บางที หอคอยก็มีประโยชน์


ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะ ปัญหาที่พบในชุมชน จริงๆแล้วมีสาเหตุมาจากนอกชุมชน การอยู่แต่ในชุมชนจึงไม่พอจะเห็นปัญหาชัดๆ จำเป็นต้องมองระยะไกลด้วย

วันอาทิตย์ที่ 22 กค. ขณะนั่งคุยอยู่กับนักศึกษาที่ชั้นสองบนตึก SCB  มองออกไปนอกหน้าต่างเห็นควันไฟดำกำลังพวยพุ่ง   มองจากตรงนั้น  เหตุไฟไหม้คงเกิดหลังโรงภาพยนตร์  .. ดูใกล้บ้านของเรามาก   สิ่งแรกที่ทำคือ โทรไปหาแม่   ที่บ้านไม่มีใครรู้เรื่อง

     

เสร็จแล้วเราวิ่งขึ้นไปชั้นสี่  มองลงมาอีกที   ตำแหน่งของต้นเพลิงไม่ใช่หลังโรงภาพยนตร์อย่างที่คิดตอนแรก  แต่เป็นด้านริมถนนใหญ่   ไกลบ้านไปอีกระยะหนึ่ง   โทรไปหาแม่  บอกว่าไม่เป็นไรแล้ว

  

ด้วยการเปลี่ยนตำแหน่งที่เราอยู่   ด้วยระยะใกล้ไกล สูงต่ำที่ต่างกัน  ทำให้เห็นภาพต่างกัน  มุมมองต่างกัน และความเข้าใจต่อปัญหาต่างกัน

  

ในทำนองเดียวกัน

  

หลังจากได้มีโอกาสลงพื้นที่หมู่บ้านต่างๆในช่วง 4 ปี โดยเฉพาะปีสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยใจดีให้ลา เพิ่มพูนความรู้  (โดยต้องเขียนหนังสือไปส่ง)  เราจึงได้ลงไปทำงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิดกว่าเดิม  รับรู้มุมมอง วิธีคิด วิธีแก้ปัญหาของชาวบ้านมากขึ้น   และได้เรียนรู้วิธีคิด  วิธีขับเคลื่อนงานของนักวิชาการต่างสาขามากขึ้น

  

 เมื่อเราต้องกลับเข้ามหาวิทยาลัยอีกครั้งตั้งแต่เดือนมิถุนายน   ได้คุยกับเพื่อนนักวิชาการ  เราจึงตระหนักว่า  ในรายละเอียดเรื่องวิถีชีวิตชาวบ้านที่เรารับรู้ (หลายกลุ่มจาก 13  จังหวัดนั้น)   ความรู้เรากลับไม่ทันกับสถานการณ์โลก  สถานการณ์ของประเทศในภาพรวม   เห็นภาพเล็กแต่ไม่เห็นภาพใหญ่ หรือเห็นไม่ชัด 

  

การทำงานในพื้นที่เล็กๆแบบเจาะลึก  เมื่อเข้าสู่เวทีวิชาการ น้ำหนักหมัดในการพูดคุยของเราเทียบไม่ได้เลยกับการใช้ข้อมูลที่ทำให้เห็นทิศทางในระดับประเทศที่ได้มาจากการอ่านงานของคนอื่นมากๆ หรือเก็บข้อมูลระดับประเทศ  (ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะถูกหรือผิด)

  

สิ่งที่เราอธิบายเกี่ยวกับพื้นที่ บอกไม่ได้ว่า ที่อื่นๆก็เป็นเช่นที่ว่ารึเปล่า  แม้จะอธิบายความยากลำบากในกระบวนการทำงานเพื่อผลักดันเรื่องสักเรื่อง   วิธีอธิบายจากภาพของกลุ่มเล็กๆนั้น  มีน้ำหนักเทียบไม่ได้กับวิธีอธิบายที่สามารถเชื่อมโยงสถานการณ์โลก มาสู่ประเทศ  มาสู่ภาคการผลิตในสาขาต่างๆ   ภาพจากการสัมภาษณ์คนเป็นครึ่งพันจากหลายพื้นที่ในช่วงเวลาสั้นๆแล้วนำมาประมวลทางสถิติ ก็ดูน่าทึ่ง   แม้จะไม่มีการพูดถึงรอยยิ้มหรือน้ำตาผู้คนในคำอธิบายเหล่านั้น  แต่เขาก็คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น   บอกกันว่าใครได้ใครเสีย 

ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะ ปัญหาที่พบในชุมชน  จริงๆแล้วมีสาเหตุมาจากนอกชุมชน   การอยู่แต่ในชุมชนจึงไม่พอจะเห็นปัญหาชัดๆ   จำเป็นต้องมองระยะไกลด้วย

  

คงไม่ต่างจากที่แม่ซึ่งอยู่ที่บ้าน ไม่รู้ว่าไฟกำลังไหม้ใกล้บ้าน   เราอยู่ไกลกว่าแต่อยู่ในระยะสูงกว่า เห็นภาพกว้าง เห็นสถานการณ์รอบๆมากกว่า   บอกทิศทางเตือนภัยได้ดีกว่า   แต่ไม่ได้ลงไปช่วยแก้ปัญหาโดยตรง   และไม่รู้ว่า  คนในบริเวณเกิดเหตุจริงๆแล้วกำลังคิดอะไร  แก้ปัญหากันอย่างไร    

  

คำถามคือ นักวิชาการควรจะอยู่ที่ตำแหน่งไหน  ประสิทธิภาพการสื่อสารระหว่างผู้อยู่บนหอคอยกับผู้อยู่ในพื้นที่เป็นอย่างไร

        

คิดว่ามีสองทางที่จะเป็นทางออก  ทางหนึ่ง คือ การใช้วิธีวิ่งขึ้นวิ่งลง      ทางที่สองคือ  การสร้างระบบสื่อสาร

  

ที่ผ่านมา คนวิ่งขึ้นวิ่งลงยังน้อย    ระยะเวลาอยู่ในพื้นที่ยังสั้น    และระบบสื่อสารระหว่างนักวิชาการกับชาวบ้านยังอยู่กันคนละฐานคิด คนละฐานภาษา

  

เราคิดว่า  อย่างไรเสีย  สังคมยังต้องการคนที่อยู่บนหอคอย  คอยมองช่วยเตือนภัย  หาทิศทางที่ดีกว่า     แต่ก็นั่นแหละ   ถ้าหอคอยไม่สูงจริง  อยู่แค่ชั้นสองก็มองพลาดได้    หอคอยสูงๆ ก็ต้องการระบบสื่อสารทั้งจากล่างขึ้นบน และบนลงล่าง  ซึ่งนักวิชาการยังทำงานได้ไม่ดีพอ   และยังไม่มีกลไกอื่นๆช่วยทำงานตรงนี้

  
หมายเลขบันทึก: 115145เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2007 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ อาจารย์ปัทมาวดี

  • บันทึกของอาจารย์ ชวนคุยเรื่องนี่น่าสนใจนะครับ ซึ่งผมก็ว่าจะนำเรื่องทำนองนี้มาลงเหมือนกัน เร็วๆนี้
  • อยู่หอคอย หรืออยู่ข้างล่าง ผมว่าเราไม่สามารถตัดสินได้ว่าอย่างไหนดีกว่าอย่างไหนเสมอไป อันนี้ผมเห็นด้วย เพราะแต่ละมุมมอง ล้วนมีจุดอ่อน จุดแข็งในตัวของมันเอง
  • ประเด็นว่าหอคอย กับข้างล่าง จะไปอย่างไหนดี ผมว่ามันเป็นคำตอบที่รังแต่จะเจอทางตัน เป็น dilemma และไม่สร้างสรรค์เท่าไร
  •  อยู่หอคอย แต่สายตาสั้น ก็ไร้ค่า อยู่หอคอย แต่ไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับการเห็นไฟไหม้ ทำนองเดียวกับ อยู่ติดดิน แต่สายตายาว และไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับการใช้เท้าเปล่าสัมผัสหญ้านุ่มๆ อย่างนี้ล้วนสูญเปล่า
  • ประเด็นจึงไม่น่าจะอยู่ที่คุณยืนอยู่ที่ไหน แต่น่าจะอยู่ที่ว่าคุณคิดรู้สึกและลงมือทำอะไรกับสิ่งที่คุณสัมผัส ณ จุดที่คุณยืนมากกว่า
  • ผมไม่คิดว่ามนุษย์ทุกคนจะถูกครอบงำเบ็ดเสร็จจากบริบทและสภาพแวดล้อมนะครับ

ขอบคุณสำหรับการแลกเปลี่ยน และมุมมองดีๆค่ะ

ดิฉันเห็นว่า สังคมต้องการคนยืนอยู่หลายๆจุด เพื่อให้เกิดมุมมองหลากหลายรอบด้าน  แต่ที่สำคัญคือ ต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะว่า นอกจาก ยืน..มอง..แล้วต้องคิดและลงมือทำด้วย

เคยเจอบันทึกอยู่บทหนึ่ง เขียนคล้ายๆกับเรื่องนี้ว่า

A vision without a task is a dream;
A task without a vision is drudgery;
A vision and a task is the hope of the world
  • ตามมาทักทายพี่ปัท
  • มีประโยชน์จริงๆๆด้วย
  • พี่สบายดีไหมครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท