ทฤฏีการเรียนรู้& สื่อ internet


จิตวิทยาการศึกษา
1.3  ทฤษฎีการเรียนรู้และจิตวิทยาการเรียนรู้

               ถนอมพร  เลาหจรัสแสง (2541) ได้กล่าวทฤษฏีการเรียนรู้และจิตวิทยาการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบสื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษา มีดังนี้

                       1)  ทฤษฎีพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)  เป็นทฤษฎีซึ่งเชื่อว่าจิตวิทยาเป็นเสมือนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ของพฤติกรรมมนุษย์ (Scientific   Study  of  Human Behavior) และการเรียนรู้ของมนุษย์เป็นสิ่งที่สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมภายนอก นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง ( Stimuli and Response ) เชื่อว่าการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของมนุษย์จะเกิดขึ้นควบคู่กันในช่วงเวลาที่เหมาะสม     นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการเรียนรู้ของมนุษย์เป็นพฤติกรรมแบบแสดงอาการกระทำ (Operant Conditioning)   ซึ่งมีการเสริมแรง ( Reinforcement)  เป็นตัวการ  โดยทฤษฏีพฤติกรรมนิยมนี้จะไม่พูดถึงความนึกคิดภายในของมนุษย์    ความทรงจำ    ภาพ ความรู้สึก  โดยถือว่าคำเหล่านี้เป็นคำต้องห้าม (Taboo) ซึ่งทฤษฎีนี้ส่งผลต่อการเรียนการสอนที่สำคัญในยุคนั้น       ในลักษณะที่การเรียนเป็นชุดของพฤติกรรมซึ่งจะต้องเกิดขึ้นตามลำดับที่แน่ชัด     การที่ผู้เรียนจะบรรลุวัตถุประสงค์ได้นั้นจะต้องมีการเรียนตามขั้น ตอนเป็นวัตถุประสงค์ๆ ไป  ผลที่ได้จากการเรียนขั้นแรกนี้จะเป็นพื้นฐานของการเรียนในขั้นต่อ ๆ ไป ในที่สุด

               สื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษาที่ออกแบบตามแนวคิดของทฤษฎีพฤติกรรมนิยมนี้จะมีโครงสร้างของบทเรียนในลักษณะเชิงเส้นตรง (Linear) โดยผู้เรียนทุกคนจะได้รับการนำเสนอเนื้อหาในลำดับที่เหมือนกันและตายตัว  ซึ่งเป็นลำดับที่ผู้สอนได้พิจารณาแล้วว่าเป็นลำดับการสอนที่ดีและผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้อย่งมีประสิทธิภาพมากที่สุด  นอกจากนั้นจะมีการตั้งคำถาม ๆ ผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอโดยหากผู้เรียนตอบถูกก็จะได้รับการตอบสนองในรูปผลป้อนกลับทางบวกหรือรางวัล (Reward) ในทางตรงกันข้ามหากผู้เรียนตอบผิดก็จะได้รับการตอบสนองในรูปของผลป้อนกลับในทางลบและคำอธิบายหรือการลงโทษ ( Punishment) ซึ่งผลป้อนกลับนี้ถือเป็นการเสริมแรงเพื่อให้เกิดพฤติกรรมที่ต้องการ  สื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษาที่ออกแบบตามแนวคิดของทฤษฎีพฤติกรรมนิยม       จะบังคับให้ผู้เรียนผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามจุด ประสงค์เสียก่อน  จึงจะสามารถผ่านไปศึกษาต่อยังเนื้อหาของวัตถุประสงค์ต่อไปได้ หากไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ผู้เรียนจะต้องกลับไปศึกษาในเนื้อหาเดิมอีกครั้งจะกว่าจะผ่านการประเมิน

                       2)  ทฤษฎีปัญญานิยม (Cognitivism) เกิดจากแนวคิดของชอมสกี้

(Chomsky) ที่ไม่เห็นด้วยกับสกินเนอร์ (Skinner) บิดาของทฤษฎีพฤติกรรมนิยม  ในการมองพฤติกรรมมนุษย์ไว้ว่าเป็นเหมือนการทดลองทางวิทยาศาสตร์  ชอมสกี้เชื่อว่า พฤติกรรมของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องของภายในจิตใจมนุษย์ไม่ใช้ผ้าขาวที่เมื่อใส่สีอะไรลงไปก็จะกลายเป็นสีนั้น  มนุษย์มีความนึกคิด  มีอารมณ์  จิตใจ  และความรู้สึกภายในที่แตกต่างกันออกไป  ดังนั้นการออกแบบการเรียนการสอนก็ควรที่จะคำนึงถึงความแตกต่างภายในของมนุษย์ด้วย   ในช่วงนี้มีแนวคิดต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย  เช่น แนวคิดเกี่ยวกับการจำ ( Short Term Memory ,  Long Term Memory  and  Retention)  แนวคิด เกี่ยวกับการแบ่งความรู้ออกเป็น 3 ลักษณะคือ ความรู้ในลักษณะเป็นขั้นตอน (Proce-dural  Knowledge)  ซึ่งเป็นความรู้ที่อธิบายว่าทำอย่างไรและเป็นองค์ความรู้ที่ต้องการลำดับการเรียนรู้ที่ชัดเจน  ความรู้ในลักษณะการอธิบาย (Declarative Knowledge) ซึ่งได้แก่ความรู้ที่อธิบายว่าคืออะไร  และความรู้ในลักษณะเงื่อนไข (Conditional Know-ledge) ซึ่งได้แก่ความรู้ที่อธิบายว่าเมื่อไร  แและทำไม  ซึ่งความรู้  2  ประเภทหลังนี้ ไม่ต้องการลำดับการเรียนรู้ที่ตายตัว

               ทฤษฎีปัญญานิยมนี้ส่งผลต่อการเรียนการสอนที่สำคัญในยุคนั้น  กล่าวคือ ทฤษฎีปัญญานิยมทำให้เกิดแนวคิดเกี่ยวกับการออกแบบในลักษณะสาขา (Branching) ของคราวเดอร์ (Crowder) ซึ่งเป็นการออกแบบในลักษณะสาขา  หากเมื่อเปรียบเทียบกับบทเรียนที่ออกแบบตามแนวคิดของพฤติกรรมนิยมแล้ว  จะทำให้ผู้เรียนมีอิสระมากขึ้นในการควบคุมการเรียนด้วยตัวเอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีอิสระมากขึ้นในการเลือกลำดับของการนำเสนอเนื้อหาบทเรียนที่เหมาะสมกับตน  สื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษาที่ออกแบบตามแนวคิดของทฤษฎีปัญญานิยมก็จะมีโครงสร้างของบทเรียนในลักษณะสาขาอีกเช่นเดียวกัน  โดยผู้เรียนทุกคนจะได้รับการเสนอเนื้อหาในลำดับที่ไม่เหมือนกัน   โดยเนื้อหาที่จะได้รับการนำเสนอจต่อไปนั้นจะขึ้นอยู่กับความสามารถ  ความถนัด และความสนใจของผู้เรียนเป็นสำคัญ

                       3) ทฤษฎีโครงสร้างความรู้ (Scheme Theory)  ภายใต้ทฤษฎีปัญญานิยม (Cognitivism) นี้ยังได้เกิดทฤษฎีโครงสร้างความรู้ ( Scheme Theory) ขึ้นซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อว่าโครงสร้างภายในของความรู้ที่มนุษย์มีอยู่นั้นจะมีลักษณะเป็นโหนดหรือกลุ่มที่มีการเชื่อมโยงกันอยู่  ในการที่มนุษย์จะรับรู้อะไรใหม่ ๆ นั้น มนุษย์จะนำความรู้ใหม่ ๆ ที่เพิ่งได้รับนั้นไปเชื่อมโยงกับกลุ่มความรู้ที่มีอยู่เดิม (Pre-existing Knowledge) รูเมลฮาร์ทและออโทนี่ (Rumelhart and Ortony,1977) ได้ให้ความหมายของคำ   โครงสร้างความรู้ไว้ว่าเป็นโครงสร้างข้อมูลภายในสมองของมนุษย์ซึ่งรวบรวมความรู้เกี่ยวกับวัตถุ  ลำดับเหตุการณ์  รายการกิจกรรมต่างๆ เอาไว้  หน้าที่ของโครงสร้างความรู้นี้ก็คือ  การนำไปสู่การรับรู้ข้อมูล (Perception) การรับรู้ข้อมูลนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากขาดโครงสร้างความรู้ (Schema) ทั้งนี้ก็เพราะการรับรู้ข้อมูลนั้นเป็นการสร้างความหมายโดยการถ่ายโอนความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิม  ภายในกรอบความรู้เดิมที่มีอยู่และจากการกระตุ้นโดยเหตุการณ์หนึ่ง ๆ ที่ช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงความรู้นั้น ๆ เข้าด้วยกัน  การรับรู้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียนรู้  เนื่องจากไม่มีการเรียนรู้ใดที่เกิดขึ้นได้โดยปราศจากการรับรู้  นอกจากโครงสร้างความรู้จะช่วยในการรับรู้และการเรียนรู้แล้วนั้น  โครงสร้างความรู้ยังช่วยในการระลึก (Recall) ถึงสิ่งต่างๆ ที่เราเคยเรียนรู้มา (Anderson,1984)

               การนำทฤษฎีโครงสร้างความรู้มาประยุกต์ใช้ในการสร้างโปรแกรมคอมพิว-เตอร์ จะส่งผลให้ลักษณะการนำเสนอเนื้อหาที่มีการเชื่อมโยงกันไปมา คล้ายใยแมงมุม (Webs) หรือบทเรียนในลักษณะที่เรียกว่า บทเรียนแบบสื่อหลายมิติ (Hypermedia)

               ดังนั้นในการออกแบบสื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษา จึงจำเป็นต้องนำแนวคิดของทฤษฎีต่าง ๆ มาผสมผสานกัน เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะและโครงสร้างขององค์ความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเพียงทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อให้ได้สื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองต่อวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน และตอบสนองลักษณะโครงสร้างขององค์ความรู้ของสาขาวิชาต่าง ๆ ที่แตกต่างกันนั่นเอง

 

2. สื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษาและสื่อผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

               2.ประเภทของสื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษา

               ถนอมพร เลาหจรัสแสง (2545) ได้กล่าวถึงสื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษา และความหมายของสื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษาแต่ละประเภท ดังนี้

               e-Learning และ CAI ต่างก็สามารถนำเสนอเนื้อหาบทเรียนในรูปของสื่อมัลติมีเดียทางคอมพิวเตอร์  นอกจากนี้รูปแบบการเรียนการสอนทั้งสองยังถือเป็นสื่อรายบุคคล  ซึ่งมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีโอกาสอ่านและทำความเข้าใจเนื้อหาตามความสามารถของตน  สามารถที่จะทบทวนเนื้อหาตามความพอใจหรือจนกว่าจะเข้าใจ  สำหรับในด้านของการโต้ตอบกับบทเรียนและการให้ผลป้อนกลับนั้น  e – Learning จะขึ้นอยู่กับระดับของการนำเสนอและการนำไปใช้ หากมีการพัฒนา e - Learning อย่างเต็มรูปแบบ ในระดับ Interactive Online หรือ High Quality Online และนำไปใช้ในลักษณะสื่อเติม หรือสื่อหลัก  ผู้เรียนไม่เพียงจะสามารถโต้ตอบกับบทเรียนได้อย่างมีความหมาย  แต่ยังจะสามารถโต้ตอบกับผู้สอนและกับผู้เรียนอื่นๆ   ได้อย่างสะดวกผ่านทางระบบของ       e – Learning

               นอกจากนี้ผู้เรียนยังสามารถที่จะได้รับผลป้อนกลับจากแบบฝึกหัดและกิจกรรมที่ได้ออกแบบไว้ รวมทั้งจากครูผู้สอนทางออนไลน์ได้อีกด้วย  ในขณะที่ CAI นั้นลักษณะสำคัญของ CAI ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ  การออกแบบให้มีกิจกรรมที่ผู้เรียนสามารถโต้ตอบกับบทเรียนได้อย่างมีความหมาย  รวมทั้งการจัดให้มีผลป้อนกลับโดยทันทีให้กับผู้เรียนเมื่อผู้เรียนตรวจสอบความเข้าใจของตนจากการทำแบบฝึกหัด หรือแบบทดสอบ

               ข้อแตกต่างสำคัญระหว่าง e-Learning กับ  CAI อาจอยู่ที่  การที่  e – Learning จะใช้เว็บเทคโนโลยีเป็นสำคัญ  ในขณะที่ CAI เป็นลักษณะของการนำเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเรียนการสอนตั้งแต่ยุค 1960  ซึ่งแต่เดิมมานั้นไม่ได้มีการใช้เว็บเทคโนโลยี ความหมายของคำนี้จึงค่อนข้างยึดติดกับการนำเสนอบนเครื่อง Stand – Alone ไม่จำเป็น ต้องมีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายใดๆ  แม้ว่าในระยะหลังจะมีความพยายามใช้การใช้คำว่า CAI on Web บ้างแต่ก็ไม่ได้รับความนิยมในการเรียกเท่าใดนัก  ความหมายของ CAI จึงค่อนข้างจำกัดอยู่ในลักษณะ Off – line        ดังนั้นเทคโนโลยีที่ใช้ในการพัฒนาบทเรียน (Authoring System) ของ CAI    และ e Learning      จึงมีความแตกต่างกันตามไปด้วย  ผู้เรียนที่ศึกษาจาก CAI     จึงมักจะเป็นการศึกษาจากซีดีรอมเป็นหลัก             ในขณะที่                e –Learning นั้นผู้เรียนสามารถที่จะศึกษาในลักษณะใดระหว่างซีดีรอมหรือจากเว็บก็ได้ ในปัจจุบันแม้ว่าจะมีความพยามในการสนับสนุนให้ Authoring System สามารถปรับให้ใช้แสดงบนเว็บได้  แต่ยังพบปัญหาในด้านขนาดของแฟ้มข้อมูลที่ใหญ่และส่งผลให้การโหลดข้อมูลช้า  รวมทั้งปัญหาในด้านการทำงานซึ่งไม่สมบูรณ์นัก

               e – Learning  และ  WBI   ต่างก็เป็นผลจากการผสมผสานระหว่างเว็บเทคโนโลยีกับกระบวนการออกแบบการเรียนการสอน   เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการเรียนรู้และแก้ปัญหาในเรื่องข้อจำกัดทางด้านสถานที่ และเวลาในการเรียน  นอกจากนี้เช่นเดียวกันกับ WBI  การพัฒนา e-Learning   จะต้องมีการนำเทคโนโลยีระบบบริหารจัดการรายวิชา (Course  Management System) มาใช้ด้วย เพื่อช่วยในการเตรียมเนื้อหาและจัดการกับการสอนในด้านการจัดการ (Management)   อื่น ๆ         เช่นในเรื่องของคำแนะนำการเรียน    การประกาศต่าง ๆ   ประมวลรายวิชา   รายละเอียดเกี่ยวกับผู้สอน รายชื่อผู้ลงทะเบียนเรียน       การมอบหมายงาน     การจัดหาช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน และผู้เรียนด้วยกัน  คำแนะนำต่าง ๆ การสอบ การประเมินผล รวมทั้งการให้ผลป้อนกลับซึ่งสามารถที่จะทำในลักษณะออนไลน์ได้ทั้งหมด  ผู้สอนเองก็สามารถใช้ระบบบริหารจัดการรายวิชานี้ในการตรวจสอบพฤติกรรมการเรียนของผู้เรียน  ในกรณีที่ใช้การถ่ายทอดเนื้อหาในลักษณะออนไลน์ รวมทั้งการตรวจสอบความก้าวหน้าของผู้เรียนจากการทำแบบทดสอบหรือแบบฝึกหัดที่ได้จัดไว้

                สำหรับความแตกต่างระหว่าง e-Learning กับ WBI นั้นแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ ความแตกต่างอาจได้แก่การที่ e - Learning เป็นคำศัพท์ (Term) ที่เกิดขึ้นภายหลัง    คำว่า WBI จึงเสมือนเป็นผลของวิวัฒนาการจาก WBI    และเมื่อเว็บเทคโนโลยีโดยรวมมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว  สิ่งที่เคยทำไม่ได้สำหรับ   WBI ในอดีต  ก็สามารถทำได้สำหรับ e Learning ในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่นในช่วง 4-5 ปีที่แล้วเมื่อมีการพูดถึง WBI การโต้ตอบ(Interaction) ค่อนข้างจำกัดอยู่ที่การโต้ตอบกกับครูผู้สอนหรือกับเพื่อนเป็นหลัก โดยที่เทคโนโลยีการโต้ตอบกับเนื้อหาเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก            อย่างไรก็ดีเมื่อกล่าวถึง e - Learningในปัจจุบันหากมีการพัฒนา e - Learning อย่างเต็มรูปแบบอย่างเต็มรูปแบบในระดับ Interactive Online หรือ High Quality Online การโต้ตอบสามารถทำได้อย่างไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป  เพราะปัจจุบันเรามีเว็บเทคโนโลยีที่ช่วยสำหรับการออกแบบบทเรียนให้มีการโต้ตอบอย่างมีความหมายกับผู้เรียน  และดังนั้นจึงส่งผลให้เกิดการพัฒนาในด้านการนำไปประยุกต์ใช้ที่ยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าเดิมมาก

                  นอกจากนี้เดิมทีความหมายของ WBI จะจำกัดอยู่ที่การสอนบนเว็บเท่านั้น เพราะแนวความคิดหลักก็คือเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสารสนเทศบนเว็บเป็นหลักและการเรียนการสอนมักจะเน้นเนื้อหาในลักษณะตัวหนังสือ (Text –Based)   และภาพ ประกอบหรือวีดิทัศน์ที่ไม่ซับซ้อนเท่านั้น ในขณะที่ในปัจจุบันผู้ที่ศึกษาจาก e–Learning  จะสามารถเรียกดูเนื้อหาออนไลน์ก็ได้  หรือสามารถเรียกดูจากแผ่น CD-ROM ก็ได้  โดยที่เนื้อหาสารสนเทศที่ออกแบบสำหรับ   e - Learning  นั้นจะใช้เทคโนโลยีเชิงโต้ตอบ (Interactive Technology) รวมทั้งมีการใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดีย (Mutimedia Technology) เป็นสำคัญ

               จากบทความดังกล่าวข้างต้น สามารถสรุปได้ว่า  สื่อมัลติมีเดียแบ่งเป็น   3 ประเภทคือ

                       1) คอมพิวเตอร์ช่วยสอน  (CAI) เป็นสื่อมัลติมีเดียที่เน้นการใช้งานในเครื่องเดี่ยว (Stand Alone)

                       2) การสอนบนเว็บ (WBI)  เป็นสื่อมัลติมีเดียที่เน้นการใช้งานในระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรืออินทราเน็ต

                       3) e – Learning เป็นสื่อมัลติมีเดียเชิงปฏิสัมพันธ์ที่สามารถใช้งานได้ทั้งใน  CD-ROM  และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งมีระบบบริหารจัดการรายวิชา ( CMS หรือ LMS : Learning Management System)

               ทั้งสามรายการดังกล่าวข้างต้นเป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องกัน  ในหลักสูตรอบรม

นี้ได้จัดให้ผู้รับการอบรมได้รับความรู้และทักษะในการสร้างสื่อการสอนบนเว็บ ที่ไม่ใช่เป็นการนำเนื้อหาในลักษณะตัวหนังสือ (Text–Based) แต่ได้พัฒนาการนำเสนอบทเรียน ในลักษณะสื่อมัลติมีเดียเชิงปฏิสัมพันธ์ (Interactive) ที่ผู้เรียนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหา ผู้สอน และผู้เรียนด้วยกัน  โดยใช้โปรแกรม Macromedia Flash  เป็นหลักในการพัฒนา  และมีเป้าหมายให้สามารถใช้งานได้ทั้งในแผ่นซีดีรอม หรือศึกษาผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยตรง จึงมีลักษณะค่อนไปทาง  e - Learning  เป็นอย่างมาก  จะมีคุณ สมบัติที่ขาดอยู่ก็เฉพาะการบริหารจัดการรายวิชา (CMS หรือ LMS) เท่านั้น  (การใช้ระบบบริหารจัดการรายวิชาเหมาะสำหรับสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่หรือมหาวิทยาลัยซึ่งมีรายวิชาจำนวนมาก  ต้องใช้งบประมาณสูง และมีเครื่องบริการที่มีความจุข้อมูลสูงมาก ไม่เหมาะสำหรับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาของกรมสามัญศึกษา)         

               4.2  ความหมายของสื่อผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต   

               ได้มีนักการศึกษาได้ให้นิยามความหมายของสื่อผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Web Based Instruction) เอาไว้หลายนิยามดังนี้ (อ้างถึงใน สรรรัชต์ ห่อไพศาล,2544)

               คาน (Khan, 1997) ได้ให้คำจำกัดความของสื่อการเรียนการสอนผ่านเว็บ(Web Based Instruction) ไว้ว่า   เป็นการเรียนการสอนที่อาศัยโปรแกรมไฮเปอร์มีเดียที่ช่วยในการสอน      โดยการใช้ประโยชน์จากคุณลักษณะและทรัพยากรของอินเทอร์เน็ต      มาสร้างให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย       โดยส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้อย่างมากมาย  โดยส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ในทุกทาง

               คลาร์ก (Clark, 1996)  ได้ให้คำจัดความของสื่อการเรียนการสอนผ่านเว็บว่า    เป็นการเรียนการสอนรายบุคคล    ที่นำเสนอโดยการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์สาธารณะหรือส่วนบุคคล        และแสดงผลในสรูปของการใช้ผ่านเว็บบราวเซอร์และสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ติดตั้งไว้ได้โดยผ่านทางเครือข่าย

               รีแลน และกิลลานี (Relan and Gillani, 1997) ได้ให้ความหมายของสื่อการเรียนการสอนผ่านเว็บเช่นกันว่า เป็นการกระทำของคณะหนึ่งในการเตรียมการคิดในกลวิธีการสอนโดยกลุ่มคอมสตรักติวิซึมและการเรียนรู้ในสถานการณ์ร่วมมือกัน โดยใช้ประโยชน์จากคุณลักษณะและทรัพยากรในเวิลไวด์เว็บ

               พาร์สัน (Parson,1997) ได้ให้ความหมายของการเรียนการสอนผ่านเว็บว่า เป็นการสอนที่นำเอาสิ่งที่ต้องการส่งให้บางส่วนหรือทั้งหมดโดยอาศัยเว็บ  โดยเว็บสามารถกระทำได้หลากหลายรูปแบบและหลากยหลายขอบเขตที่เชื่อมโยงกัน  ทั้งการเชื่อมต่อบทเรียน วัสดุช่วยการเรียนรู้ และการศึกษาทางไกล

               ดริสคอล (Driscoll,1997) ได้ให้ความหมายของอินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนเอาไว้ว่าเป็นการใช้ทักษะหรือความรู้ต่างๆ       ถ่ายโยงไปสู่ที่ใดที่หนึ่งโดยการใช้ เวิลไวด์เว็บเป็นช่องทางในการเผยแพร่สิ่งเหล่านั้น

              

               2.3  คุณลักษณะของสื่อผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

               จากการที่สื่อผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของสื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษา เราจึงสามารถนำคุณลักษณะของสื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษามาใช้นิยามคุณลักษณะของสื่อผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้   โดยมีผู้กล่าวถึงคุณลักษณะของสื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษาที่น่าสนใจดังนี้ (กรมวิชาการ ,2544)

                       1) เป้าหมายคือการสอน  อาจใช้ช่วยสอนหรือสอนเสริมก็ได้

                       2) ผู้เรียนใช้เรียนด้วยตนเอง  หรือเรียนเป็นกลุ่มย่อย  2-3 คน

                       3) มีวัตถุประสงค์ทั่วไปและวัตถุประสงค์เฉพาะ  โดยครอบคลุมทักษะความรู้  ความจำ  ความเข้าใจ  และเจตคติ  ส่วนจะเน้นอย่างใดมากน้อย  ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และโครงสร้างของเนื้อหา

                       4) เป็นลักษณะการสื่อสารแบบสองทาง

                       5) ใช้เพื่อการเรียนการสอน  แต่ไม่จำกัดว่าจะต้องอยู่ในระบบโรงเรียนเท่านั้น

                       6) ระบบคอมพิวเตอร์สื่อมัลติมีเดียเป็นชุดของฮาร์ดแวร์ที่ใช้ในการส่งและรับข้อมูล

                       7) รูปแบบการสอนจะเน้นการออกแบบการสอน  การมีปฏิสัมพันธ์  การตรวจสอบความรู้โดยประยุกต์ทฤษฎีจิตวิทยา  และทฤษฎีการเรียนรู้เป็นหลัก

                       8) โปรแกรมได้รับการออกแบบให้ผู้เรียนเป็นผู้ควบคุมกิจกรรมการเรียนทั้งหมด

                       9) การตรวจสอบประสิทธิภาพของสื่อนับเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่ต้องกระทำ

               2.4 บทบาทของสื่อผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

               จากการที่สื่อผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของสื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษา  จึงสามารถอ้างอิงเอกสารที่กล่าวถึงบทบาทของสื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษาได้ ดังนี้

               กรมวิชาการ (2544) กล่าวว่า สื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนการสอนเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่นักการศึกษาให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง   พัฒนาการของสื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนการสอนในประเทศตะวันตกตั้งแต่ปี  ค.ศ.1980 เป็นต้นมา  มีความรุดหน้าอย่างเด่นชัด  ยิ่งเมื่อมองภาพการใช้งานร่วมกันกับระบบเครือข่ายด้วยแล้ว  บทบาทของสื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนการสอนจะยิ่งโดดเด่นไปอีกนานอย่างไร้ขอบเขต   รูปแบบต่างๆ ของสื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนการสอนได้รับการพัฒนาขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์  จนกระทั่งเมื่อกล่าวถึงสื่อมัลติมีเดีย ทุกคนจะมองภาพตรงกัน คือ การผสมผสานสื่อหลากหลายรูปแบบเพื่อนำเสนอผ่านระบบคอมพิวเตอร์และควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์  ในปัจจุบันสื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนการสอนได้รับการบันทึกไว้บนแผ่นซีดีรอมและเรียกบทเรียนลักษณะนี้ว่า  CAI  เมื่อกล่าวถึง CAI  จึงหมายถึงสื่อมัลติมีเดียที่นำเสนอบทเรียนโดยมีภาพ  และเสียงเป็นองค์ประกอบหลัก  โดยภาพและเสียงเหล่านี้อาจอยู่ในรูปแบบของข้อความ  ภาพนิ่ง  ภาพเคลื่อนไหว  หรือวีดิทัศน์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบบทเรียน  ส่วนเสียงนั้นอาจเป็นเสียงจริง  เสียงบรรยาย  และอื่น ๆ ที่เหมาะสม  โดยทั้งหมดจะถ่ายทอดผ่านระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งต่อเป็นระบบเครือข่ายหรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

               เมื่อเทคโนโลยีเครือข่ายมีความก้าวหน้ามากขึ้น  การเรียนการสอนผ่านระบบเครือข่ายก็ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นตามลำดับเช่นกัน   เครือข่ายใยแมงมุมโลกหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าเว็บ (Web)  ได้รับการพัฒนาและการตอบสนองจากผู้ใช้อย่างรวดเร็ว เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1990  เว็บกลายเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารที่ธุรกิจทั่วโลกให้ความสนใจ  ซึ่งรวมทั้งธุรกิจด้านการศึกษาด้วย  โดยเฉพาะด้านการศึกษานั้น  เว็บได้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกหนทุกแห่งในโลกมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในเว็บได้ใกล้เคียงกัน

               การเรียนการสอนบนเว็บ ( Web Based Instruction) ได้รับความสนใจจากนักการศึกษาเป็นอย่างมากในช่วง ค.ศ. 1995   ถึงปัจจุบัน  งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบการเรียนการสอนทั้งระบบการสอน  และการออกแบบบทเรียนได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ขณะเดียวกันการพัฒนาโปรแกรมสร้างบทเรียนหรืองานด้านมัลติมีเดียเพื่อสนับสนุนการสร้างบทเรียนบนเว็บมีความก้าวหน้าขึ้น  โปรแกรมสนับสนุนการสร้างงานเหล่านี้ล้วนมีคุณภาพสูง  ใช้งานได้ง่าย เช่น โปรแกรม Microsoft Frontpage   โปรแกรม Macromedia  Dreamweaver  โปรแกรม Macromedia Director โปรแกรม Macromedia Flash  โปรแกรม Macromedia Firework ฯลฯ นอกจากโปรแกรมดังกล่าวแล้ว  โปรแกรมช่วยสร้างมัลติมีเดียอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยมในการนำมาสร้างบทเรียนมัลติมีเดียเพื่อการเรียนการสอน เช่น Macromedia Authorware และ ToolBook ก็ได้รับการพัฒนาให้สามารถใช้งานบนเว็บได้ 

               จากบทความดังกล่าวข้างต้นเป็นที่ยืนยันได้ว่า  ความต้องการและความจำเป็นในการพัฒนาสื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนการสอนมีสูงมาก   ซึ่งสอดคล้องกับผลสรุปของข้อมูลจากแบบสำรวจความต้องการจำเป็นของศูนย์นวัตกรรมและการนิเทศทางไกล  จึงมีความเห็นว่าสมควรนิเทศอบรมการพัฒนาสื่อผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ให้แก่บุคลากรทางการศึกษาของกรมสามัญศึกษา  เพื่อให้เทคโนโลยีการสอนของประเทศไทยมีความเจริญและก้าวทันนานาประเทศ  กับทั้งสามารถเชื่อมโยงสื่อการสอนเข้ากับแหล่งอ้างอิงความรู้ทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

http://www.crnfe.ac.th/media_dsgn/cai_design_edu_theory.htm 28/6/50

คำสำคัญ (Tags): #ป.บัณฑิต
หมายเลขบันทึก: 106987เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2007 14:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 12:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท