ย้อนรอยเส้นทาง PhD ของโอ๋-อโณ (15): โรงเรียนอนุบาลและสถานเลี้ยงเด็กปฐมวัยที่เพิร์ธ


เรื่องที่เขียนเล่าไว้ในวารสารสายใยพยา-ธิตอนนี้ ความจริงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับลูกๆ ที่น่าจะเอาไปไว้ในบล็อกอันเนื่องมาจากลูกๆ  แต่ก็เป็นประสบการณ์ของคุณแม่ที่คิดว่าลงไว้ต่อเนื่องกันตรงนี้เลยดีกว่านะคะ


โรงเรียนอนุบาลและสถานเลี้ยงเด็กปฐมวัย

ที่ UWA มีนักศึกษาและบุคลากรที่มีลูกเล็กๆเยอะมาก (ที่ออสเตรเลียใครๆก็เป็นนักศึกษาได้ถ้าต้องการและมีศักยภาพเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องโสดและเด็กนะคะ) ทำให้เขาจัดให้มีสถานที่บริการรับดูแลเด็กเล็กที่เป็นลูกหลานของบุคลากรและนักศึกษาถึง 2 ที่คือภายในบริเวณวิทยาเขตใหญ่ และที่วิทยาเขตโรงพยาบาล QEII (อ่านว่า คิวอี ทู ย่อมาจาก Queen Elizabeth the second) แต่ที่ที่ฮิตที่สุดก็คือใน main campus ที่มีชื่อว่า Uni Care ซึ่งต้องจองล่วงหน้าคล้ายๆกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยของม.อ.ของเรา

พวกเรานักเรียนทุน  AusAID ก็จะมีสิทธิพิเศษเหนือกว่าคนทั่วไปเล็กน้อย ตอนนั้นน้องฟุง อายุเพิ่งจะเต็ม 2 ขวบยังพูดไม่ได้ด้วยซ้ำ (เป็นเด็กพูดช้ากันทั้งบ้าน) แต่พอพาไปเป็นเพื่อนลูกของเพื่อนชาวเนปาลที่ Uni Care ปรากฏว่าลูกของ Uma ที่ไม่มีคนเลี้ยง (พ่อเขามาด้วยไม่ได้) จะต้องอยู่ Uni Care แน่ๆ กลับร้องไห้ไม่อยากอยู่ แต่น้องฟุงคนไปเป็นเพื่อน happy มากจนพ่อกับแม่เห็นว่า คงจะมีประโยชน์กับลูก ก็เลยสมัครให้เสียเลย เราได้รับความช่วยเหลือค่าบริการจากรัฐบาลออสเตรเลียด้วย จ่ายเพิ่มอีกเพียงเล็กน้อย ค่าบริการเต็มๆเมื่อเทียบกับที่เลี้ยงดูเด็กปฐมวัยที่อื่นๆ นั้นค่อนข้างแพง (ประมาณ 200 เหรียญต่อสัปดาห์ แพงกว่าค่าเช่าแฟลตอีกค่ะ) คงเพราะมาตรฐานของเขาสูงและเป็นที่ต้องการมากนั่นเอง ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1972 คุณครูใหญ่เป็นคนน่ารักมาก เด็กๆชอบ พวกพี่เลี้ยงแต่ละคนก็ดูเหมือนว่าเขาคัดมาอย่างดี แม้จะไม่สูงวัย บางคนก็สัก 20 กว่าๆเท่านั้น แต่ดูพวกเขาเข้าใจเด็กกันดีมาก ฝึกให้มีระเบียบวินัยแต่ได้เล่นสนุกสนาน

น้องฟุงมีเพื่อนเยอะ (ทั้งๆที่ยังพูดไม่เป็นภาษาอะไรเลย ไปแอบดูก็เห็นเขาสื่อสารภาษาอะไรไม่รู้กับเด็กอื่นๆและพี่เลี้ยง ดูรู้เรื่องกันดี) ช่วงหลังๆที่พูดได้บ้างแล้ว น้องฟุงเป็นคนกำหนดว่าให้พูดไทยที่บ้าน เขาอยากพูดไทยได้ จะเป็นคนคอยฟ้องพ่อแม่เวลาพี่ๆพูดกันเป็นภาษาอังกฤษ

มีวีรกรรมหลายๆเรื่องของน้องฟุงที่นั่น แต่ที่จำได้แม่นเรื่องหนึ่งก็คือ วันหนึ่งที่ไปส่งน้องฟุงแล้วเขาวิ่งเข้าห้องไปก่อน เราต้องร้องเรียก มีคุณพ่อคุณแม่ชาวญี่ปุ่นได้ยินเราเรียกน้องฟุง ก็หันมาถามว่า คนไหนคือน้องฟุงเหรอ เราก็ชี้ให้ดูแล้วถามว่า มีอะไรเหรอ เค้าบอกว่า ลูกสาวเค้าบอกว่า โตขึ้นจะแต่งงานกับฟุง (ย้ำหน่อยนะคะว่า เด็กๆเค้าอายุ 2 ขวบกว่าๆเท่านั้นเอง) เราหัวเราะขำขันกันจะแย่


คิดแล้วน่าดีใจแทนคนที่โน่นนะคะ ว่าชีวิตนี้อยากเรียนตอนไหนก็ได้ เขาสนับสนุนให้เรียนไม่ว่าจะเป็นเมื่อไหร่  แล้วก็ไม่ได้ให้เราทิ้งครอบครัวโดยเฉพาะคนที่มีลูกเล็กๆซึ่งเป็นวัยที่เขาต้องการพ่อแม่เกือบจะตลอดเวลา นี่ตอนก่อนจะกลับ ได้ยินว่าเขาจัดให้มีที่สำหรับคุณแม่คุณพ่อที่มีลูกเล็กๆ ที่สามารถทำงานอ่านเขียนโดยมีลูกๆอยู่ใกล้ๆได้ เป็นกลุ่มเดียวกัน คือไม่กวนคนไม่มีภาระ เรียกว่าอำนวยความสะดวกให้กันทุกวิถีทางทีเดียว

หมายเลขบันทึก: 114197เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2007 23:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2014 19:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท