เมาค้าง ทำอย่างไรดี


เกิดพลาดพลั้งไปจนเกิดอาการเมาค้าง (hangover) จะทำอย่างไร วันนี้มีคำแนะนำดีๆ มาฝากครับ...

พวกเราคงทราบกันดีว่า เหล้า เบียร์ ไวน์ (แอลกอฮอล์) มีอันตรายต่อสุขภาพ

ทีนี้ถ้าเกิดพลาดพลั้งไปจนเกิดอาการเมาค้าง (hangover) จะทำอย่างไร วันนี้มีคำแนะนำดีๆ มาฝากครับ...

กลุ่มอาการเมาค้างประกอบด้วยอาการปวดหัว คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ตัวสั่น ท้องเสีย

บางครั้งมีความดันเลือดตัวบน (systolic blood pressure) สูงขึ้น ชีพจรเร็วขึ้น เหงื่อออกมากขึ้น หรือกลุ่มอาการบ้านหมุน-เวียนหัว (vertigo) ร่วมด้วย

การดื่มเหล้าหนักเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดสมองแตก อัมพฤกษ์ อัมพาต ส่วนหนึ่งเกิดจากความดันเลือดตัวบนเพิ่มขึ้น

สาเหตุของกลุ่มอาการเมาค้างเป็นผลจากเอนไซม์ หรือน้ำย่อยในร่างกาย เปลี่ยนแอลกอฮอล์เป็นอะเซทาลดีไฮด์ (acetaldehyde) ซึ่งออกฤทธิ์ทำลายสมอง และระบบประสาท

นอกจากนั้นแอลกอฮอล์ยังรบกวนการทำงานของฮอร์โมน (เมลาโทนิน) ทำให้เกิดอาการงุนงงสับสนคล้ายๆ กับการเดินทางไกลข้ามเขตเวลาทางเครื่องบิน (jet lag)

และกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวข้างเดียวหรือไมเกรน (migraine) ได้

กลุ่มอาการเมาค้างมักจะเกิดเมื่อระดับแอลกอฮอล์อยู่ใน “ขาลง” และแรงที่สุดเมื่อระดับแอลกอฮอล์เข้าใกล้ศูนย์... ทำไมไปคล้ายกับอาการของคนเล่นหุ้นเวลาหุ้นตกก็ไม่ทราบ

ข่าวร้ายของท่านที่คิดว่า การกินเหล้าคราวละเล็กละน้อยจะช่วยลดกลุ่มอาการเมาค้างคือ มีการศึกษาวิจัยหลายชุดพบว่า คนที่ดื่มน้อยหรือดื่มปานกลางกลับมีอาการเมาค้างมากกว่าพวกดื่มหนัก

แถมยังมีการศึกษาวิจัยพบว่า คนที่มีญาติเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังมักจะมีกลุ่มอาการเมาค้างแรงกว่าคนทั่วไป

อาจารย์ดอกเตอร์โรเบิร์ต สวิฟท์ นักวิจัยแห่งศูนย์แพทย์สวัสดิการทหารผ่านศึก เมืองโรดไอส์แลนด์ สหรัฐฯ กล่าวว่า วิธีที่คนทั่วโลกลองทำกันมาได้แก่...

  • ดื่มเพิ่ม หรือ "ถอน" (Hair of the dog’)... การดื่มเพิ่มไม่ช่วยให้กลุ่มอาการเมาค้างดีขึ้น ทว่า... ทำให้เกิดสมองได้รับสารพิษมากขึ้น เกิดกลุ่มอาการเมาค้างครั้งใหม่ซ้ำซากไปเรื่อยๆ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคติดเหล้า ตับอักเสบ ตับแข็ง ตับอ่อนอักเสบ สมองเสื่อม และโรคพิษสุราเรื้อรัง

  • ดื่มน้ำ... แอลกอฮอล์ออกฤทธิ์ยับยั้งฮอร์โมนวาโซเพรสซิน (vasopressin) ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำทางปัสสาวะมากขึ้น เหงื่อออกมากขึ้น และเกิดภาวะขาดน้ำ การดื่มน้ำมากๆ ในคราวเดียวอาจทำให้อาการคลื่นไส้แย่ลง วิธีที่ดีคือ จิบน้ำคราวละน้อยๆ บ่อยๆ

  • กินแป้งและน้ำตาล... แอลกอฮอล์ออกฤทธิ์ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอาจส่งผลทำลายสมองถาวรได้ ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขภายใน 90 นาที วิธีง่ายๆ คือ การดื่มน้ำหวาน หรือน้ำผลไม้เย็นๆ และขนม เช่น ขนมปัง ฯลฯ คราวละน้อยๆ บ่อยๆ ต่อไป 1-3 วัน

  • ดื่มเหล้าสีเข้ม... มีการศึกษาหลายชุดพบว่า เหล้าสีเข้มทำให้เมาค้างน้อยกว่าเหล้าสีอ่อน เรื่องนี้เปรียบคล้ายการ “หนีเสือปะจระเข้” เพราะเหล้าสีเข้มมักจะมีสารจากการหมัก (congeners) รวมทั้งเมธานอล (methanol) ซึ่งมีพิษต่อสมอง ตา และระบบประสาทรุนแรงกว่าแอลกอฮอล์ ผลคือ อาจทำให้เมาค้างมากขึ้น และสมองเสื่อมมากขึ้นได้ (เหล้าเถื่อนบางครั้งอาจมีเมธานอลสูงจนทำให้ตาบอด 2 ข้างได้)

  • กินยาแก้ปวดที่ไม่ใช่พาราเซตามอล... การกินพาราเซตามอลพร้อมหรือหลังการกินเหล้าทำให้เกิดพิษต่อตับรุนแรง เช่น ตับอักเสบ ตับวาย(ถึงตายได้) ฯลฯ การกินยาแก้ปวดกลุ่มอื่น (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ฯลฯ อาจช่วยให้อาการปวดหัวทุเลาลง ทว่า... อาจทำให้กระเพาะอาหาร-ลำไส้อักเสบ หรือเป็นแผลกระเพาะ และตกเลือดได้

  • ดื่มกาแฟหรือชา... การศึกษาพบว่า กาแฟหรือชาไม่ช่วยให้กลุ่มอาการเมาค้างทุเลาลง ทว่า... อาจช่วยให้อาการง่วงงุนงงทุเลาลงได้ ข้อควรระวังคือ กาแฟหรือชามีฤทธิ์ขับปัสสาวะ จึงต้องดื่มน้ำ น้ำหวาน หรือน้ำผลไม้คราวละน้อยๆ บ่อยๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำไม่ให้แย่ลงไปอีก

  • กินวิตะมินบี 6... การศึกษา 1 ชุดเมื่อ 30 ปีเศษพบว่า วิตะมินบี 6 ขนาดสูง (1,200 มิลลิกรัม) ช่วยให้กลุ่มอาการเมาค้างทุเลาลง ข้อจำกัดของการศึกษานี้คือ เป็นการศึกษาที่มีขนาดกลุ่มตัวอย่างน้อย ทำให้ความแม่นยำลดลง และไม่มีการศึกษาอื่นๆ ยืนยันความแม่นยำของการศึกษานี้

การศึกษาเร็วๆ นี้พบว่า การดื่มกาแฟอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคตับแข็งในคนที่ดื่มเหล้าลงได้ 

วิธีอื่นที่พอจะช่วยให้อาการเมาค้างลดลงได้แก่

  1. การดื่มกาแฟหรือชา เพื่อลดอาการง่วงงุนงง
  2. การดื่มน้ำผลไม้ หรือน้ำคราวละน้อยๆ บ่อยๆ เพื่อลดอาการขาดน้ำ
  3. การดื่มน้ำผลไม้ น้ำหวาน หรือกินอาหารประเภทข้าว-แป้งคราวน้อยๆ บ่อยๆ เช่น ขนมปัง ฯลฯ เพื่อลดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ถ้าพบคนที่มีอาการเมาค้างซึมลง หรือหมดสติ... ควรรีบนำส่งอนามัย หรือโรงพยาบาลใกล้ๆ ทันที เนื่องจากอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ที่ทำลายสมองได้

วิธีการป้องกันกลุ่มอาการเมาค้างที่ดีที่สุดยังคงเป็นการ “งด-ลด-ละ-เลิกดื่มเหล้า(ทุกชนิด)” หรือ “ป้องกันไว้ดีกว่าตามแก้ไข”

ถึงตรงนี้... ขอแสดงความยินดีกับพวกเราที่มีส่วนในการงด-ลด-ละ-เลิกเหล้า(ทุกชนิด) เนื่องจากเหล้ามีพิษรุนแรงต่อสมอง ตับ ตับอ่อน เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดสมองแตก อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคอ้วน โรคอ้วนลงพุง อุบัติเหตุ และการทะเลาะวิวาทกัน

เหล้า... ไม่ดื่มเลยดีที่สุดครับ

ข่าวประกาศ...                                                  

  • ผู้เขียนขอปิดส่วนความคิดเห็น และงดตอบปัญหา เพื่อปรับปรุงคำหลัก (key words) บันทึกย้อนหลังไปพลางก่อน

ขอแนะนำ...                                                    

    แหล่งที่มา:                                       

  • Many thanks to Harward Health Publication > How to handle a hangover > http://www.health.harvard.edu/healthbeat/HEALTHbeat_122006.htm > December 20, 2006.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก บ้านสุขภาพมีไว้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์เทวินทร์ อุปนันท์ IT โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์ ณรงค์ ม่วงตานี และอาจารย์เทพรัตน์ บุณยะประภูติ IT ศูนย์มะเร็งลำปาง
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ จัดทำ > 16 กรกฎาคม 2550.
หมายเลขบันทึก: 112014เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2007 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท