ชีวิตจริงของอินเทอร์น : สานสายใย...ด้วยใจเดียวกัน (๓)


หลังจากที่ทุกคนได้ทำความรู้จักกันแล้ว แม่เล็ก คุณศิริวรรณ  สุกัญจนศิริ ประธานสภาครอบครัวเพลินพัฒนาก็ออกมากล่าวแนะนำโครงสร้างขององค์กรครอบครัวฯ ให้ผู้เข้าร่วมประชุมที่มีทั้งคุณครู และกลุ่มตัวแทนห้องได้รับทราบ 

พ่อกวิน คุณกวิน ชุติมา   ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะกรรมการบริหารสภาฯ ชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระ ก็ได้มากล่าวถึงผลงานที่ได้ทำไว้ และทำความเข้าใจกับสมาชิกทุกคนว่า ชุมชนเพลินพัฒนามีแกนกลางคือนักเรียน ๗๐๐ คน และนักเรียนก็มีพ่อแม่อีก ๑,๔๐๐ คน (ยังไม่นับรวมไปถึงคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ที่เป็นแรงสนับสนุนอีกชุดใหญ่ๆ)  และบุคลากรของโรงเรียนอีกกว่า ๒๐๐ คนหากมาร่วมทำอะไรด้วยกันก็จะเกิดพลังมาก 

ที่สำคัญคือโรงเรียนกับบ้านต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ร่วมมือกันสร้างเด็กให้เป็นคนดีของสังคม เสริมการเรียนรู้ เสริมกิจกรรม ที่ได้ทำไปแล้ว เช่น กิจกรรมออมวันละบาท เป็นกิจกรรมช่วยสร้างนิสัยการออม และการทำประโยชน์แก่สังคมโดยส่วนรวม การรู้จักแบ่งปันสอนไม่ได้ด้วยการบอก แต่ทั้งบ้านและโรงเรียนต้องทำไปด้วยกัน ที่บ้านพ่อแม่ก็ต้องทำด้วย เด็กรุ่นใหม่ที่จะเติบโตไปเป็นคนรุ่นใหม่ต้องเป็นเด็กที่รู้จักให้ รู้จักแบ่งปัน มนุษย์เราเป็นสัตว์ประเสริฐ แต่เป็นได้ด้วยการฝึก

อีกกิจกรรมหนึ่งที่จัดขึ้นก็คือ การวิ่งสะสมไมล์ที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และเป็นกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ของครอบครัวได้อย่างดี กิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหลายเป็นกิจกรรมที่คณะกรรมการดูตัวคุณธรรมที่โรงเรียนต้องการส่งเสริม แล้วสนับสนุนให้สอดคล้องกัน

กิจกรรมชมรมต่างๆก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะมาช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกๆทุกคนได้ 

แม่โอ๋ คุณสุนีย์ บันโนะ ในฐานะของพี่รุ่นหนึ่ง ที่ก่อตั้งชมรมผู้ปกครองเพลินพัฒนา ก่อนจะกลายเป็นองค์กรครอบครัวฯ ดังเช่นทุกวันนี้ ได้ออกมากล่าวขอบคุณที่ทุกคนสละเวลามารวมตัวกัน และได้กล่าวถึงความเป็นมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๔๖ ว่า

พวกเราผู้ปกครองรุ่นแรก อยู่กับโรงเรียนที่เริ่มก่อสร้างมาด้วยความเชื่อมั่น ทุกวันนี้องค์กรครอบครัวเพลินพัฒนา ได้ก่อสานความสัมพันธ์รุ่นต่อรุ่นกันมาอย่างเหนียวแน่นจนกลายเป็นจุดแข็งของโรงเรียน ทุกคนได้กระจายความรักที่มีต่อลูกออกสู่สังคมที่มีแต่คนคิดดี ทำดี เข้ามาเป็นสมาชิก

ทุกปีพวกเราเก่งขึ้น รู้วิธีการทำงาน เราโตขึ้นจากการเรียนรู้สิ่งที่สภาทำ มีความรู้ที่อิงอยู่บนพื้นฐานของโรงเรียน และเป็นการขยายศักยภาพของพ่อแม่ที่มาร่วมงานกับโรงเรียนออกไปด้วย 

อยากจะชวนทุกคนให้สำรวจตัวเองว่าเราขยายขอบเขตออกไปไกลแค่ไหน โดยตรวจสอบจากเป้าหมายที่เป็นแนวทางขององค์กร แล้วกลับมาสู่จุดเริ่มต้น ก่อนขยายสู่สิ่งใหม่ เหมือนสัญลักษณ์แทนชัยชนะที่เขียนด้วยตัว V 

ในการทำงานร่วมกันนั้นอาจมีการกระทบกระทั่งกันทางความคิด แต่การกระทบกระทั่งกันนั้นก็เหมือนกับการเอามันฝรั่งไปกลิ้งในถุงเพื่อให้ดินหลุดออกจากผิว เป็นการขัดเกลาซึ่งกันและกันที่จะช่วยให้เราเติบโตขึ้น เมื่อไหร่ที่เรารู้จุดอ่อนของตัวเราเอง เมื่อนั้นเราได้เติบโตขึ้น 

สังคมที่เพลินพัฒนาเหมือนกับเครือญาติสมัยใหม่ เราได้พบกันอยู่ทุกวัน บ่อยครั้งกว่าที่ได้เจอญาติของเราเอง แล้วลูกของทุกคนก็คือลูกของเรา ภาพความเป็นจริงในขณะนี้ก็คือ เด็กโตที่นี่ ไม่เกเรเหมือนเด็กที่อื่น เราตักเตือนพวกเขาได้ 

ในการทำงานให้กับชุมชนก็ต้องมีการแบ่งเวลา ต้องไม่กระทบกับเวลาของครอบครัว และถ้าเราจัดสรรเวลาได้ก็จะสามารถทำอะไรได้ตั้งหลายอย่างในเวลาเดียวกัน        

หมายเลขบันทึก: 116884เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2007 18:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท