ประวัติและผลงานของนายจำเนียร คอวนิช อดีตศึกษานิเทศก์ สพท.ขอนแก่น เขต 5


       นายจำเนียร คอวนิช เกิดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ที่บ้านโนนหัน ตำบลโนนหัน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เป็นบุตรคนเดียวของนายจำนง และนางสวัสดิ์ คอวนิช
       นายจำเนียรเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านร่องแซง ซึ่งเป็นโรงเรียนในตำบลบ้านเกิด จบชั้นประถมปีที่ 3 ก็ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนชุมชนบ้านโนนหันวันครู จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ใน พ.ศ. 2501 จากนั้นก็ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ จนถึง พ.ศ.2503 ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ และศึกษาพระปริยัติธรรม สามารถสอบได้นักธรรมตรีในปีเดียวกัน พ.ศ.2504 สอบได้นักธรรมโท พ.ศ.2505 สอบได้นักธรรมเอก พ.ศ.2506 สอบเทียบได้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 พ.ศ.2507 สอบเทียบได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พ.ศ.2508 สอบเทียบได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และสอบได้ประโยคเปรียญธรรม 3 พ.ศ.2509 สอบได้ประโยคเปรียญธรรม 4 พ.ศ. 2501 สอบได้ประโยคเปรียญธรรม 5 แล้วลาสิกขาจากสามเณร ออกมาทำงานเป็นพนักงานของบริษัทเอกชน จนถึง พ.ศ. 2514 มาสมัครสอบได้รับประกาศนียบัตรครูพิเศษการศึกษา (พ.กศ.) พ.ศ. 2517 ได้ประกาศนียบัตรครูพิเศษมัธยม(พ.ม.) และ พ.ศ. 2522 ได้รับพระราชทานปริญญาการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม วิชาเอกสังคมศึกษา
        นายจำเนียรได้สมัครเข้าเป็นครูครั้งแรกใน พ.ศ. 2515 โดยสอนที่โรงเรียนราษฎร์อำนวยศิลป์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนในอำเภอชุมแพ พ.ศ.2516 ได้สมัครสอบเข้ารับราชการครูในตำแหน่งครูจัตวา โรงเรียนบ้านโนนทองหลาง อำเภอสีชมพู จังหวัดของแก่น และหลังจากนั้นก็รับราชการครูอยู่ในจังหวัดขอนแก่นมาตลอด โดย พ.ศ.2517 ย้ายมาเป็นครูที่โรงเรียนบ้านธาตุ อำเภอชุมแพ พศ.2519 ย้ายมาเป็นครูโรงเรียนบ้านหนองเขียดมิตรภาพที่ 205 อำเภอชุมแพ พ.ศ.2528 โอนมาดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สำนักงานการประถมศึกษากิ่งอำเภอภูผาม่าน พ.ศ.2533 ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักงานการประถมศึกษากิ่งอำเภอภูผาม่าน จนถึง พ.ศ. 2546 ได้ปรับโครงสร้างการบริหารของกระทรวงศึกษาธิการ จึงย้ายมาดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต 5 และ พ.ศ. 2547 ก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและวิทยฐานะศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ และปฏิบัติงานในตำแหน่งนี้จนถึงแก่อนิจกรรม
      นายจำเนียรเป็นผู้ที่มีความมานะบากบั่นในการศึกษาเล่าเรียน ทั้งการศึกษาด้วยตนเองและการศึกษาในสถาบันการศึกษา ในการปฏิบัติงานก็มีความขยันขันแข็ง เอาใจใส่ และมีความรับผิดชอบสูงยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีต่อศิษย์ ต่อครู และผู้ร่วมงานอย่างเสมอต้นเสมอปลาย
           ขณะที่เป็นครูผู้สอน นายจำเนียรก็อุทิศตน อุทิศเวลาให้กับการอบรมสั่งสอนศิษย์ เนื่องจากนายจำเนียรเป็นครูที่มีลายมือสวย จึงได้ถ่ายทอดและฝึกฝนการคัดลายมือให้แก่ศิษย์ จนทำให้ศิษย์ของนายจำเนียรมีลายมือสวยไปด้วย ซึ่งภายหลังเมื่อนายจำเนียรมาเป็นศึกษานิเทศก์ก็ได้พัฒนาเทคนิคการคัดลายมือถ่ายทอดให้แก่ครูเพื่อนำไปสอนศิษย์ด้วย โดยในเรื่องนี้ นายมนูญ พลบุญ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองขวาชัย อำเภอสีชมพู ได้เขียนไว้ในบันทึกประวัตินายจำเนียร คอวนิช ความตอนหนึ่งว่า
     “…ท่านมีเทคนิคในการฝึกเรื่องการเขียน การคัดไทยที่ดีมาก โดยเริ่มต้นจากการฝึกให้รู้จักลีลามือเป็นสิ่งแรก เมื่อมีลีลามือดีแล้วต่อไปก็จะฝึกการคัดลายมือสวยงามตามแบบฉบับของอาจารย์จำเนียร คือต้องนั่งตัวตรง เท้าเหยียบพื้นให้เต็มฝ่าเท้า วางมือข้างที่ไม่ได้ใช้เขียนไว้บนโต๊ะ ท่าในการเขียนก็ไม่ก้มหน้าจนเกินไป เพราะจะทำให้ตัวหนังสือไม่สวย โดยเทคนิคการคัดลายมือของท่านจะเน้นที่ลีลามือและการนั่งให้ถูกลักษณะ…”
       นายจำเนียรเป็นศึกษานิเทศก์ที่มุ่งนิเทศเพื่อปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยยึดหลักการสร้างมนุษยสัมพันธ์ สร้างความตระหนัก ความเชื่อถือศรัทธา และความร่วมมือกับครูและผู้บริหารสถานศึกษา โดยใช้เทคนิคการนิเทศที่หลากหลายและมีความเหมาะสม สอดคล้องกับปัญหาความต้องการจำเป็น สภาพแวดล้อมของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย โดยมีการวางแผนและดำเนินการนิเทศอย่างเป็นระบบ จึงทำให้การนิเทศประสบผลสำเร็จเป็นที่ยอมรับศรัทธาจากผู้รับการนิเทศเสมอ
           นายธำรง แก้วเล็ก ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต 5 ได้เขียนถึงการปฏิบัติงานนิเทศของนายจำเนียรในบันทึกเล่มเดียวกัน ความตอนหนึ่งว่า
     “…อาจารย์จำเนียรเป็นคนที่จริงจังกับงาน หนักเอาเบาสู้ มีเทคนิคการนิเทศที่ไม่เหมือนใคร…จะออกนิเทศจนครบทุกโรงเรียน มีการสรุปรายงานผลการนิเทศที่ระบุถึงปัญหา การแก้ปัญหาของแต่ละโรงเรียน นอกจากนี้ยังช่วยประสานงานกับหน่วยงานต่างๆในการหาทุนช่วยเหลือนักเรียน และทุนในการอบรมพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง…”
      นอกจากนี้พระครูสโมธานเขตคณารักษ์ เจ้าคณะอำเภอชุมแพ ยังได้กล่าวถึงคุณงามความดีของนายจำเนียรในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพอาจารย์จำเนียร คอวนิช ความตอนหนึ่งว่า
     “…เป็นบุคคลที่ทรงคุณค่าสำหรับชุมชนมาก เป็นนักปราชญ์ เป็นผู้ใหญ่ด้วยคุณธรรม ท่านจึงเป็นที่รักเคารพนับถือของชุมชนมากเป็นพิเศษคนหนึ่ง ท่านได้ให้ข้อคิดข้อปฏิบัติแก่บ้าน-วัด-โรงเรียนไว้มากมาย ท่านจึงเป็นเกียรติ เป็นศักดิ์ศรีของชาวโนนหันอย่างแท้จริง…”
      นายจำเนียรเขียนเอกสารผลงานทางวิชาการด้านการนิเทศการศึกษาไว้หลายเล่ม เช่น
- แบบฝึกการเขียนอักษรไทย เล่ม 1-3 สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6
- คู่มือการเขียนอักษรไทย สำหรับครู นักเรียนและผู้สนใจ
- รายงานผลการนิเทศการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูผู้สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6
- รายงานการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการศึกษาโรงเรียนประถมศึกษา
- รายงานการใช้ชุดฝึกการเขียนแผนการสอนกลุ่มสาระภาษาไทยที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
- รายงานการใช้แนวทางจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกลุ่มสาระภาษาไทย เรื่องการเขียนเรียงความ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6
- แนวทางการจัดการเรียนการสอนตามแนวปฏิรูปการศึกษาของครูผู้สอน ฯลฯ
       จากการที่นายจำเนียรปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเทอย่างเต็มกำลังความสามารถ จนก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และเกิดผลงานทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษา จึงได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ได้รับเข็มคุรุสดุดีในวันครูโลก เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2549
        เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทานคือ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก และเหรียญจักรพรรดิมาลา
นายจำเนียรสมรสกับนางสาวดารา นาคโนนหัน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ 2517 มีบุตร 3 คน คือ นายวรสิทธิ์ นายจิตรกร และนางสาววริศรา คอวนิช
      ปกตินายจำเนียรจะเป็นผู้ที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีมาโดยตลอด แต่ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 เวลาประมาณ 4 นาฬิกา เกิดมีอาการปวดหลังอย่างรุนแรง ได้รับการปฐมพยาบาลบีบนวดก็มีอาการทุเลาลง จนรุ่งเช้าอาการปวดหลังกำเริบอีก จึงถูกนำส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลชุมแพ แพทย์ตรวจอาการแล้วให้ไปกายภาพบำบัดและให้กลับไปพักผ่อนที่บ้าน จนถึงเวลาประมาณ 16.00 น. นายจำเนียรเกิดอาการหมดสติกระทันหัน จึงถูกนำส่งโรงพยาบาลชุมแพอีกครั้ง แพทย์วินิจฉัยว่าได้ถึงแก่อนิจกรรมก่อนถึงโรงพยาบาลแล้วด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน รวมสิริอายุได้ 59 ปี 9 เดือน 7 วัน
                                                                                  นายธเนศ ขำเกิด
                                                                                       ผู้เรียบเรียง

ข้อมูลอ้างอิง
1.หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ อาจารย์จำเนียร คอวนิช ป.ม. ณเมรุวัดแจ้งสว่างใน ตำบลโนนหัน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น วันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550
2.บันทึกประวัตินายจำเนียร คอวนิช ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต 5

หมายเลขบันทึก: 117486เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2007 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอให้พ่อไปสู่สุคตินะครับ

จะอยู่ในใจและเป็นที่รัก

ของเราเสมอ

ลูก....เบนซ์

ผมก็ขออุทิศส่วนกุศลให้ท่านเช่นกันครับ และขอให้ลูกเบนซ์สืบสานคุณความดีของคุณพ่อต่อไป

เจี๊ยบเพื่อนเอ้ /อุบล

ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวเอ้ด้วยนะค่ะ...คิดถึงเพื่อนเสมอ

ขอขอบคุณทุกท่านที่เป็นกำลังใจนะคะ

หวังว่าประวัติและผลงานของพ่อจะเป็นประโยชน์หรือแรงบันดาลใจสำหรับหลาย ๆ คน

ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวเอ้ด้วยนะครับ...และขออุทิศส่วนกุศลให้ท่านเช่นกันครับ..ขอพรพระรัตนตรัยคุ้มครองให้ท่านสู่สุคติ เทอญ.

เสียใจด้วยนะคะ ขออานิสงส์ผลบุญที่ท่านทำไว้ในขณะมีชีวิตอยู่ช่วยให้ท่านไปสู่สุคติ ความดีที่ทำไว้ไม่สูญหาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท