ใกล้จะถึงวันแม่(2)


สำหรับผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้ชื่อว่า"แม่"การต้องส่งลูกเข้าไปรับการดูแลอยู่ในสถานสงเคราะห์ไม่ใช่เรื่องที่จะยอมรับได้ง่ายๆเลย

คุณหมอนาฏพธูมอบหมายให้ช่วยดูแลผู้ป่วยหญิงวัณโรคดื้อยารายหนึ่งซึ่งนอกเหนือไปจากปัญหาอาการเจ็บป่วยแล้วปัญหาด้านจิตสังคมของผู้ป่วยก็ยุ่งยากซับซ้อนไม่น้อย...ผู้ป่วยอยู่กับลูกสาววัย4ขวบและสามีที่บ้านส่วนตัวแถวชานเมือง..จริงๆแล้วหากสามีไม่เกิดเจ็บป่วยทางสุขภาพจิตเมื่อ4-5ปีก่อนพร้อมๆกันกับที่ผู้ป่วยรับรู้ว่าตนเองเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงชีวิตของครอบครัวนี้ก็มีความสุขและมีความมั่นคงอย่างมากครอบครัวหนึ่ง...การเจ็บป่วยทางจิตที่รุนแรงของผู้นำครอบครัวทำให้สิ่งแวดล้อมในบ้านมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมลงทีละเล็กทีละน้อย...จากพ่อที่น่ารักสามีที่อ่อนโยนกลายเป็นชายวัยกลางคนคนหนึ่งที่อารมณ์เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เอาแต่ใจตนเอง ฟุ่มเฟือย ขาดสติยั้งคิด และเป็นคนชอบหลบหนีปัญหา หลายๆครั้งที่เขาคิดหรือกระทำการคล้ายกับอยากที่จะจบชีวิตลงให้พร้อมๆกันทั้งครอบครัว..ปัญหาที่เริ่มติดตามต่อหลังจากการมาพบแพทย์ล่าสุดแล้วผู้เป็นแม่จะต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลไม่น้อยกว่า1-2เดือน  พ่อกับลูกต้องอยู่ด้วยกันตามลำพัง..ไม่ว่าจะมีเงินหรือไม่ก็ตามแต่เมื่อลูกสาวอ้อนขอให้พ่อซื้อของเล่นให้ชิ้นหนึ่งคนเป็นพ่อก็เลือกที่จะไปขอหยิบยืมเงินคนรู้จักมาก้อนหนึ่งซื้อของเล่นราคาไม่น้อยกว่า3-400บาทมาให้ลูกสาวเล่นและบางส่วนใช้เป็นเงินค่ารถเท็กซี่ไป-กลับระหว่างบ้านและที่ทำงาน(400บาทต่อเที่ยว)

...เมื่อทีมผู้ดูแลตัดสินใจว่าอาจจำเป็นต้องเริ่มให้ยาป้องกันวัณโรคแก่เด็กด้วยปัญหาหนึ่งก็คือพ่อเด็กจะสามารถดูแลให้เด็กทานยาได้อย่างสม่ำเสมอได้หรือไม่

..จากที่ผ่านมาและจากความเห็นของตัวผู้ป่วย(แม่เด็ก)มองเห็นว่าคงเป็นไปได้ยากที่พ่อจะสามารถดูแลเด็กได้ตามลำพัง..ทีมทางด้านเด็กเสนอความเห็นว่าอาจใช้วิธีฝากเด็กอยู่ในความดูแลของศูนย์(สถานสงเคราะห์เอกชน)แห่งหนึ่งเป็นการชั่วคราวจนกว่าแม่เด็กจะมีสุขภาพดีเพียงพอที่จะกลับบ้านได้แล้วจึงค่อยๆนำเด็กกลับบ้านให้แม่/ผู้ป่วยดูแลต่อโดยที่โรงพยาบาลจะติดตามหรือช่วยเหลือแบบประคับประคองในบางด้านไปเพื่อให้ทั้งแม่และเด็กได้รับการรักษาวัณโรคจนหายขาด

จุดอ่อนที่เราลืมนึกไปคือความรู้สึกของผู้เป็นแม่และพ่อของเด็ก..แม้เขาจะเห็นดีด้วยว่าลูกน่าจะปลอดภัยและได้รับการดูแลค่อนข้างจะดีแต่เขาก็รู้สึกถูกกดดันและรู้สึกสูญเสียศักดิ์ศรี..

.ผู้เป็นแม่จากที่มีอาการแย่ในระดับหนึ่งในช่วงที่เมื่อต้องตัดสินใจเลือกว่าจะให้ลูกไปอยู่ศูนย์หรือว่าจะให้ตามอยู่ลำพังกับสามี..คิดตัดสินใจไม่ได้..เบลอไปช่วงหนึ่งแต่เหมือนระฆังเพราะผู้ป่วย/แม่เด็ก อาการเริ่มดีขึ้น กำลังใจก็เริ่มมา..แม่เด็กคิดว่าจะลองทำตามคำแนะนำของทีมรักษาในการฝากลูกไปอยู่ชั่วคราวที่ศูนย์แต่พ่อเด็กกลับเปลี่ยนใจและต่อต้าน...เขาอยากดูแลเองที่จริงก็เป็นสิทธิ์ของเขาแต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงซึ่งหลุดจากปากของพ่อเด็กก็คือหากเขารู้สึกว่าทนไม่ได้ที่ถูกเจ้าหนี้รบเร้าหรือเพื่อนที่ทำงานดูถูกเขากับลูกก็ไม่อาจที่จะจำเป็นต้องมีชีวิตอยู่..เขาพร้อมที่จะตายด้วยกันทั้งครอบครัวเสมอ...สำหรับคนฟังแล้วประโยคนี้ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นและทำให้เราต้องมองหาทางออกที่ดีที่สุดกับทุกคนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็ก..

ซึ่งจากที่เคยได้เข้าไปคลุกคลีกับเด็กพบว่าเด็กเองมีทั้งรักและเกรงกลัวพ่อ รักที่พ่อเอาใจ ชอบซื้อของกินของเล่นแพงๆให้แต่ก็กลัวเวลาพ่อหงุดหงิดเรื่องไม่มีเงินเพราะพ่อจะชอบบังคับให้เดินตามขึ้นไปที่สูงๆ(เช่น สะพานลอย หรือมุมขอบตึกที่ทำงานของพ่อ)และหนูเหงามากไม่มีเพื่อนเล่นเลยเพราะพ่อห้ามไม่ให้ไปยุ่งกับคนอื่นๆ...เมื่อฉันเล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ศูนย์ให้เด็กฟังเด็กสนใจ..อยากไปเพราะจะมีเพื่อนแต่ก็ลังเลเป็นห่วงพ่อว่าจะมีใครเตือนเรื่องต้องกินยา...

ฉันกับแม่เด็กคุยกันหาทางออกที่เป็นไปได้และตั้งอยู่บนหลักความปลอดภัยของเด็กมากกว่าผู้ใหญ่...แม่เด็กคิดว่าจำเป็นที่จะต้องขอให้ช่วยแยกเด็กไปอยู่ศูนย์แทนการอยู่ตามลำพังกับพ่อเพราะสภาพอาการพ่อตอนนี้ไม่น่าวางใจและดูคล้ายๆกับเมื่อ4-5ปีก่อนที่เขาป่วย..แม่เด็กมั่นใจว่าพ่อเด็กคงไม่ยอมกินยาหรือรักษาทางจิตเวชอย่างต่อเนื่อง...เธอเริ่มรู้สึกทั้งห่วงและโกรธสามีแต่เรา(ฉันกับแม่เด็ก)ต่างก็รู้ว่าสามีจะไม่ยอมรับการตั้งเงื่อนไขใดๆจากใครยกเว้นแต่ว่าเขาจะเป็นคนตั้งกฏนั้นเอง..นับว่ายังดีที่สามีเองในจิตสำนึกหนึ่งนั้นเขารักและเป็นห่วงต่อภรรยาและลูก..

เรา(ฉันและแม่เด็ก)จึงพยายามความรู้สึกรักลูกมาเป็นจุดนำเวลาที่จะคุยหรือต่อรองกับเขาซึ่งในที่สุดพ่อเด็กบอกว่าพุธนี้เขาจะพาลูกมาโรงพยาบาลและอนุญาตให้เด็กไปลองอยู่ที่ศูนย์ได้...ฉันบอกกับพ่อเด็กว่าจะรอและขอบคุณที่เขาให้ความร่วมมือ...ระหว่างที่รอให้ถึง 8สิงหาคมนี้ฉันทำได้แต่เพียงการใช้วิธีการโทรศัพท์คุยกับพ่อและเด็กอย่างสม่ำเสมอ..เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าเด็กยังอยู่ดี/ปลอดภัยอยู่...พ่อเด็กก็จะบ่นรำพึงรำพันถึงชะตาชีวิตของเขาให้ฟัง......

ในแต่ละคืนของช่วงเวลานี้..ใจฉันหวังและลุ้นให้เขา(พ่อเด็ก/สามีผู้ป่วย)จงมีสติคืนอยู่กับตัว..ควบคุมตนเองไว้ได้และทำตามสัญญาที่มาจากใจที่ดีที่รักลูกและภรรยาอย่างมากมาย ฉันตั้งใจว่าหากเขาไม่มาหรือหลีกเลี่ยงไม่ทำตามสัญญาก็คงไม่ตามใจและไม่ปล่อยเด็กให้อยู่ตามลำพังกับพ่อเด็กอย่างแน่นอน...เพราะสัญญาณอันตรายที่พ่อสื่อออกมาให้ได้รับรู้นั้นมันยากเกินที่จะรับหรือปล่อยวางได้...

หมายเลขบันทึก: 117817เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2007 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท