วันนี้ได้เก็บประเด็นของการนำการจัดการความรู้ เข้าไปช่วยในการรวบรวมประสบการณ์และข้อค้นพบ "วิจัยชุมชน" ที่เจ้าหน้าที่นำเข้าไปใช้เป็นเครื่องมือทำงานกับเกษตรกรในเนื้อหาวิสาหกิจชุมชน
มีการออกแบบกรอบการจัดเก็บข้อมูล คือ เรื่องกระบวนการปฏิบัติงาน เรื่องการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน เรื่องผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เรื่องปัญหาอุปสรรคในการทำงานวิจัยชุมชนที่ผ่านมา และเรื่องกลยุทธ์/ทิศทางการทำงานวิสาหกิจชุมชน
หลังจากนั้นจึงแบ่งกลุ่มเจ้าหน้าที่ตามความสนใจเข้าไประดมประสบการณ์ในกลุ่มของตนเอง ที่ตนเองได้ไปทำจริงมาตามกรอบเนื้อหาทั้ง 5 เรื่องดังกล่าว
เมื่อแต่ละกลุ่มทำเสร็จแล้ว ก็มีการแลกเปลี่ยนและเติมเต็มข้อมูลกันโดยการหมุนเวียนเจ้าหน้าที่และมีเจ้าของกลุ่มเนื้อหาเดิมเป็นคนเล่าให้ฟังก่อน แล้วจึงเปิดโอกาสให้ซักถามและเติมข้อมูล
ซึ่งข้อมูลที่เกิดขึ้นได้สรุปโดยใช้เครื่องมือ Mind Map ที่ใช้เทคนิคการระดมสมอง และการสนทนากลุ่ม ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลก็ใช้วิธีการจัดหมวดหมู่ แยกแยะ และสรุปผล คือ
เรื่องที่ 1 กระบวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
เรื่องที่ 2 การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน
เรื่องที่ 3 ผลการเปลี่ยนแปลงเบื้องต้น
เรื่องที่ 4 ปัญหาอุปสรรคในการทำวิจัยชุมชนที่ผ่านมา
เรื่องที่ 5 กลยุทธ์/ทิศทางการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน
ดังนั้น การสรุปผลข้อมูลทั้ง 5 เรื่อง จึงมาจากประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ที่ลงไปปฏิบัติกับเกษตรกร แล้วนำข้อเท็จจริงมาคุยแลกเปลี่ยนและสรุปร่วมกัน แล้วจัดเก็บเนื้อหาสาระดังกล่าวโดยใช้เครื่องมือ Mind Map
จากการสังเกตและการร่วมกระบวนการปฏิบัติพบว่า
1. เจ้าหน้าที่ที่ลงมือทำจริง จะใช้เวลาในการคุยกันไม่นานก็เกิดเนื้อหาและสรุปข้อมูลได้
2. เจ้าหน้าที่ที่ผ่านประสบการณ์การปฏิบัติจริงค่อนข้างน้อย ยังมีกรอบคิดและกรอบการทำงานในเรื่องวิจัยชุมชน เนื้อหาสาระของวิสาหกิจชุมชน และบทบาทในงานส่งเสริมการเกษตร ที่ยังไม่ชัดเจน เช่น มุ่งเน้นที่การตีความ มุ่งเน้นที่ความถูก/ผิด หรือ ใช่/ไม่ใช่ เป็นต้น
3. การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำจริง ถ้าได้ลงมือทำหลาย ๆ ครั้งก็จะทำให้การสื่อสารเกิดความเข้าใจกันง่าย แต่ถ้าลงมือทำเล็กน้อย การอธิบายก็ยังยึดกรอบวิธีคิดเดิมมาใช้ในการสื่อสาร จึงทำให้ความเข้าใจได้ยาก
4. การจัดการเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะของเจ้าหน้าที่ ต่างมีมุมมองประสบการณ์ และกรอบคิดเป็นของตนเอง รูปแบบและวิธีการจึงอยู่ที่หลักการและกระบวนการเพื่อเชื่อมประสบการณืเดิมกับสิ่งใหม่ได้ค่อนข้างยาก อาทิเช่น การทำงานกลุ่มกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน การวิจัยเชิงปริมาณกับการวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นต้น
การจัดการความรู้ จึงมิใช้แค่การท่องจำแล้วนำไปพูด แต่การจัดการความรู้นั้นเมื่อสื่อสารออกมาแล้วจะทำให้คนฟังมองเห็นคุณค่าและสามารถหยิบไปใช้ต่อได้ทันทีจึงเรียกว่า "เนียนในเนื้องาน และเนียนในตัวบุคคล" ผู้ใช้การจัดการความรู้.
น้องศิริวรรณ ครับ
สำหรับพี่แล้ว KM ทั้งร้อยเปอร์เซ็นเลยเป็นทักษะ ปฏิบัติ(ทำ) เท่านั้นแหละ จึงจะเนียนในงาน ในคน ได้ไม่ได้....เข้ามาแจมๆความคิดครับ นานแล้วไม่ได้ทักทาย
เรียน ครูนง เมืองคอน
ขอบคุณนะค่ะ ที่เข้ามาทักทายและแลกเปลี่ยนกัน
"เนียน KM ยากจริง ๆ ค่ะ เป็นเรื่องของทักษะ แต่ถ้าลองทำแล้วจะสนุก"