การกำหนดราคาสินค้าเพื่อการส่งออก


 ในการซื้อสินค้าระหว่างผู้นำเข้าและผู้ส่งออกนั้นจะมีขั้นตอนในการดำเนินงานดังต่อไปนี้
 1. ผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าสอบถามราคาสินค้าจากผู้ขายหรือผู้ส่งออก
 2. ผู้ขายหรือผู้ส่งออกคำนวณราคาสินค้าส่งออกส่งให้แก่ผู้ซื้อ
 3. เมื่อผู้ซื้อได้รับราคา ก็จะนำไปคำนวณหาต้นทุนนำเข้า ประมาณราคาขาย และกำไรที่คาดว่าจะได้รับ
 4. ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะต่อรองราคาจนตกลงกันได้
 5. มีการจัดทำสัญญาซื้อขายระหว่างกัน
 เนื่องจากราคาที่ตกลงซื้อขายระหว่างกัน เป็นส่วนประกอบของการบริหารธุรกิจส่งออก การกำหนดราคาดังกล่าวต้องยืดหยุ่นตามสภาพการทางการตลาด ทั้งนี้เพื่อให้เป็นราคาที่สามารถแข่งขันในตลาดได้
 ดังนั้นการกำหนดราคาสินค้าเพื่อการส่งออก จึงเป็นไปตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
 ขั้นที่ 1. ผู้ส่งออกวิเคราะห์ตลาด อุปสงค์ อุปทาน ระดับราคาและสภาพการแข่งขันในตลาดสินค้าที่จะส่งออก
 ขั้นที่ 2. พิจารณานโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ กฎระเบียบของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีผลกระทบต่อการนำเข้าและการส่งออก
 ขั้นที่ 3. พิจารณานโยบายธุรกิจและนโยบายการตั้งราคาของกิจการที่กำหนดไว้ในขณะนั้น
 ขั้นที่ 4. รวบรวม จำแนกประเภท และวิเคราะห์ต้นทุนดังได้กล่าวมาข้างต้น
 ขั้นที่ 5. เลือกวิธีกำหนดราคาที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ โดยคำนึงถึงผลกระทบจากปัจจัยและตัวแปรต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว
 ขั้นที่ 6. จัดทำใบเสนอราคาต่อลูกค้าหรือผู้นำเข้า
 ในทางทฤษฎี การกำหนดราคาสินค้าเพื่อการส่งออกอาจจำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ
 ประเภทที่ 1. การกำหนดราคาตามสภาพตลาด
 ประเภทที่ 2. การกำหนดราคาตามต้นทุน
 
 ประเภทที่ 1. การกำหนดราคาตามสภาพการทางการตลาด
 เนื่องจากสภาพการแข่งขันในตลาดต่างประเทศเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงต้องตั้งราคาขายตามสภาพแวดล้อมของตลาดในขณะนั้นเป็นสำคัญ กรณีนี้ผู้ส่งออกจะต้องสำรวจและวิจัยตลาดไว้ล่วงหน้า แล้วตั้งราคาขายที่สามารถจะแข่งขันในตลาดได้ ดังนั้นราคาดังกล่าวอาจจะเป็นราคานำ (Price Leading) หรือราคาตาม (Price Following) หรือตั้งราคาไว้หลาย ๆ ราคา (Differential Price) เพื่อเพิ่มโอกาสในการเจาะตลาดในระดับต่าง ๆ เราเรียกวิธีการคำนวณราคาตามสภาพตลาดว่าเป็นการกำหนดราคาตามเป้าหมาย (Target Price) ธุรกิจจะใช้ราคาดังกล่าวนี้เป็นเป้าหมายในการวางแผนลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อันเกิดจากการส่งออก ทั้งนี้เพื่อให้ได้กำไรตามต้องการและต้นทุนที่ประมาณ ขึ้นมาเพื่อให้ได้กำไรและราคาขายตามต้องการ ก็คือ ต้นทุนตามเป้าหมาย (Target Cost) ซึ่งอาจคำนวณได้จากสมการดังต่อไปนี้
 ต้นทุนตามเป้าหมาย = ราคาขายตามเป้าหมาย – กำไรที่ต้องการ
 ในทางปฏิบัติจะปรากฏว่า แม้บริษัทที่เข้าแข่งขันในตลาดจะกำหนดราคาขายตามเป้าหมายไว้ใกล้เคียงกัน แต่เมื่อวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนของกิจการแต่ละแห่งแล้วแต่จะแตกต่างกันมาก ทั้งนี้เพราะโครงสร้างในการผลิต การบริหารขนาดขององค์กร นโยบายธุรกิจและภาระภาษีและข้อจำกัดด้านรัฐบาลและสถาบันการค้า และการเงินในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน จึงมีผลกระทบต่อกำไรในการดำเนินงานแตกต่างกันไปในธุรกิจแต่ละแห่ง ดังนั้นเมื่อธุรกิจส่งออกต้องกำหนดราคาขายสินค้าตามสภาพการตลาดก็จำเป็นที่จะต้องวางแผนและควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารธุรกิจส่งออกประสบผลกำไรตามต้องการ
 
 ประเภทที่ 2. การกำหนดราคาตามต้นทุน
 การตั้งราคาตามกรณีนี้ จะต้องรวบรวมต้นทุนค่าใช้จ่ายทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกดังได้กล่าวมาในข้อ 2 และ 3 แล้วนำไปรวมกับจำนวนกำไรที่ต้องการ เพื่อคำนวณหาราคาขายของสินค้าดังนี้
 ราคาขายของสินค้า = ต้นทุนและค่าใช้จ่าย + กำไรที่ต้องการ
 ต้นทุนและค่าใช้จ่าย = ต้นทุนการผลิต + ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง + ค่าใช้จ่ายต่าง ๆในการส่งออกสินค้า
 กิจการบางแห่งอาจจะพิจารณาเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ประกอบกับความเสี่ยงภัยอันเกิดจากความเสียหายและความไม่แน่นอนต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ราคาขายครอบคลุมความเสี่ยงภัยทุกประเภท อย่างไรก็ตามยิ่งกิจการประเมินค่าความเสียหายและความไม่แน่นอนสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะทำให้ราคาขายของสินค้าสูงเท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นผลให้ไม่สามารถใช้ราคานั้นแข่งขันในตลาดได้ จึงต้องพิจารณาราคาขายของคู่แข่งขันอื่น ๆ และแนวโน้มในตลาดควบคู่กันไปด้วย ไม่ควรอย่างยิ่งที่กิจการจะกำหนดราคาขายโดยเน้นเฉพาะแต่ประการเดียว


ความเห็น (2)

ข้อมูลดีและมีประโยชน์มากเลยค่ะ

สนใจอยากร่วมงานกับพี่จังเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท