survival of the fittest


ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการ การคัดสรรตามธรรมชาติ และ "ความฟิต"

ฟ้าครับ

ผมสังเกตเห็นว่าวลีที่ว่า survival of the fittest มักจะถูกเข้าใจผิดอยู่เสมอ ๆ

พอดีเพิ่งเห็นโฆษณาหนังฮอลีวู้ดเรื่อง Alien vs. Predator ที่มีซับไตเติลอย่างที่ว่ามานี้ ชวนให้นึกถึงในอีกหลาย ๆ กรณี รวมทั้งเรื่องแนวคิดทางสังคม และการเมือง ที่มักอ้างสิ่งที่เรียกว่า "ทฤษฎีวิวัฒนาการ" ของชาร์ลส์ ดาร์วิน แล้วเหมาสรุปเอาว่า ดาร์วินพูดว่า สิ่งมีชีวิตที่เข้มแข็ง (ฟิต) ที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอด

ก็อาจจะจริงบางส่วนครับ แต่เป็นส่วนน้อย ปัญหาอยู่ตรงความหมายของ "ความเข้มแข็ง" นี่แหละครับ ในกรณีของการคัดสรรตามธรรมชาติ ความเข้มแข็งควรต้องหมายถึง "ความเข้ากันพอดี" มากกว่า และบ่อยครั้งไม่ใช่ผู้ที่เข้มแข็งทางร่างกายจะเป็นผู้อยู่รอดเสมอไป กุญแจสำคัญอยู่ที่ "ความเข้ากันได้พอดี" กับสิ่งแวดล้อมและเวลาต่างหาก ภาษาไทยพูดง่าย ๆ ว่า "ถูกกาลเทศะ" 

สปีชีส์ต่าง ๆ จะปรับตัวเองเข้าหาสิ่งที่ดาร์วินเรียกว่า “ความลงตัวพอดีในธรรมชาติ (the economy of nature)” โดยสวมเข้าไปในสิ่งที่เรารู้จักกันในชื่อว่า “ช่องที่ให้แสดงบทบาทได้ในระบบนิเวศ (ecological niche)” เช่น ปลาคาร์ปถนัดที่จะสวมตัวเองเข้าไปแสดงบทบาทอยู่ในน้ำ ขณะที่หมีเก่งในสภาพแวดล้อมบางอย่างบนบก แต่แม้ว่าหมีตัวหนึ่งจับสมาชิกตัวหนึ่งในฝูงปลาคาร์ปกินเป็นอาหาร ปลาและหมีต่างก็ไม่ได้เป็นคู่แข่งซึ่งกันและกัน สำหรับสัตว์ทั้งสองชนิดอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมเหมือนกับอากาศเท่านั้นเอง สมมติว่ามีปลาคาร์ปตัวหนึ่งที่มีฆาณประสาทที่ช่วยให้มันว่ายน้ำหนีออกจากฝั่งลงไปยังน้ำลึกเมื่อหมีเข้ามาใกล้ เมื่อมองในเชิงแข่งขันปลาตัวนั้นย่อมมีภาษีดีกว่าปลาตัวอื่น ๆ ที่ว่ายน้ำอยู่ใกล้ฝั่งแล้วถูกจับกิน

ในทำนองเดียวกันถ้าหมีตัวหนึ่งจับปลาเก่ง มันก็ย่อมมีภาษีดีกว่าหมีตัวอื่น ๆ ที่จับปลาเก่งน้อยกว่าแล้วต้องหิวโซ ในกรณีทั้งสองนี้ยีนที่ทำให้ปลาตัวนั้นหรือหมีตัวนั้นเก่งกว่าตัวอื่น ๆ ก็จะแพร่กระจายออกไปในสปีชีส์ของมัน เพราะว่าในแต่ละกรณีสัตว์ตัวนั้นย่อมมีโอกาสมากกว่าที่จะมีชีวิตรอดและสืบพันธุ์แพร่ลูกหลานต่อไป มากกว่าสมาชิกตัวอื่น ๆ ในสปีชีส์เดียวกัน
นี่คือความหมายทั้งหมดของคำว่า “ความเหมาะสม (fitness)” ในแบบของดาร์วิน ไม่ใช่ความฟิตของนักกีฬาที่มักจะหมายถึงความแข็งแรงและว่องไวทางร่างกายเป็นหลัก (แม้ว่าคุณสมบัตินั้นจะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ตาม) แต่เป็นความเหมาะสมแบบเดียวกับที่ลูกกุญแจสามารถเข้าไปอยู่ในรูกุญแจได้อย่างพอดิบพอดี หรือเหมือนกับชิ้นตัวต่อจิ๊กซอว์ที่สวมได้พอดีในรูปใหญ่ สปีชีส์แต่ละสปีชีส์ รวมทั้งสมาชิกแต่ละตัวในสปีชีส์นั้น สวมเข้าไปได้พอดีกับช่องทางในระบบนิเวศในทำนองนี้

ตลอดประวัติศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่บนโลกนี้ วิวัฒนาการเป็นไปในทางที่เกื้อหนุนให้สปีชีส์ต่าง ๆ  ปรับตัวให้เข้ากับช่องทางที่มันจะแสดงบทบาทได้อย่าง “แนบเนียน” มากขึ้น

กระบวนการวิวัฒนาการใช้วัตถุดิบจากความหลากหลายที่เกิดขึ้นในการสืบทอดทางพันธุกรรมที่เราได้พูดถึงมาแล้วก่อนหน้านี้ เมื่อยีนถูกคัดลอก (บางครั้งก็ไม่สมบูรณ์) ถูกสลับที่กัน และถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง และก็เพราะว่าการคัดลอก ดีเอ็นเอ นั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบเสมอไป ดังนั้นวิวัฒนาการจึงเกิดขึ้นในสปีชีส์ต่าง ๆ เช่นแบคทีเรีย ซึ่งสืบพันธุ์แบบไม่มีเพศ แม้ว่าจะเป็นไปอย่างช้า ๆ หากเทียบกันในแต่ละรุ่น

ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีแล้วมิฉะนั้นมนุษย์เราอาจจะไม่ได้มีชีวิตรอดอยู่อย่างที่เป็นอยู่ก็ได้ แต่การแข่งขันกันในระหว่างปัจเจกแต่ละตัวเป็นสิ่งที่รับรองว่ามีการคัดเลือกตามธรรมชาติในระหว่างปัจเจกจำนวนมากมายและหลากหลายที่มีอยู่ในแต่ละรุ่น โดยพวกที่พอเหมาะพอดีที่สุดกับสิ่งแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่เท่านั้นที่จะอยู่รอดได้ดีที่สุดและผลิตลูกหลานได้มากที่สุด สมมติว่าถ้าจงอยปากที่ยาวกว่าช่วยให้นกฮัมมิงเบิร์ดดูดน้ำหวานได้มากกว่าและมีชีวิตรอดสามารถผลิตลูกหลานได้ ในแต่ละรุ่นนกที่มีจงอยปากยาวก็จะมีภาษีดีกว่าพวกที่จงอยปากสั้นกว่าแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปหลาย ๆ รุ่นความยาวเฉลี่ยของจงอยปากของสมาชิกในสปีชีส์นั้นก็จะเพิ่มขึ้น

เรื่องวิวัฒนาการนี้เป็นเรื่องที่สนุกมาก และมีเรื่องใหม่ให้เรียนรู้และถกเถียงกันอยู่เสมอ เช่น กรณีข้อถกเถียงเกี่ยวกับ sociobiology ที่พันไปถึงเรื่องสังคมและการเมือง เอาไว้วันหลังจะเอามาุคุยให้ฟังนะครับฟ้า 

(ข้อความบางส่วนดัดแปลงมาจากหนังสือ "จากอณูถึงอะตอม" โดยสำนักพิมพ์สารคดี) 

หมายเลขบันทึก: 114547เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2007 18:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เขียนได้ดีจัง เขียนลงอีกนะคะ

ขอบคุณครับ ถ้าจะมีส่วนดีก็ยกประโยชน์ให้หนังสือที่ชื่อ Almost Everyone's Guide to Science โดย John&Mary Gribbin ที่มีวิธีอธิบายและตัวอย่างดี ๆ มากมาย โชคดีที่เพื่อนผมชื่อบัญชาชวนไปร่วมแปลหนังสือเล่มนี้ออกมาเป็นภาษาไทย ชื่อว่าจากอณูถึงอะตอม ผมก็เลยพลอยได้อะไรดี ๆ ไปด้วย

ส่วนที่ทิ้งท้ายไว้ว่าจะเขียนเรื่องที่โยงไปถึงสังคมและการเมือง สุดท้ายก็ยังไม่ได้เขียนลงใน gotoknow แต่ผมได้เขียนเป็นเรื่องลงในนิตยสารสารคดี ถ้าสนใจอ่านได้จาก link ข้างล่างนี้นะครับ

http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=912

นเรศ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท