กฏหมายทำแท้ง !


นี่เป็นบทความที่สามของผมเกี่ยวกับเรื่องทำแท้ง ที่ลงในสารสูตินรีแพทย์สัมพันธ์ ก่อนที่ผมจะไปเรียนที่สิงคโปร์
                 เป็นเวลากว่าขวบปี หลังจากที่มีการประกาศข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ตามมาตรา ๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๔๘ เรามาลองวิเคราะห์กันเล่นๆดูว่า มีความเปลี่ยนแปลงอะไรให้เห็นกันบ้างในแวดวงสูตินรีแพทย์อันทรงเกียรติแห่งสยามประเทศนี้

1.       สูตินรีแพทย์ทุกท่านทราบว่ามีข้อบังคับฯนี้ คำตอบคือ ไม่ แต่เริ่มรู้บ้าง

2.       สูตินรีแพทย์ที่ทราบว่ามีข้อบังคับฯนี้ เข้าใจเนื้อหาใจความ คำตอบคือ ไม่แน่ แต่ส่วนหนึ่งเข้าใจดี

3.      สูตินรีแพทย์ที่เข้าใจเนื้อหาดี ได้ปฏิบัติตามแนวทางที่เขียนไว้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่แน่ใจ เพราะเข้าใจข้อบังคับฯ แต่ใจยังไม่ค่อยแน่ใจในตัวเองนัก

4.       แพทย์อื่นๆทราบบ้างหรือไม่ คำตอบคือ เริ่มรู้เรื่องมากขึ้นแล้วเหมือนกัน  ในความเป็นจริง ผมเชื่อว่าราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับแพทยสภาฯ และกรมอนามัย ได้มีความพยายามที่จะเผยแพร่เรื่องราวของข้อบังคับฯ ฉบับนี้แก่มวลสมาชิกอยู่แล้ว รวมถึงแพทย์ท่านอื่นๆด้วยเช่นกัน เพียงแต่ว่า คงไม่สามารถที่จะประกาศออกไปอย่างอึกทึกครึกโครมเช่นเดียวกับการประกาศความสำเร็จทางการแพทย์หลายๆอย่าง เพราะในทัศนคติของคนในสังคมไทยเรานี้ ยังมีความคิดว่าการทำแท้งคือการทำลายเท่านั้น การประกาศข้อบังคับฯออกไป ก็เท่ากับว่า เราอาจจะต้องประสบกับการต่อต้านเหมือนดั่งเช่น ประกาศข้อเท็จจริงทางการแพทย์ของแพทยสภาที่ผ่านมานั่นประไร คนในสังคมเราส่วนหนึ่งที่มีพลัง มีเสียงใหญ่ มักจะใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลในการกระทำมาให้เห็นหลายต่อหลายครั้งแล้ว

ความเป็นจริงอีกข้อหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือ การประกาศข้อบังคับแพทยสภา มิใช่การประกาศให้แพทย์เปลี่ยนทัศนคติครับ เหมือนกับการที่เราอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่เขาว่ากันว่าดีนักหนา คนอ่านมาจากร้อยพ่อพันแม่      การตีความ การเกิดความซาบซึ้ง และการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตย่อมต่างกันนั่นเอง ความเป็นจริงใน ข้อนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้หญิงของเราอย่างหลีกหนีไม่พ้น ตัวอย่างก็มีให้เห็นกันบ่อยจากที่ประชุมหรือการสัมมนา มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ราชวิทยาลัยสูติฯ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสุขภาพและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งประเทศไทย และ กองอนามัยการเจริญพันธุ์ (เจ้าเก่า) ได้ไปจัดอบรมเรื่องการป้องกันการแท้งที่ไม่ปลอดภัย ภายหลังการประกาศใช้ข้อบังคับฯ  งานนี้ทั้งคนจัดและคนเข้าร่วมอบรมรู้สึกสนุก บรรยากาศดีมาก ในวันสุดท้ายก็มีการเสวนากัน มีแพทย์ท่านหนึ่งเสนอว่าการที่จะยุติการตั้งครรภ์ให้สตรีจำเป็นต้องมีคณะกรรมการที่เป็นบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย  ไม่ว่าจะเป็น อบต. ครู ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน กลุ่มสตรี ......ได้ยินเท่านี้ ก็เลยอึ้งกันไปตามๆ กัน กลายเป็นว่า งานนี้ผู้จัดไม่สามารถสื่อให้กับผู้เข้าร่วมประชุมได้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของข้อบังคับแพทยสภาฯเลยหรืออย่างไร  คำตอบก็คงจะไม่ใช่อีกเช่นเดียวกัน ผมคงไม่ต้องขยายความว่าทำไม รู้แต่ว่ากรรมการชุดนั้นคงเป็น คณะกรรมการระงับการยุติการตั้งครรภ์ (เรียกให้ดูหรูว่า stop termination of pregnancy committee) โดยแน่แท้ และคงแถมการกระจายข่าวประชาสัมพันธ์ให้ด้วยอย่างหลีกหนีไม่พ้น    (อย่าลืมนะครับว่า แพทย์ต้องรักษาความลับของผู้ป่วยเสมอ)   ผมยังมีประเด็นในการนำข้อบังคับแพทยสภาฯมาใช้ให้เกิดประโยชน์มาเล่าให้ฟังอีกเรื่องหนึ่งครับ ผู้หญิงคนหนึ่งได้รับบริการฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เขาเป็นผู้มีสิทธิประกันตนตามโครงการประกันสังคม อยากจะขอทบทวนว่า ขณะนี้ผู้ประกันตนต้องชำระเงินเองตลอดระยะเวลาการฝากครรภ์จนถึงคลอด ซึ่งเขาจะไปเบิกจ่ายเองหลังคลอดแบบเหมาจ่ายเป็นเงินจำนวน 12,000 บาท จากสำนักงานประกันสังคม ผู้รับบริการรายนี้ได้รับบริการตรวจทารกในครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง พบว่า ทารกมีความผิดปกติแต่กำเนิดอย่างรุนแรงที่สมอง แพทย์ผู้ดูแลสงสัยว่าอาจจะเกิดจากการติดเชื้อปริกำเนิด จึงคุยกับผู้รับบริการและสามี  ทั้งคู่ตัดสินใจที่จะรับบริการยุติการตั้งครรภ์ แต่โรงพยาบาลเอกชนต้นสังกัด (ที่รับเงินประกันสังคมที่เขาต้องจ่ายทุกเดือน) บอกว่าไม่สามารถใช้สิทธิ์รักษาได้ เนื่องจากความผิดปกติของทารกในครรภ์นั้น ไม่ส่งผลต่อสุขภาพมารดา เขาจึงมาที่โรงพยาบาลรัฐบาลเพราะค่าบริการยุติการตั้งครรภ์ถูกกว่ามาก ผมจึงเขียนจดหมายถึงโรงพยาบาลแห่งนั้นเพื่อบอกว่า การยุติการตั้งครรภ์ในผู้รับบริการรายนี้สามารถทำได้ภายใต้กรอบข้อบังคับแพทยสภาฯ พร้อมทั้งส่งสำเนาประกาศแนบไปด้วย เพื่อที่จะขอให้เขาได้สิทธิ์ในการที่จะไม่ต้องเสียเงิน (เราจะยุติการตั้งครรภ์ให้เอง โรงพยาบาลผมจะเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาลของท่านนะครับ) แต่เราก็ได้รับคำตอบว่า ไม่ เพราะความผิดปกติของทารกในครรภ์นั้น ไม่ส่งผลต่อสุขภาพมารดา สำนักงานสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยของโรงพยาบาลผมจึงส่งเรื่องหารือกับสำนักงานประกันสังคมส่วนกลางที่กรุงเทพฯ ก็ได้รับคำตอบว่า ผู้ประกันตนรายนี้และรายอื่นๆ สามารถใช้สิทธิ์ยุติการตั้งครรภ์ในกรณีเช่นนี้ได้แน่นอน เนื่องจากการพบว่าทารกในครรภ์มีหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะมีความพิการอย่างรุนแรง หรือเป็นหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคทางพันธุกรรมอย่างรุนแรง เมื่อหญิงนั้นได้รับการตรวจวินิจฉัยและการปรึกษาแนะนำทางพันธุศาสตร์ (genetic counseling) และมีการลงนามรับรองในเรื่องดังกล่าวข้างต้น....ให้ถือว่าหญิงมีครรภ์นั้นมีปัญหาสุขภาพจิต (อ้างตามข้อบังคับแพทยสภาฯ) จากนั้นทางส่วนกลางก็ดำเนินการเรียกเก็บเงินให้ครับ เรื่องทัศนคตินี่ เข้าใจยากมากนะครับ หากเราปิดประตู ปิดหัวใจที่จะยอมรับหรือเข้าใจในเรื่องที่เราเคย    คิดว่ามันชั่ว มันไม่ดีเสียอย่างแน่นหนา ก็คงจะยากมากที่เราจะมองผู้ประสบปัญหาที่มาหาเราอย่างเป็นธรรมและเข้าใจ เราจะไม่สามารถมองเขาในมุมอื่นได้เลย เช่น หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 24 สัปดาห์มาบอกเราว่า      เขาถูกข่มขืน เราก็อาจจะคิดว่า ทำไมเพิ่งมา บางคนยังวิเคราะห์ไปเสียไกลว่า ใจแตก ไปขายตัวมาล่ะสิท่า    อะไรทำนองนี้ครับ สารพัดไม่ดีทั้งหมดจะตกอยู่ที่ผู้หญิงคนที่นั่งอยู่ข้างหน้าเราทั้งนั้น อย่างนี้แล้วเขาจะไปพึ่งใครได้  ถ้าไม่ใช่สถานบริการเถื่อนที่มีอยู่อย่างเกลื่อนกลาดตามมุมมืดและซอกหลืบของสังคม

แพทย์เราหลายคนมองว่าสังคมสมัยนี้มันเสื่อมลง วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรก็มาก การตั้งครรภ์   ในวัยเรียนก็เยอะ ลองย้อนกลับมามองเสียหน่อยว่า แล้วเรากับสังคมได้กระทำอะไรเพื่อเขาบ้าง การรณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัยก็ถูกมองว่าเป็นการยั่วยุหรือส่งเสริมให้เขามีเพศสัมพันธ์มากขึ้น จะติดตั้งถุงยางอนามัยหยอดเหรียญในโรงเรียนเขาก็ต่อต้านอย่างรุนแรง คุณครูก็สอนเพศศึกษาไม่เป็นหรือไม่เข้าถึงใจเด็ก หมอเองก็ทำงานเฉพาะในโรงพยาบาลหรือคลินิกส่วนตัว ไม่ค่อยหรือไม่เคยออกไปให้ความรู้กับเขาเลย ท้ายที่สุดแล้วเราก็มามองคนที่ท้องเมื่อไม่พร้อมว่าเลวนั้น อาจจะไม่ยุติธรรมเลยครับ

สุดท้าย ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ก็คงไม่ต่างอะไรกับกระดาษธรรมดาใบหนึ่ง สังคมก็คงยังขับเคลื่อนไปด้วยแรงดันของวัตถุนิยมและการทำกำไรสูงสุด   ผู้หญิงไทยส่วนหนึ่งก็ยังคงตั้งครรภ์และไปรับบริการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยตามสถานที่ต่างๆด้วยตัวเอง ตาดีได้   ตาร้ายก็เสียไป ลองมาตอบคำถามดูสิครับ เราเรียนแพทย์เพื่ออะไร ช่วยโดยไม่มีเงื่อนไข ช่วยด้วยหวังผลกำไรสูงสุด หรือปล่อยวาง ตัวใครตัวมัน

ส่งท้าย (จริงๆ) ผมไม่ได้หวังให้แพทย์สนับสนุนหรือมีความยินดีกับการให้บริการยุติการตั้งครรภ์นะครับ แต่แพทย์ควรมองผู้มาขอรับบริการอย่างเป็นธรรมและเข้าใจ อย่าด่วนตัดสินเขาว่าดีหรือไม่ดี คำว่า provide safe abortion care ของ WHO มิใช่หมายความว่าเราต้องทำแท้งให้เขา แต่เราสามารถให้คำแนะนำปรึกษา หรือหาทางออกอื่นๆ รวมทั้งแนะนำสถานที่ที่เขาสามารถไปรับบริการได้อย่างปลอดภัยต่างหากครับ   

หมายเลขบันทึก: 112069เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2007 20:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ข้อความ:

พอดีหนูทำรายงานเกี่ยวกับ legalizing abortion ค่ะ เห็นคุณหมอเขียนเกี่ยวกับกฏหมายทำแท้ง เลยมีเรื่องอยากจะเรียนถามว่า พอจะทราบบ้างหรือเปล่าคะว่า กฏหมายทำแท้งมีเปลี่ยนไปจากเดิมที่บัญญัติไว้ในปี 2499 หรือไม่คะ

ตอบ

กฎหมายไม่เปลี่ยนครับ เพียงแต่แพทยสภาได้ขยายข้อความในมาตรา 305 ในวรรคแรกที่กล่าวว่า การยุติการตั้งครรภ์ในกรณีที่การตั้งครรภ์นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพมารดา

โดยระบุว่า สุขภาพให้หมายถึง สุขภาพกายและใจครับ

ผมแนบเอกสารที่เป็นประกาศราชกิจานุเบกษามาให้ด้วยครับ ลองอ่านดู

ยังมีรายละเอียดอีกมาก ถ้าอยู่ที่หาดใหญ่จะได้คุยให้ฟัง และผมมีเอกสารอีกมากมายที่เกี่ยวกับข้อบังคับฉบับนี้ครับ

หรือหากจะให้ผมส่งเอกสารบางส่วนที่สำคัญมาให้ศึกษาก็ยินดีนะครับ

ธนพันธ์

อาจารย์คะ หนูขอรบกวนอีกครั้งนะคะ ไม่ทราบว่าอาจารย์มีข้อบังคับแพทยสภาฉบับภาษาอังกฤษหรือไม่คะ คือหนูต้องทำรายงานเป็นภาษาอังกฤษค่ะ

ขอบพระคุณอย่างสูง

ตอบ

ไม่มีครับ เพราะนี่คือ ข้อบังคับหมอไทย ประกาศในราชกิจจานุเบกษาครับ ดังนั้นจึงไม่มีการแปล

ธนพันธ์

คุณหมอคะ หนูขอสอบถามเพิ่มเติมนะคะว่า คนติดเชื้อเอชไอวี สามารถทำแท้งได้ทุกกรณีเลยหรือไม่คะ หมายความว่าแม้ว่าลูกไม่ได้ติดเชื้อด้วย แม่สามารถตัดสินใจทำแท้งได้หรือไม่คะ

ขอบคุณมากค่ะ

ตอบ

ปัจจุบัน การตัดสินใจทำแท้งขึ้นอยู่กับมารดาและอายุครรภ์ครับ

ถ้าการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นนั้น ก่อให้เกิดปัญหาทางจิตใจของสตรีที่ติดเชื้อ HIV เขาก็สามารถขอรับบริการยุติการตั้งครรภ์ได้ อายุครรภ์ต้องไม่มากไปนะครับ เดี๋ยวจะตายทั้งแม่และลูก

ที่คุณหมอบอกว่าการทำแท้งขึ้นอยู่กับมารดา นี่คือกรณีผู้ติดเชื้อเอดส์อย่างเดียวใช่หรือไม่คะ ถ้าแบบนี้ใครอ้างว่าการตั้งครรภ์มีผลต่อสภาพจิตใจ ก็สามารถทำแท้งได้หมดหรือคะ นอกเหนือไปจากกฏหมายที่บัญญัติมาตรา 305 สองข้อค่ะ ที่ว่า ถูกข่มขืนและมีผลต่อสุขภาพของแม่

ตอบ

ไม่ถูกซะทีเดียวครับ เพราะว่า ข้อบังคับฉบับนี้ ทำขึ้นมา เพื่อเอื้อให้คนที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์นั้น เข้าถึงบริการ อย่าลืมนะครับว่า ถ้าเขาจะทำ เขาก็ต้องหาที่ทำจนได้ ดีไม่ดีก็ไปทำเถื่อนจนติดเชื้อก็มีมากมาย

อย่าลืมว่า ข้อบังคับฉบับนี้ เป็นข้อบังคับที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่สตรี ในการที่จะตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ว่าจะเอาอย่างไรกับการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม

การทำแท้งเสรีไม่มีในประเทศที่อนุญาตให้ทำแท้งครับ คนชอบพูดกันไปเอง พูดไปเรื่อยๆโดยใช้อารมณ์ การทำแท้งเสรีหมายถึง ทำลูกเดียว ไม่ต้องสนใจว่าเราได้คุยกับคนไข้ถึงทางเลือกหรือยัง อายุครรภ์เท่าไหร่ก็ทำให้ ทำแล้วเด็กออกมาร้องไห้ก็มี เหตุการณ์เหล่านี้ เกิดจากการแอบทำครับ ทำใต้ดิน

ข้อบังคับ มีเพื่อให้มีการทำบนดิน หมอที่ทำต้องรายงานเข้าแพทยสภาเสมอ

มีให้เพื่อหมอที่เขาทำกันอยู่ จะได้ไม่ทำผิดกฎหมาย ไม่ถูกรีดไถจากคนที่ชอบมาจับ

ธนพันธ์

ข้อแรก ตอนแรกหนูจะพยายามเข้าไปโพสต์ใน blog แต่ด้วยความที่ low technology มากเลยไม่รู้ว่าต้องโพสต์ตรงไหนให้อาจารย์แนะนำมาด้วยนะคะ

ข้อสอง หนูอ่านข้อบังคับแพทยสภาอย่างละเอียดรวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมจากเอกสารทางกฎหมาย หนูติดใจตรงที่บอกว่า

"(๑) เป็นกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางกายของหญิงมีครรภ์ หรือ

(๒) เป็นกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางจิตของหญิงมีครรภ์ ซึ่งจะต้องได้รับ

การรับรองหรือเห็นชอบจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่มิใช่ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์ อย่างน้อยหนึ่งคน

ในกรณีที่หญิงนั้นมีความเครียดอย่างรุนแรง เนื่องจากพบว่าทารกในครรภ์มีหรือมีความเสี่ยงสูง

ที่จะมีความพิการอย่างรุนแรง หรือเป็นหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคพันธุกรรมอย่างรุนแรง เมื่อหญิงนั้น

ได้รับการตรวจวินิจฉัยและการปรึกษาแนะนำทางพันธุศาสตร์ (genetic counseling) และมีการลงนามรับรอง

ในเรื่องดังกล่าวข้างต้น โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่มิใช่ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์อย่างน้อยหนึ่งคน

ให้ถือว่าหญิงมีครรภ์นั้นมีปัญหาสุขภาพจิตตาม (๒)

ทั้งนี้ ต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจนว่าหญิงนั้นมีปัญหาสุขภาพทางกายหรือทางจิตและ

ต้องมีการบันทึกการตรวจและวินิจฉัยโรคไว้ในเวชระเบียนเพื่อเป็นหลักฐาน"

ถ้าแบบนี้หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ผ่านการวินิจฉัยว่ามีปัญหาทางสุขภาพจิตหรือว่าหญิงตั้งครรภ์นั้นไม่ได้มีความเครียดอย่างรุนแรงเพียงแต่ต้องการที่จะกำจัดทารกในครรภ์ที่พิการทิ้งก็ไม่สามารถที่จะยุติการตั้งครรภ์ได้หรือคะ

รบกวนอีกครั้งนะคะ

ตอบ

ถ้าแบบนี้หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ผ่านการวินิจฉัยว่ามีปัญหาทางสุขภาพจิตหรือว่าหญิงตั้งครรภ์นั้นไม่ได้มีความเครียดอย่างรุนแรงเพียงแต่ต้องการที่จะกำจัดทารกในครรภ์ที่พิการทิ้งก็ไม่สามารถที่จะยุติการตั้งครรภ์ได้หรือคะ

อันนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ในทางปฏิบัตินะครับ เพราะว่า การที่แม่รู้ว่า ทารกลูกของตนนั้นพิการ แล้วไม่เกิดความเครียดเลย ก็แปลกอยู่นะครับ

ข้อบังคับข้อนี้ มีเพื่อพวกผมโดยเฉพาะ

ในอดีต พวกหมอสูติก็ทำแท้งมากมาย ในกรณีที่เราวินิจฉัยได้ว่า ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ เช่น Down syndrome เรารู้ได้จากการเจาะน้ำคร่ำตรวจ แล้วหมอสูติก็ทำแท้งให้ ซึ่งในอดีตก็ผิดกฎหมายเต็มๆ เพราะทารกเป็น Down ไม่ส่งผลต่อสุขภาพ (กาย) มารดา เห็นไหม คนแปลกฎหมายไทย ไม่รู้จักคำว่าสุขภาพเลยแม้แต่นิดเดียว

ข้อบังคับนี้ก็จะทำให้หมอสูติทำแท้งได้โดยถูกต้อง คิดดูสิครับ อุตส่าห์เจาะน้ำคร่ำตรวจ แต่กฎหมายไม่ให้ทำแท้ง ทุเรศไหม

ไม่ทราบว่าจะขอนำข้อมูลในบล็อกของคุณหมอไปอ้างอิงในการเขียนรายงาน UNGASS ได้ไหมคะ (เป็นรายงานภาคประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านเอดส์ตามปฏิญญาของ UN) ที่พูดถึงการตีความของสำนักงานประกันสังคมเรื่องที่ให้ผู้หญิงตั้งครภ์สามารถเบิกค่ารักษา ยุติการตั้งครรภ์ได้

ขอบคุณค่ะ ติดตามอ่านความเห็นดีๆ และกรณีศึกษาของอาจารย์อยู่นะคะ

เพิ่งได้อ่านบทความคุณหมอ ดีมากเลยค่ะ บทความขอคุณหมอช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ถ้าจะขอคำปรึกษาจากคุณหมอในกรณีทำแท้งจะได้หรือไม่คะ จะนำไปใช้เป็นข้อมูลในรายงานค่ะ

คุณ หมอ ครับ ผมรบกวนขอ facebook ของคุณหมอได้รึปล่าวครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท