การพัฒนาจิตใจ4


ฉะนั้นพอเกิดอุปสรรคเกิดปัญหาเราจึงเครียด เราจึงเครียดกับการงานที่ทำ เพราะทำในใจไม่ถูกต้อง มองไม่เป็น เห็นอุปสรรคเป็นปัญหาแทนที่จะมองให้เกิดปัญญา

ฝึกฝนด้วยอิทธิบาท

เมื่อเราปลุกจิตสำนึกในการกระทำให้เกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องฝึกฝนให้เกิดทักษะ ต้องมีธรรมะสำหรับฝึกฝนอบรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรียกธรรมที่ให้เกิดความสำเร็จว่าอิทธิบาท มี 4 อย่างด้วยกัน โดยตรัสควบคู่กับสัมมัปปธาน 4 (ความเพียรถูกต้อง 4) พระองค์ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  สัมมัปปธาน 4 ประการนี้ 4 ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด ย่อมพยายาม ปรารภความเพียรประคองจิต ตั้งจิตมั่น เพื่อไม่ให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น 1ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตมั่น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว 1 ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตมั่น เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น 1ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตมั่น เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่หลงลืม เพื่อให้มียิ่งขึ้น เพื่อความไพบูลย์ เพื่อเจริญเพื่อให้บริบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธาน 4ประการนี้แล ฯ

ประการแรก ปลูกฉันทะคือเราจะต้องมีความพอใจหรือมีความใฝ่ฝันถึงชีวิตที่ดีงามกว่า ถึงโอกาสที่ดีงามกว่า ไม่ว่าสิ่งนั้นจะยากเพียงไรก็ตาม แต่ว่ายังเป็นไปได้ไม่ใช่ฝันถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ฝันถึงสิ่งที่เป็นไปได้ ที่เราสามารถที่จะทำได้ ทำให้เรามีกำลังใจที่จะกระทำ มีเพลงพระราชนิพนธ์ของรัชการที่ 6 อยู่เพลงหนึ่ง ชื่อเพลง ความฝันอันสูงสุด ท่อนแรกของเพลงนี้คือการปลูกฉันทะหรือความใฝ่ฝันโดยเฉพาะการปลุกใจให้รักชาติรักแผ่นดิน บทเพลงมีเนื้อร้องว่า

ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ

ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว

ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ

ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนงฯ

นี้เป็นบทเพลงท่อนแรกซึ่งก็ตรงกับธรรมะคือฉันทะซึ่งแปลว่าความพอใจหรือความใฝ่ฝัน ต้องปลูกฉันทะคือสร้างความใฝ่ฝันขึ้นมาในใจให้ได้ และความใฝ่ฝันนั้นจะต้องเป็นความใฝ่ฝันที่เป็นไปได้ถึงแม้จะยาก ความใฝ่ฝันที่เป็นไปได้ควรมีลักษณะดังนี้คือดื่มด่ำ ทำได้ ให้ผล ดลชีวี

ที่ว่าดื่มด่ำ คือเป็นสิ่งที่ดีงามทำให้เราเบิกบานใจ อิ่มใจ ไม่กังวล ให้ผลเป็นความสุขสงบ คือศรัทธาในสิ่งดีงามจนมีความรู้สึกดื่มด่ำได้ ไว้วางใจ ไม่รู้สึกหม่นหมอง ไม่ต้องทำอย่างซ่อนเร้น ถ้าพูดเป็นศัพท์ศาสนาคือ ตถาคตโพธิศรัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต คนที่นับถือพระพุทธศาสนาต้องเชื่อปัญญา เชื่อเจตจำนงและปฏิปทาของพระตถาคต ถ้าไม่เชื่อก็ถือว่าไม่ได้นับถือทำให้ไม่มีแรงเร้าให้ปฏิบัติ และไม่ได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา

ที่ว่าทำได้ คือเชื่อว่าเราสามารถกระทำได้ ศัพท์ศาสนาเรียกว่า กรรมศรัทธา เชื่อกรรม คือถ้าสิ่งนั้นเราสามารถทำได้  เราถึงตั้งความฝันเอาไว้ ถ้ามนุษย์ทำไม่ได้ถึงดีอย่างไรก็ไม่ต้องไปฝันเพราะไม่มีประโยชน์ ฝันไปก็เหนื่อยเปล่า

ที่ว่าให้ผล คือเชื่อผลกรรม ศัพท์ศาสนาเรียกว่า วิปากศรัทธา คือเชื่อว่าเมื่อทำลงไปแล้วเราจะได้รับผลตามสติปัญญา ความสามารถ ตามความสำเร็จที่เรากระทำลงไป 

ที่ว่าดลชีวี คือเชื่อว่าการที่เราเป็นอยู่ในวันนี้เพราะผลที่เราทำผ่านๆมา ศัพท์ศาสนาเรียกว่ากัมมสกตศรัทธา แปลว่า เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆตน มีกรรมเป็นมรดก เราต้องเชื่อว่า เราสามารถจะปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้นได้เพราะฝันที่งดงาม เพราะฉะนั้นต้องปลูกฉันทะหรือมีความใฝ่ฝันที่งดงามและเป็นจริงได้

ประการที่สอง พยายาม คือความเพียร ความใฝ่ฝันที่งดงามนั้นต้องอาศัยความเพียรพยายามหรือการฝึกฝนบากบั่นจึงจะทำให้ความฝันเป็นความจริงได้ เพลงพระราชนิพนธ์ท่อนต่อมาจึงมีเนื้อร้องที่แสดงความเพียร ความบากบั่นว่า

จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด

จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง

จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง

จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมาฯ

ไม่ท้อถอยจะสร้างสิ่งที่ควร

ไม่เรรวนพะว้าพะวังคิดกังขา

ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา

ไม่เสียดายชีวาถ้าสิ้นไปฯ

พอเราลงมือปฏิบัติ เราต้องพร้อมที่จะแก้ไขสิ่งผิดพลาดให้โอกาสตนเองเพื่อฝึกฝนอบรม  เราจะไม่หาความทุกข์มาทับถมตน เช่นคนบางคนพอทำอะไรผิดแล้วก็จะลงโทษตัวเองบางทีก็ไม่ยอมแก้ไขปรับปรุง คนที่จะพัฒนาได้จะต้องเป็นคนที่ยอมรับและปรับปรุง ต้องยอมรับในสิ่งผิดพลาดและสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้น ถ้าพูดภาษาพระก็เรียกว่าเชื่อเรื่องกรรม ต้องเชื่อเรื่องกรรมเก่าว่าเราทำผิดพลาดมาแล้ว แต่ว่าเราไปแก้กรรมเก่าก็ไม่ได้เพราะมันผ่านไปแล้ว สิ่งที่เราจะแก้ได้ก็คือกรรมใหม่หรือกรรมปัจจุบัน เพราะฉะนั้นให้กลับไปมองกรรมเก่าในฐานะเป็นบทเรียน ให้กลับไปมองความผิดพลาดที่ผ่านไปแล้วในฐานะที่เป็นบทเรียน เพื่อที่จะปรับปรุงการกระทำในปัจจุบันให้ดีขึ้น จะไม่รู้สึกท้อถอยในการปรับปรุงแก้ไขความผิดพลาด เพื่อมีโอกาสมีชีวิตที่ก้าวหน้าสุกใส เหมือนพุทธนิพนธ์คาถาซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า 

เมื่อดวงเดือนเคลื่อนผ่านจากม่านเมฆ

งามเป็นเอกเด่นดวงในห้วงหาว

แสงเงินยวงช่วงเด่นเข่นแสงดาว

สุกสกาวราวเก็จเพชรมณี

เฉกผิดพลาดฉลาดแก้ไม่แพ้พ่าย

คงสมหมายคลายหมองงามผ่องศรี

พบแสงเงินแสงทองของชีวี

ดุจรัศมีโชติช่วงของดวงเดือนฯ

การฝึกฝนหรือความเพียรพยายามต้องอาศัยความมานะอดทนจึงจะประสบผลสำเร็จ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์เห็นคุณของธรรมสองประการจึงทรงบรรลุโพธิญาณ คือ ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย และความเพียรอันไม่ย่อหย่อน พระองค์ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรารู้ทั่วถึงคุณของธรรม 2 อย่าง 2 อย่างเป็นไฉน?  คือ ความเป็นผู้ไม่สันโดษในกุศลธรรม 1 ความเป็นผู้ไม่ย่อหย่อนในความเพียร 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า เราเริ่มตั้งความเพียรอันไม่ย่อหย่อนว่าจะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูก ก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด ยังไม่ บรรลุผลที่บุคคลพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียรเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพธิญาณ อันเรานั้นได้บรรลุแล้วด้วยความไม่ประมาท ธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอัน      ยอดเยี่ยม อันเรานั้นได้บรรลุแล้วด้วยความไม่ประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้เธอทั้งหลายจะพึงเริ่มตั้งความเพียรอันไม่ย่อหย่อนว่า จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด ยังไม่บรรลุผลที่ บุคคลพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความ บากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียรเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลายแม้เธอ      ทั้งหลายก็จักทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลาย   ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตต้องการนั้น ด้วยความรู้ยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ต่อกาลไม่นานเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จักเริ่มตั้งความเพียรอันไม่ย่อหย่อนว่า จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด ยังไม่บรรลุผลที่บุคคลพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียรเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

ในเรื่องปัจจัยสี่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสให้สันโดษตามมีตามได้ เช่น ตรัสสอนภิกษุให้สันโดษในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและยารักษาโรค ส่วนในการบำเพ็ญกุศล พระทศพลตรัสไม่ให้สันโดษ พระองค์ตรัสถึงประโยชน์ของความไม่สันโดษ ทรงโปรดปรานความเพียรที่ไม่ท้อถอย ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปอย่างไร้ค่า คืออย่าประมาทในการบำเพ็ญกุศล อย่าหวังผลจากการดลบันดาล แม้โพธิญาณพระองค์ก็บรรลุเพราะความไม่สันโดษในกุศลธรรม และความพยายามไม่ท้อถอยความ

สันโดษในปัจจัย จึงช่วยสนับสนุนให้มีความเพียรในการบำเพ็ญกุศล อุทิศตนให้กับงาน ทำให้ไม่เกียจคร้านในกิจการน้อยใหญ่ และชื่อว่าตั้งอยู่ในอริยะวงศ์ คือดำรงประเพณีของพระอริยเจ้า

มีวรรณคดีเรื่องหนึ่ง ที่ชี้ให้เห็นความเพียรอย่างบากบั่นมั่นคง หลายท่านก็คงจะเคยอ่านมาแล้วคือเรื่องนิทานเวตาล เรื่องนิทานเวตาลนี้ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือพระนามเดิม พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส( น.ม.ส.) ทรงนิพนธ์ไว้(แปล) มีนิทานสิบเรื่อง ต่อมา ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา แปลไว้มีทั้งหมดยี่สิบห้าตอน มีนิทานยี่สิบสี่เรื่อง มีเรื่องย่อว่า                  พระเจ้าวิกรมาทิตย์หรือพระเจ้าตริวิกรมเสน พระราชาแห่งกรุงอุชชยินี(อุชเชนี) ทรงออกพระโอษฐ์รับกับโยคีศานติศีล เพื่อนำซากศพที่มีเวตาลสิงอยู่ ซึ่งพาดอยู่บนกิ่งอโศกทางด้านทิศใต้ของป่าช้ามาให้โยคีศานติศีล ขณะเดินทางเวตาลก็ตั้งกติกาว่า ระหว่างเดินทางตนจะเล่านิทาน เมื่อพระเจ้าตริวิกรมเสนทรงสดับแล้วห้ามตรัสอะไร ถ้าพระองค์ตรัสตนจะกลับไปยังต้นอโศกตามเดิม  แล้วเวตาลก็เล่านิทาน พอเล่านิทานจบเวตาลก็ถามว่า เรื่องนี้ใครผิดใครถูก หรือเรื่องนี้ใครควรจะได้เป็นต้น แล้วกล่าวสำทับว่า ถ้าพระองค์ทรงทราบแล้วไม่ตรัสก็ขอให้พระเศียรแตกเป็นเสี่ยงๆ                 

พระเจ้าตริวิกรมเสนจึงตกที่นั่งกลืนไม่เข้าคายไม่ออก หรือประสบกับปัญหาคอขาดบาดตาย ตอบก็ไม่ได้ ไม่ตอบก็ไม่ดี เพราะถ้าตอบเสียสัจจะที่ให้ไว้ครั้งแรก เวตาลจะกลับไปยังต้นอโศก พระองค์ต้องกลับไปเอามาอีก เหนื่อยฟรี ถ้าไม่ตอบเสียสัจจะเพราะทรงทราบแล้วไม่ตอบตนเองจะพระเศียรแตกเป็นเสี่ยงๆ ตอบก็เสียสัจจะ ไม่ตอบก็เสียสัจจะ พระเจ้าตริวิกรมเสนทรงเลือกรักษาสัจจะที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม คือตอบ พอตอบเวตาลก็หายไปอยู่ที่ต้นอโศกตามเดิม  พระเจ้าตริวิกรมเสนต้องเสด็จไปเก็บเอามาอีก พอเดินไปเวตาลก็ล่านิทานแล้วถามอีก พระเจ้าตริวิกรมเสนก็ตอบอีก ปัญหายี่สิบสามข้อแรกในนิทานยี่สิบสี่เรื่อง พระเจ้าตริวิกรมเสนตอบได้หมด ก็ต้องตอบ พอตอบเวตาลก็กลับไปอยู่ที่ต้นอโศกตามเดิม ฝ่ายพระเจ้าตริวิกรมเสนก็ตามไปเก็บเอามาอีก พอเดินไปเวตาลเล่าอีกแล้วถาม ก็ตอบอีก เวตาลกลับ พระเจ้าตริวิกรมเสนตามไปเก็บมาอีก คืนหนึ่งเดินกลับไปกลับมายี่สิบสี่เที่ยว เพื่อทำภาระของพระองค์ให้สำเร็จโดยยึดถือสัจจะเป็นสำคัญ ดีที่นิทานเรื่องที่ยี่สิบสี่พระองค์ตอบไม่ได้                 

เมื่ออ่านไปๆจึงตั้งคำถามขึ้นมาว่า ทำไมต้องเล่านิทานเยอะอย่างนั้น ก็ได้คำตอบว่า อ้อ คงจะเป็นอย่างนี้กระมัง คงจะชี้ให้เห็นพระวิริยะอุตสาหะของพระเจ้าตริวิกรมเสน โดยชี้ให้เห็นว่า คนเรานั้นพอเจออุปสรรค ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องหงุดหงิด ไม่จำเป็นจะต้องเครียด อย่ามองอุปสรรคเป็นศัตรู  แต่ให้ดูอุปสรรคเป็นบทเรียน เปลี่ยนอุปสรรคเป็นความบันเทิง มองอุปสรรคเป็นบทเรียนเป็นความบันเทิงอย่างไร คือ เมื่อเราเจออุปสรรคครั้งหนึ่ง เราก็ทำความเพียรไป เราก็แก้ปัญหาไป เมื่อเราแก้ปัญหาครั้งนี้ได้ครั้งต่อไปเมื่อเจอปัญหาแบบเดิมเราก็แก้ได้อีก เราจะเกิดความเบิกบานใจเมื่อแก้ปัญหาได้ เราจะรอบรู้ในเรื่องนั้นๆ เพราะฉะนั้น ให้มองอุปสรรคที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียน มองอุปสรรคที่เกิดขึ้นเป็นความบันเทิง ถ้าหากมองอุปสรรคที่เกิดขึ้นเป็นความบันเทิงก็ไม่เครียด คนที่เครียดก็เพราะว่ามองอุปสรรคเป็นศัตรู เป็นความอาภัพอับภาคย์ บางคนทำงานหลายเรื่องโดยที่เราไม่เต็มใจทำ โดยที่เราไม่เห็นคุณค่าของงานทำลงไป แต่จำเป็นทำเพราะเหตุผลด้านค่าครองชีพ ฉะนั้นพอเกิดอุปสรรคเกิดปัญหาเราจึงเครียด เราจึงเครียดกับการงานที่ทำ เพราะทำในใจไม่ถูกต้อง มองไม่เป็น เห็นอุปสรรคเป็นปัญหาแทนที่จะมองให้เกิดปัญญา  คนที่จะทำอะไรได้ดี  ต้องทำในใจถูกต้อง มองเป็น เห็นถูก ปลูกความขยัน มีความพยายามและไม่ท้อถอยกับความล้มเหลวที่เกิดขึ้น พร้อมที่จะเริ่มต้นได้เสมอ ถ้าพร้อมอยู่อย่างนี้แล้วจะไม่เครียด มีปัญหาครั้งหนึ่ง ก็ได้แก้ปัญหาครั้งหนึ่ง ได้ความฉลาด ได้ความเบิกบานใจครั้งหนึ่ง เหมือนกับเดินทางเที่ยวหนึ่งได้ฟังนิทานเรื่องหนึ่ง

ประการที่สาม ติดตามพลัน คือ มีจิตฝักใฝ่หรือมีใจจดจ่อ ปรารภความเพียร ประคองยกจิต ตั้งจิตมั่น อุทิศตนให้กับงาน ให้กับการศึกษาฝึกฝน พัฒนาตนอยู่เสมอ เช่น นักกีฬาต้องหมั่นซ้อมยิ่งใกล้วันลงสนามแข่งขันยิ่งมีใจจดจ่ออยู่กับการซ้อม บางทีซ้อมเสร็จเดินกลับที่พักยังคิดว่าตนอยู่ในสนามซ้อม ถ้าเป็นนักฟุตบอลอาจจะกระโดดโหม่งอากาศเล่น ถ้าเป็นนักสนุกเกอร์อาจจะเผลอทำท่าสาวไม้คิว แล้วส่ายศีรษะไปมาทำท่าคิด นักเทนนิสอาจจะวาดมือทำท่าแบ็คแฮนด์โฟร์แฮนด์นึกถึงตอนซ้อมที่ตนตีพลาดไป อาจจะนึกถึงลูกตบทีเด็ดเพื่อพิชิตคู่ต่อสู้คือมีใจจดจ่ออยู่ตลอด

ประการที่สี่ หมั่นทดลอง คือวิมังสา ใคร่ครวญพิจารณาหาเหตุผล ทดลองจนสามารถประยุกต์วิธีที่ง่ายต่อการปฏิบัติเป็นแบบเฉพาะของตน เหมือนเราเรียนวิชาอะไรก็แล้วแต่ ต้องทำความรู้ของครูให้เป็นความรู้ของเรา เช่น เด็กคนหนึ่งไปเป็นลูกมืออยู่ที่ร้านซ่อมรถ ได้รับคำแนะนำจากเจ้าของร้าน เขาต้องทำความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดนั้นให้เป็นความรู้ของตน ถ้าทำได้อย่างนี้ต่อไปก็ไม่ลืม เขาจะซ่อมรถได้ด้วยตนเองตามแบบของเขาที่เขาประยุกต์ขึ้นมา



© ปฐมปัณณาสก์ ทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย
คำสำคัญ (Tags): #ศาสนา ธรรมกถา
หมายเลขบันทึก: 108690เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2007 23:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท