกล่าว จึงหมายถึง ปาริสุทธิศีล ๔. ได้แก่
๑. อินทรีย์สังวรศีล ได้แก่การรู้จักใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เพื่อให้ได้ ความรู้ ได้ ปัญญา คือดูเป็น ฟังเป็น ฯลฯ มีสติ คือ ให้เป็นจุดเริ่มของ การศึกษา ในชีวิต ไม่ให้จิตไหลไปตาม ความชอบ - ชัง, สวย - ไม่สวย, ดี - ชั่ว เท่านั้น จุดนี้เอง ที่พระพุทธศาสนา แตกต่าง จากวิทยาการของทางตะวันตก ซึ่งมักจะเริ่มต้นจาก ปัญหา อันจะนำไปสู่การ คิดแก้ปัญหา ตามความ ชอบ - ชัง และก้าวไปสู่ ลัทธิบริโภคนิยม อย่างไม่รู้ตัว ถ้ามีสติ หยุดอยู่แค่รู้ ก็จะได้ ความรู้ อันเป็นประโยชน์ที่จะทำให้ชีวิตมีคุณภาพดีขึ้น


๒. ปัจจัยสันนิสิตศีล ได้แก่การรู้จัก เสพบริโภคปัจจัย เพื่อให้ได้ คุณภาพชีวิต ศีลในหมวดนี้ เป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่มาก สังคมไทยโดยทั่วไป ยังไม่ได้ระมัดระวัง ตั้งใจรักษาศีลในหมวดนี้ให้มากเท่าที่ควร ซ้ำยังมีความเห็นผิดๆ ถือเอาความ โก้เกํ อวดความมั่งมี ความมีหน้ามีตา จากการเสพบริโภคปัจจัยอย่างฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ล้นเกิน ทิ้งๆขว้างๆ เสียอีก ผลก็คือ ใช้เครื่องมือเครื่องใช้ไม่คุ้มค่า, ใช้ไม่เต็มตามกำลังของปัจจัยการผลิต, บางอย่างซื้อมาตั้งทิ้งไว้เฉยๆ เช่นจักรเย็บผ้า ยิ่งไปกว่านั้น การบริโภคอาหาร อย่างผิดวิธี, ล้นเกิน, มีรสหวาน มัน เค็ม จัดเกินไป เป็นบ่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรงนานาประการ ล้วนแต่บั่นทอนสุขภาพและชีวิตของตนเอง นักดื่มแอลกอฮอล์, เครื่องดื่มชูกำลัง และสารเสพติดต่างๆ เป็นบุคคลที่มี จิตใจอ่อนแอ ควบคุมตนเองไม่ได้ เป็นพวกทุศีลในหมวดนี้ด้วย

๓. อาชีวปาริสุทธิศีล  อาชีวะ คือการเลี้ยงชีพ สัมมาอาชีวะ เป็นศีลในมรรคมีองค์แปด สังคมไทยมองเห็นแค่ศีล ๕ ลืมไปว่า การเลี้ยงชีพ นี้เป็นศีลที่สำคัญและเป็น กรรม ที่คนต้องทำอยู่เป็นประจำ บาป ที่เกิดจากการประพฤติโดยเลี้ยงชีพอย่างมิชอบนี้เป็น บาป ซ้ำซาก จึงไม่ใช่ ความอ่อนแอ ในการบริหารจัดการ หรือขาดแคลนเทคโนโลยี หรือไม่มีเงินทุน ฯลฯ เท่านั้น ที่ทำให้การประกอบอาชีพล่มจม เป็นเพราะไม่สำรวมระวังใน อาชีวปาริสุทธิศีล นี้ เป็นปัจจัยของความสำเร็จ หรือล้มเหลวล่มจมส่วนหนึ่งด้วย ท่านผู้รู้ กล่าวว่า อารยธรรม ของโลกดูได้จาก อาชีวะของคน นี้ ว่า เจริญ หรือ เสื่อม อย่างไร เพราะ โลกมนุษย์เป็นไปตามกรรม กรรมใหญ่ๆ แยกเป็น เกษตรกรรม, พาณิชยกรรม, อุตสาหกรรม. หัตถกรรม, ศิลปกรรม ฯลฯ นี่ก็เป็นศีลสำคัญจนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ตัวอย่างการปฏิบัติตามศีลหมวดนี้ทั้งทาง ธุรกิจ และ การเมือง โดยทรงหวังว่า “ทุกๆกรรม / ทุกอาชีพ” จะเมตตากัน ตั้งอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริตซึ่งกันและกัน เพราะทุกอาชีพมีขึ้น เพื่อแก้ปัญหา ให้กันและกัน ไม่ใช่เพื่อเอารัดเอาเปรียบ ขูดรีด ฉ้อฉล จนแม้แต่ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ช่วยไม่ได้ หรืออาชีพใดๆก็มีแต่การโกงกิน คอรัปชั่น มีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่าง ดาษดื่นทั่วทุกหัวระแหง ดังเช่นทุกวันนี้


๔. ปาฏิโมกข์สังวรศีล คือศีลที่เป็นหลักกำกับชุมชน หมายความว่า ชุมชนแต่ละชุมชน ตลอดจนสังคมประเทศชาติ ต้องมีระบบระเบียบในการเป็นอยู่ มีหลักการ มีกฎกติกา เพื่อคุมให้สังคมอยู่กันดี ชาวบ้านมีศีล ๕  ภิกษุมีศีล ๒๒๗ ข้อ ก็คือศีลในหมวดนี้
หมายความว่า สังคมจะอยู่ได้ไม่ลุกเป็นไฟ อย่างน้อยโดยเฉลี่ยชาวบ้านต้องมีศีล ๕ คือไม่ทำร้ายร่างกาย ไม่ทำลายชีวิตกัน ไม่ลักขโมยละเมิดสิทธ์กัน ไม่ล่วงละเมิดทางเพศกัน ไม่ทำลายผลประโยชน์กันด้วยการกล่าวเท็จหลอกลวง และไม่คุกคามสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยด้วยการเสพสุรายาเมาสารเสพติด จะเห็นว่าในสังคมที่มีผู้เสพสารเสพติด คนอื่นๆจะรู้สึกสูญเสียความมั่นคงปลอดภัยในทันที
พระเดชพระคุณ พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) กล่าวว่า ถ้าต้องการละ ลด เลิก อะไร ต้องทำที่ ศีล และถ้าต้องการ จะเพิ่มความดีงาม อะไร ก็เพิ่มด้วยการรักษา ศีล ฉะนั้น ท่านที่ต้องการทำความดีถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงควรเป็นคน มีศีล บริสุทธิ์ทั้ง ๔ หมวดนี้เถิด จะเป็นการแสดง กตัญญูกตเวที ด้วยการปฏิบัติตาม แนวปรั๙ญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้เป็นอย่างดี สำหรับองค์ประกอบ และเงื่อนไขใน พระบรมราโชวาทแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะชี้ไปในทางความดำรงอยู่ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติในอาชีพการงานที่ต้องประกอบด้วย ธรรมะ แฝงอยู่ในทุกด้าน.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท