Kittiphong_t
นาวาเอก กิตติพงศ์ ทิพย์เสถียร

สรุปการเสวนา KM โดย Mr. Chris Thatcher ตอนที่ 1


KM โดย Mr. Chris Thatcher

สรุปการเสวนาเรื่องการจัดการความรู้ โดยวิทยากร Mr. Chris Thatcher ตอนที่ 1

ผมและบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการความรู้ รุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 นับว่ามีโอกาสดีอย่างยิ่ง ที่ได้รับความกรุณาจาก รศ.ดร.นิรมิต คุณานุวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ในการเชิญ Mr. Chris Thatcher อดีตประธานสมาคมครูใหญ่ของอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ที่คร่ำหวอดกับวงการการศึกษามาเป็นเวลานาน มาเล่าเรื่องการจัดการความรู้ให้ฟังกัน

คุณคริสบอกว่า การจัดการความรู้หรือ KM ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ใหม่ คือ สถานศึกษาในประเทศต่าง ๆ พยายามศึกษา KM ในฐานะสิ่งใหม่ แล้วทำไม KM ถึงไม่ใหม่ นั้น คุณคริสมองว่า KM ในส่วนตัวบุคคลแล้ว เป็นเรื่องของปฏิกริยาที่เกิดต่อเนื่องจากการรับรู้ เพื่อคิดและกำหนดว่าจะทำอะไรต่อไป

ซึ่งหากอธิบายในเทอมของ ข้อมูล(Data) สารสนเทศ(Information) ความรู้ (Knowledge) และปัญญา(Wisdom) แล้ว คุณคริสได้เปรียบเทียบว่า

 งู

หากเราเจองูตัวหนึ่ง งู จะถือเป็นข้อมูล การรวบรวมเรื่องต่าง ๆ ที่เรารู้เกี่ยวกับงู เช่น งูมีพิษ งูกัดแล้วตาย งูอยู่ในหญ้ารก จัดเป็นการทำให้เกิดสารสนเทศเกี่ยวกับงู จากนั้นเมื่อนำสารสนเทศดังกล่าว มาคิดจนได้วิธีการปฏิบัติเมื่อพบงูในสถานการณ์นั้น ๆ จะทำให้เกิดความรู้ และในที่สุด เมื่อเจองูบ่อยครั้งขึ้น จนสามารถหาวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดเมื่อจะเจองู ซึ่งอาจเลยไปถึงทำอย่างไรที่ไม่ต้องเจองู อันนี้จะเกิดปัญญา

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า เราสามารถที่จะจัดการให้เกิดความรู้ และปัญญาได้ แต่ สิ่งเหล่านี้จะอยู่แต่ในสมองของเรา และบางทีสิ่งที่เรารู้อาจจะมีความสำคัญกับคนอื่นได้ หรือที่คนอื่นมีอยู่อาจมาช่วยเสริมเราได้ ดังนั้น สิ่งท้าทายที่สำคัญ คือ เราจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) กันอย่างไร

คุณคริสกล่าวเสริมต่อว่า ข้อมูลที่สำคัญของคนหนึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่สำคัญของอีกคนหนึ่งก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ เราจึงต้องรู้ให้ชัดเจนว่าจะเอาข้อมูลไปทำอะไร (การกำหนดวิสัยทัศน์ KM และการบ่งชี้ความรู้)

ถึงจุดนี้ คุณคริสได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องระบบการศึกษาของไทยว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ครูเป็นศูนย์กลางอย่างจริงจัง เนื่องจากปัจจุบันเราไม่ได้ผลิตคนเพื่อทำงานให้กับบริษัทซึ่งเป็นของคนไทยทั้งบริษัท แต่บริษัทส่วนใหญ่จะมีความเป็นนานาชาติมากขึ้น

นอกจากนี้เขายังได้ยกสุภาษิตของอัลเบิร์ต ไอน์สไดน์ ที่ว่า Not everything that counts can be counted, and not everything that can be counted counts. (ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างที่วัดได้ จะถูกวัด และไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถถูกวัด จะได้รับการวัด) เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า การพิจารณาบางอย่าง เช่น คนไหนดี คนไหนไม่ดี บางทีก็ไม่สามารถตัดสินด้วยการวัดแบบต่าง ๆ ได้ เรื่องของความรู้สึก (Feeling) ก็มีผลต่อการตัดสินในพอสมควร ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลหรือสับสนว่า อะไรเป็นข้อมูล(Data) สารสนเทศ(Information) หรือ ความรู้ (Knowledge)

ในตอนนี้จะจบลงด้วยความเห็นของคุณคริส เกี่ยวกับเรื่องปัญญา เขาบอกว่า ปัญญา คือ สิ่งที่จะช่วยให้ผู้คนไม่กระทำผิดพลาดในสิ่งเดิม ๆ ที่เคยพลาดมาก่อน รวมทั้งจะช่วยให้ผู้คนเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เขายังกล่าวชมในส่วนดีของวัฒนธรรมไทยที่มีการยอมรับในเรื่องภูมิปัญญาของผู้อาวุโส ที่สั่งสมประสบการณ์มานาน แล้วประสบการณ์ถูกเปลี่ยนเป็นปัญญาได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะสามารถถอดประสบการณ์เป็นความรู้ โปรดติดตามในตอนต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 110495เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2007 12:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • โหสรุปได้ละเอียดดีมาก
  • ชอบอันนี้ครับ
  • ปัญญา คือ สิ่งที่จะช่วยให้ผู้คนไม่กระทำผิดพลาดในสิ่งเดิม ๆ ที่เคยพลาดมาก่อน รวมทั้งจะช่วยให้ผู้คนเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

สวัสดีค่ะ

  • เป็นการแปรที่สุดยอดมากเลยค่ะ
  • ได้รายละเอียดครบถ้วน
  • เป็นความรู้ที่น่าสนใจมาก
  • ขอบคุณสำหรับความรู้ที่แบ่งปันค่ะ
  • เป็นการแปลที่ยอดเยี่ยม
  • ได้รายละเอียดครบถ้วน
  • มีความรู้น่าสนใจ
  • ขอบคุณที่แบ่งปันความรู้ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท