นั่งตอบคำถามกรรมการประเมินคุณภาพภายใน


                เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาครับ ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมในการตอบคำถามให้กับกรรมการตรวจประเมินคุณภาพภายใน ที่มาตรวจเยี่ยมคณะครับ  กำหนดการในวันนั้นคืออ่านรายงานในตอนเช้า ส่วนช่วงบ่ายเป็นการสัมภาษณ์เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมครับ ไล่มาตั้งแต่นักศึกษาระดับ ป.โท และป.ตรี ทุกสาขาวิชา รวมทั้งคณาจารย์ทั้งใหม่และเก่ารวมกัน ผมอยากบันทึกเพื่อเป็นข้อคิดในการพัฒนาการประกันคุณภาพและการตรวจเยี่ยมในครั้งต่อไปครับ

                  ๑) กรรมการต้องมีการเตรียมตัวมาอย่างดี คือ นอกจากอ่านรายงานการประเมินตนเองของคณะก่อน ที่จะมาตรวจเยี่ยม หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเชิญ คณาจารย์หรือนักศึกษาไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ก่อนการมาตรวจเยี่ยม 

                   ๒) การตรวจเยี่ยมนอกจากจะตรวจหาหลักฐานและปรับคะแนนต่างๆแล้ว เวลาส่วนใหญ่น่าจะให้อยู่ที่การแลกเปลี่ยนวิธีการทำงานระหว่างผู้มาตรวจกับผู้รับการตรวจ เพื่อปรับปรุงหรือพัฒนางานของคณะ จะทำให้การทำงานในปีต่อไปมีการพัฒนามากยิ่งขึ้น

                  ทำให้ผมได้ข้อคิดว่าสิ่งที่ผมจะไม่ทำเลย หากต้องไปตรวจเยี่ยมหน่วยงานอื่นคือ ถามปัญหาที่รู้อยู่แล้วว่าคำตอบคืออะไร แต่ถามเพื่อต้องการเสียงสนับสนุนของการบ่น ต่อข้อจำกัดในการทำงานที่อยู่นอกเหนือจากอำนาจของคณะ และที่สำคัญคือเมื่อรู้ถึงข้อจำกัดนั้น กลับไม่บอกวิธีการแก้ไขเพื่อพัฒนาและปรับปรุงการทำงาน กลับกลายเป็นเวทีที่มาแลกเปลี่ยนเสียงบ่นให้กันฟัง

                  จริงๆแบบนี้ก็มีข้อดีคือช่วยระบาย และสร้างการเห็นอกเห็นใจกัน แต่ประเด็นสำคัญที่ผมต้องการคือ ทำอย่างไร หรือ ใครบ้างที่สามารถทำงานได้สำเร็จ และมีวิธีการในการหลุดพ้นจากปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร น่าจะมาแลกเปลี่ยนกัน เนื่องจากเราทำอะไรไม่ได้กับข้อจำกัด ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ต้องทำอะไรเลย แต่เราควรต้องหาวิธีการทำงานให้สำเร็จ ภายใต้ข้อจำกัดนั้นต่างหาก ผมอาจเป็นคนที่โลภมากเพราะหวังผลในการทำงานไว้สูงอีกแล้ว

คำสำคัญ (Tags): #hcu#hcuqa
หมายเลขบันทึก: 115044เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2007 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนท่านอาจารย์มณฑล

ถ้าให้ครบสมบูรณ์จริงแล้ว

  • คณะกรรมการต้องประชุมกันมาก่อนล่วงหน้าวันประเมินจริง เพื่อการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ พร้อมทั้งกำหนดตัวบุคคลที่ต้องการสัมภาษณ์ และแจ้งให้หน่วยงานทราบก่อนล่วงหน้า เพื่อเตรียมคน สถานที่ เวลา
  • เท่าที่ผมเห็นส่วนมากคณะกรรมการต้องการเป็นส่วนตัวในการตรวจหลักฐาน และประชุมตัดสินผล จะเรียกเฉพาะเมื่อมีข้อสงสัยเท่านั้น
  • สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกรรมการและผู้รับตรวจ คือ ช่วงการรายงานด้วยวาจา ซึ่งช่วงนี้กรรมการจะเปิดโอกาสในการซักถาม แลกเปลี่ยนกันครับ
  • สิ่งที่สำคัญของกระบวนการประเมิน ผมคิดว่า การแสดงบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนอย่างเต็มที่ อยู่ในกรอบ พร้อมทั้งให้เกียรติกันครับ

หลักการจริงๆของการประเมินคือ เพียงเพื่อต้องการให้คนภายนอกมาเป็นกระจกสะท้อน ในสิ่งที่จริงๆหน่วยงานก็รู้อยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมนะครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท