ข้อคิด ฟังธรรม (1) : “คาถา” ระงับโกรธ + เสือ สิงห์ กระทิง แรด


ช่วงเที่ยงวานนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสฟังธรรมะที่สนุกสนานเป็นอย่างยิ่ง โดย พระครูสุวิมล ธรรมวาที รองเจ้าอาวาส จากวัดใหม่ทุ่งคา อ.รัตภูมิ นี่เอง จนคนที่ไม่ได้ฟังอดแซวไม่ได้ว่า ไปฟังพระ หรือไปฟังตลกกัน อิ อิ ก็เป็นอันว่าไปฟังพระเทศน์สนุก ๆ มาค่ะ ผู้เขียนได้บันทึกข้อคิดดี ๆ มากมาย จนต้องขอนำมาเก็บไว้ในบันทึกตามความเข้าใจ (แบบสรุป ๆ และไม่เรียงหัวข้อน๊ะ (แบบว่ามันเยอะมาก)

 

  • สิ่งไหนที่ไม่ได้คิดมักจะสำเร็จ(เสมอ)
  • ปัญหาเรื่องไม่ได้กินนั้นเรื่องเล็ก แต่ไม่ได้ ฉัน (กิน) เรื่องใหญ่กว่า
  • ใจเราก็เปรียบเหมือน แอ่งน้ำ และกิเลส (ความโลภ โกรธ หลง) ก็เปรียบเสมือน ตอไม้ ภายใต้แอ่งน้ำก็จะมีตอไม้อยู่เสมอ แต่เมื่อใดที่น้ำแห้ง ตอไม้ก็จะผุดขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราต้องให้แอ่งน้ำนั้นเต็มอยู่เสมอ สุดท้าย ตอไม้ก็จะสลายไปเอง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องฝึกฝนจิตใจเรา อย่าให้ตอ(กิเลส)ผุด
  • ไม่มีอะไรที่สบายที่สุด (ทุกอย่างต้องอยู่ในความพอดี) หากเรานั่งอยู่นาน ๆ เราก็มักจะบอกว่า การนอน สบายที่สุด แต่ลองถามคนป่วยที่นอนในโรงพยาบาลดูสิ เขาก็อยากลุกขึ้นนั่ง หรือเดินเล่นเหมือนกัน
  • คนในสังคมมี 3 ประเภท
    1.          ตาเดียว นั่นคือมีตาโลก หรือตาธรรมเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ตาโลกจะมีความโลภ อยากได้ อาฆาต โกรธ รู้เรื่องโลกแต่ไม่รู้เรื่องธรรม หรือรู้เรื่องธรรมอย่างเดียวแต่ไม่เข้าใจโลกก็ดำเนินชีวิตยาก
    2.          สองตา มีทั้งตาโลกและตาธรรม คนผู้นี้จะใช้ชีวิตอย่างเข้าใจ และมีศิลปะในการครองชีพ
    3.          ตาบอด คนประเภทนี้อันตรายมาก มืดทั้งความรู้ทางโลกและความรู้ทางธรรม
  • คนบางคนจะเข้าวัดต่อเมื่อ ไปสะเดาะเคราะห์ ดวงไม่ดี เป็นต้น แต่ก็มีอีกหลายคนไม่เข้าวัดเพราะ ตัดบ่วงไม่ขาด ภาระมากมายไม่สามารถไปวัดได้ ฉลาดกว่าพระเทศน์ เศรษฐกิจไม่อำนวย สังขารไม่อำนวย พระบอกหวยไม่ถูก (หวย = หายนะ, ว-วินาศ, และย ยับเยิน) และวัดไม่ผูกศรัทธา
  • ผีขี้เกียจ เสนียจจัญไร อยู่กับใคร บรรลัยทุกคนฯ(จดไม่ทัน)
  • "คาถา" ระงับ "ความโกรธ" (ผู้เขียนชอบมาก ๆ ) นั่นก็คือ สูดหายใจยาว ๆ ลึก ๆ ท่องในใจว่า
    มีอะไรน่าโกรธ อย่าโทษเขา  ต้องโทษที่ใจเราไม่เข้มแข็ง
    เรื่องน่าโกรธ ไม่ว่าจะมาแรง     ถ้าใจแข็งเหนือกว่า ชนะมัน
    ถ้ายังโกรธอีก ให้หายใจยาว ๆ ลึก ๆ ท่องในใจต่ออีกว่า
    เขาว่าเรา เราอย่าโกรธ ลงโทษเขา ในเมื่อเรานี้ไม่เป็นเช่นเขาว่า
    หากเราเป็นจริงจัง ดังวาจา       เมื่อเขาว่า อย่าโกรธเขา เราเป็นจริง
  • ตอนนี้คงจะจบด้วย คุณลักษณะที่เหมาะสมของทุก ๆ คน นั่นคือ "เสือ สิงห์ กระทิง แรด"
    - เสือ ไม่กินของเสีย กินของที่สะอาด ไม่ฉ้อโกง
    - สิงห์ ภาวะความเป็นผู้นำ สง่างาม (จ้าวป่า)
    - กระทิง ต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ
    - แรด มีความอดทน ไม่ท้อถอย

สรุปว่า ต้องกินอย่างเสือ อยู่อย่างสิงห์ สู้อย่างกระทิง อดทนอย่างแรด (เอาเป็นว่าใครว่าเรา "แรด" เราต้องขอบคุณเพราะนั่นเป็น คำชม ต่างหาก) 

ตอนนี้คงจบลงเพียงเท่านี้ยังมี "คุณธรรมตามหลักปรัชญาเศรษกิจพอเพียง" ในตอนหน้าค่ะ  (อ้อ !! ต้องขอบคุณกรรมการ สสพ. ทุกท่านค่ะ ที่จัดกิจกรรมดี ๆ ให้พวกเราทุกคนค่ะ)

หมายเลขบันทึก: 114658เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2007 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

P

คาถานี้ดีมากค่ะ จะขอนำไปใช้บ้างค่ะ

  • "คาถา" ระงับ "ความโกรธ" (ผู้เขียนชอบมาก ๆ ) นั่นก็คือ สูดหายใจยาว ๆ ลึก ๆ ท่องในใจว่า
    มีอะไรน่าโกรธ อย่าโทษเขา  ต้องโทษที่ใจเราไม่เข้มแข็งเรื่องน่าโกรธ ไม่ว่าจะมาแรง     ถ้าใจแข็งเหนือกว่า ชนะมัน
    ถ้ายังโกรธอีก ให้หายใจยาว ๆ ลึก ๆ ท่องในใจต่ออีกว่า
    เขาว่าเรา เราอย่าโกรธ ลงโทษเขา ในเมื่อเรานี้ไม่เป็นเช่นเขาว่า หากเราเป็นจริงจัง ดังวาจา       เมื่อเขาว่า อย่าโกรธเขา เราเป็นจริง
  • สาธุ..คะคุณน้อง

    ได้ข้อคิดดีมากมาย โดยเฉพาะคาถาระงับโกรธ (ถึงคราวโกรธทีไร คาถามาช้าทุกที...อิอิ...)

    มีความสุขในวันหยุดนะคะ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท