KM Workshop คณะกายภาพบำบัด มฉก.


                 หลังจากเตรียมการ BAR อย่างเข้มข้น (ตอนที่ ๑, ตอนที่ ๒) ก็มาถึงการดำเนินการจริงเมื่อวันพุธที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา ผมเองก็เช่นเคยรีบไปเตรียมอุปกรณ์และสถานที่ ติดตั้ง คอมพิวเตอร์ และจัดสถานที่ให้พร้อมสำหรับการทำกิจกรรม โดยได้รับความกรุณาจากคณาจารย์และเจ้าหน้าที่จากทางคณะกายภาพบำบัดมาช่วยจัดเตรียม และจัดหาอุปกรณ์เพิ่มเติมที่ยังขาดอยู่  ก่อนเริ่มกิจกรรมก็มีการชี้แจงกำหนดการและกิจกรรมที่จะดำเนินการ รวมทั้งขอความร่วมมือจากคณะกรรมการ KM ของคณะให้มาช่วยดำเนินกิจกรรมต่างๆ พร้อมทั้งอธิบายวิธีการในการเป็นคุณลิขิต เพื่อจัดเก็บความรู้ในห้วข้อ “เทคนิคการจัดการเรียนการสอนที่ทำให้นักศึกษาสนใจ”  (ผมค่อนข้างโลภมากครับ คือมาทั้งทีเอาให้ได้ทั้ง การรู้จัก KM จากการปฏิบัติจริง และยังให้คณาจารย์บางท่าน ได้ฝึกเป็นคุณลิขิตด้วย)

                  ผลจากการมาถึงเร็วและมีการวางแผนเตรียมการไว้กับทางทีมงานของคณะไว้ก่อนแล้ว จึงทำให้กิจกรรมในวันนั้นสามารถเริ่มได้ตรงเวลาคือประมาณ ๘.๓๐ น. โดยมีคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ทั้งคณะที่เข้าร่วมประมาณ ๑๕ ท่าน โดยบางส่วนทำหน้าที่ทั้งผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และ เป็นผู้จัดงานอีกด้วย อาจารย์คณะกายภาพบำบัดนี้เก่งจริงๆครับ

                 เริ่มกิจกรรมด้วยการให้ทำสมาธิกับการเดิน อันนี้ได้ความคิดมาจาก บันทึกของท่านอาจารย์ ทพ.พิชิต จึงนำมาลองใช้ ได้ผลดีกว่าที่เมื่อก่อนผมมักจะให้ทำสมาธิแบบนั่งจริงๆเอาเลย ทำให้บางครั้งผู้เข้าร่วมบางท่านจะรู้สึกอึกอัด วันนั้นจึงให้เดินเพื่อให้อยู่กับตัวเอง แล้วผมนำให้คิดไปด้วยว่ากำลังเดินทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เดินออกกำลังกายในสวน เดินข้ามแม่น้ำ เป็นต้น หลังจากนั้นก็ให้เล่นกิจกรรมเพื่อฝึกความสามัคคีและการฟังของคนในกลุ่ม พอเล่นเสร็จก็ให้มาสรุปข้อคิดเพื่อนำเข้าสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้วข้อที่กำหนด ก็เริ่มจากท่านอาจารย์กิติมา ฉันทพานิชย์    ตามที่ได้เตรียมไว้ ท่านเป็นผู้จุดประกายได้ดีทำให้วงเล่าเรื่องต่อกันได้ โดยระหว่างที่ทุกท่านกำลังเล่าเรื่อง ก็ให้ทุกคนฟังแล้วพยายามจดเทคนิคที่สำคัญจากเรื่องเล่าต่างๆ ลงในกระดาษเพื่อมาสรุปเป็นเทคนิคการสอนที่สำคัญทีหลัง วันนั้นมีคุณลิขิตถึง ๒ ท่านโดยท่านแรกจะคอยฟังและสรุปประเด็นลงในกระดาน อีกท่านหนึ่งจะจดเรื่องเล่าอย่างละเอียดเพื่อเก็บเป็น KA ของคณะครับ

                   หลังจากเสร็จกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็ต่อด้วยการให้ชม VCD การจัดการความรู้ในโรงพยาบาลบ้านตาก แล้วจึง AAR ปิดท้าย สิ่งที่ไม่ประหลาดใจเลยคือ อาจารย์ส่วนใหญ่พอผ่านกิจกรรมทั้งหมดแล้วก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า จริงๆแล้วที่คณะกายภาพทำ KMอยู่แล้ว แต่ขาดเพียงเรื่องของการจัดเก็บเป็นคลังความรู้ เพื่อนำมาต่อยอด เนื่องจากมีการตั้งกลุ่มเพื่อปรึกษาและพูดคุยทั้งแนวทางการจัดการเรียนการสอน และ ปัญหาต่างๆอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สังเกตได้ในวันนั้น คือ หลายท่านเข้าใจและตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพยายามรวมกลุ่มหรือตั้งกลุ่มเพื่อปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนของตนเองให้ดีขึ้นทันที น่าชื่นใจกับท่านคณบดีด้วยมีคณาจารย์ที่ทุ่มเทและตั้งใจทำงานอย่างแข็งขันจริงๆ

                   สิ่งสำคัญที่ทำให้บรรยากาศในการทำกิจกรรมวันนั้นสนุกก็คือ ทั้งอดีตคณบดี(อาจารย์กิติมา ฉันทพานิชย์ )และ คณบดี(อาจารย์บุญรัตน์ โง้วตระกูล) ได้เข้าร่วมกิจกรรมและเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ที่ใจกว้างเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของคณาจารย์ในคณะร่วมทั้งได้ร่วมกันวางรากฐานให้เกิดวัฒนธรรมที่ให้มีการประชุมเพื่อปรับปรุงการทำงานในคณะมาตั้งแต่อดีต เชื่อว่าคณะกายภาพบำบัดคงต้องมีการพัมนาได้อย่างรวดเร็วเพราะมีอาจารย์ผู้ใหญ่ที่ใจกว้าง มีอาจารย์รุ่นใหม่ที่ไฟแรงอยากทีจะพัฒนาคณะ และมหาวิทยาลัย ผมเองอดไม่ได้ที่จะชื่นชมคณาจารย์ในคณะกายภาพบำบัดที่ตั้งใจและทุ่มเทการทำงานอย่างตั้งใจจริงครับ

 KMPT1

ภาพตอนเริ่มกิจกรรม

 kmpt2

ไปๆมาๆทุกท่านลงนั่งกันหมดเลยครับ

 kmpt3

บรรยากาศในการแลกเปลี่ยน

 kmpt2

บรรยากาศตอนชม VCD ครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 113406เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2007 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านบันทึกนี้ของอาจารย์มณฑล ประทับใจครับที่อาจารย์ได้ช่วยพัฒนาการจัดการความรู้แก่บุคลากรทางสุขภาพ เช่น กายภาพบำบัด และ กิจกรรมบำบัด

ผมคงมีโอกาสได้เชิญอาจารย์มาเยี่ยมชมสาขาวิชากิจกรรมบำบัดมหิดล เมื่อมีการพัฒนาไประดับหนึ่งครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท