ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล
ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล

บทที่ 1 กำเนิดและพัฒนาการของขบวนการสหกรณ์


บทที่ 1 กำเนิดและพัฒนาการของขบวนการสหกรณ์      

               กลุ่มช่วยเหลือกันและกันของประชาชนมีมานับพันปีแล้ว เพราะคนเป็นสัตว์สังคม ต้องทำงานร่วมกันจึงจะอยู่รอดได้ดี ในสังคมก่อนยุคทุนนิยม คนมักจะอยู่เป็นชุมชนล่าสัตว์และชุมชนเกษตรโดยจะมีป่า ทุ่งหญ้า และที่สาธารณะหรือของกลางที่เป็นของส่วนรวม(Common) ของชุมชนต่างๆ และประชาชนจะทำงานแบบรวมหมู่ เช่น ช่วยกันล่าสัตว์ สร้างบ้าน เพาะปลูก ดูแลเหมืองฝายเก็บเกี่ยว ฯลฯ แต่หลังจากยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมในคริสตวรรษที่ 17-18 ที่มีการเน้นทรัพย์สินส่วนบุคคลและการจ้างแรงงานอิสระเพื่อผลิตสินค้าไปขายหากำไร ทำให้เกิดการล้อมรั้วทุ่งหญ้าส่วนรวม มาเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ระบบทุนนิยมล้มล้างระบบทรัพย์สินของกลางเพื่อส่วนรวมและวัฒนธรรมทำงานช่วยกัน เปลี่ยนเป็นระบบทรัพย์สินส่วนตัว เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม การทำงานรวมหมู่แบบช่วยกันและกัน เป็นการซื้อขายพลังแรงงาน และเปลี่ยนความสัมพันธ์ทุกด้านของมนุษย์(ครอบครัว ชุมชน เศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม) เป็นความสัมพันธ์แบบซื้อขายแลกเปลี่ยนล้วนๆ      

                กลุ่มจัดตั้งทางเศรษฐกิจของประชาชนแบบสหกรณ์เกิดขึ้นในยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมเมื่อราว 250 ปีที่แล้ว และผู้ที่ได้บุกเบิกทางให้เกิดสหกรณ์สมัยใหม่ซึ่งจะพัฒนาต่อมาจนถึงปัจจุบัน คือ

              โรเบิร์ต โอเว่น (ค.ศ.1771-1858) อดีตคนงานชาวเวลส์       โรเบิร์ต โอเว่น ผู้ริเริ่มสหกรณ์       โอเว่นเป็นบุตรของช่างฝีมือชาวเวลส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษ ได้เรียนหนังสือแค่ระดับประถมศึกษาตอนต้น และออกมาฝึกงานทอผ้าเขาทำงานเก่งจนได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าช่างปั่นด้าย และต่อมาเมื่ออายุได้ 19 ปี ได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดการทอผ้าที่มีคนงาน 500 คน และโอเว่นได้พัฒนาให้เป็นโรงงานที่ดีที่สุดในอังกฤษในขณะนั้น ในช่วงปี ค.ศ. 1794 -1795 เขาเป็นผู้จัดการและหุ้นส่วนโรงงานทอผ้าในเมืองแมนเชสเตอร์ ผู้ได้นำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยและการจัดการความสัมพันธ์ทางแรงงานที่ดีขึ้นมาใช้กับโรงงาน ทำให้โรงงานของเขาประสบความสำเร็จมากกว่าโรงงานอื่นๆ     

                โอเว่น เป็นคนชอบคิด ชอบตั้งคำถาม อ่านหนังสือและศึกษาด้วยตนเอง เขาเลิกเชื่อศาสนาตามรูปแบบที่คนอื่นเชื่อถือกันในสมัยนั้นมาตั้งแต่อายุน้อย และพยายามพัฒนาแนวคิดของเขาเอง โอเว่นเห็นว่าบุคลิกนิสัยของคนเรา ถูกกำหนดโดยสภาพแวดล้อมภายนอกที่เขาควบคุมไม่ได้ ดังนั้นวิธีแก้ไขคือต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมทั้งกายภาพและศีลธรรม และทางสังคมให้กับคนตั้งแต่วัยเด็ก     

              โรเบิร์ต โอเว่นเป็นนักคิดแนวสังคมนิยมอุดมคติ และเป็นนักปฏิบัติในการลงมือสร้างสังคมแบบสหกรณ์โรงงาน ที่เขาเป็นผู้จัดการและต่อมาเป็นหุ้นส่วนด้วย เขาเป็นนักคิดหัวก้าวหน้าชาวอังกฤษผู้ตอนแรกตื่นเต้นกับการปฏิวัติเสรีประชาธิปไตยในฝรั่งเศสปี 1789 แต่ต่อมารู้สึกตกใจกับการที่นักปฏิวัติฝรั่งเศสใช้ความรุนแรงประหัตประหารคู่ขัดแย้งทางการเมืองมากเกินไป จึงหาแนวคิดการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปสังคมโดยสันติวิธีมากขึ้น      

               จากความสำเร็จในการบริหารโรงงานทอผ้าที่แมนเชสเตอร์ โรเบิร์ต โอเว่น ได้ชักชวนให้หุ้นส่วนของเขา มาร่วมกันซื้อโรงงานทอผ้า New Lanark ของว่าที่พ่อตา และหลังจากแต่งงานในปี 1799 เขาได้ย้ายมาเป็นผู้จัดการ และหุ้นส่วนในโรงงานทอผ้าแห่งใหม่ ในปี 1800       

               โรงงานทอผ้าแห่งนี้เป็นโรงงานทอผ้าใช้พลังงานน้ำขนาดใหญ่ ใช้คนงาน 2,000 คน ในจำนวนนี้ 500 เป็นเด็กยากจน ที่ถูกนำตัวมาจากสถานสงเคราะห์ต่างๆ ตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ การใช้แรงงานเด็กในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นสภาพทั่วไปของโรงงานอุตสาหกรรมในอังกฤษในยุคแรกๆ ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แม้เด็กในโรงงานของโรเบิร์ต โอเว่น จะได้รับการปฏิบัติที่ดีพอสมควรเมื่อเทียบกับโรงงานอื่นๆ แต่สภาพของคนงาน ซึ่งมาจากชนชั้นล่างที่สุดมีปัญหาหลายด้าน พวกเขาไม่ได้รับการศึกษา ไม่รู้จักดูแลเรื่องสุขภาพอนามัย ครอบครัวอยู่กันอย่างแออัดในห้องเดียว ชั่วโมงทำงานยาวนาน มีปัญหาขโมย เมาเหล้า และความชั่วร้ายอื่นๆ อยู่ทั่วไป นักบริหารผู้เป็นนักปฏิรูปสังคม       

                โรเบิร์ต โอเว่น เข้ามาปรับปรุงที่อยู่อาศัยของคนงาน และสภาพการทำงาน มีการตรวจสอบสุขภาพอนามัยของที่อยู่อาศัย การฝึกอบรมให้คนงานมีวินัย รักความสะอาด และประหยัด แนวคิดของเขาคือ การทำให้คนงานเกิดความภาคภูมิใจ และแข่งขันทำงานกันอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น จนเป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่ายร่วมกัน      

                เจ้าของโรงงานในยุคนั้นนิยมจ่ายค่าจ้างเป็นคูปองให้คนงานไปซื้อของกินของใช้ในร้านค้าของเจ้าของโรงงาน โดยคิดราคาที่สูงกว่าร้านค้าข้างนอก และคูปองนั้นไม่สามารถไม่สามารถใช้ซื้อของที่อื่นได้ เป็นการเอาเปรียบคนงาน 2 ทอด จนภายหลังมีคนร้องเรียนรัฐสภา และรัฐสภาออกกฎหมายให้เจ้าของโรงงานจ่ายค่าจ้างเป็นเงิน ที่สามารถใช้ซื้อของที่ไหนก็ได้      

                โรเบิร์ต โอเว่น ได้เปิดร้านค้าของโรงงานแบบใหม่ โดยเลือกสินค้าที่ดี และขายให้คนงานของเขาในราคาต่ำพอคุ้มทุน โดยเขาได้ยกประโยชน์ที่ได้จากการที่ร้านค้าสามารถซื้อของจำนวนมากในราคาต่ำลงให้แก่คนงาน(รวมทั้งมีการควบคุมการขายสินค้าประเภทเหล้าอย่างเข้มงวด) หลักการนี้เอง คือพื้นฐานที่มาของระบบสหกรณ์ร้านค้าในเวลาต่อมา      โรเบิร์ต โอเว่น เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเศรษฐกิจไปในทางที่เป็นธรรมขึ้น ดีขึ้น สามารถทำให้เกิดขึ้นโดยสันติวิธีได้ วิธีการแบบชักชวนให้คนเข้าร่วมสหภาพแรงงาน และสหกรณ์โดยสมัครใจ เขาเห็นด้วยกับ ยังยาค รุสโซ (1712-1778) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสรุ่นก่อนเขาว่า มนุษย์ถูกกำหนดโดยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา คนจนไม่ได้จน เพราะเขาขี้เกียจหรือใช้ชีวิตเหลวไหล หากแต่เพราะสภาพแวดล้อมทางสังคมทำให้เขาจน และสาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดความยากจน และความไม่เสมอภาค คือสถาบันทรัพย์สินส่วนบุคคล ที่ทำให้คนรวยส่วนน้อยสะสมความมั่งคั่งได้มากกว่าคนทั่วไป การบุกเบิกสหกรณ์       

             โอเว่นเสนอว่า สังคมอุดมคติ น่าจะเป็นสังคมขนาดเล็กที่มีประชากร 300-500 คน อยู่ร่วมกันแบบชุมชนแบบสหกรณ์ และบริหารกันเอง โดยเกษตรกรหรือคนงานและครอบครัวของเขา ผู้เป็นเจ้าของปัจจัยกรผลิตร่วมกัน เขาเห็นว่าสังคมขนาดเล็กที่บริหารแบบสหกรณ์นี้เท่านั้นที่จะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และเมื่อชุมชนสหกรณ์เกษตร และชุมชนสหกรณ์อุตสาหกรรมแบบนี้ขยายตัว และจัดตั้งเป็นสหพันธ์ทั่วโลก ความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาลหรือรัฐก็หายไป เพราะแต่ละประชาคมก็บริหารจัดการตัวเองได้ดีอยู่แล้ว      

                เขาและผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ได้ทดลองจัดตั้งชุมชนสหกรณ์แบบนี้ขึ้น 2 แห่งในอังกฤษ และสหรัฐ ในช่วงปี 1825 แต่ทำได้ระยะหนึ่งก็ไปไม่รอด เพราะสมาชิกบางส่วนเห็นแก่ตัวมากกว่าเห็นแก่ส่วนรวม ใช้ช่องโหว่หาประโยชน์จากสหกรณ์ ทำให้สหกรณ์ต้องขาดทุน แต่โครงการของเขาเป็นการบุกเบิกในด้านความคิดที่มีเหตุผลและความเป็นไปได้      

               โอเว่นเห็นว่าคนงานที่พอใจทำงาน จะมีผลงานที่มีประสิทธิภาพ เด็กควรได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น คนงานควรได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น การปรับความเป็นอยู่ของคนงานและครอบครัว ให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย การทดลองทำที่โรงงานของเขาประสบความสำเร็จ มีผู้มีชื่อเสียงมาขอเยี่ยมชมอยู่เนืองๆ เขามีส่วนผลักดันปฎิรูปกฎหมายเพื่อคนจนในอังกฤษ แต่กฎหมายที่ออกมาก็ยังไม่ดีพอในทัศนะของเขา      โอเว่นมองเห็นว่า กำไรเป็นเงินที่เกิดจากการซื้อแล้วนำไปขายแพง ถ้าเลิกใช้เงินโลหะที่สะสมมูลค่าและลงทุนสร้างกำไรเพิ่มเติม กำไรก็จะหายไป โอเว่นเสนอให้บัตรแรงงานแทนเงินตรา ในขณะนั้นซึ่งเทียบกับทองคำ โดยคิดราคาตามจำนวนชั่วโมงที่แรงงานทำงาน     

                โอเว่นตั้งสหกรณ์ที่มีชื่อว่า สถานแลกเปลี่ยนแรงงานอย่างเป็นธรรมแห่งชาติ (The National Equitable Labor Exchange) ขึ้นในกรุงลอนดอน เพื่อให้สมาชิกนำสิ่งของที่ผลิตได้มาแลกเปลี่ยนกับบัตรแรงงานคิดราคาตามเวลาที่ใช้ผลิต สมาชิกได้รับสิทธิพิเศษในการซื้อสินค้าต่างๆ ที่วางขายโดยใช้บัตรแรงงานจ่ายแทนเงินตรา สินค้าใดใช้เวลาผลิตเท่ากันแลกกันได้ทันที ถ้าสินค้าใดใช้เวลาผลิตไม่เท่ากัน ให้รวมชั่วโมงจึงแลกกันได้ สถานแลกเปลี่ยนแรงงานอย่างเป็นธรรมแห่งชาติเปิดครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1832 มีสมาชิก 840 คน ในขั้นแรกประสบความสำเร็จ ขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง แต่ต่อมาเมื่อสมาชิกเริ่มขาดความซื่อสัตย์ และคนนอกที่องค์กรเปิดให้เอาสินค้ามาแลกเปลี่ยนได้มุ่งหากำไรส่วนตัว ทำให้องค์กรขาดทุน และในที่สุดต้องเลิกกิจการไป     

                อย่างไรก็ตาม แนวคิดของโอเว่นเป็นหลักการในการตั้งสหกรณ์ร้านค้าโดยวิธีการคืนกำไรให้สมาชิกในเวลาต่อมา สมัยของโอเว่นเรียกว่า สมาคมนิคม(Associationist) เนื่องจากจุดประสงค์ของโอเว่นต้องการให้มีการรวมตัวกันเป็นสมาชิกร่วมค้า ใช้หลักพึ่งตนเอง และมีผลประโยชน์ร่วมกัน      

                 สมาคมผู้บุกเบิกรอชเดล-สหกรณ์แห่งแรก       นายแพทย์ วิลเลี่ยม คิง(1771-1858) แห่งเมืองไบรตัน ประเทศอังกฤษ ได้นำหลักการของโรเบิร์ต โอเว่นไปจัดตั้งร้านสหกรณ์ร้านค้าเพื่อจำหน่ายสินค้าให้สมาชิกในปี ค.ศ.1827และออกนิตยสารรายเดือนชื่อ THE COOPERATOR (นักสหกรณ์) อธิบายทั้งแนวคิดปรัชญาและคู่มือการจัดตั้งสหกรณ์ร้านค้า      

               สหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จมากและได้รับการยกย่องให้เป็นสหกรณ์แห่งแรกและสหกรณ์อื่นๆถือเป็นแบบฉบับต่อมาคือร้านสหกรณ์แห่งเมืองรอชเดลซึ่งตั้งโดยช่างทอผ้าและช่างฝีมือ 28 คนในปี 1844 พวกเขาใช้เวลา 4 เดือนระดมทุนจากสมาชิกคนละ 1 ปอนด์ได้ทุน 28 ปอนด์ เปิดเป็นร้านค้าสหกรณ์เล็กขายของแห้ง เช่น ข้าวโอ๊ต น้ำตาล เนย แป้ง เทียนไข อีก 3 เดือน ต่อมาจึงเพิ่มชนิดสินค้า เช่น ชา ยาสูบ และพวกเขาเริ่มมีชื่อเสียงในการขายสินค้าที่มีคุณภาพ ไม่ปลอมปน       

                 ร้านสหกรณ์แห่งรอชเดลตั้งขึ้นในรูปแบบสมาคมชื่อว่าสมาคมผู้บุกเบิกที่เที่ยงธรรมแห่งรอชเดลโดยพวกเขาได้ตั้งหลักการ 6 ข้อ (เพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง) ของการจัดตั้งสหกรณ์ (ในสมัยของโอเว่น) คือ      

                       1.เปิดรับสมาชิกทั่วไปโดยไม่กีดกันใคร      

                       2.สมาชิกแต่ละคนมี 1 เสียงเท่ากัน      

                       3.ไม่เน้นการค้ากำไร      

                      4.จ่ายเงินปันผลเพียงส่วนหนึ่ง ที่เหลือใช้เพื่อพัฒนาสหกรณ์และช่วยเหลือชุมชน      

                       5.จัดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง      

                       6.ร่วมมือกับกลุ่มองค์กรอื่นและชุมชน      

                   ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำช่วง ค.ศ.1844-1847 ร้านสหกรณ์ของผู้บุกเบิกแห่งรอชเดล มีส่วนช่วยให้กรรมกรที่มีรายได้น้อยและประชาชนผู้ยากจนโดยทั่วไปซื้อสินค้าบริการที่จำเป็นในการดำรงชีพได้ แนวคิดและหลักการของสหกรณ์แบบรอชเดลได้เป็นแบบอย่างที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ความสำเร็จของสหกรณ์ส่วนหนึ่งมาจากแบ่งผลกำไรเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิก จากผลประโยชน์ที่เกิดจากการดำเนินงานร่วมกันด้วยความสามัคคี เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และสมาชิกยึดมั่นในหลักการของสหกรณ์      

                พัฒนาการของขบวนการสหกรณ์       ผู้ได้นำแนวคิดแบบสหกรณ์ไปขยายต่อคนหนึ่งคือ หลุยส์ บลัง Louis Blanc (ค.ศ. 1811-1882) ชาวฝรั่งเศสผู้มีแม่เป็นชาวสเปนมีอาชีพเป็นทนายความ และนักหนังสือพิมพ์ เคยร่วมงานในคณะรัฐบาลปฏิวัติฝรั่งเศส 1848 เขาเห็นด้วยกับระบบสหกรณ์ของ ชาร์ส ฟูริเยร์ และโรเบิร์ต โอเว่น และพยายามแก้ปัญหาความล้มเหลวของสหกรณ์ผู้ผลิตที่ขาดแคลนเงินทุน ด้วยการเสนอให้รัฐบาลเป็นผู้ให้                

               สหกรณ์ผู้ผลิตเงินกู้จัดตั้งโรงงานสหกรณ์ของผู้ผลิตในอาชีพเดียวกัน เพื่อที่แรงงานจะได้รับส่วนปันผลกำไรเป็นของตนเอง และแบ่งปันผลกำไรไปช่วยคนชรา คนป่วย และแรงงานใหม่ในสังคม แทนที่จะปล่อยให้เป็นกำไรเป็นของนายทุนฝ่ายเดียวตามกลไกตลาดของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การจัดองค์การผลิตแบบสหกรณ์จะเป็นการช่วยเหลือกันมากกว่าแข่งขันของบริษัท      

                 เขามองว่าการแข่งขันของธุรกิจในระบบทุนนิยมนำไปสู่ปัญหาความยากจน ความเสื่อมทางจิตใจ อาชญากรรม โสเภณี วิกฤติทางอุตสาหกรรม และความขัดแย้งระหว่างประเทศ แนวคิดของเขาคือแนวคิดแรกเริ่มของคติทางสังคมนิยมประชาธิปไตย ที่ต้องการใช้สถาบันรัฐปรับปรุงระบบเศรษฐกิจการเมืองให้ยุติธรรม 1      นักคิดและนักปฎิบัติคนอื่นๆที่มีส่วนพัฒนาขบวนการสหกรณ์ในยุโรปและต่อมาขยายไปทั่วโลกมีอาทิเช่น ซิดนีย์และเบียทริซ เว็บ,จี.ดี.เอช.โคล, ชาร์ลส์ จิ๊ด, เฟเดอริค ไรไฟเซ็น,เดวิด กริฟฟิธ      

                   การพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมในยุโรป อเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฯลฯ ทำให้เกิดการเอาเปรียบและความยากจน เกษตรกร คนงานและผู้ประกอบการอาชีพอิสระ ต้องจัดตั้งสหกรณ์เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าควบคู่ไปกับการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรและสหภาพแรงงาน ขบวนการสหกรณ์ในประเทศทุนนิยมอุตสาหกรรมจึงเติบโตขนานไปกับระบบทุนนิยม รวมทั้งมีการนำความคิดบางอย่างของสหกรณ์ไปประยุกต์ใช้ เช่น โรงงานที่พนักงานถือหุ้นเป็นสัดส่วนสูง และมีตัวแทนเข้าไปบริหาร เน้นการสร้างประโยชน์ให้ชุมชนมากกว่ากำไรสูงสุด แม้แต่แนวคิดของนักธุรกิจยุคใหม่เรื่องการบริหารแบบรับผิดชอบต่อสังคม(CORPORATE SOCIAL RESPONSIBILITY) จริงๆแล้วนักสหกรณ์อย่าง โรเบริต โอเว่น คิดมาก่อนสองร้อยกว่าปีและคิดไปได้ไกลกว่านักธุรกิจยุคนี้มาก      

                 สหกรณ์ร้านค้าแห่งแรกที่คนงานจัดตั้งขึ้นเพื่อหาทางลดต้นทุนการผลิตการบริโภคและลดการค้ากำไรเกินควรของพ่อค้าคนกลาง ได้มีการพัฒนาเป็นสหกรณ์ผู้บริโภค สหกรณ์ค้าปลีก ค้าส่ง สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์คนงาน และสหกรณ์แบบอื่นๆ กระจายไปทั่วยุโรป และประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นเช่น สหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และต่อมาในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในลาตินอเมริกา      

            ขบวนการสหกรณ์เป็นการต่อสู้ในทางเศรษฐกิจของประชาชนแบบสันติวิธี ซึ่งแนวคิดบางส่วนก็ใกล้เคียงกับสังคมนิยม แต่นักสังคมนิยมแนววิทยาศาสตร์คิดในเชิงปฏิวัติล้มล้างระบบทุนนิยมเพื่อสร้างระบบสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลางมาแทนที่ มีบางประเทศ เช่น สหภาพโวเวียต ยุโรปตะวันออก จีน คิวบา ฯลฯ ที่ปฏิวัติสังคมสำเร็จ และเน้นระบบรัฐบาลวางแผนและควบคุมแบบรัฐวิสาหกิจและนารวมมากกว่าระบบสหกรณ์ที่เน้นการกระจายอำนาจและการบริหารแบบประชาธิปไตย ในประเทศสังคมนิยมเหล่านี้ แม้จะมีนารวมและสหกรณ์จำนวนมาก แต่ก็เป็นสหกรณ์ที่ขึ้นต่อเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมืองและรัฐบาล ไม่ได้พัฒนาเป็นสหกรณ์อิสระด้วยตนเองอย่างเข้มแข็ง ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลหรือเปลี่ยนนโยบายจากสังคมนิยม มาเป็นระบบตลาดเสรีแบบทุนนิยมในสมัยหลัง สหกรณ์ในประเทสเหล่านี้ต้องขาดทุนล้มละลายกันมาก บางส่วนถูกแปรรูปเป็นเอกชน บางส่วนพยายามฟื้นฟูสร้างสหกรณ์ที่เป็นอิสระจากรัฐกันใหม่      

                 ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมใหม่ในปัจจุบันมีการพัฒนาสหกรณ์ไปแทนที่ธุรกิจเอกชน ได้แทบทุกในสาขา ทั้งการธนาคาร การประกันภัย การท่องเที่ยว การค้าส่ง การส่งออก สหกรณ์ผู้ผลิต สหกรณ์ที่คนงานเป็นเจ้าของผู้บริหารโรงงานหรือบริษัท สหกรณ์สาธารณูปโภค ด้านไฟฟ้าประปา โทรศัพท์ รถเมล์ สหกรณ์เพื่อที่อยู่อาศัย สหกรณ์ให้บริการด้านการรักษาพยาบาล การดูแลเด็กคนชรา สหกรณ์จัดงานศพ สหกรณ์แท็กซี่และคนขับรถรับจ้างต่างๆ สหกรณ์เพื่อบริการทางสังคม ฯลฯ มีทั้งสหกรณ์ขนาดเล็กสมาชิกไม่กี่คนไปถึงชุมชนสหกรณ์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีสมาชิกเป็นหมื่นเป็นแสน ทำธุรกิจหลายอย่าง มีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เป็นชุมชนหรือสหพันธ์สหกรณ์ระดับสาขาอาชีพ ระดับจังหวัด ภูมิภาค ประเทศ และสหกรณ์ระหว่างประเทศ       

                   โดยทั่วไปแล้ว สหกรณ์มักได้รับการส่งเสริม สนับสนุนจากรัฐบาลในด้านกฎหมาย ด้านวิชาการ และด้านอื่นๆ สหกรณ์ในประเทศยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐ แคนาดา และอื่นๆ ส่วนใหญ่แล้วพัฒนาแบบองค์กรอิสระ ไม่ได้ขึ้นต่อรัฐบาล ต่างจากในประเทศสังคมนิยมและประเทศกำลังพัฒนาที่รัฐบาลมีบทบาทสูง ทำให้สหกรณ์ในประเทศเหล่านี้เป็นองค์กรกึ่งรัฐที่ไม่ได้พัฒนาอย่างเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพเต็มที่       

                  สหกรณ์ที่เป็นองค์กรอิสระพัฒนาไปได้ไกลกว่าสหกรณ์ที่ขึ้นต่อรัฐบาล สหกรณ์เติบโตมากที่สุดในประเทศทุนนิยมอุตสาหกรรม เช่น ยุโรป สหรัฐ เเคนาดา ญี่ปุ่น เนื่องจากประชาชนต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดมายาวนาน และปัจจุบันประชาชนมีการศึกษาและตื่นตัว ทำให้ระบบสหกรณ์ยังเป็นทางเลือกที่เดินคู่ขนานไปกับทุนนิยมได้ ในสหรัฐ สหพันธ์สหกรณ์แห่งชาติ THE NATIONAL COOPERATIVE BUSINESS ASSOCCIATION ประกอบไปด้วยสหกรณ์ทั่วประเทศ 47,000 แห่งซึ่งให้บริการประชาชน 100 ล้านคนหรือราว 37% ของประชากรอเมริกัน      

                ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ระบบสหกรณ์พัฒนาได้ช้ากว่า เพราะถูกครอบงำโดยระบบราชการและนักการเมือง และมักจะแข่งขันสู้ระบบพ่อค้านายทุนได้ยาก เนื่องจากนายทุนมักจะมีอำนาจเหนือนักการเมือง เก่งในทางบริหารจัดการ และใช้ความสะดวกรวดเร็วแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามาหลอกล่อให้ประชาชนเป็นเหยื่อของระบบเงินกู้ของนายทุนและลัทธิบริโภคนิยม สหกรณ์มีการพัฒนามากในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาส่วนหนึ่งเพราะมีชาวสเปน อิตาลี อพยพไปตั้งถิ่นฐานและเผยแพร่ความคิด ส่วนหนึ่งประชาชนถูกเอาเปรียบจากบริษัททุนข้ามชาติจากสหรัฐมาก ประชาชนที่ยากจนจึงต้องลุกขึ้นสู้ ส่วนในเอเชีย และแอฟริกา สหกรณ์มีบทบาทสำคัญในบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เคนยา      

                 ในประเทศที่เคยเป็นสังคมนิยมและปัจจุบันปรับเป็นประเทศทุนนิยมหรือระบบผสม เช่น รัสเซีย ยุโรปตะวันออก จีน เวียดนามฯลฯ สหกรณ์แบบที่เคยขึ้นอยู่กับรัฐบาลมีปัญหาขาดทุนและอ่อนแอ บางส่วนถูกแปรรูปให้เป็นธุรกิจเอกชน  บางส่วนสมาชิกในชุมชนขอนำกิจการมาบริหารแบบสหกรณ์กันใหม่ ที่เป็นอิสระจากรัฐบาล ทำให้ในกลุ่มประเทศเหล่านี้เช่นในยุโรปตะวันออกมีการฟื้นตัวของระบบสหกรณ์แบบใหม่ที่สมาชิกเป็นเจ้าของและบริหารงานกันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นกว่าระบบสหกรณ์ที่ขึ้นต่อรัฐบาลสังคมนิยมแบบเก่า       

                    ในโลกสมัยใหม่ ที่ระบบทุนนิยมโลกขยายตัวด้วยอำนาจผูกขาด เอารัดเอาเปรียบ และสร้างความเหลื่อมล้ำต่ำสูงโดยบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ขบวนการสหกรณ์เป็นทางเลือกที่สำคัญ ผสมผสานส่วนที่ดีของสังคมนิยมแบบประชาธิปไตยและการแข่งขันเสรีมาเป็นระบบเศรษฐกิจสังคมใหม่เพื่อลดกำไรส่วนเกินของพ่อค้าคนกลาง เพิ่มประสิทธิภาพจากการร่วมมือกันทำงาน การประหยัดจากขนาด เพิ่มประโยชน์ให้สมาชิกและชุมชน

                 สหกรณ์กลายเป็นทางเลือกใหม่ซึ่งดีที่สุดเท่าที่มนุษย์จะหาได้ในขณะนี้ เพราะสหกรณ์เป็นของประชาชนเพื่อประโยชน์ของประชาชน จึงเน้นการพัฒนาเพื่อความปลอดภัยของอาหาร และการอนุรักษ์ความยั่งยืนของสภาพแวดล้อมมากกว่าเรื่องผลกำไรของเงินทุน  

หมายเลขบันทึก: 106990เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2007 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท