ศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาแห่งชาติ


 

          นี่คือหน่วยงานระดับคณะ หน่วยสุดท้ายที่สภามหาวิทยาลัยมหิดลไปเยี่ยมชื่นชม     ก็ครบทุกหน่วย      เป็นเวลาประมาณ ๑ ปี ที่เราไปชื่นชมเดือนละ ๒ ครั้ง      อิ่มอร่อยทางปัญญา  และเป็นการปูพื้นให้กรรมการสภาทำหน้าที่อย่างเข้าใจองค์กรจริงๆ   

          NDCC – National Doping Control Center    เป็นศูนย์เดียวในประเทศไทย   และเป็น ๑ ใน ๓๓ แห่งทั่วโลก      หน่วยงานนี้จึงไม่ใช่แค่เป็นหน่วยงานของ ม. มหิดล   แต่เป็นหน่วยงานระดับชาติ     และจริงๆ แล้วทำงานในลักษณะ ศูนย์แห่งภูมิภาคของโลก     คือให้บริการประเทศอื่นด้วย    หรือเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย “โปลิศจับขโมย” ในวงการกีฬา     คือตรวจจับการโด๊ป    

          ระบบรักษาความปลอดภัย เป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐาน    ต้องได้มาตรฐานสากล    เราจึงต้องลงชื่อเข้าออก และติดบัตรผู้เข้าหน่วยงาน    ศูนย์ฯ ต้องทำงานให้ได้มาตรฐานหลายระบบ ได้แก่   IOC, NATA ISO/IEC ๑๗๐๒๕, WADA - World Anti-Doping Agency    ผมคิดว่ามาตรฐานที่สำคัญที่สุด และเป็นหัวใจต่อความน่าเชื่อถือของศูนย์ คือมาตรฐานด้านความซื่อสัตย์    ที่พิเศษเป็นส่วนตัวสำหรับผมคือมี รศ. นพ. ธงธวัช อนุคระหานนท์    เพื่อนที่เรียนด้วยกันมาที่ รร. เตรียมฯ และจุฬาฯ   เป็นผู้อำนวยการ 
  
          เป็นหน่วยงานแรกในประเทศไทยที่ได้ ISO ๑๗๐๒๕   
 
          ในฐานะศูนย์แห่งชาติ  จึงมีประธานคณะกรรมการนโยบายเป็นคนนอก คือประธานคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย     ซึ่งเวลานี้คือ รมต. ท่องเที่ยวและกีฬา     และมีคนนอกมหาวิทยาลัย (มีตำแหน่งในวงการกีฬา) เป็นกรรมการหลายคน
    
          ค่าใช้จ่ายค่า reagent สูงมาก และเพื่อประหยัด ต้องตรวจทีละ ๔๐ sample    ซึ่งจะมีต้นทุนรายละ ๑๐,๐๐๐ บาท    ถ้าตรวจแค่ ๒ รายค่าใช้จ่ายต่อรายก็จะเกือบรายละ ๒ แสนบาท   

          เราออกไปชมห้อง และเครื่องมือ    ลักษณะเป็นคล้ายโรงงาน   มีเครื่องมือ GC, LCMS เต็มไปหมด  กว่า ๒๐ เครื่อง     ราคาเครื่องละ ๔ – ๑๐ ล้าน    ในพื้นที่ ๕๐๐ ตร.ม.     กำลังสร้างตึกใหม่  ๑,๕๐๐ ตร.ม.

          เรื่องโด๊ป เลี้ยงตัวเองไม่ได้    ต้องมีกิจกรรมเสริมเพื่อหารายได้     โดยเฉพาะการตรวจยา    

          มีบริษัทเยอรมันมาชวนร่วมกิจกรรม    เขาจะส่งเครื่องมือมาติดตั้งให้ฟรี     แล้วส่ง sample มาให้เราตรวจในราคาที่ตกลงกัน    เป็นความร่วมมือ ๓ ปี     ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ ยุให้รีบทำ MOU ความร่วมมือ   

          มีงานรับตรวจเป็นประจำทุกวัน    และจะมีงานใหญ่เป็นระยะๆ      งานใหญ่ ๓ งานข้างหน้า คือ งานกีฬามหาวิทยาลัยโลกในเดือน ส.ค., SEA Game ธค., ASIAN มค.

          สถานะคาบลูกคาบดอก    ไม่ใช่ของ ม. มหิดล     เป็นหน่วยงานแห่งชาติก็ไม่ชัด    ของบประมาณสนับสนุนยาก    ทำให้ดีถึงขนาดยาก     ผมจึงเสนอว่า น่าจะเสนอในระดับเป็น flagship activity ของชาติ     เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ     สร้างบทบาทในฐานะหน่วยงานที่มีขีดความสามารถระดับโลก     คือต้องคิดใหญ่ เสนอโครงการใหญ่    มองเป้าหมายที่กว้าง รวมการฝึกคนให้แก่อุตสาหกรรมเคมี 

          Intellectual Capital (IC) ที่สำคัญคือ technical competence  ที่ NDCC สั่งสมมาจากการ ทำงานร่วมกับ WADA และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ     โดยคุณค่าที่สูงที่สุดไม่ใช่ know how แต่เป็น  know why    เป็นความรู้ด้านการทดสอบที่แม่นยำ  มาตรฐานสูง  ระบบคุณภาพเคร่งครัด    เป็นความรู้ที่ฝังลึกอยู่ใน SOP – Standard Operating Procedure    และการอยู่ในวงการ cutting edge technology     (เป็นมาตรฐานที่พิสูจน์โดยระบบประกันคุณภาพของโลก คือ WADA     ศูนย์ฯ เป็นหน่วยงานเดียว ใน ๓๑ ศูนย์ในโลก ที่รายงานผลถูกต้องทุก sample ที่ WADA ส่งมาทดสอบ)       เป็น IC แก่วงการตรวจทางเคมี  วงการมาตรฐานการตรวจสอบ     แต่ประเทศไทยยังใช้ IC นี้น้อยมาก     รวมทั้งศูนย์ฯ ก็ยังไม่ค่อยได้ “เปิดตัว” ต่อสาธารณะ

         IC ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ความซื่อสัตย์     ศูนย์ฯ ต้องยืนหยัดในความซื่อสัตย์     ไม่โอนอ่อน ไม่ว่าจะเอาเงินมาง้าง หรือเอาอำนาจมาง้าง     จึงได้รับความเชื่อถือสูง
 
          IC อีกอย่างหนึ่งคือ คนสามัคคี ช่วยเหลือกัน    การทำงานใช้ระบบที่ยืดหยุ่นอยู่แล้ว     ไม่ได้ถือตามระบบราชการ     เช่นทำงานจนดึกดื่นในบางวัน   

          ผมยุให้เจ้าหน้าที่เล่าสิ่งที่ตนภูมิใจ    คุณวรรณวิมล (อ๋อย) หัวหน้างานธุรการ    เดิมทำงานเอกชน เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ     ชอบทำงานริเริ่มตั้งหน่วยงาน      ได้รับชวนมาทำงานใน “หน่วยงานระดับโลก” ในปี ๒๕๓๘    ได้รับการสนับสนุนการทำงาน และภูมิใจ      แต่ เวลานี้เจ้าหน้าที่บางคนไม่ขวนขวายเรียนรู้ปรับปรุงตนเอง     “พี่ หนูจะฝึกไปทำไม  เงินเดือนหนูตันแล้ว”     การอยู่ในระบบราชการทำให้คนไม่ขวนขวาย    

          เจ้าหน้าที่ของงานธุรการ ทำงานร่วมเก็บตัวอย่าง ส่งตัวอย่าง     ช่วยทำรายงาน    ไม่ใช่แค่ทำงานธุรการทั่วๆ ไป   
    
          ที่นี่มีลักษณะการทำงานแบบพิเศษ     คือมีการระดมพลกันทำงานแบบ “ลงแขก” เป็นระยะๆ     ไม่ใช่ทำงานแบบสม่ำเสมอไปเรื่อยๆ     ผมเดาว่าคนที่ชอบทำงานแบบ “มัน”  ช่วยกันทำงานในสภาพ “สู้รบ”  จะชอบทำงานที่นี่     และจะมีเสน่ห์ ที่ได้มีโอกาสไปทำงานในต่างประเทศเป็นระยะๆ     

          ผอ. กาญจนา แห่งศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ  ได้รับแนะนำจาก เจ้าหน้าที่ของสำนักงบประมาณ ว่าของศูนย์โด๊ปดีที่สุด     จึงติดต่อขอดูเป็นตัวอย่าง ก็ได้รับความช่วยเหลืออย่างดี     เป็นโมเดลในการทำงาน ผอ. สำนักสัตว์ทดลองแห่งชาติของตน    ที่ต้องการยกระดับงานของศูนย์
    
          ผอ. กนกพร ธรรมวณิช  ผู้ตรวจสอบของมหาวิทยาลัย    มาตรวจสอบได้รับความร่วมมือดี     ไม่เหมือนบางหน่วยงานที่จะไม่สนิทใจ      ที่นี่บริหารความเสี่ยงได้ดี     น้ำใจไมตรี  อัธยาศัย  การปฏิบัติงาน

          น่าจะประกาศให้สาธารณะทราบขีดความสามารถของ NDCC ว่าสามารถตรวจสารอะไรได้บ้าง  อย่างแม่นยำ    มีความน่าเชื่อถือระดับมาตรฐานโลก    ผมมองว่าต้องมีการตลาดหรือ customer relationship management

          NDCC มีศักยภาพในการตรวจแบบ active lab service     คือไม่ใช่แค่ตรวจแบบ routine ตามมาตรฐาน     แต่เมื่อมีการพบร่องรอยเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถตรวจด้วยวิธีการเพิ่มเติมจนสามารถหาข้อสรุปได้     และศูนย์มีโอกาสทำงานสร้างค่านิยมเชิงคุณธรรม    ที่ไม่โกง ไม่เอาเปรียบกัน     ในวงการกีฬา

          เนื่องจากเราพอมีเวลา  จึงได้มีโอกาสสนทนากันลงลึกไปจนถึงเรื่องเบื้องหลังของการตรวจโด๊ป และการรายงานผล     วงการกีฬามีการ “โกง” ด้วยวิธีการที่แปลกใหม่ที่ไม่น่าเชื่อ     ใช้ความรู้และความเสี่ยงสูง     เช่นนักกีฬาหญิงจงใจตั้งครรภ์อ่อนๆ ช่วงแข่งขัน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงที่สุด     ผมเพิ่งทราบว่าผู้หญิงร่างกายแข็งแรงที่สุดช่วงตั้งท้อง ๓ เดือน  เพราะระดับ HCG – Human Chorionic Gonadotropin สูงที่สุดในช่วงนั้น    ฮอร์โมนนี้ให้ความแข็งแรงทางร่างกาย     เป็น hormone doping แบบที่ใช้ธรรมชาติของการตั้งครรภ์

          นอกจากนั้นยังมี gene doping   ฝังยีน growth hormone ในรูปแบบต่างๆ     ฟังดูแล้ว NDCC ทำงานสร้างหลักฐานเพื่อป้องกัน และตรวจจับการโกง ในกีฬา      โดยเวลานี้ตรวจคนกับม้า

วิจารณ์ พานิช
๑๘ ก.ค. ๕๐ 

 

๑. โลโก้ชนะการประกวด

๒. รศ.นพ.ธงธวัช   อนุเคราะห์หานนท์  ผอ. ศูนย์กำลังอธิบายให้ ศ.ดร.อมร   จันทรสมบูรณ์ (ยืนหันหลัง)   ผศ.พาสน์ศิริ และ รศ.สมคิด  ในห้องปฏิบัติการ

๓. เครื่องมือราคาแพง

๔. บรรยากาศการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น

๕. อีกมุมหนึ่งของบรรยากาศในห้องประชุม

 

หมายเลขบันทึก: 116349เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2007 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ควรมีวิจารนญาณในการอ่านข้าราชการที่ดีก็มี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท