สร้างเกราะลูกวัยรุ่น ระวังภัยเหยื่อทางเพศ


ครอบครัว
สร้างเกราะลูกวัยรุ่น ระวังภัยเหยื่อทางเพศ
ที่มา เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 26 มิถุนายน  2550




ข่าวการล่อลวงเด็กและวัยรุ่นปรากฏอยู่เสมอ เพราะคนร้ายใช้ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็กเป็นเครื่องมือสนองความต้องการของตนเอง กว่าที่พ่อแม่จะรู้ก็เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจยากแก่การเยียวยาให้หายเป็นปกติ

เมื่อภัยทางเพศเกิดขึ้นโดยคาดเดาไม่ได้ ความไร้เดียงสาของเด็กจำเป็นต้องอาศัยพ่อแม่คอยดูแลจัดระบบช่วยเหลือและป้องกันภัยให้ การเสริมสร้างและปลูกฝังการป้องกันตนเองจากภัยทางเพศให้แก่ลูกรักจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดเพื่อให้ลูกสามารถป้องกันตนเองได้เมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์เสี่ยงที่พ่อแม่ไม่รู้หรือไม่อยู่ด้วยในช่วงเวลาคับขัน

พ่อแม่ป้องกันภัยทางเพศให้กับลูกได้ ดังนี้

1.ทำให้ลูกรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เพราะถ้าเด็กขาดความมั่นใจเมื่อใดก็จะขาดความรู้สึกอยากจะปกป้องตนเอง ซึ่งพ่อแม่และผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับเด็กมีส่วนอย่างมากที่จะช่วยให้เด็กมีความรู้สึกดีกับตนเอง เช่น ให้เวลากับลูกแสดงให้เห็นว่าห่วงใยเขาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อลูกมีปัญหาไม่ว่าเรื่องใดก็ตามให้ช่วยลูกค้นหาเหตุผลและช่วยเหลือให้ลูกทำได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ชมเชยให้กำลังใจเมื่อเด็กทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ตามระดับที่ควรจะเป็น อาจจะช่วยดูแลน้อง ช่วยทำงานบ้าน หรือสอบผ่าน การชมจะทำให้ลูกรู้สึกว่าตนมีความดีมีความสามารถ ทั้งนี้ ต้องชมอย่างจริงใจไม่ยกย่องจนเกินไป

2.สอนลูกให้รู้จักปฏิเสธ เพราะเด็กมักไม่ค่อยปฏิเสธผู้ใหญ่ ยิ่งถ้าเป็นคนที่เด็กรู้จักเคารพนับถือ หรือเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อเด็ก เด็กจะยิ่งไม่ค่อยกล้าปฏิเสธ จึงเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ พ่อแม่และผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับเด็กต้องสอนเด็กว่าเราสามารถปฏิเสธผู้อื่นในสิ่งที่เรารู้สึกไม่ดี หรือเป็นสิ่งที่รู้สึกไม่ชอบมาพากล และรีบหลบออกจากสถานการณ์ตรงนั้นโดยเร็ว เพื่อไปพูดคุยปรึกษาผู้ใหญ่ที่เขาไว้ใจได้ต่อไป



3.สอนให้เด็กรู้จักคิดประเมินสถานการณ์เวลามีคนชวนไปไหนหรือให้ทำอะไรว่าเขารู้สึกดีที่จะทำสิ่งนั้นหรือไม่ พ่อแม่หรือผู้ปกครองจะรู้หรือไม่ว่าเขาทำอะไร อยู่ที่ไหนกับใคร และคิดว่าหากเกิดอันตรายหรือคนที่พาเขาไปนั้นหันมาทำร้ายเขา จะมีใครช่วยเขาได้ทันทีหรือไม่

4.สิ่งสำคัญที่สุดคือพ่อแม่ควรจะรู้ว่าขณะนี้ลูกอยู่กับใคร ที่ไหนและทำอะไร บทบาทของการป้องกันปัญหาคงไม่ใช่เฉพาะ "พ่อแม่" เท่านั้น แต่เป็นผู้ใหญ่ทุกคนในสังคมที่ควรจะร่วมมือ หากพบเห็นเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือมีเด็กที่ถูกล่วงเกินทางเพศมาขอความช่วยเหลือ เมื่อทราบหรือสงสัยว่าเด็กอาจถูกล่วงเกินทางเพศสามารถปฏิบัติได้ดังนี้

1) เมื่อเด็กแสดงท่าทีว่าต้องการบอกเล่าเรื่องราวหรือขอความช่วยเหลือ ควรแสดงว่าพร้อมรับฟังและช่วยเหลือเด็กทุกกรณี ให้เด็กเกิดความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจว่าจะได้รับการช่วยเหลือและคุ้มครองเสมอ ไม่มีปัญหาใดที่ร้ายแรงเกินกว่าที่ผู้ใหญ่จะรับฟังและปกป้องเด็ก

2) แม้ว่าเรื่องที่เด็กเล่าจะเป็นเรื่องที่ร้ายแรงจนเหลือเชื่อก็ขอให้ตั้งสติรับฟังอย่างสงบ หากผู้ใหญ่แสดงอาการตกใจ โกรธหรือเสียใจ เด็กจะหยุดไม่บอกเล่าต่อไปอีกเพราะเกิดความไม่มั่นใจว่าผู้ใหญ่จะสามารถช่วยเหลือเขาได้หรือไม่ รวมทั้งจะทำให้เขาเดือดร้อนมากยิ่งขึ้นหรือไม่



3) กรณีที่เด็กไม่สามารถบอกเล่าได้อย่างต่อเนื่องเพราะปัญหาด้านจิตใจหรืออารมณ์ ควรปลอบโยนให้กำลังใจเด็ก ให้เด็กสบายใจว่าหากเขาบอกเล่าออกมาทั้งหมด เขาจะได้รับการปกป้องให้ปลอดภัยและได้รับการช่วยเหลือทุกเรื่อง ปล่อยให้เด็กพูดทั้งหมดที่เขาต้องการบอกเล่า แล้วจึงค่อยซักถามในรายละเอียดที่เรารู้สึกว่าเป็นคำบอกเล่าที่ไม่ชัดเจน

4) ไม่ควรคาดคั้นเมื่อเด็กไม่ยอมบอกเล่าถึงผู้กระทำ แต่สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าและหลังที่เด็กถูกกระทำ การทราบว่าผู้กระทำเป็นใคร ไม่จำเป็นต้องให้เด็กระบุตัวหรือบอกชื่อเสมอไป

5) พิจารณาข้อมูลว่าเป็นความจริงหรือไม่ หากเป็นเรื่องที่ไม่จริงรายละเอียดและข้อเท็จจริงจะไม่ชัดเจน ไม่ปะติดปะต่อ และเล่าหลายครั้งจะไม่ตรงกัน ในบางครั้งเด็กอาจมีความสามารถในการสื่อสารน้อยหรือยังมีปัญหาด้านอารมณ์จิตใจอยู่ จึงเป็นไปได้ที่คำบอกเล่าอาจไม่ชัดเจน

6) เก็บรวบรวมหลักฐาน เช่น เสื้อผ้าที่เด็กสวมใส่ขณะที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ส่งเด็กเข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที และอย่าเพิ่งชำระร่างกายเด็กก่อนเข้ารับการตรวจรักษา หากยังมีหลักฐานร่องรอยตกค้างอยู่แพทย์อาจค้นพบได้ จดชื่อแพทย์ รวมถึงวันเวลาและสถานที่ ในกรณีที่เด็กประสบเหตุการณ์เกิน 7 วัน อาจไม่พบร่องรอยการล่วงละเมิดทางเพศ แต่ต้องตรวจรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และตรวจสอบการตั้งครรภ์เพื่อการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

7) แจ้งตำรวจทันที ให้รายละเอียดทุกอย่างเท่าที่ทราบ (ผู้กระทำเป็นใคร ผู้ถูกกระทำเป็นใคร เวลาที่เกิดเหตุ สถานที่เกิดเหตุ ฯลฯ) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับเด็กคนอื่นๆ

8) แจ้งหน่วยงานทางสังคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอรับคำปรึกษาและความช่วยเหลือต่อไป

หากพ่อแม่หรือผู้ที่ใกล้ชิดเด็กตระหนักในการป้องกันและแนวทางช่วยเหลือ เหตุการณ์ที่เด็กถูกล่วงเกินทางเพศในสังคมและแนวโน้มที่เด็กจะกลายเป็นผู้กระทำการล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่นในอนาคตคงน้อยลง เพราะพ่อแม่หรือผู้ปกครองใส่ใจที่จะรู้ทันปัญหาและเด็กเข้าใจในตัวเอง สิ่งของกี่มากชิ้นจะเสียหรือหายไปก็ยังหาคืนกลับมาใหม่หรือทดแทนได้ แต่กับชีวิตของคนที่เรารักนั้นเล่าจะหาสิ่งใดมาทดแทน

ด้วยความตระหนักต่อสภาพปัญหาภัยทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็ก มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ร่วมกับอุทยานการเรียนรู้ TK park จัดกิจกรรมตัวฉันเป็นของฉัน "เรียนรู้เรื่องเพศอย่างเข้าใจ สำหรับลูกวัยพรีทีน" โดยจะมีกระบวนการพัฒนาความรู้ความเข้าใจของพ่อแม่ในการเข้าใจวัยรุ่น และเสนอแนวทางการเลี้ยงดูลูกวัยรุ่นในการป้องกันปัญหาเรื่องเพศ 2 วัน แบบค่ายไป-กลับ ในวันที่ 30 มิ.ย.-1 ก.ค.นี้

สนใจเข้าร่วมกิจกรรมและสำรองที่นั่งติดต่อมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทร.0-2412-0738, 0-2412-9834 www.thaichildrights.org


หน้า 35

หมายเลขบันทึก: 106425เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2007 11:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท