เศรษฐกิจพอเพียง


เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการผลิต “แบบพออยู่ พอกิน”ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ซึ่งมีสาระที่สำคัญดังนี้
 1 แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
 เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญที่มุ่งเน้น “ความพอเพียง” และ “ความพอมี พอกิน”พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” มีความหมายกว้างกว่าคำว่า Self - sufficiency (การพึ่งตนเอง) โดยทรงดำรัสว่า “เศรษฐกิจพอเพียง หมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่นอยู่ได้ด้วยตนเอง”
 จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าวนี้ เป็นพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ทรงพระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต ในวันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม 2541 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยควรมีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งให้ประเทศมีเศรษฐกิจแบบพอมีพอใช้ กล่าวคือ ให้ผลิตอะไรก็ตามให้เพียงพอสำหรับใช้ภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยต้องประกอบอาชีพแบบพอกินพอใช้ มีกิน มีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย และให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข รู้จักประมาณตนเอง ไม่หรูหรา และไม่เบียดเบียนผู้อื่น
 2 เศรษฐกิจพอเพียงกับการดำเนินชีวิตและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
 พระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงนั้น สามารถนำมากำหนดเป็นนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาจนถึงการดำเนินชีวิตของประชาชนชาวไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ชุมชนหรือประชาชนก็ตาม ต้องอาศัยปัจจัยในการผลิตที่หลากหลายและความเข้าใจในการจัดการทรัพยากรเพื่อการการผลิตอย่างถ่องแท้ ตลอดจนถึงการใช้ ประโยชน์ของทรัพยากรอย่างสูงสุด ดังแนวคิดและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่จะได้นำเสนอต่อไปนี้
 2.1 การเกษตรเป็นรากฐานเศรษฐกิจ
 ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนถึงสภาพปัญหาหลักของประเทศไทยขณะนี้ก็คือ“เศรษฐกิจไม่ดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน” ซึ่งการจะทำให้เศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหาการพัฒนาที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด อย่างประหยัดและให้เกิดประโยชน์สูงสุดเนื่องจากจะเห็นได้ว่า การจัดสรรทรัพยากรในประเทศได้มีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้สนับสนุนในการผลิตจำนวนมากเกินไป แม้ว่าจะทำให้สามารถเพิ่มผลผลิต ได้มากแต่ก็ส่งผลให้มูลค่าในการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย คือ ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า ผลผลิตที่ผลิตได้มากขึ้นนั้นเกินความต้องการของตลาด ต่างประเทศ และตลาดภายในประเทศก็ไม่สามารถรองรับได้ ราคาสินค้าที่ขาย ลดลงการส่งออกเป็นการพึ่งพิงตลาดต่างประเทศ และเต็มไปด้วยความเสี่ยงในที่สุด จึงเกิดปัญหาหนี้สินและการสูญเสียที่ดินอันเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญทางการเกษตร ส่งผลให้มีการบุกรุกทำลายป่า และปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาจนทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ สังคมเกิดปัญหาและการพัฒนาไม่ยั่งยืน
 จากปัญหาดังกล่าวนี้ แนวคิดที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วยการจัดสรรทรัพยากรให้ถูกต้องเหมาะสม โดยเริ่มต้นย้อนดูต้นทุนของประเทศไทยที่มีความพร้อมอยู่แล้ว คือ การเกษตร ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่พระราชทานแก่บัณฑิตใหม่ของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 9กรกฎาคม 2507 ตอนหนึ่งความว่า
 “... เศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับการเกษตรมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว รายได้ของประเทศที่ได้มาใช้สร้างความเจริญด้านต่าง ๆ เป็นรายได้จากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่า ความเจริญของประเทศต้องอาศัยความเจริญของการเกษตรเป็นสำคัญ และงานทุก ๆ ฝ่ายจะดำเนิน ก้าวหน้าไปได้ก็เพราะการเกษตรของเราเจริญ... ”
 ซึ่งหมายความว่า ประเทศไทยควรจะเริ่มต้นพัฒนาด้านการเกษตรเสียก่อน เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และผลผลิตส่วนใหญ่ก็มาจากเกษตรกรรม ดังนั้น หากการผลิตด้านเกษตรกรรมมีความเจริญก้าวหน้าก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมและช่วยเหลือให้เกษตรกรมีรายได้ อันนำไปสู่เศรษฐกิจในแต่ละครอบครัวให้ดีขึ้นด้วยเช่นกันหรือสามารถสรุปได้ว่า “การเกษตรเป็นรากฐานเศรษฐกิจไทย”
 2.2 ความรู้เกี่ยวกับตนเอง นำไปสู่ความพอเพียง
 นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงให้แนวคิดว่าเศรษฐกิจของไทยขึ้นอยู่กับการเกษตรแล้ว พระองค์ยังทรงชี้ให้เห็นว่าปัญหาทุก ๆ อย่างเกิดขึ้นได้และมีทางแก้ไขได้ เพียงแต่ให้รู้จักตัวเอง ก็จะสามารถ “ควบคุมตัวเอง (Self Control) ให้ได้ใน สถานการณ์นั้นอย่าหวั่นไหวตามหรืออีกนัยหนึ่งคือทุกอย่างขึ้นอยู่กับ “ตัวเราเอง” (Self Reliance) และ “เคารพตัวเอง” (SelfRespect) ถ้าหากรู้จักศึกษาฝึกฝนให้ได้จะเป็นสุดยอดของความรู้ คือ “ความรู้เกี่ยวกับตนเอง” (SelfKnowledge) ซึ่งหมายถึงว่า การรู้ว่าตนเองทำอะไรได้ และ ทำอะไรไม่ได้ จึงจะสามารถนำเอาสิ่งที่รับรู้จากผู้อื่นหรือจากประสบการณ์มาฝึกฝนด้วยตนเอง จะทำให้เกิดความรู้แจ้งได้ ซึ่งการเรียนรู้ในลักษณะนี้จะนำไปสู่ความเป็นผู้มีอิสระและพึ่งตนเองได้หรือกล่าวได้ว่า “ความรู้เกี่ยวกับตนเองนำไปสู่ความพอเพียง” โดยวิธีการดังกล่าวนี้ พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงได้ค้นคว้าทดลองทำนาภายในบริเวณพระราชฐานสวนจิตรลดาพระราชวังดุสิต เพื่อนำความรู้ภาคทฤษฎีมาลงมือปฏิบัติด้วยพระองค์เอง และทรงได้พระราชดำรัสแก่กลุ่มชาวนา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2524 ตอนหนึ่งความว่า
 “...ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาและทดลองทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้นมีความยากลำบากเป็นอุปสรรคอยู่มิใช่น้อย จำเป็นต้องอาศัยพันธ์ุข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่าง ๆ ด้วยจึงจะได้ผล ป็นล่ำเป็นสัน อีกประการหนึ่งที่นานั้นเมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้วควรปลูกพืชอื่น ๆ บ้าง เพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่ใช่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วนช่วยเพิ่มปุ๋ยจากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป...”
 จากวิธีการดังกล่าวนี้ จะช่วยให้เกษตรกรใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่า และพระองค์ได้พระราชทาน “ทฤษฎีใหม่” หรือที่เรียกว่า “ทฤษฎีใหม่ในพระราชดำริ” คือ การพัฒนาทางการเกษตรโดยเพาะปลูกพืชหลายอย่างในที่เดียวกัน หรือผลัดปลูกหมุนเวียนกัน เช่น หลังจากฤดูทำนาข้าวแล้ว ก็ปลูกถั่วเป็นต้น
 นอกจากการใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่าแล้ว ยังเป็นการเกษตรแบบผสมผสาน ทำให้ กษตรกรมีอาหารการกินทั้งปี และมีรายได้ตลอดปี ซึ่งเป็นวิธีการให้พึ่งตนเองได้ ทางเศรษฐกิจ (Economic Self Reliance)บนพื้นฐาน ภูมิปัญญาชาวบ้านซึ่งจะนำไปสู่การพึ่งตนเองได้ทางเทคโนโลยี และเกิดความพอเพียงทางเศรษฐกิจ (Self Sufficient Economy) และนำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืนในที่สุด เพราะคนกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้ โดยมีความเอื้ออาทรพึ่งพิงระหว่างกัน และคนกับคนก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีผลประโยชน์แบ่งปันกัน โดยทั้งสองฝ่ายต่างได้ผลประโยชน์
 2.3 ความพอเพียงกับครอบครัวเข้มแข็ง
 พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม2540 ได้กล่าวถึง ความพอเพียงและครอบครัวเข้มแข็งตอนหนึ่ง ความว่า“... อย่างข้าวที่ปลูก เคยสนับสนุนให้ปลูกข้าวให้พอเพียงกับตัวเองแต่ละครอบครัว เก็บเอาไว้ในยุ้งเล็ก ๆ แล้วถ้ามีพอก็ขาย แต่คนอื่นกลับบอกว่าไม่สมควร โดยเฉพาะในภาคอีสาน เขาบอกว่าต้องปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อจะขายอันนี้ถูกต้อง ข้าวหอมมะลิขายได้ดีแต่เมื่อขายแล้ว จะต้องบริโภคเอง ไม่ต้องซื้อจากใคร ทุกคนก็ปลูกข้าวหอมมะลิ ในภาคอีสานส่วนมากเขาชอบบริโภคข้าวเหนียว ซึ่งใครจะเป็นคนปลูกข้าวเหนียว เพราะประเทศไทยโฆษณาว่าคนที่ปลูกข้าวเหนียวเป็นคนโง่ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ เคยได้สนับสนุนบอกว่าให้เขาปลูกข้าวบริโภค เขาจะชอบข้าวเหนียวกับลูกข้าวเหนียว เขาจะชอบปลูกอะไรก็ตามให้เขาปลูกข้าวอย่างนั้น และเก็บไว้เพื่อที่จะบริโภคตลอดปี ถ้ามีที่จะทำนาปรัง หรือมีที่มากพอสำหรับปลูกข้าวก็ปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อที่จะขาย...”
 2.4 การผลิตตามทฤษฎีใหม่ เป็นต้นแบบการผลิตแบบพอเพียง
 จากที่กล่าวไปแล้วว่า ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นการพัฒนาเกษตรแบบผสมผสาน ที่นำไปสู่การพึ่งพาตนเอง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีบนพื้นฐานภูมิปัญญาชาวบ้านดังนั้น การนำทฤษฎีใหม่มาใช้ในการผลิต สามารถเป็นต้นแบบในการผลิตที่ดีที่ประชาชน ชาวไทยควรนำมาปฏิบัติอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อการนำไปสู่การกินอยู่แบบพอเพียง ได้ดังนี้
 1) การผลิตต้องมุ่งเพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันของครอบครัว โดยให้มีพอเพียงในการบริโภคตลอดปี และเพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน รวมทั้งเพื่อจำหน่าย
 2) การผลิตต้องอาศัยปัจจัยในการผลิต ซึ่งจะต้องเตรียมให้พร้อม เช่น การเกษตรต้องมี แหล่งน้ำ โดยจัดการให้มีน้ำใช้ในการผลิตและประโยชน์ใช้สอยอย่างอื่นให้เพียงพอ
 3) การผลิตจะสามารถดำเนินไปด้วยดีและประสบผลสำเร็จนั้น ต้องอาศัยปัจจัยประกอบ อื่น ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงและเสริมให้เกิดความยั่งยืนในการผลิตจากหลายฝ่ายทั้งเกษตรกรธุรกิจภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจพอเพียง เข้ากับเศรษฐกิจการค้า พร้อมทั้งให้ดำเนินกิจการควบคู่กันไปด้วยดี
 นอกจากนี้ การผลิตจะต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “บุคคล” กับ “ระบบ”และต้องยึดมั่นในเรื่องของ “คุณค่า” ให้มากกว่า “มูลค่า” อันจะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่าง “บุคคล” กับ“ระบบ” อย่างยั่งยืน


ความเห็น (2)
  • สูงสุดคืนสู่สามัญ
  • เป็นความสุขที่แท้จริงและยั่งยืน
  • ในหลวงท่านเป็นผู้สร้างจริง ๆ ค่ะ
  • สูงสุดคืนสู่สามัญ
  • เป็นความสุขที่แท้จริง
  • ในหลวงท่านทรงเป็นผู้สร้างเสมอค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท