คลัสเตอร์


ปัจจุบันที่โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคโลกไร้พรมแดน ทุกประเทศทั่วโลกได้หันมาดำเนินทิศทางเศรษฐกิจภายใต้ระบบการค้าเสรี โดยเฉพาะประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ได้ปฏิบัติตามกฎกติกาการค้าสากลที่เป็นกติกาการค้าเสรี ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อมีเสรีภาพในการเลือกซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ ต่างๆ ได้มากขึ้นจึงทำให้การผลิตเพื่อการค้ามีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงและก้าวเข้าสู่ยุคของการตลาดเป็นตัวนำการผลิต จึงทำให้มีความจำเป็นต้องควบคุมตลอดห่วงโซ่การผลิตนับจากปลายน้ำไปจนถึงต้นน้ำ ที่เรียกว่า Cluster
คลัสเตอร์ (Cluster) คือ การรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความเก่งในการพัฒนาสินค้า และ / หรือบริการให้มีคุณภาพและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องให้กับสมาชิกทุกคน นั่นเอง และจริงๆ แล้ว คลัสเตอร์ที่สมบูรณ์จะสามารถเชื่อมโยงผู้ประกอบการได้ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำและรวมไปถึงการเชื่อมโยงคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวงจรการผลิตของกลุ่มให้เข้ามาร่วมด้วย เช่น ธุรกิจสนับสนุน สถาบันการศึกษา สมาคมการค้า สถาบันวิจัยและแม้กระทั่งหน่วยราชการก็ต้องเข้ามาสนับสนุนในทุกด้าน และ ที่สำคัญต้องมีเป้าหมายร่วมกัน
Prof. Michael E. Porter ซึ่งเป็นเจ้าของทฤษฎีนี้กล่าวไว้ว่า คลัสเตอร์ (Cluster) หรือ “เครือข่ายวิสาหกิจ” คือ กลุ่มของธุรกิจและสถาบันที่เกี่ยวข้องมารวมตัวดำเนินกิจกรรม อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันเพื่อร่วมมือเกื้อหนุน เชื่อมโยงและเสริมกิจการซึ่งกันและกันอย่างครบวงจรและยังเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมสนับสนุนต่างๆ ธุรกิจบริการ และสถาบันอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายร่วมกัน คือ การเพิ่มผลผลิตของคลัสเตอร์โดยรวม ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น แต่การรวมกันต้องไม่ใช่เพื่อการผูกขาดหรือกีดกันทาง การค้าหรือทางธุรกิจ
ประโยชน์ของคลัสเตอร์ เช่นตัวแทนคลัสเตอร์ชิ้นส่วนจักรยานยนต์ให้ความคิดเห็นว่า คลัสเตอร์ช่วยให้ผู้ผลิตได้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเก่งซึ่งกันและกัน รู้จักร่วมมือและแข่งขันกันอย่าง สร้างสรรค์ แทนที่จะจ้องตัดราคากันเอง เช่น แข่งกันพัฒนารูปแบบสินค้าให้ดีขึ้น เป็นต้นเรียกว่า คนที่แข็งแรงกว่าจะช่วยดึงคนที่อ่อนแอกว่าให้แข็งแรง เท่ากัน
ตัวแทนคลัสเตอร์เซรามิคส์ เสริมว่า คลัสเตอร์ของเรา จะช่วยกัน เพิ่มมูลค่าสินค้าโดยรวม มีการแบ่งงานตามความถนัดของแต่ละบริษัท และมีการแบ่งออร์เดอร์ให้กัน รวมทั้งสร้างแบรนด์ร่วมกัน นอกจากนั้นยังมีโอกาส เข้าถึงซับพลายเออร์ที่มีคุณภาพเข้าถึงลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น และจูงใจหน่วยงานราชการหรือสถาบันอื่น ๆ มาร่วมขับเคลื่อนคลัสเตอร์ให้เข้มแข็งด้วย
นอกจากนี้ตัวแทนคลัสเตอร์ผลไม้แปรรูปเห็นว่า คลัสเตอร์ช่วยให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลงเช่น ถ้าเราคนเดียวซื้อขวดหมื่นใบจะตกใบละ 5 บาทแต่ถ้ารวมกลุ่มกันซื้อแสนใบก็จะเหลือ 3 บาท ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตได้
ตัวแทนคลัสเตอร์ผลไม้แปรรูปยังเพิ่มเติมว่าสิ่งแรกที่ได้ คือ ช่องทางการตลาดที่ใหญ่ขึ้น การเป็นคลัสเตอร์ ทำให้มีการรวมกันเพื่อนำสินค้าที่หลากหลายไปเปิดตลาดต่างประเทศร่วมกันและได้รับออร์เดอร์มากขึ้น ต่อมาคือ มีเทคโนโลยีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีขึ้น และมีความแปลกใหม่ ที่เขาเรียกว่านวัตกรรม เรื่องอย่างนี้ ถ้าทำเองคนเดียวคงเป็นเรื่องยากส่วนตัวแทน คลัสเตอร์การผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษตามระบบ GAP ภาคตะวันตก เห็นว่าคลัสเตอร์ ทำให้มีการกำหนดตลาดเป้าหมายร่วมกันซึ่งนำมาสู่การกำหนดมาตรฐานสินค้าร่วมกันเพื่อให้ตรงต่อความต้องการของตลาดบนที่มีขนาดใหญ่เป็นการขยายช่องทางตลาดร่วมกัน และสามารถแบ่งออร์เดอร์กัน หรือรับช่วงการผลิตต่อกันได้ในการเข้าหาลูกค้าคลัสเตอร์ ของเราจะมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายกว่าทำให้ลูกค้า สนใจมากกว่าจะไปลุยตามลำพัง ยิ่งถ้าต้องไปเปิดตลาดต่างประเทศแล้ว การรวมกลุ่มคลัสเตอร์คือคำตอบเลย
การผลิตแบบคลัสเตอร์ จะต้องทำอะไรบ้าง
1. มีกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกที่กระตือรือร้น ต้องการพัฒนากิจกรรมระหว่างกัน เพื่อเปิดโอกาสให้รู้จักเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
2. มีการถ่ายทอดความรู้เรื่องคลัสเตอร์ ให้แก่สมาชิกอย่างทั่วถึง มีกฎเกณฑ์การจัดการ ทำให้มีการทำงานอย่างมีระบบ สามารถพัฒนาคลัสเตอร์ไปสู่เป้าหมาย
3. มีเป้าหมายและแนวทางพัฒนาคลัสเตอร์ร่วมกัน ว่าต้องการส่งเสริมหรือแก้ปัญหาในเรื่องใดเป็นหลัก ก่อน-หลัง โดยสมาชิกจะต้องยอมรับในยุทธศาสตร์และเป้าหมายเดียวกัน มีแผนปฏิบัติร่วมกันที่ชัดเจนรวมทั้งต้องลงมือทำร่วมกันด้วย ขั้นตอนนี้ ต้องมีการวิเคราะห์ผู้ที่เกี่ยวข้องในคลัสเตอร์ด้วย
4. มีคนกลาง ซึ่งมีความเข้าใจด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ที่ทุกฝ่ายเชื่อถือช่วยให้ข้อมูล ประสานงานชี้แนะ ทำให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกันหรือหากผู้นำกลุ่มคลัสเตอร์มีความเข้มแข็ง และมุ่งมั่น ก็อาจทำหน้าที่นี้เองโดยต้องมีขบวนการปรึกษาหารือกันในหมู่สมาชิกอย่างสม่ำเสมอ
5. มีการขยายองค์ประกอบของเครือข่ายที่เข้มแข็ง ด้วยการเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเอกชน สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา หรือซับพลายเออร์ เช่น ผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้แทนจำหน่าย มาร่วมสนับสนุนเครือข่าย
ขั้นตอนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามลำดับ สามารถทำพร้อมกันหรือทำอะไรก่อนหลังก็ได้ขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นฐาน หรือปัจจัยแวดล้อมของแต่ละคลัสเตอร์
โดยสรุป คลัสเตอร์จะมีอุปสงค์ (ปริมาณความต้องการสินค้าหรือบริการ) เป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญมียุทธศาสตร์ที่แน่ชัด มีการเชื่อมโยงทุกส่วน และต้องส่งเสริมการเปิดกว้างทางการค้า โดยมีหัวใจอยู่ที่ ความร่วมมือ ของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเด็นสำคัญในการร่วมมือในลักษณะของคลัสเตอร์ คือ ตรงไหนที่ร่วมมือกันได้ก็ร่วมมือกัน ตรงไหนที่ยังต้องแข่งขันก็ยังแข่งขันกันต่อไป เพียงแต่จะต้องแข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์เช่น แข่งขันกันพัฒนารูปแบบสินค้าหรือแข่งขันกันปรับปรุงกระบวนการผลิต มิใช่แข่งขันกันด้วยการตัดราคาคู่แข่ง โดยที่ไม่ได้ลดต้นทุน



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท