เศรษฐกิจพอเพียง : บทบาทแรกสำหรับ "คุณอำนวย" มหาวิทยาลัยชีวิต


นวัตกรรมที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจพอเพียงจากตัวหนังสือไปสู่อุปนิสัยนั้น ผมใช้หลักการ "บุคคลองค์รวม" ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมาอธิบาย โดยมีหลักว่า บุคคลองค์รวม ต้องประกอบด้วยสามส่วนที่ช่วยผลักดันบุคคลนั้นไปสู่จุดหมาย คือ ร่างกาย จิตใจ และสมอง...ในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่อุปนิสัยในชีวิต ผมหวังว่า ผู้ร่วมเรียนรู้ของผม จะได้ทั้งปริญญา "กระดาษ" และปริญญา "ชีวิต" ส่วนผม "คุณอำนวย" การได้ปริญญา "ชีวิต" เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จเดียวของผม...
เวทีแรกที่ผมได้เข้าไปแสดงอย่างเป็นทางการ  ในมหากาพย์ "มหาวิทยาลัยชีวิต" เรื่องนี้  เป็นการอำนวยการสร้าง  "ภายใต้" ร่มเงาของ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร  ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต  สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น  สำหรับศูนย์เรียนการรู้หัวไทร  และศูนย์การเรียนรู้ปากพนัง  จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้เรียนที่มาเรียนในปีหนึ่งนี้  แม้จะมีหลากหลายครับ  แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันครับ  "แววตาแห่งความตื่นเต้นและความต้องการเรียนรู้" ครับ  ทำให้ "พลัง" ที่อยู่ในใจผม  แทบจะปะทุออกมานอกอกเลยครับ  ผมรู้สึกราวกับ  "ตัวผมหายไปเหลือแต่เพียงหัวใจที่แดงฉานเพราะเลือดสูบฉีดแรง" ครับ

สิ่งที่ผมพยายามสื่อในชั่วโมงแรกของการเรียนรู้โดยการแสดงให้ดูโดยไม่เฉลยคำตอบ  แล้วปล่อยให้ผู้เรียนของผม "ตีความ" เอง  ซึ่งการฝึกการตีความนี้  เป็นเครื่องมือในการ "จัดการความรู้" ที่ผมตั้งใจจะ "สอนโดยไม่สอน"  เอาไว้เมื่อมีโอกาสพบกันอีกครั้ง  ผมจะไปสอบถามว่า  "แต่ละคนตีความอย่างไร?" แล้วผมจึงจะค่อย ๆ อธิบายให้ฟังทีหลัง  เมื่อแต่ละคนได้ผ่านประสบการณ์ตรงไปแล้ว  สำหรับในบันทึกนี้  ผมจะเฉลยให้ฟังในภาษาของ "ทฤษฎีทั่วไป" (grand theory) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ผมทำลาย "มายาคติทางการศึกษา" จนแทบจะไม่มีเหลือเค้าของอุดมศึกษาตามความเข้าใจของคนส่วนใหญ่เลย  มายาคติที่ว่านั่นคือ  "บุคลิกภาพทางการศึกษา" หรือ "ความน่าเชื่อถือทางวิชาการ" เพราะสิ่งเหล่านั้น  มันทำให้ผู้เรียนเชื่อทันทีที่ได้ยินคำพูดที่ออกมาจากบุคคลิกแบบนั้นทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ตั้งคำถาม  หรือพิเคราะห์ดูก่อน  แต่สิ่งที่ผมทำ  หลายคนคงตั้งคำถามว่า "มันจะเชื่อได้ใหมนี่?" และเริ่มหาข้อมูลมาหักล้าง  หากทุกคนตั้งทำถามและทำแบบนี้นี้  ผมถือว่า  "การจัดการเรียนรู้ผมประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม" ครับ

สิ่งที่ผมทำลงไปในชั่วโมงแรกนั้น  มีอะไรบ้าง  บางท่านอาจจะอยากรู้  และผมก็ต้องการเล่าด้วย  เพื่อจะได้ฟังความเห็นจาก "มิตรสหาย" ในวงการ "การจัดการความรู้"  ส่วน "มิตรสหายในวงการบริหารการศึกษา" แจ้งว่า  วิธีแบบนี้ไม่เรียกว่า "การศึกษา" เลย  ผมก็น้อมรับ  เพราะผมไม่ได้จัดการศึกษา  แต่ผมกำลัง "สร้างการเรียนรู้" ซึ่งผมได้ทำลาย "ความสำคัญของอาจารย์" ซะย่อยยับ  จนเกินกว่าที่คนในวงการอุดมศึกษาจะรับได้  แต่ด้วยวิญญาณ "นักขายมือทอง" อย่างผม (เสียงดัง มั่นใจไว้ก่อน)  ผมเชื่อว่า  ผมทำให้ท่านเหล่านั้น "ซื้อ" แนวคิดของผมได้  แต่ก็ต้องหาแนวร่วมจากมิตรสหายในวงการหละครับงานนี้  ในวันนั้น  ผมได้ย้ายโต๊ะผู้บรรยายที่เขาเตรียมไว้บนเวที  มาวางไว้ในระดับเดียวกันกับโต๊ะของผู้เรียน  และแทนที่ผมจะนั่งในที่นั่ง "สวยงาม" ที่จัดไว้ให้  ผมดันไปหยิบม้านั่งสำหรับช่างเทคนิค  มานั่งบรรยาย  แถมยังมีการยกม้านั่งย้ายไปเรื่อย  ยังกะการแสดงของ "อุดม  แต้พานิช" ยังไงยังงั้นเลย

นอกจากจะทุบขวดเก่าของอุดมศึกษาแบบเก่า  เพื่อรองรับเหล้าใหม่ของมหาวิทยาลัยชีวิตแล้ว  ผมยังได้ไปทำลายรูปแบบเนื้อหาของวิชาเศรษฐกิจพอเพียง  ที่เขียนโดยนักวิชาการ "ขวดเก่าแต่ปะยี่ห้อใหม่" ซะเหี้ยนเต้ อีกรอบ  แต่เนื้อหาที่เขียนขึ้นใหม่  ผมยืนยันได้ว่า  ยังอยู่ในขอบเขตของ "คำอธิบายกระบวนวิชา" แน่นอน  อาการ "รื้อ" เนื้อหาเก่านี้  ผมทำโดยตัดเนื้อหาส่วนที่นำแนวคิดของนักคิดแนว "มนุษย์นิยม" มาให้นักศึกษา "ท่อง" โดย "โมเม" ว่า "นั่น" เป็นแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง  โดยผม "โต้แย้ง" ว่า  นักคิดเหล่านั้นแหละ  คือต้นตอของ "ลัทธิปัจเจกชนนิยม" ที่นำมาซึ่งการ "บริโภคอย่างบ้าคลั่ง" อย่างทุกวันนี้  เพราะชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่า "มนุษย์นิยม คือเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง"  มนุษย์เป็นศูนย์กลาง  มันก็ไม่ยั่งยืน  ถ้าไม่ยั่งยืนแล้ว  จะเรียกว่า  เป็นเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไร?  ไม่รู้ว่านักวิชาการ "ขวดเก่าแต่ปะยี่ห้อใหม่" จะเห็นด้วย  หรือพลิกกระบวนท่าโต้แย้งไม่ทันก็ไม่รู้  "เห็นท่านนิ่ง ๆ" ก็แน่หละ  ผมเล่นใช้การโต้แย้งแบบ syllogism ของปราชญ์โบราณแบบนี้  แม้แต่นักปกครองนครรัฐสมัยโน้น  ยังยอมจำนนเลย

ทีนี้ลองมาดูเนื้อหาที่ผมปรับบ้างนะครับว่า  "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่ผมเป็นคุณอำนวยในภาคการศึกษานี้เป็นอย่างไร  แหล่งข้อมูลหลักที่ผมใช้คือ "คณะกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง" และ "ศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียงของนิด้า" น่าจะทำให้ผู้ที่เป็นห่วงในความ "ห่าม" ของผมเบาใจได้บ้าง  เนื้อหาโดยสรุป  หลังจากที่ผมเปิดวีดิทัศน์การบรรยายเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ให้นักศึกษาชมแล้ว  ผมให้ผู้เรียนทุกคน  แสดงความคิดเห็นและสรุปเนื้อหาโดยให้พูดใส่ไมโครโฟนในห้องเรียน  ทำให้ได้ข้อสรุป  เป็นคำนิยามของเศรษฐกิจพอเพียงได้สั้น ๆ และผมบอกผู้เรียนทุกคนว่า  "ในวิชานี้  ถ้าจะจำก็จำเท่านี้แหละ" ใจความที่เป็นผลจากการสรุปของทุกคนในชั้นเรียนได้แก่

"เศรษฐกิจพอเพียง  คือ  ปรัชญาเศรษฐกิจซึ่งทรงค้นพบโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชมหาราช  ที่มีแนวทางในการดำเนินชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้หลัก  ความมีเหตุผล  ความพอประมาณ  และการสร้างภูมิคุ้มกัน  ที่มีรากฐานจากคุณธรรมและจริยธรรม"

โดยผมได้ย้ำกับผู้เรียนว่า  ที่ต้องจำ  ก็เพื่อเอาไว้ "สาธยาย" ให้คนที่ต้องการเพียง "นิยาม" ของเศรษฐกิจพอเพียงฟัง  แต่ในการเรียนวิชานี้  ข้อสอบไม่ได้อยู่ที่ห้องเรียนสี่เหลี่ยม  แต่อยู่ในชีวิตจริงของผู้เรียนทุกคน  หน้าที่ผมก็คือ  จะฝึกให้ผู้เรียนทุกคน  "ถ่ายทอด" ชีวิตจริงมาเป็นภาษาเขียน  นอกจากนี้  ผมได้ยืนยันกับผู้เรียนทุกคนว่า  เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  ทุกคนรู้ดีอยู่แล้วในเรื่องนิยามหรือความหมาย  แต่ทำอย่างไรจึงจะทำให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  มาอยู่ในอุปนิสัยของเราได้  นี่แหละเป็นหน้าที่ของ "คุณอำนวย" อย่างผม  ที่จะต้องสร้างแรงบันดาลใจทั้งแก่ตัวผมเอง  และผู้เรียน (บางคน - เพราะมีคนที่ทำอยู่แล้ว) ให้ดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญานี้  นวัตกรรมในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่ "อุปนิสัย" นี่เอง  ที่ผมภูมิอกภูมิใจเป็นหนักเป็นหนาว่า  "มหาวิทยาลัยชีวิต" ของเราก้าวหน้าไปอีกขั้น  ในเรื่องการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

นวัตกรรมที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจพอเพียงจากตัวหนังสือไปสู่อุปนิสัยนั้น  ผมใช้หลักการ "บุคคลองค์รวม" ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมาอธิบาย  โดยมีหลักว่า  บุคคลองค์รวม  ต้องประกอบด้วยสามส่วนที่ช่วยผลักดันบุคคลนั้นไปสู่จุดหมาย  คือ  ร่างกาย  จิตใจ  และสมอง  โดยในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  ส่วนที่เป็นสมองคือ "แนวคิด  หลักการ" ของเศรษฐกิจพอเพียง  ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว  ส่วนที่สองคือ  จิตใจ  ได้แก่ "แรงบันดาลใจ" ที่จะดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง  ส่วนร่างกาย  คือทักษะ  ซึ่งจะเกิดขึ้น  หลังจากได้ลงมือปฏิบัติตามหลักการและแนวคิดแล้ว  ยิ่งปฏิบัติมาก  แนวคิดและหลักการ  ก็จะยิ่งได้รับความเข้าใจยิ่งขึ้น  ยิ่งเรียนรู้จากการปฏิบัติ  ยิ่งได้ผลลัพธ์จากการปฏิบัติ  จิตใจ  ก็จะยิ่งพัฒนาเติบโตยิ่งขึ้น  ในรูปของ  กำลังใจ  และความมั่นใจ  ทำให้มีการลงมือทำมากขึ้น  มีทักษะมากขึ้น  เรียนรู้มากขึ้น  และพัฒนายกระดับตัวเอง  จากระดับที่เพียงเพื่อเอาตัวรอด  มาสู่การพึ่งตัวเองได้  ในที่สุด  ก็สามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันในชุมชน  ตลอดจนในสังคมได้ในที่สุด  นี่คือนวัตกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง "ฉบับคุณอำนวยมหาวิทยาลัยชีวิต" ครับ  ผมเองจะเป็นตัวอย่างในการทดสอบนวัตกรรมนี้  ด้วยตัวเอง

ชีวิตผม 20 ปีที่ผ่านมา  ถือว่าเป็นการพาดบันไดไว้กับกำแพงที่ผิดด้าน  เพราะพอปีนขึ้นไปสุดกำแพงแล้ว  กลายเป็นทะเลเพลิงแทนที่จะเป็นทุ่งหญ้าเขียวขจีตามที่คาดไว้  ผมทำใจอยู่นาน  ว่าจะโดดลงไปลุยไฟ  หรือ "ปีนกลับลงมาเปลี่ยนกำแพงใหม่" แทน  ผมเลือกทางเลือกหลังครับ  ผมปีนลงมา  ศึกษาข้อมูล  แล้วเลือกกำแพงที่จะปีน  ผมตัดสินใจได้แล้ว  จึงเริ่มลงมือปฏิบัติ  การเป็นคุณอำนวยเศรษฐกิจพอเพียง  เป็นก้าวแรกที่ผมจะได้เรียนรู้ไปพร้อมกับผู้เรียน  และพี่เลี้ยงของผมไปในเวลาเดียวกัน  ในระดับปฏิบัติ  ผมจะต้องไปเรียนรู้กับพี่เลี้ยงในสถานที่จริงสักแห่ง  เพื่อให้ฟื้นร่างกาย  และปรับสภาพร่างกายให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่  ช่วงนี้น่าจะใช้เวลาประมาณหนึ่งปี  หลังจากนั้นผมจะไปทำโดยลำพัง  ในรูปโครงการวิจัยที่ร่วมมือระหว่างโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตปากพนังกับหน่วยงานที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย  จุดหมายในระยะนี้เพื่อเรียนรู้ที่จะ "อยู่ได้ด้วยตัวเอง" โดยใช้ระยะเวลาทดสอบประมาณ 3 ปี ถ้าผ่าน  ก็จะขยายเครือข่ายไปสู่การสร้าง "ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข" ต่อไป

บทบาทคุณอำนวยของผมในมหาวิทยาลัยชีวิต  เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  จึงเป็นการเรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง  ระหว่างผมที่รับบทเป็นคุณอำนวย  ที่จะสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้เรียนและตัวผมเอง กับผู้ร่วมเรียนรู้ของผม  ในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่อุปนิสัยในชีวิต  ผมหวังว่า  ผู้ร่วมเรียนรู้ของผม  จะได้ทั้งปริญญา "กระดาษ" และปริญญา "ชีวิต"  ส่วนผม "คุณอำนวย" การได้ปริญญา "ชีวิต" เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จเดียวของผม  ในโครงการเรียนรู้ "เศรษฐกิจพอเพียง" 10 ปี (เริ่มจากปี 2549) ครั้งนี้  ก่อนที่จะผมจะเริ่มโครงการ "ชีวิตพอเพียง" ในปี 2559.

ดาวน์โหลดตัวแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ
หมายเลขบันทึก: 112743เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2007 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 19:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท