จังหวัดเชียงใหม่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคเหนือ


การค้าชายแดนมีความสำคัญและก่อให้เกิดประโยชน์ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของจังหวัดและประเทศ อีกทั้งยังช่วยทำให้โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของพื้นที่ชายแดนได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ช่วยขยายปริมาณมูลค่าการค้าโดยรวม ส่งผลดีกับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนบริเวณพื้นที่ชายแดนทั้งสองประเทศอันจะเป็นรากฐานที่แท้จริงด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคเหนือตอนบน มีความได้เปรียบหลายประการ ทั้งตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศพม่าเป็นแนวยาวทั้งแนวภูเขาและแม่น้ำ ความสะดวกในเรื่องของการคมนาคมขนส่งและขนย้ายสินค้า การขยายตัวของธุรกิจหลายประเภท ได้แก่ โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ธุรกิจค้าขาย สถานีน้ำมัน และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานอื่น เช่น ระบบไฟฟ้า น้ำประปา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมความพร้อมในการพัฒนาพื้นที่การค้าชายแดนในอนาคต จังหวัดเชียงใหม่มีอาณาเขตติดต่อกับรัฐฉานของพม่า มีชายแดนติดกับพม่าใน 5 อำเภอ คือ อำเภอเวียงแหง อำเภอเชียงดาว อำเภอไชยปราการ อำเภอฝาง และอำเภอแม่อาย ระยะทาง 277 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ภูเขาและป่าไม้ทั้งหมด มีบริเวณการค้าชายแดนเชิงภูมิศาสตร์ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาด่านการค้าชายแดนทั้งหมด 3 ด่าน ได้แก่ ด่านกิ่วผาวอก อำเภอเชียงดาว ด่านท่าตอน อำเภอแม่อาย และด่านหลักแต่ง อำเภอเวียงแหง
จากกการศึกษาวิจัยพบว่า ปริมาณการค้าชายแดนไทย-พม่าในจังหวัดเชียงใหม่ยังคงมีสัดส่วนที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับการค้าชายแดนในภาคเหนือทั้งหมด และบริเวณชายแดนจังหวัดเชียงใหม่มีโอกาสทำการค้าชายแดนสูงในรูปแบบของจุดผ่อนปรนคือ ด่านกิ่วผาวอก อำเภอเชียงดาว โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนและส่งเสริมการค้าชายแดนไทย-พม่า ได้แก่ทำเลที่ตั้งใกล้เมืองสำคัญของทั้ง 2 ประเทศ มีระยะทาง 150 กิโลเมตรเมื่อเทียบกับเส้นทางแม่สายในระยะทาง 300 กิโลเมตร อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานและความพร้อมของภาครัฐ-เอกชนท้องถิ่นในการผลักดันการค้าเข้าสู่ตอนในของพม่า บริเวณพม่าฝั่งตรงข้ามหมู่บ้านอรุโณทัย มีการตั้งถิ่นฐานค่อนข้างหนาแน่นในบริเวณเขตชายแดนไทย-พม่า มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยเนื่องจากตั้งอยู่ใกล้ไทยมากกว่าเมืองใหญ่ในพม่า อีกทั้งยังมีภูมิประเทศที่สวยงาม มีสภาพภูมิอากาศที่ดี และตั้งอยู่บนเส้นทางท่องเที่ยว จึงมีศักยภาพที่จะได้รับการสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ต่อเนื่องจากดอยหลวงอ่างขางของไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่คนไทยและต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี จึงถือได้ว่าด่านกิ่วผาวอก (ด่านศุลกากรเชียงดาว) เป็นจุดที่มีความสำคัญควรทำการพัฒนาเพื่อเชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยว โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวให้เดินทางไปเยี่ยมเยือนจุดชายแดนไทย-พม่า
ภาวะความต้องการของตลาดในประเทศพม่า
ความต้องการของตลาดประเทศพม่า ความต้องการสินค้าของตลาดประเทศพม่าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่จำเป็นในการพัฒนาอุตสาหกรรมประเภทอุตสาหกรรมการเกษตร และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ดังนี้
♐ สินค้าประเภททุน เป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดพม่า เนื่องจากประเทศพม่ายังต้องมีการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศอยู่หลายโครงการ ทั้งด้านคมนาคมขนส่ง และการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการขยายตัวด้านการค้าจากกลุ่มประเทศเอเชีย
♐ สินค้าอุปโภคบริโภค มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในพม่า ยังเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง ทำให้ปริมาณการผลิตที่ได้ในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ
♐ วัตถุดิบและอะไหล่เครื่องจักร พม่าต้องการส่งเสริมให้มีการลงทุนในพม่าเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และเพื่อการส่งออกทำให้ต้องนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรม และอะไหล่เครื่องจักรเป็นจำนวนมาก
ผลกระทบจากการนำเข้าและส่งออกสินค้าผ่านด่านศุลกากรชียงดาว
✲ ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจการค้า การส่งนำเข้าและส่งออกสินค้าผ่านผ่านด่านศุลกากรเชียงดาวพบว่า มูลค่าการค้าชายแดนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ความสำคัญของการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น และหากมีการเปิดและพัฒนาด่านศุลกากรเชียงดาว จะทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถทำการค้าขาย ได้โดยตรงกับพ่อค้าประชาชนชาวพม่า และยังช่วยให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น จะทำให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น และจะช่วยทำให้มีเงินสะพัดในท้องถิ่นเป็นจำนวนมากยิ่งขึ้น
✲ ผลกระทบเชิงสังคม
- ผลกระทบด้านผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย เนื่องจากเขตแดนเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่าค่อนข้างยาว และปัจจุบันยังขาดมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการสกัดกั้นมิให้แรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาในประเทศไทย ทำให้สถานการณ์การอพยพหลบหนีเข้าเมือง ลักลอบเดินทางเข้ามาในประเทศไทยอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายเพิ่มขึ้น และก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก่อปัญหาในหลาย ๆ ด้าน เช่น ปัญหาการแย่งงาน แย่งรายได้ ปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ
- ผลกระทบด้านสาธารณสุข เกิดปัญหาโรคติดต่อและโรคระบาด ซึ่งคนต่างด้าวเป็นพาหะยากต่อการป้องกันควบคุมเนื่องจากไม่สามารถทำการตรวจสอบในขั้นตอนการเข้าประเทศได้ คนต่างด้าวที่เป็นเพศหญิงส่วนหนึ่งมีเป้าหมายเพื่อประกอบอาชีพหญิงบริการ ส่งผลให้เกิดการติดต่อและการแพร่ระบาดของโรคเอดส์
- ผลกระทบด้านการศึกษา การค้าขายสินค้าผ่านด่านศุลกากรเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้ผู้ปกครองของนักเรียนบางส่วนมีความสามารถในการชระค่าเล่าเรียน สนับสนุนการศึกษาของบุตรหลานได้มากขึ้น
- ผลกระทบเชิงการท่องเที่ยว หากมีการพัฒนาพื้นที่บริเวณการค้าชายแดนเพื่อรองรับการท่องเที่ยวนี้จะส่งผลให้ปริมาณนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเพิ่มจำนวนมากขึ้นสามารถเพิ่มจำนวนวันที่นักท่องเที่ยวจะใช้เวลาในจังหวัดเชียงใหม่ได้ส่งผลถึงมูลค่าการท่องเที่ยวให้สูงขึ้นจากเดิมและเป็นการเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมจังหวัดเชียงใหม่ได้อีกแหล่งหนึ่ง
- ผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม ควรมีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะ และการจัดสรรสาธารณูปโภค เพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขตามมา
ปัญหาและอุปสรรค
♖ ประเทศพม่ามีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เช่น การนำเข้าสินค้า ต้องใช้เงินที่ได้จากการส่งออก (Export Earning) การกำหนดสัดส่วนการนำเข้าสินค้า คือ สินค้าจำเป็นร้อยละ 80 นอกจากสินค้าจำเป็นร้อยละ 20 ของปริมาณนำเข้า เป็นต้น
♖ เส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างไทย-พม่า มีสภาพชำรุดทรุดโทรม
♖ ปัญหาการสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อย ทำให้ไม่มีความปลอดภัยตามแนวชายแดนไทย-พม่า
♖ การปิดด่านการค้าชายแดนบ่อย ทำให้สินค้าไทยไม่สามารถขนส่งไปยังพม่าได้อย่างต่อเนื่อง
มาตรการแก้ไข

✌ ส่งเสริมความสัมพันธ์ สร้างแนวร่วมทางการค้าระหว่างไทยกับพม่าให้มีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น
✌ หาแนวทางการค้าระหว่างประเทศในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคทางการค้า เช่น การใช้ระบบการค้าAccount balance Tradeที่มีภาครัฐของทั้งสองประเทศเข้าร่วมมือกันดำเนินการ
ภายใต้ผลประโยชน์ระหว่างประเทศร่วมกัน
✌ ส่งเสริมการนำเข้าสินค้าจากประเทศพม่า เพื่อเพิ่มศักยภาพในการนำเข้าสินค้าจากไทยทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลทางการค้าที่พม่ารู้สึกเสียเปรียบอยู่ในแง่การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าประกอบกับไทยสามารถใช้พม่าเป็นรากฐานการผลิตที่มีความพร้อมในด้านของทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และแรงงานราคาถูก
✌ สร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงระหว่างประเทศในระยะยาวบนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน
จากสถิติการค้าระหว่างไทยกับพม่าพบว่าแนวโน้มการส่งออกมีปริมาณเพิ่มขึ้น และแนวโน้มการนำเข้ามีปริมาณลดลงทุกปี อีกทั้งเนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่มีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์หลายด้านที่เอื้ออำนวยต่อการค้ากับประเทศพม่า ส่งผลให้ภาวะการค้าขายมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างเห็นได้ชัดเจน ด้วยเหตุนี้เองประเทศไทยจึงประสบกับภาวะเกินดุลอย่างต่อเนื่อง และสิ่งนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจการค้าขายกับต่างประเทศว่าจะมีแนวโน้มที่สดใสมากยิ่งขึ้นหากภาครัฐให้การส่งเสริมพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-พม่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตรงจุดผ่อนปรนด่านกิ่วผาวอก อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ จุดนี้เป็นจุดที่เหมาะสมต่อการค้าขายเพราะเป็นจุดที่มีประชากรชาวพม่าอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มีความสะดวกในเรื่องของการขนส่งเคลื่อนย้ายสินค้า มีภูมิประเทศที่สวยงามเหมาะแก่การท่องเที่ยว และหากภาครัฐให้การสนับสนุนการเปิดด่านจะส่งผลกระทบในทางบวกหลาย ๆ ด้านด้วยกัน เช่น จะทำให้ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงมีรายได้เพิ่มมากขึ้น หรือทำให้เกิด Supply Chain (ห่วงโซ่อุปทาน) เป็นการกระจายรายได้ไปยังส่วนต่าง ๆ ซึ่งทำให้ประชากรมีรายได้ไม่กระจุกตัวอยู่ที่เดียว เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นความเป็นอยู่รวมทั้งการศึกษาก็จะดีขึ้น หากมองในด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะส่งผลกระทบในระยะยาวกล่าวคือ เมื่อประชาชนมีฐานะดีขึ้นภาครัฐก็จะสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้นเพื่อนำไปพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญ และเมื่อประชาชนมีการศึกษาที่ดีขึ้นก็จะทำให้ระบบความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิม ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีแรงงานมีคุณภาพในสายตาของต่างประเทศเป็นต้น และผลกระทบในด้านลบสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากมีการค้าขายผ่านชายแดนไทย-พม่า ได้แก่ การลักลอบเข้าเมือง การลักลอบค้าขายยาเสพติด รวมทั้งปัญหาโรคระบาดต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่สามารถป้องกันและแก้ไขได้หากรัฐบาลใช้มาตรการการควบคุมที่เข้มงวดและเหมาะสม



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท