วันหยุดที่สัตยาไส (2)


ลูกมีสมาธิมากขึ้นจนเห็นได้ชัด

            เมื่อดิฉันเข้าไปทักทายคุณวรรณ พร้อมแจ้งความประสงค์ว่ามีคนแนะนำให้รู้จัก คุณวรรณยิ้มรับทักทายด้วยไมตรีจิต พร้อมสอบถามรายละเอียดว่ามีลูกอยู่ที่นี่หรือไม่อย่างไร เมื่อดิฉันตอบว่ายังไม่มี แต่สนใจอยากให้ลูกมาเรียนที่นี่ควรเริ่มจากอะไรก่อน  คุณวรรณบอกว่าเป็นโอกาสดีที่วันนี้มีครอบครัวหนึ่งซึ่งพาลูกสาวมาอยู่ที่นี่ได้ 2 เดือนเศษ อยากรับรู้ข้อเท็จจริงว่าทำไมลูกจึงร้องไห้อยากกลับบ้าน ยังปรับตัวไม่ได้    คุณวรรณเล่าให้ฟังว่าได้พูดคุยกับครอบครัวนี้แล้ว (ลูกสาวชื่อ "น้องไผ่" อายุ 6 ปี)   เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน จึงได้ชวนคุณพ่อ คุณแม่น้องไผ่ ไปร่วมวงพูดคุยกันใต้ร่มไม้ ซึ่งที่นั่นจะมี "วงเล่า" ที่ผู้ปกครองมักมานั่งคุยกันเสมอ จึงชวนดิฉันไปร่วมฟังด้วย 

         เมื่อดิฉันเข้าไปร่วมวง คุณวรรณได้แนะนำสมาชิกในวงว่าดิฉันมีความสนใจ ร.ร.นี้ อยากให้สมาชิกช่วยเล่าประสบการณ์ที่ส่งลูกเข้ามาอยู่ที่นี่เป็นการแลกเปลี่ยนกัน (สมาชิกในวงมีประมาณ 6 คน) เริ่มจากครอบครัวหนึ่งพึ่งส่งลูกชายมาอยู่ชั้น ป. 1 ได้ 2 เดือนเศษ  เมื่อก่อนอยู่ร.ร.ในตัวเมืองลพบุรี คุณพ่อเล่าว่าลูกเปลี่ยนไปมาก ที่เห็นชัดก็คือการมีสมาธิ นิ่งมากขึ้น คุณพ่อทำงานบริษัทเป็นระดับหัวหน้างาน ทำงานเหนื่อยทั้งวัน กลับมาบ้านอยากกอดลูก เขาก็ไม่ให้กอด จะวิ่งหลบหนี ไม่ค่อยได้สัมผัสกันเท่าใดนัก   คุณพ่อเล่าว่าวันที่ทราบว่าลูกสอบได้ผมดีใจจนบอกไม่ถูก มันเหมือนมองเห็นทางสว่างที่จะพาลูกไปหาอนาคตที่ดี พอวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ขับรถมาเยี่ยมลูก ลูกวิ่งเข้ามาสวมกอดผม  5 วันที่ผ่านมาผมหายเหนื่อยเลย เอาข้าว ขนม ผลไม้มากินกับลูกและเพื่อน ๆ ผมมีความสุขมาก ลูกผมมีสมาธิมากขึ้นจนเห็นได้ชัด เป็นสิ่งที่ผมภูมิใจมาก  

                 คุณวรรณทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยโดยธรรมชาติ คอยเชื่อมโยงให้คนอื่นได้เล่าประสบการณ์ ขณะเดียวกันก็ให้คุณพ่อน้องไผ่ (ซึ่งดูเหมือนยังมีความกังวลกับปัญหาลูกสาวอยู่)  ได้เล่าปัญหาให้สมาชิกได้ฟังบ้าง  ซึ่งสมาชิกคนอื่นต่างก็เล่าถึงปัญหาที่เคยพบ และก้าวผ่านปัญหานั้นไปได้ พร้อมเสนอแนวทางและให้กำลังใจคุณพ่อน้องไผ่ไปพร้อมกัน

               วงเล่านี้ได้เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ร่วมแชร์ประสบการณ์อย่างเป็นกันเอง  ไม่มีเส้นแบ่งว่าใครเคยหรือไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ดิฉันเองจึงได้รับโอกาสนั้นด้วยเช่นกัน  ระหว่างที่พูดคุยกัน เด็ก ๆ ก็วิ่งเข้าวิ่งออก เล่น คุย กิน หยอกล้อกันบ้าง ซึ่งสำหรับดิฉันแล้วเห็นว่าเป็นวงเล่าที่เป็นธรรมชาติมาก ๆ  คุณวรรณเล่าเสริมว่า เด็กที่นี่จะมีโอกาสได้เสริมประสบการณ์ที่หลากหลาย เช่น ดนตรี ภาษา กีฬา  เมื่อปีที่ผ่านมาจะมีอาสาสมัครต่างชาติหลายชาติมาอยู่ที่ ร.ร. เป็นช่วง ๆ บ้างก็มาทำงานวิจัย บ้างก็มาศึกษาแนวคิดของ ร.ร. ขณะเดียวกันก็สอน น.ร.ไปด้วย 

              น.ร. ที่นี่มาจากทุกภาคทุกระดับฐานะ เช่น เชียงใหม่  อุตรดิตย์  ชียงราย ยะลา กทม. ฯลฯ   ชั้น ม.1 จะมีโอกาสไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับครอบครัวต่างประเทศ ซึ่งมีให้เลือกมากมาย มีเงื่อนไขเพียง 1. ผู้ปกครองรับผิดชอบค่าเครื่องบินเอง 2. ไม่ค้างชำระค่าใช้จ่ายตามระเบียบของ ร.ร. 

              คุยกันอย่างเพลิดเพลิน ประมาณ 5 โมงเย็น ได้ยินเสียงประชาสัมพันธ์    "ได้เวลารับประทานอาหารเย็นแล้วครับ ขอเชิญเพื่อน ๆ น้อง ๆ มารับประทานอาหารได้แล้วครับ"   ดิฉันหันไปมองตามเจ้าของเสียง พบว่าเป็นเสียงของเด็กชายวัยประมาณ 15-16 ปี   คุณวรรณให้ข้อมูลว่า ที่นี่จะสนับสนุนให้เด็กได้มีส่วนร่วมและแสดงศักยภาพของตนเองตามสถานการณ์ที่เอื้อ   ว่าแล้วก็เชื้อเชิญให้ดิฉันไปร่วมรับประทานอาหารเย็นด้วยกัน  วันหยุดผู้ปกครองสามารถเข้าไปร่วมรับประทานอาหารกับ น.ร. ได้ อาหารเป็นมังสวิรัต รสมือจากแม่ครัวมืออาชีพ คุณวรรณแจ้งสรรพคุณ ดิฉันต้องจำเป็นต้องปฏิเสธไปเพราะต้องเดินทางกลับ ระยะทางอีกไกล  ใจจริงอยากไปร่วมวงด้วยซึ่งคิดว่าในวงข้าวน่าจะได้เรียนรู้อะไรอีกมากมาย เหมือนกับที่ได้จากวงเล่า

                วันหยุดที่สัตยาไสวันนี้ ถือว่าเป็นโอกาสดี (โบราณว่าก้าวเท้าออกจากบ้านดี ถือเป็นวันธงไชย)  อย่างน้อยก็ได้สัมผัสบรรยากาศ สังคมของผู้ปกครองที่มีความเอื้ออาทร ช่วยเหลือกัน ซึ่งดิฉันไม่เคยได้สัมผัสหรือเห็นบรรยากาศทำนองนี้ ใน ร.ร. ที่ลูกเรียนอยู่ปัจจุบัน ผู้ปกครองจะพบกัน ประมาณเทอมละครั้ง  (กลุ่มใหญ่มากในหอประชุม)เพื่อฟังเรื่องเดิม ๆ จากผู้บริหารและก็ไปชำระเงินลงทะเบียน ผู้ปกครองได้แต่มอง ๆ ยิ้ม ๆ ให้กันแล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้าน

                นั่งรถกลับถามลูกสาวว่าเป็นไงบ้าง ร.ร.สัตยาไส ที่หนูเห็นวันนี้ ลูกสาวบอกต้นไม้เยอะดี เป็นธรรมชาติ (ร.ร.หนูมีแต่ตึกสูง ๆ แน่นไปหมด)  ดิฉันไม่ได้คาดคั้นว่าลูกต้องมาเรียนที่นี่ เพียงแต่บอกว่าถ้าหนูสนใจ แม่จะพามาเที่ยวอีก (ซึ่งเป็นวิธีการที่ดิฉันคิดเองว่า หน้าที่ของพ่อแม่ เป็นเพียงคนสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ให้ลูก ส่วนการตัดสินใจต้องมาจากตัวเขาเอง ไม่ใช่บังคับถ้าเขาไม่พร้อม)  

คำสำคัญ (Tags): #สมาธิ#สัตยาไส
หมายเลขบันทึก: 113126เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2007 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 02:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ

P

พอทราบไหมคะ เขาสอนถึงชั้นเท่าใดและมีเด็กไปสอบเข้าที่ไหนได้บ้างคะ

       ขอบพระคุณมากค่ะ อ.ขจิต วันหลังต้องหาโอกาสไปเยี่ยมชมค่ะ ร.ร.รุ่งอรุณดูในเว็ปแล้วสวยงามเป็นระเบียบมาก ทราบมาว่าเป็นแบบไป - กลับ ไม่มีประจำ

       คุณsasinanda ค่ะ ที่นี่มีตั้งแต่ชั้น อนุบาล (ไป-กลับ) ส่วน ป.1-ม.6 เป็นแบบประจำค่ะ  ดร.อาจอง เคยให้สัมภาษณ์ใน น.ส.พ. เดลินิวส์ อ.ที่ 26 พย.49 ว่า  "หลักสูตรการเรียนยังเป็นของกระทรวงศึกษาธิการ แต่เติมหลักสูตรที่เป็นแก่นของสัตยาไสขึ้นมา คือหลักสูตรสร้างสมาธิ สร้างคนดี การยกระดับจิตใจ ........เรามีทั้งสองอย่างรวมกันเป็นหลักสูตรเดียวกัน หลักสูตรนี้เราใช้สอนเด็กมา 15 ปีแล้ว เราไม่ได้รับประกันคุณภาพเด็ก แต่เด็กของเรา 3 รุ่นที่ผ่านมาสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ 100% ทุกคน" 

     

  • แวะมาเยี่ยมเยียนครับ
  • ขอบพระคุณมากครับที่นำสิ่งดีๆ มาแบ่งปัน

สวัสดีค่ะ ตามมาเยี่ยมขอบคุณที่ไปแวะที่บล็อกของคุณนายฯ ค่ะ ยินดีมากที่ได้รู้จักกัน ตัวเองเคยทำงานสังกัดกศน. มาก่อนถึงสิบสี่ปีจึงลาออกค่ะ(อยู่ที่ศูนย์บริภัณฑ์เพื่อการศึกษา ซึ่งปัจจุบันคือ ศูนย์วิทยาศาสตร์) ไม่ทราบว่าเราเคยมีโอกาสได้พบกันบ้างมั้ย

ดิฉันมีเพื่อนรักอยู่ที่สุรินทร์สองคน จบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยกันค่ะ

คุณoddy เล่าเรื่องได้ดีมาก น่าอ่าน ขอเชิญไปอยู่ในแพลนเน็ตด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท