การจัดกลุ่มเรียนรู้ในผู้เป็นเบาหวาน


กิจกรรมที่จัดขึ้นทำให้เรียนรู้ถึงความละเอียดรอบครอบในการที่จะประเมินปัญหาของผู้ป่วยแต่ละคน

ผู้รับผิดชอบ: จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ประกอบด้วย นักสุขศึกษา พยาบาล

                  โภชนาการ เภสัชกร และนักกายภาพบำบัด

กลุ่มเป้าหมาย: ผู้เป็นเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า ๑๘๐ mg/dl และตกลงเข้าร่วม

                    กิจกรรมสัปดาห์ละครั้ง ๔ ครั้ง

กิจกรรม:

        สัปดาห์แรก ประเมินพฤติกรรมเกี่ยวกับ อาหาร การใช้ยา การออกกำลังกาย และความเป็นอยู่ในปัจจุบันโดยนักสุขศึกษา และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารโดยนักโภชนากร มีการปรับเมนูอาหารให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของผู้ป่วยแต่ละราย พบว่าส่วนใหญ่จะได้รับคำแนะนำในการงดรับประทานของหวาน ของชอบต่างๆ เช่น ทุเรียน แต่ผู้ป่วยบางรายจะแอบบอกว่ากินทุเรียน ๑ ลูก และกลัวลูกจะโกรธจึงไม่บอกให้ทราบ และผู้ป่วยไม่ทราบวิธีการลดอาหารมื้อต่อไปให้เหมาะสม ปัญหาการสื่อสารเพื่อให้มีการรับรู้ที่ถูกต้อง แต่ข้อจำกัดของผู้เป็นเบาหวานส่วนใหญ่มีอายุมากและการอ่านออกเขียนได้เพียงเล็กน้อย สายตามองไม่ชัด จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนคำพูดที่จะสื่อสารให้เข้าใจ

        สัปดาห์ที่ ๒ เรียนรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา ช่วยกระตุ้นให้กลุ่มมีความตื่นตัวในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมากขึ้น พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าโรคต่างๆ ของตนเองที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้นเกิดจากโรคเบาหวาน

        สัปดาห์ที่ ๓ เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ยาและการฉีดอินสุลิน พบว่าผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดไม่คงที่ เนื่องจากมื้ออาหารกับการกินยาไม่สมดุลกัน เช่น มื้อเช้า ๙.๐๐ น. เว้นมื้อเที่ยง มื้อเย็น ๑๕.๐๐ น. ทำให้เกิดอาการน้ำตาลต่ำบ่อยครั้ง แม้ว่าแพทย์จะปรับเปลี่ยนยา ป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำก็ตาม รวมทั้งการฉีดและเก็บอินซูลินไม่ถูกต้อง เช่น ผู้ป่วยเก็บอินซูลินในอุณหภูมิห้อง ๑ เดือน แต่เบิกยา ๓ ขวดต่อครั้ง โดยที่ผู้ป่วยไม่ทราบว่ายาขวดใหม่ที่วางไว้จะหมออายุด้วย จึงไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

        สัปดาห์ที่ ๔ เรียนรู้การออกกำลังกายและการบริหารเท้า พบว่า สภาพร่างกายของผู้ป่วยไม่พร้อม เช่น การทรงตัว ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ จึงปรับเปลี่ยนให้มีการจัด Home program ให้ผู้ป่วยก่อนในสัปดาห์แรก

        กิจกรรมที่จัดขึ้นทำให้เรียนรู้ถึงความละเอียดรอบครอบในการที่จะประเมินปัญหาของผู้ป่วยแต่ละคนให้ครอบคลุม ซึ่งอาจจะเป็นแค่เพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ทุกคนอาจคาดไม่ถึง แต่บางรายอาจดูแลไม่ถูกต้องเนื่องจากความสามารถในการรับรู้ของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน จึงได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันเบาหวานโลก รณรงค์ให้เห็นความสำคัญของการดูแลเท้า พบว่าทั้งบุคลากรและผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีความรู้และตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลเท้า ผู้ป่วยรู้สึกดี และบอกว่าไม่เคยมีที่ใดที่ทำความสะอาดเท้า ตรวจเช็คเท้า และตัดเล็บให้ บุคลากรตื่นตัวที่จะร่วมมือกันดูแลผู้ป่วยเบาหวานของเรา และได้ก่อตั้งชมรมเบาหวานของโรงพยาบาลหาดใหญ่ขึ้นในวันนั้น เพื่อช่วยในการติดตามประเมินผู้ป่วยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในกลุ่มผู้ป่วยเองอย่างต่อเนื่อง

เล่าเรื่องโดย: พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลหาดใหญ่

หมายเลขบันทึก: 10758เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2005 08:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท