ตามไปดูนักเรียนเยอรมัน (2)


ต่อจาก [ตามไปดูนักเรียนเยอรมัน (1)]

เขาบอกว่า กำลังเรียนต่อปริญญาเอก ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ evolutionary programming  อยู่

หัวข้อนี้ เป็นการเขียนโปรแกรมที่วิวัฒนาการไปจน เขียนโปรแกรมแทนเราอีกต่อหนึ่งได้ แต่วิธีนี้ ต้องอาศัยการลองผิดลองถูกมาก ซึ่งการไปถึงระบบที่ดีที่สุด ก็ถือได้ว่าเป็นการแก้ปัญหา global optimization

ปัญหา global optimization เป็นที่รู้กันดีว่า ปัญหาหลายตัวแปร ยิ่งมีตัวแปรมาก ยิ่งหาผลเฉลยดี ๆ ยาก เวลาที่ใช้ โตแบบ x ยกกำลัง n เมื่อ x คือระดับความหลากหลายที่เป็นไปได้ของแต่ละตัวแปร และ n คือจำนวนตัวแปร ดังนั้น ถ้าปัญหานั้นมีตัวแปรต้องจูนต้องปรับสัก 100 ตัวนี่ ก็คงต้องรอกันนานหน่อย

นานที่ว่า อาจเป็นปี ถ้า algorithm ไม่ดีพอ

ดังนั้น เมื่อเขา "ปล่อยโปรแกรม" ลงไปในระบบแล้ว เขาก็ต้องรอ รอ รอ และ รอ

แต่ระหว่างรอ เขาตัดสินใจเขียนหนังสือดีกว่า แจกฟรีซะด้วยเลย (http://www.it-weise.de/projects/book.pdf) ด้วยเหตุผลว่า จะได้ทบทวนภาพกว้างทางวิชาการไปพลาง และสามารถหยิบตัดตอนออกไปใช้ในวิทยานิพนธ์ในภายหลังก็ได้ด้วย และการที่เผยแพร่ออกไปแบบ open book แบบนี้ ข้อดีคือ เท่ากับมี peer reviewer จากทั่วโลกหลั่งไหลมาหาเขาเอง ซึ่งทำให้มีคนช่วยต่อเติมส่วนขาดหรือจุดโหว่ที่ตัวเขาเองมองก็อาจจะไม่ออก โดยในช่วงแรก เขาก็ใช้วิธีเจาะกลุ่มเป้าหมายก่อน เพราะรอให้ติดตลาดเองคงช้า ด้วยการไปโพสท์ตามบล็อกที่คิดว่าเกี่ยวข้อง (ซึ่งผมเขียนบล็อกเรื่อง Genetic Algorithm: เครื่องมือวิจัยสำหรับชาวบ้าน พอดี)  

หลังจากคุยวิชาการกันนิดหน่อย ในอีเมล์ฉบับแรก ๆ เขาแย้มให้ฟังว่า เขาใช้กูเกิลค้นเจาะทีละภาษา สำรวจดูว่า แถวเอเชีย มีคนเล่นเรื่อง global optimization โดยเฉพาะด้าน evolutionary programming  กันมากน้อยยังไง เพราะเขาตั้งข้อสงสัยว่ามันเป็นแค่ของเล่นฝรั่งหรือเปล่า หรือเป็นอะไรที่ใช้กันอย่างเป็นล่ำเป็นสันทั่วโลก เพราะเขาพอมีความรู้ภาษาจีนบ้าง ก็ลองไปอ่านบล็อกจีน แล้วลองค้นประเทศอื่นติดปลายนวม

ผลสำรวจไม่เป็นทางการจากการใช้กูเกิลคือ เรื่องพวกนี้ มีคนจับทำกันอยู่ทั่วโลก หลัก ๆ คือกลุ่มภาษาอังกฤษ กลุ่มภาษาเยอรมัน ตามด้วยกลุ่มเอเชีย

สิ่งที่เขาบ่นว่าผิดคาดอย่างแรงคือกลุ่มรัสเซีย

รัสเซียมียอดฝีมือที่ทิ้งงานวิชาการระดับบ่อเกิดสายธารวิทยายุทธไว้หลายคน แต่พอเขาลองค้นเรื่องนี้ว่ามีใครทำในรัสเซียแค่ไหน ก็กลับเป็นว่า กูเกิล link ที่ดูเผิน ๆ เหมือนใช่ web คุยวิชาการ พอตามไปดู เว็บของรัสเซียกลายเป็นเว็บ "อย่างว่า" ไปซะเป็นส่วนใหญ่

ไทยเองเดี๋ยวนี้ก็ไม่น้อยหน้า มีบางเว็บ ไปโหลดคำยอดนิยมจาก truehits ทั้งคำศัพท์ และชื่อคน แล้วมาใส่ซ่อนไว้เป็นฉากหลังของเว็บตัวเอง ความยาวหลายสิบหน้า แทบจะเหมือนยกสารานุกรมมาใส่ และฉากหน้าก็เป็นเว็บ "อย่างว่า"

ดังนั้น เวลาใช้กูเกิลค้นวิชาการ พอไปตาม link ก็อาจจะงงไปเลยว่า เอ๊ะ ... ไหงมาโผล่ตรงนี้ได้อ่า... 

...ผมยังสงสัยอยู่เลยครับ ว่าชื่อใครโดนใส่ไว้ตรงนั้นโดยไม่รู้ตัวเพราะเป็นคนดัง เวลา พรบ. ความผิดคอมพิวเตอร์บังคับใช้ คนที่ถูกอ้างชื่อถึง ควรจะเป็นโจทย์ หรือเป็นจำเลย ?

นอกเรื่องซะเรื่อย 

เล่ามาตั้งนาน ยังไม่ได้บอกชื่อของนักเรียกคนนี้เลย

เขาชื่อ Claus Thomas Weise ครับ มี web อยู่ที่ http://www.it-weise.de

ที่ผมยกมาเขียนถึง เพราะแปลกใจที่เห็นนักเรียนเขียนตำราด้วยแนวคิดที่ดูแล้วทึ่งหลายระลอก และมีลูกล่อลูกชนการตลาดเชิงรุกที่หาชมได้ยาก

เห็นแล้วอิจฉาครับ คิดว่า เด็กไทยทำได้แบบนี้เมื่อไหร่ ครูไทยตายตาหลับ

หมายเลขบันทึก: 110404เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2007 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เดียวจะลองเข้าไปอ่านดูนะคะ ไม่รู้จาเข้าใจมั้ย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท