KM Corner : The greastest storytelling for me


ที่ใช้หัวข้อ KM Corner เพราะ เรื่องนี้เกิดระหว่างการเข้าร่วมงาน เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อยู่กับเบาหวาน อย่างมีความสุข และพอเพียง ที่มีอาจารย์วัลลาเป็นแม่งานสำคัญ ผมตั้งใจว่าจะบันทึก สิ่งที่ได้รับจากงานนี้ ในมุมส่วนตัว เลยไม่คิดจะเล่าบรรยากาศในงาน เพราะอาจารย์วัลลาและผู้ร่วมงานที่ประทับใจ ในงานคงค่อยทะยอยบันทึกไว้แล้วเป็นอย่างดี

มางานนี้มีความตั้งใจอันดับแรกเลยคืออยาก มารู้จักและขอรับข้อมูลที่มีคำถามในใจ  จากเพื่อนร่วม blog ที่จริตเดียวกัน เพราะคิดว่ามาคุยเองน่าจะดีกว่าอ่านผ่าน blog  รวมทั้งมีภาระกิจต้องติดต่ออาจารย์วัลลาเรื่องการอบรม DM educator ที่จังหวัดฝากมาด้วย  ระหว่างขับรถจากอุบลมากรุงเทพ ฯ ผมนั่งนึก ทบทวนเล่น ๆ ว่า เราเข้ามาใน gotoknow  และวงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้ยังไงกันเนี่ย 

เมื่อ 8 เดือนก่อน ผมนั่ง ค้นหาคำ ปฐมภูมิ, เบาหวาน จาก google  ก็พบ blog  เบาหวานพุทธชินราช ได้อ่านเรื่องราว ใน blog แล้วชอบเรื่องเล่า ต่าง ๆ มาก ผมอ่านเรื่องที่ พี่นิพัธ ทำงาน ปฐมภูมิ จิตอาสา ทั้ง ๆ ที่เป็น แพทย์เฉพาะทางใน โรงพยาบาลระดับตติยภูมิ   เป็นเรื่องเล่า การทำงาน  ที่ผมกำลังอยากรู้ พอดี รู้สึกประทับใจ เมื่อก่อนไม่รู้เลยว่าblog คืออะไร KM คืออะไร ทำอะไรกัน รู้แต่ว่าเรื่องเล่าแบบเนี้ย  ชอบมาก ( ถึงวันนี้ก็ยัง งู ปลา ไก่ กา กับ KM อยู่เลยครับ )

ก่อนหน้านี้ผมเคยบันทึกเรื่องราวที่ได้เจอระหว่างดูแลผู้ป่วยมาบ้างแล้ว เมื่อหลายปีก่อน  ประมาณ ปี 2535  จำได้เลยว่าเรื่องแรก เป็นเรื่องทำไมเพิ่งมา ( ซึ่งเป็นหนึ่งในบันทึกใน blog นี้ด้วย )  เป็นเรื่องที่ผมตอนจบมาใหม่ ๆ เข้าใจคนน้อยเหลือเกิน ผมไม่อยากให้เหตุการณ์ผ่านไปเฉย ๆ  เลยบันทึกไว้ ใน diary    ต่อมา ประมาณปี 2541 มีเด็กหญิงคนหนึ่ง ที่ต้องอดเรียน เพราะ กระบวนการดูแลที่สับสน ผอมลงมาก เป็น DM แต่วันหนึ่งกลับถูกวินิจฉัยว่าเป็น AIDS  ผมก็รู้สึกว่า ไม่น่าปล่อยให้เรื่องแบบนี้ผ่านไป ผมก็บันทึกไว้ใน diary อีกเหมือนกัน ( click อ่านที่นี่ได้ครับ )  แล้วบันทึกที่เขียนก็ถูกเก็บเอาไว้ เฉย ๆ เพราะไม่รู้จะเอาไปทำอะไรดี

ผมเลยเริ่มเข้าใจตัวเองว่า ทำไมชอบเรื่องเล่าใน Gotoknow เป็นกรณีพิเศษ เมื่อได้แรกเจอ ( ว่าเข้าไปนั่น )  จนมาถึงวันนี้ ถ้าบันทึกไหนที่เขียนเกี่ยวกับ ประสพการณ์ตรงที่พบกับคนไข้ หรืองาน  จะชอบมาก ( มารู้ทีหลังว่าเป็น tacid knowledge )     เพราะเรื่องอย่างนี้ไม่ควรปล่อนให้ผ่านไป มันอาจจะมีประโยชน์อย่างมากจนคิดไม่ถึงในวันข้างหน้าได้    ดังจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ ( ลิเก ยังไงชอบกล )

ผมนึก ๆ ระหว่างขับรถ ต่อไปว่า เอทำไม ถึงได้ชอบ และเห็นคุณค่าของเรื่องเล่า ( storytelling ) นักหนา  คุ้น ๆ เหมือนเคยประทับใจที่ไหน มาก่อนน้า       

นึกขึ้นมาได้ว่า เรื่องเล่าแบบนี้เคยได้อ่านเมื่อ 20 ปีก่อน นั่นเอง   ตอนสมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ ปี 2530 ผมได้หนังสือมาเล่มหนึ่ง ราคา 58 บาท ลดเหลือ 50 บาท 

  หนังสือราคาถูกแสนถูกเล่มนี้เหละครับที่ มีเรื่องเล่าที่มีพลัง สามารถ กำหนดทิศทางชีวิตการเป็นหมอของผม มาจนถึงวันนี้ ( ซึ่งผมเองก็ไม่รู้ตัวเลย จนมาได้ทบทวนในวันนี้ ถึงได้เข้าใจ )   หนังสือเล่มนี้ชื่อ  " บันทึกเวชกรรมไทย " ของ อาจารย์ประเวศ วะสี ที่อาจารย์ได้เขียน เรื่องเล่าที่อาจารย์ได้พบ  ระหว่างการทำงาน ดูแลสุขทุกข์ ของคน  ตั้งแต่ปี 2520 

อาจารย์เขียนเล่าถึง ป้าเมี้ยน คนอยุธยา ที่ไม่ได้ทำงาน ไม่มีเงิน เพราะเข้าใจว่า หมอไม่ให้ทำงานเพราะเป็นวัณโรค    พูดถึงลุงมาที่ต้อง เดินทางมา หลายสิบกิโล เสียเงินหลายร้อยบาท  เพื่อมารับ ยาระบายเพียงขวดเดียว  เพราะไม่รู้การรักษาตัวเองที่ทำได้ง่าย ๆ    มีเรื่อง เบาหวาน โรคแห่งความขมขื่น  เรื่องที่อาจารย์เขียนไว้เมื่อ 30 ปีก่อน แต่เราก็ยังพบทุกวันนี้      ผมไม่แน่ใจว่าจะยังมีหนังสือเล่มนี้อีกหรือเปล่า อยากให้ทุกคนที่เป็นคนดูแลสุขทุกข์ ของคนได้อ่านกันจริง ๆ 

เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินคำว่า " รักษาโรค หรือรักษาคน " ปี 2532 ผมได้อ่าน " บนเส้นทางชีวิต "  ที่มีทั้งหมด 7 เล่ม  เป็นเรื่องเล่าที่ อาจารย์เล่าเรื่องที่ได้พบพาน ตลอดเส้นทางชีวิต ตั้งแต่เด็ก จนมาเป็นหมอ หนังสือทั้ง สองเรื่อง มีอิทธิพล ต่อผมอย่างมากมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้ง ๆ ที่ระยะหลังไม่ได้มีเวลาอ่านหนังสือดังกล่าวมานานมากจนลืมไปแล้ว 

การที่ผมต้องการบันทึก เรื่องที่เจอ เพราะเสียดาย ไม่อยากให้เรื่องต่างๆ ผ่านไป ก็คงเป็น เพราะ หนังสือ 2 เรื่องนี้  การที่เมื่อเจอ blog บันทึก เรื่องเล่า แล้วผม ปิ๊งทันที ก็คงเป็นเพราะอิทธิพลของเรื่องเล่าในหนังสือทั้ง 2 เล่มนั่นเอง   ที่สำคัญการที่ผมเลือกที่จะเป็นหมอ มีความสุขกับการ ทำงาน ปฐมภูมิ ทำงานกับ คน ทำงานเวชปฏิบัติครอบครัว ( ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้จบมา ) ผมก็รู้แล้วว่า เป็นเพราะอิทธิพลเรื่องเล่า ในหนังสือ 2 เล่มนี้นั่นเอง 

พอนึกขึ้นมาได้ ประติดประต่อ ก็ถึงร้านกาแฟ แถวสีคิ้วพอดี


 เราได้เรียนรู้อะไร

1. ผมยกให้ เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ " เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อยู่กับเบาหวาน อย่างมีความสุข และพอเพียง " ถึงแม้ไม่เกียวกับ topic ของงานเลย แต่มันเกิด ในส่วนกระบวนการของการเข้าร่วมงาน เพราะถ้าไม่มางานนี้ ก็ไม่ได้ถามตัวเองว่าทำไม่ถึงชอบเรื่องเล่าแบบฝังลึกนัก  แล้วก็คงไม่ได้นึกย้อนหลังไป ว่ามาเข้า gotoknow ได้อย่างไร   จนพบเรื่องสำคัญดังกล่าว

2. เรื่องเล่า ( Storytelling ) มีพลังมากกว่าที่คิด เป็นแหล่งแรงบันดาลใจ ที่ดีที่สุดแหล่งหนึ่งทีเดียว  เรื่องเล่าบางเรื่องมีอิทธิพลถึงขนาดที่สามารถกำหนดทิศทางชีวิตของคนบางคนได้ทีเดียว  ทั้ง ๆ ที่คนเล่าก็คงไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจากเรื่องเล่าของตัวเองเช่นกัน

3. เมื่อมีแรงบันดาลใจ พบเรื่องดี ๆ จากการลงมือทำ  ที่รู้สึกว่าไม่น่าจะปล่อยให้ผ่านไป ควรบันทึกไว้ ( ใน gotoknow นี่แหละ ดี ) วันข้างหน้าอาจจะมีประโยชน์ต่อ ตนเองและผู้อื่นได้บ้าง

 

 

หมายเลขบันทึก: 115405เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2007 23:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 11:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)
ประทับใจหนังสือเล่มนี้ของอ.หมอประเวศเช่นเดียวกันค่ะ ขอบคุณคุณหมอจิ้นที่มาชวนคิดสะกิดใจกับประเด็นนี้ เห็นด้วยจริงๆว่า เรื่องเล่าที่เป็นประสบการณ์ตรงเหล่านี้มีคุณค่ามากจริงๆค่ะ ตัวเองเป็นคนที่ชอบฟังเรื่องเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ และมักจะเคยคิดเสมอว่า ทำยังไงเราจะมีที่เก็บเรื่องแบบนั้นเอาไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะไม่มีทางหาอ่านได้จากที่ไหน แล้วก็พบเหมือนที่คุณหมอจิ้นพบว่า มีหลายๆเหตุการณ์ในชีวิตของเราที่ทำให้เรามีความรู้สึกนั้นๆได้เพียงครั้งเดียว เรารู้เราคิดแบบนั้นได้เพราะเหตุการณ์นั้นๆ หากไม่บันทึกไว้ ก็จะหายไปกับกาลเวลา และมีหลายๆเรื่องที่คงจะมีประโยชน์กับคนอื่นๆแบบที่เรานึกไม่ถึง เมื่อมี GotoKnow ก็ทำให้รู้สึกเหมือนได้พบสิ่งที่อยากได้ ดีใจทุกครั้งที่ได้พบคนดีๆ บันทึกเรื่องดีๆ รู้อะไรดีๆก็อยากเก็บเอามาใส่ไว้ในนี้ เผื่อจะมีใครเอาไปใช้ประโยชน์ได้ สรุปว่า บันทึกนี้ของคุณหมอจิ้น....โดนใจจังค่ะ ขอบคุณ GotoKnow ที่ทำให้ได้รู้จักคนดีๆอย่างคุณหมอด้วยค่ะ

ดีใจที่ในที่สุดคุณหมอจิ้นก็ตอบตนเองได้

ดิฉันก็มีความฝังใจที่ผูกพันกับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะเจอผู้ป่วยเด็กชายวัยรุ่นที่เป็นเบาหวานชนิดที่ ๑ ที่มีประสบการณ์ที่แย่มาก เด็กอยู่โรงเรียนประจำ เป็นเบาหวานไม่มีใครรู้ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ฉี่บ่อย ขออนุญาตครูไปห้องน้ำ ครูไม่ให้ไปหาว่าจะแอบไปสูบบุหรี่ จนปัสสาวะราดในห้องเรียน วิชาพละได้คะแนน ๐ เพราะไม่มีแรง จนในที่สุดลุกไม่ไหวจึงได้ไปโรงพยาบาล และมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย คิดถึงทีไรสะเทือนใจทุกครั้ง ทำให้ดิฉันตั้งใจทำงานเพื่อผู้ป่วยเบาหวาน

ทุกวันนี้เรายังติดต่อกันอยู่ยาวนานมาเกินกว่า ๒๐ ปีแล้ว ขณะนี้ผู้ป่วยมี retinopathy, nephropathy ต้องพยายามทำใจกับภาวะของเขา

สวัสดีครับ คุณ โอ๋- อโณ

ผมสังเกตุ ว่าคนใน gototknow หลายคนก็ คงมีความคิด ความรู้สึกอย่างที่คุณ โอ๋ บอกเมือนกันครับ  เพราะ ในสังคม gototknow เป็น สังคม  ของ การเล่าเรื่องราว ต่าง ๆ  ที่ผมว่ามากที่สุดเท่าที่ผมเจอ  คนที่เข้ามาด้วยตัวเอง ( โดยไม่ได้ถูกบังคับ หรือ ชักจูงมา )  ก็คงเพราะ เห็นโอกาส ที่จะได้ใช้เวทีนี้บันทึกเรื่องราวที่ไม่อยากให้ผ่านไปเฉย ๆ น่าจะเป็นประโยชน์อะไรได้บ้าง หรือไม่ก็มารับโอกาสจาก เรื่องเล่าของคนอื่น เป็นสังคมที่ดีจริง ๆ ครับ

สวัสดีครับ อาจารย์ วัลลา

ผมเห็นความตั้งใจ ของอาจาย์สูงมากครับ มีสิ่งหนึ่งที่ รู้สึกได้ใน งานมหกรรมจัดการความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน  คือ ทุกคนที่จัดงานมาด้วยใจรัก  สิ่งที่แสดงออกในการ ทำงานให้บริการ ของคนทำงาน แสดงออกมาด้วยใจ สะท้อนได้ชัดเจนในผู้ป่วย ที่มาร่วมงาน  และ จะ เป็นคุณูปการต่อ คนทำงาน และ คนไข้ อีกมาก ในวันข้างหน้าครับ

 จริงอย่างที่คุณหมอพูดเลยค่ะ ว่าเมื่อมีแรงบันดาลใจพบเรื่องดีๆ จากการลงมือทำควรมีการบันทึกไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในวันข้างหน้าสำหรับตัวเองและผู้อื่น       โดยส่วนตัวแล้วได้เห็นประโยชน์ของ gotoknow มากๆทั้งในแง่ของการบันทึกและการสร้างพลังในการทำงานเมื่อได้อ่านเรื่องราวดีๆใน Blog ต่างๆ เสียดายที่มาเจอ gotoknow ช้าไปหน่อยทำให้เรื่องราวหรือแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานถูกลืมเลือนจะเขียนขึ้นมาอีกคงไม่ได้อารมณ์ความรู้สึกเท่าครั้งนั้นกระมังคะ คุณหมอ

สวัสดีค่ะ

เรื่องที่คุณหมอเล่า ก็เหมือนที่ดิฉันเล่าเรื่อง ผู้ป่วยโรคสมองฝ่อ จริงๆไม่ใช่ญาติของตัวเอง แต่ มีความรู้สึกใกล้ชิดกับเหตุการณ์มาก เพราะ เป็นทั้งเรื่องจากคุณพ่อคุณแม่เพื่อนสนิทมาก และพี่สาวจากที่ทำงานเก่าที่รักมาก และมีบุญคุณกับดิฉันด้วย ติดต่อกันมานาน

เลยอยากจะเล่า เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น และเขาก็ไม่ได้ปิดบังค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณหมอจิ้น

  •  ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ชอบฟังคนเล่า เหตุการณ์ ประสบการณ์ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติและพบเห็นจริง (ตอนหลังจึงถึงบางอ้อ (km) ว่าเขาเรียก tacit k.)
  •  มารู้จัก GotoKnow ด้วยการท่องอ่านเรื่องเล่า ทำให้หลงรักแบบติดหนึบ  (แม้ว่าในเชิงเขียนยังอ่อนอยู่ )    
  •  วันไหนไม่ได้เข้ามาอ่าน รู้สึก..ขาด..ไปอย่าง
  •   ขอบคุณคุณหมอที่ช่วยสะกิดให้ระลึกและทบทวนการเรียนรู้จาก เวทีเสมือนแห่งนี้

พลังของเรื่องเล่านั้นมีอานุภาพมากจริงๆค่ะ พลังเกิดขึ้นทั้งจากการได้ฟัง ได้เห็นสิ่งที่ประทับใจ สะเทือนใจ และจากการได้นำเรื่องที่ได้รับรู้ไปเล่า ไปบอกต่อ ตัวเองก็ไม่เคยตระหนักถึงพลังแห่งเรื่องเล่าก่อนการทำกรณีศึกษาในงานวิจัยสำหรับปริญญาเอกและได้รู้จักกับKM

เมื่อได้เห็นและตระหนักถึงถึงพลังนี้ทำให้มองเห็นช่องทางในการทำงานและการสร้างแรงบันดาลใจในทีมงาน มีประโยชน์จริงๆค่ะ

...อยากให้ทุกคนที่เป็นคนดูแลสุขทุกข์ ของคนได้อ่านกันจริง ๆ ...

นั่นซีคะสิ่งที่คุณหมอประเวศท่านเขียนเล่าไว้แม้นานหลายสิบปียังมีคุณค่าสูงจนถึงวันนี้

P
Mrs. Laddawan wipoosanapan
เมื่อ อา. 29 ก.ค. 2550 @ 09:23  

สวัสดีครับพี่

ตอนผมอ่าน "บนเส้นทางชีวิต " ของอาจารย์ ประเวส แล้ว ก็รู้ได้เลยว่าอาจารย์มีความจำเป็นเลิศครับ อาจารย์สามารถเล่าชีวิตวัยเด็ก ที่ต่างจังหวัด ได้เหมื่อนเรื่องเกิดขึ้นเมื่อวาน ผมชอบมากจนเกิดแรงบันดาลใจ หลายอย่าง  นึกไว้ในใจตั้งแต่วันนั้นเลยว่า ถ้าเจอเรื่องดี ๆ ต้องบันทึกไว้  เพราะ ความจำคงไม่ดีเหมือนอาจารย์ กลัวจะลืมในวันข้างหน้าครับ ( ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ ) ทุกวันนี้ก็ต้อง copy ที่บันทึกไว้ใน gotoknow เก็บไว้ 2-3 ที่ กลัว วันหนึ่ง gotoknow เกิดล่ม แล้วบันทึกของผมจะหายไปด้วยครับ

P
sasinanda
เมื่อ อา. 29 ก.ค. 2550

สวัสดีครับอาจารย์

เรื่องของ พี่ปริม เป็นเรื่องที่น่าสะท้อน ให้คนได้รับทราบ โดยเฉพาะ น่าจะเกิดประโยชน์กับ วิชาชีพอย่างผมนะครับ เพราะต้องเข้าใจให้ได้ว่า คนป่วยคนหนึ่ง แต่คนทุกข์หลายคน  เรากำลัง รักษาคน ร่วมกับการรักษาโรค  การรักษาโรคใช้ตำรา วิเคราะห์ วิจัย แต่การรักษาคน ใช้เรื่องเล่า ที่มีคุณค่าอย่างที่อาจารย์เล่ามาเรื่องผู้ป่วย อัลไซเมอร์ นีแหละครับ 

P
oddy
เมื่อ อา. 29 ก.ค. 2550 

สวัสดีครับ อาจารย์วิมลพรรณ

แสดงว่าเราเป็นคน คอเดียวกัน เลยได้มีโอกาส มาเจอกัน เพราะสิ่งที่ชอบเหมือน ๆ กัน นะครับอาจารย์

oddy นี่ชื่อเล่น หรือ ชื่อ ลูกสาว หรือลูกชายครับอาจารย์

P
คุณนายดอกเตอร์
เมื่อ อา. 29 ก.ค. 2550 

สวัสดีครับอาจารย์

ผมว่า วันนี้อาจารย์ เข้ามาสู่ โลกของเรื่องเล่า อย่างเต็มตัวแล้วละครับ ไม่ใช่ผู้ที่ นำเรื่องที่ได้รับรู้ ไปบอกต่อ อีกต่อไปแล้วละครับ   ด้วยความรู้เดิม บุคคลิก ความสามารถ ของอาจารย์ เหมาะสม มากครับ กับการเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีและเก่ง  หนังสือ มหัศจรรย์ แห่ง KM เบาหวาน  ก็เป็นเรื่องเล่าของอาจารย์ที่ดีมาก ๆ เลยครับ ดีใจที่เรื่องเล่าของผม ได้มีส่วนร่วมเป็นตัวละคร ( ตามที่ อาจารย์ วิจารย์ บอกไว้ ) ในหนังสือของอาจารย์ด้วยครับ

สวัสดีครับพี่หมอจิ้น...

  -  วันนี้ได้รู้และเห็นความเป็นตัวพี่เพิ่มเติมครับ....เพราะว่าพี่ได้อ่านหนังสือเดี่ยวกับที่ผมได้เคยอ่านเลยครับ

  -  วันที่อ่านหนังสืออาจารย์หมอประเวศนั้น  แบบว่าเรื่องบันทึกเวชกรรม  อ่านแล้วติดใจ  สนุกดีครับ  เรื่องเล่าก็มีเกี่ยวกับหมอ  และเรื่องราวง่ายๆสนุก  และเรื่องแถบอิสานก็มีมากหลายเรื่องครับ

 

    และผมก็ได้จดจำ  และนำมาเป็นแนวคิดในการเป็นแพทย์หลายอย่างมากครับ  ความคิดหลายอย่าง  วิถีทุกวันนี้ยอมรับว่าได้มาจากท่านอาจารย์หมอประเวศครับ   เพราะว่าผมเป็นแฟนพันธ์แท้หนังสืออาจารย์  ไม่ว่าจะเขียนเกี่ยวกับอะไรผมก็อ่านครับ  อีกแนวก็เรื่องสังคมและพุทธศาสนาครับ....

 

  หนังสือเรื่องบนเส้นทางชีวิต  ถือว่าเป็นโชคดีมากครับที่ได้อ่าน  ผมซื้อเล่มหนึ่งถึง 6 เลยครับ  เป็นเรื่องเล่าที่สนุกมากๆครับ  เหมือนกันครับ  แนวคิดบางอย่างถูกซึมซับให้ผมคิดและทำตามมาจนถึงวันนี้เหมือนกันครับ

   

           อยากจะสรุบว่า...ทุนทางความคิด...ส่วนหนึ่งของชีวิตผมที่ผ่านมา  มาจากอาจารย์หมอท่านนี้มากๆครับ  แม้ว่าไม่เคยเรียนกับท่านเลยครับ.....

 

      ผมเพิ่งจะได้เขียนจดหมายไปกราบท่านอาจารย์เมื่อปีที่แล้วเองครับ  เล่าเรื่องผม  และความเป็นมา  และความประทับใจต่ออาจารย์  อาจารย์ตอบกลัมาด้วยจดหมายด่วน  พร้อมหนังสือหลายเล่มครับ  ผมดีใจมาก  ดีใจสุดๆครับพี่หมอ...^_^ ... ^_^

    รู้สึกดีใจมากๆครับที่ได้แบ่งปันประเด็นนี้ครับ

 

สวัสดีครับ

  --  คืออ่านแล้วเหมือนรู้จักและเข้าใจพี่หมอมากขึ้นมากจากบันทึกนี้ครับ  .. แม้ไม่เคยได้คุยกัน

  - ขอบคุณกำลังใจจากพี่ทุกบันทึกที่เข้ามาแบ่งปันให้ผมนะครับ

P
kmsabai
เมื่อ จ. 30 ก.ค. 2550 

แสดงว่าเราเป็นพวกคน จริต เดียวกัน

คน จริต เดียวกัน มักจะถูกดึงดูดมาเจอกันเสมอ

ผมชอบอ่านครับ บางครั้งการอ่านก็ทำให้อยากเขียน การเขียน ทำให้รู้ว่ายากกว่าการพูด เพาระฉนั้นถ้าจะให้เขียนเหมือนพูด ก็กลับกลายเป็นว่า อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง มันสลับไปไปมา เหมือนความคิดมันไม่นิ่ง

ดังนั้นการบันทึกเรื่องเล่า น่ามาจากการเล่า(พูด) เวลาอ่านจะได้เหมือนคุยกัน ผมชอบแบบนี้ครับ 

จะพยายามเล่าครับ คุณหมอ เพราะมันคือบันทึกที่ดี เหมือที่คุณหมอแนะนำไว้ครับ

คุณเอนกลอง นึกว่ามีคนกำลังนั่งอยู่ตรงหน้าตอนเขียน แล้วก็เล่า ไปเขียนไป  บทความที่บันทึกก็จะเหมือนเรากำลังเล่าให้คนอ่านฟัง  ผมใช้ได้ผลดีเหมือนกัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท