มองการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ผ่านอิสลามานุวัฒน์ (Islamization)


อิสลามานุวัฒน์

ปัจจุบันนี้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามกลายมาเป็นทางเลือกทางการศึกษาที่สำคัญของสังคมมุสลิม      ผู้ปกครองจำนวนมากที่ส่งลูกหลานเข้าสู่สถาบันการศึกษาประเภทนี้   เพื่อหวังให้ลูกหลานมุสลิมเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ   คำว่าคุณภาพ ในความเข้าใจของสังคมมุสลิมมิได้หมายถึงบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง  มิได้หมายถึงการมีงานทำที่มั่นคง  และมิได้หมายถึงเพียงแค่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีในโลกนี้เพียงเท่านั้น   แต่ทว่าเราหมายถึงการมีชีวิตที่ดีทั้งในโลกดุนยานี้  และโลกอาคีเราะฮฺ(โลกหน้า) ดั่งคำที่เรากล่าวขอพรจากพระเจ้าอยู่ประจำว่า

  

ربناآتنافىالدنياحسنة وفىالآخرة حسنة وقناعداب النار

โอ้! พระผู้อภิบาลของเราขอพระองค์ทรงโปรดประทานชีวิตที่ดีในโลกดุนยานี้แก่เรา  และขอพระองค์ทรงประทานชีวิตในโลกอาคีเราะฮฺที่ดีแก่เราด้วยเทอญ  และขอให้พระองค์ให้ความคุ้มครองแก่เราให้พ้นจากการลงโทษของไฟนรกด้วยเทอญ การประกันคุณภาพการศึกษาจึงเป็นทางออกหนึ่งสำหรับการสร้างคุณภาพให้แก่เยาวชนมุสลิมสำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม   แต่ที่น่าเสียดายมีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจำนวนมากที่ไม่เห็นความจำเป็นของการประกันคุณภาพการศึกษา  หรือเห็นความจำเป็นแต่ก็ไม่เข้าใจแนวทางในการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา   ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าความไม่ยอมปลดปล่อยความคิดให้หลุดจากกรอบความคิดเดิม ๆ หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือยังมีกำแพงที่มาขวางกั้นความคิดของผู้บริหารและบุคลากรของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามไม่ให้เข้าถึงแก่นแท้ของอัลอิสลาม   ผมขอเชิญชวนชาวปอเนาะ(หมายถึงโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม) ให้หันมามองการบริหารการประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนโดยผ่านแนวคิดอิสลามานุวัตร (Islamization) แล้วเราจะพบว่าการประกันคุณภาพการศึกษาคือส่วนหนึ่งของอะมัลอิสลามีย์ (ภารกิจอิสลาม)  แล้วการประกันคุณภาพการศึกษาคืออะไร  มีความสำคัญอย่างไร  และมีแนวทางในการดำเนินการประกันคุณภาพอย่างไร   ผู้เขียนจะพยายามนำเสนอภาพการประกันคุณภาพการศึกษาภายใต้กรอบวิธีคิดแบบอิสลามานุวัตร(Islamization)

อิสลามานุวัตร (Islamization) ?        

                ดร.อิสมาแอล   อัลฟารูกี  ชาวปาเลสไตน์  จากสถาบันนานาชาติเกี่ยวกับแนวคิดอิสลาม หรือ Internatioanal Institute Islamic though (IIIT) ได้นิยามอิสลามานุวัตรองค์ความรู้(Islamization of knowledge) ว่า การทำให้องค์ความรู้สมัยใหม่ให้เป็นแบบฉบับอิสลาม   ในขณะที่ ซัยยิด นากิบ  อัล อัตลาส จากสถาบันนานาชาติแห่งความคิดและอารยธรรมอิสลาม  หรือ Internatioanal Institute of Islamic though and civilization (ISTAC) ได้ให้คำนิยามว่าการทำให้องค์ความรู้ร่วมสมัยเป็นแบบฉบับอิสลาม   

 

ความหมายของการประกันคุณภาพการศึกษาตามมิติของอิสลามานุวัตร

              

                    การประกันคุณภาพการศึกษา หมายถึง การบริหารจัดการและการดำเนินกิจกรรมตามภารกิจปกติของสถานศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง สร้างความมั่นใจให้ผู้รับบริการทางการศึกษา ทั้งผู้รับบริการโดยตรง ได้แก่ ผู้เรียน ผู้ปกครอง และผู้รับบริการทางอ้อม ได้แก่ สถานประกอบการ ประชาชน และสังคมโดยรวม  ซึ่งมีแนวคิดที่สำคัญ ดังนี้ 

มีการดำเนินงาน 3 ขั้นตอน ดังนี้           

             1. การพัฒนาคุณภาพ         

             2. การตรวจติดตามคุณภาพ          

               3. การประเมินคุณภาพ   

ربناآتنافىالدنياحسنة وفىالآخرة حسنة وقناعداب النار

โอ้! พระผู้อภิบาลของเราขอพระองค์ทรงโปรดประทานชีวิตที่ดีในโลกดุนยานี้แก่เรา  และขอพระองค์ทรงประทานชีวิตในโลกอาคีเราะฮฺที่ดีแก่เราด้วยเทอญ  และขอให้พระองค์ให้ความคุ้มครองแก่เราให้พ้นจากการลงโทษของไฟนรกด้วยเทอญ  

             ดุอาอฺหรือบทขอพรข้างต้นจึงเป็นเสมือนกับวิสัยทัศน์ (vision) ในการจัดการการศึกษาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม   กล่าวคือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามต้องมีพันธกิจ (mission) ในการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในโลกนี้    และมีแนวทางที่ชัดเจนในการเดินทางสู่สรวงสรรค์อันสถาพรของพระองค์   ดังนั้นคุณภาพการศึกษาในที่นี้จึงมิได้หมายถึงการประกันคุณภาพการศึกษาของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เพียงเท่านั้น    แต่ยังหมายรวมถึงการรับรองหรือความพึงพระทัยจากเอกองค์อัลลอฺ (ซ.บ.)อีกด้วย  จากความหมายและแนวคิดข้างต้นอาจสรุปได้ว่า  การประกันคุณภาพการศึกษาก็คือกระบวนการสร้างคุณภาพและกระบวนการผดุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง  มีคนกล่าวว่าการทำความดีนั้นทำง่ายแต่การรักษาความดีให้เสมอต้นเสมอปลายนั้นยากยิ่งกว่า   ดังนั้นระบบการประกันคุณภาพการศึกษาจึงสอดคล้องกับหลักการรักษาความดีอย่างสม่ำเสมอ - อิสติกอมะฮฺ (إستقامة) นั้นเอง   ดังที่ท่านศาสดามุหัมหมัด (ศ็อลฯ) ได้กว่าว่า

กิจการงานที่อัลลอฮฺทรงรักที่สุด คือ กิจการงานที่มีความสม่ำเสมอ- อิสติกอมะฮฺ(إستقامة)  นั้นเอง

                      ดังนั้นการที่เราจะรักษากิจการงานของเราให้สม่ำเสมอ - อิสติกอมะฮฺ (إستقامة) ได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยหลักการตรวจสอบตนเอง มูหาซาบะฮฺ (محاسبة)  ดังที่ท่านศาสดาได้กล่าวว่า

จงตรวจสอบตัวของท่านเองก่อนที่ตัวของท่านจะถูกตรวจสอบ 

เมื่อเราตรวจสอบตัวเองแล้วเราก็นำผลการตรวจสอบที่ได้รับไปพัฒนาปรับปรุงตนเอง  โดยใช้หลักการขัดเกลาตนเอง อิศละฮฺนัฟซัก (إصلاح نفسك) ดังที่อัลลอฮฺทรงตรัสว่า

        قدافلح من زكاها وقدخاب من دساها

แท้ที่จริงแล้งบุคคลที่ขัดเกลาเขาจะประสบผลสำเร็จ  และบุคคลใดที่หมักหมมเขาจะประสบแต่ความขาดทุน    

قدافلح من تزكى    

แท้ที่จริงบุคคลที่ขัดเกลาเขาจะประสบผลสำเร็จ 

               การพัฒนาตนเองให้ได้ผลต้องทำโดยการวางแผน   การวางแผนที่ดีต้องเป็นการวางแผนร่วมกันโดยการคิดวางแผนเพื่อ โดยใช้หลักการปรึกษาหารือ ชูรอ (شورى) ดังที่พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า

...وشاورهم فىالأمرفاداعزمت فتوكل علىالله...

และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย  ครั้นเมื่อเจ้าได้ตัดสินใจแล้วก็จงมอบหมายแด่อัลลอฮเถิด                                                  (อาละอิมรอน   : 159) 

                  หลังจากนั้นก็นำผลหรือแผนที่ได้จากการปรึกษาหารือไปดำเนินการปฏิบัติให้เป็นจริงโดยใช้หลักการทำความดี อามัลซอและห์ (عمل الصالحات)   ดังที่อัลลอฮฺทรงตรัสว่า    

والعصر  إنّ الإنسان لفى خسر إلاالدينءامنواوعملواالصالحات وتواصوابالحق وتواصوابالصّبر   

ขอสาบานด้วยกาลเวลา   แท้จริงมนุษย์นั้นอยู่ที่การขาดทุน  นอกจาก บรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดี  และตักเตือนกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม  และตักเตือนกันและกันให้มีความอดทน

                     โดยคำนึงเสมอว่าแผนการที่กำหนดไว้จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของอัลลอฮฺหรือการมอบหมายต่อพระองค์ (توكل علىالله)                  จากที่กล่าวมาข้างต้นเราจึงสามารถสรุปการประกันคุณภาพการศึกษาโดยใช้วิธีคิดแบบอิสลามานุวัตร  ได้ดังนี          

                                                                                                            

ความจำเป็นในการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

  1. ความจำเป็นในมิติศาสนบัญญัติ (شرعية)

                  ในความเป็นจริงแล้ววงจรเดมมิ่ง ซึ่งเป็นแนวคิดที่สำคัญในการประกันคุณภาพการศึกษา  มีความสอดคล้องกับหลักการศาสนาอิสลามอย่างยิ่ง    แต่ถูกนำเสนอโดยนักวิชาการที่ไม่ใช่มุสลิมทำให้เราเข้าใจว่าการประกันคุณภาพจึงไม่มีความจำเป็นในมิติศาสนา (شرعية)   ดังนั้นผู้เขียนจึงพยายามที่จะศึกษาและทำความเข้าใจกับระบบประกันคุณภาพการศึกษา   ยิ่งศึกษายิ่งพบว่าแนวคิดเหล่านี้เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับหลักการศาสนาอิสลามเป็นอย่างมาก  และไม่มีส่วนที่ขัดแย้งกับหลักการศาสนาอิสลามเลย     น่าเสียดายที่นักการศาสนามิได้ศึกษาเพื่อนำ หลักการเหล่านี้มาจัดระบบในเชิงบริหาร     จะอย่างไรก็แล้วแต่   ชาวปอเนาะ หรือผู้บริหารและบุคลากรของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควรให้ความสำคัญกับการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาบนพื้นฐานหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม    ซึ่งการปฏิบัติตามหลักคำสอนเหล่านี้สิ่งที่เราเราได้สร้างคุณภาพให้เยาวชนมุสลิมอย่างแท้จริง  และจะได้รับ ผลบุญ หรือ สรวงสวรรค์จากพระองค์เป็นการตอบแทนในโลกอาคีเราะฮฺ อีกด้วย

2. ความจำเป็นในมิติกฎหมาย

            พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้กำหนดให้สถานศึกษาดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาในหมวดที่  6 มาตราที่ 48 ดังนี้ ให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาจัดให้มีระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง   โดยมีการจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัด  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และเปิดเผยต่อสาธารณชน  เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา  และเพื่อรองรับการประกันคุณภาพภายนอก             ประกอบกับกฎกระทรวง  ว่าด้วย  หลักเกณฑ์  และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2546 หมวด 1 ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ข้อ 2 กำหนดว่า ให้สถานศึกษาจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องว่าผู้เรียนทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพจากสถานศึกษาเพื่อการพัฒนาความรู้  ความสามารถ  และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาที่กำหนดในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเต็มศักยภาพ  ระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารการศึกษา  ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย                

     1. การจัดระบบบริหารและสารสนเทศ       

     2. การพัฒนามาตรฐานการศึกษา                 

     3. การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา                  

     4. การดำเนินงานตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา                

     5. การตรวจสอบและทบทวนคุณภาพการศึกษา                

     6. การประเมินคุณภาพการศึกษา             

     7. การรายงานคุณภาพการศึกษาประจำปี                 

     8. การผดุงระบบการประกันคุณภาพการศึกษา (โดยยึดหลักดังนี้)                              

               - ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม (تعاون)                           

               - ต้องต่อเนื่องและยั่งยืน (إستقامة)                             

              - ต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (شورى / تعليم)         

 

หมายเลขบันทึก: 117057เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2007 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 10:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท